วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

ฟื้นฟูการปฏิบัติธรรม...วันสุดท้าย

ตอนที่ ๗
พ ศ. ๒๔๗๘
๑๒ ปีในการอยู่เชียงใหม่ ของพระอาจารย์มั่น
ภูริทัตตะเถระ ทุ่งหมกเม้า อ. พร้าว



ดังได้กล่าวแล้วว่า ในท้องที่อำเภอพร้าวนั้นมีที่วิเวกเหมาะสมกับการบำเพ็ญกัมมัฏฐานมาก ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ท่านเดินธุดงค์วกเวียนอยู่ในอำเภอนี้หลายปี
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คณะศิษย์ของท่านที่ได้ถูกอบรมไว้แล้ว โดยส่วนมากอยู่ทางภาคอีสาน ที่พยายามสืบเสาะหาพระอาจารย์มั่น ฯ ว่าอยู่แห่งหนตำบลใด จึงได้ข่าวว่าอยู่ทางอำเภอพร้าว ต่างก็หาวิธีที่จะมาหาท่านด้วยความยากลำบาก เพราะโดยส่วนมากก็เดินโดยเท้า บางองค์บางท่านพยายามฟังข่าว และเสาะหาท่านอยู่หลาย ๆ ปี กว่าจะพบบางท่านก็ได้พบง่าย คือพอรู้ว่าศิษย์จะมาและศิษย์นั้นอาจจะมีความสำคัญในอนาคตหรือจะเป็นกำลังให้แก่พระพุทธศาสนา ท่านจะเอาใจใส่พิเศษ เพื่อให้เกิดผลทางใจ ท่านจะถือโอกาสไปคอยรับการมาทีเดียว
เป็นความประสงค์ของท่านที่ จะรวมศิษย์อีกครั้งตามที่ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟัง เพราะหลังจากการธุดงค์แสวงหาความสงบ พิจารณาถึงปฏิปทาต่าง ๆ แล้ว สมควรจะแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่ยังบกพร่องอยู่ ให้เต็มพร้อมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ฉะนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่คณะศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ฯ ในปัจจุบัน ที่มีความสามารถมากกับเป็นที่เคารพนับถือจากพุทธบริษัทโดยทั่วไป
จึงปรากฏว่า พระอาจารย์จากภาคอีสานได้เดินทางไปพบกับท่านที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอำเภอนี้ก็ถูกความประสงค์ของท่าน โดยไม่ต้องไปนิมนต์.หรือสั่งการให้มา แต่เป็นความต้องการ หรือความประสงค์ที่ตรงกันเกิดขึ้น ทางศิษย์ต้องการจะพบ เพื่อจะได้ศึกษาธรรมให้สูงยิ่งขึ้น ทางอาจารย์ต้องการจะพบจะได้แก้ไขปรับปรุงที่ได้สอนไว้ ให้มีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น และให้ได้ผลยิ่งขึ้น ความประสงค์ตรงกันหลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ จากศิษย์ไปประมาณ ๘ ปี
นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระเถรานุเถระจำนวนมากจึงหลั่งไหลขึ้นเชียงใหม่ เพื่อการเข้าพบหาท่านอาจารย์มั่นฯ ทั้งกิตติศัพท์ก็กำลังเลื่องลือว่า ท่านเป็นผู้มีความบริสุทธิ์และมีความสามารถในอันที่จะแนะนำศิษยานุศิษย์ให้ได้รับผลทางใจ ผู้ใดต้องการความสงบหรือความพ้นจากทุกข์แล้ว ก็จะไปหาไปพบหรือไปอยู่กับท่าน ก็จะได้ผลอย่างเต็มที่ทีเดียว ข่าวนี้เป็นที่ทราบดี ในขณะนั้นผู้เขียนก็บรรพชาเป็นสามเณรได้เพียง ๒ พรรษา ข่าวความดีงามในการปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ส่งเข้าสู่ใจของผู้เขียนตลอดทุกระยะเวลา ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในอันที่จะต้องการพบท่านเป็นอย่างยิ่ง แต่ขณะนั้นโอกาสยังไม่ให้เลย ประกอบกับผู้เขียนยังอยู่กับพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และการปฏิบัติกัมมัฏฐานยังอยู่ในขั้นที่ยังใช้ไม่ได้ดี ท่านอาจารย์กงมาท่านว่า
เณรอยากไปหาท่านอาจารย์มั่น ฯ หรือ ถ้าหากเณรมีภูมิจิตแค่นี้ มีหวังโดนตูมเดียวพัง
ท่านอาจารย์กงมา ท่านหมายความว่า ใครที่มีภูมิจิตอ่อน โดนท่านดุเอาก็สู้ไม่ไหว ก็เป็นเหตุให้ผู้เขียนพยายามบำเพ็ญจิตอย่างหนักตลอดมา แต่จนแล้วจนรอดผู้เขียนก็ไม่ได้โอกาสที่จะขึ้นไปพบพระอาจารย์มั่น ฯ ที่เชียงใหม่ จนท่านอาจารย์มั่นฯ ไปพักอยู่บ้านเดิมของอาจารย์กงมา ท่านจึงพาผู้เขียนไปพบพระอาจารย์มั่นฯ สมใจ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕
เมื่อคณะศิษย์ทั้งหลายไปพบพระอาจารย์มากขึ้น ท่านได้พาเที่ยวธุดงค์ไปตามป่าเขาถ้ำตามที่เห็นสมควรแล้ว ท่านก็แนะนำปฏิปทาข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ จนเป็นผลในทางจิตมากขึ้น.ได้รับประโยชน์อย่างที่เป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น เนื่องจากการกระทำที่ท่านทำให้เป็นตัวอย่างนั้นหนึ่ง และการแนะนำไปตามความเป็นจริงเกิดขึ้นนั้นหนึ่ง ซึ่งเช่นนี้น้อยนักที่ผู้เป็นอาจารย์จะหาโอกาสช่วยศิษย์ให้ได้ถึงขนาดนี้ เป็นหลักการที่จะปรากฏในที่ต่าง ๆ เพราะเหตุว่าการกระทำเช่นนี้ต้องมีความหนักแน่นหวังเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและแก่มนุษย์ชาติอย่างแท้จริงจึงจะทำได้ เพราะจะต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากและทุรกันดาร ตลอดถึงการเอาจิตใจเข้าพัวพันโอบอ้อมระวังเพื่อให้ผู้ดำเนินได้เดินไปในทางที่ถูกตลอดเวลา
กาลและสถานที่ช่างเป็นใจอะไรเช่นนั้น เหตุคือความเจริญของท้องถิ่น แต่ละแห่งในแถบนี้ยังเป็นลักษณะบ้านป่า แม้แต่ตัวอำเภอเอง ตลอดถึงอุปนิสัยใจคอของคนบ้านนี้ ก็ยังไม่รู้วัฒนธรรมต่างชาติ ที่จะเข้ามาครอบคลุม เกาะกุมจิตใจให้ละเมอเพ้อพกไป จนถึงทำตนให้หลงจากวัฒนธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา จึงทำให้คณะกัมมัฏฐานในสายของพระอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งต้องการความสงบวิเวกปราศจากความปลิโพธ ได้เป็นไปตามความประสงค์ของท่านเป็นอย่างดีโดยความเชื่อฟัง ซึ่งท่านบอกแนะนำให้มาทำบุญตักบาตร ฟังธรรมในเวลาที่ควร ไม่ต้องมาเฝ้าแหนรบกวนอยู่ตลอดเวลา ตลอดถึงบอกให้รู้ว่าคณะนี้ต้องการความสงบ เขาทั้งหลายก็เชื่อฟัง มิต้องคอยดุด่าเอาในเมื่อมีผู้คนมารบกวนความสงบ
ทั้งนี้จึงเป็นโอกาส ให้แก่พระภิกษุสามเณร ที่จะเชื่อฟังโอวาทของท่านอาจารย์อย่างเต็มเปี่ยมไม่มีการบกพร่อง เป็นเหตุให้ต่างก็ได้รับความรู้อย่างมีประลิทธิภาพระหว่างศิษย์กับอาจารย์จะพึงได้ ด้วยเหตุอย่างนี้จึงทำให้ศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ฯ แต่ละองค์ที่ เคยรับการฝึกฝนทรมานแล้ว เป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิในเวลาต่อมา จนถึงได้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง
สถานที่ ๆ ท่านจำพรรษานั้น ทุก ๆ แห่งได้เกิดเป็นสถานที่มีความสำคัญขึ้นในปัจจุบัน เพราะต่างก็มาคิดกันว่า ท่านผู้ทรงคุณวุฒิในทางใจเช่นท่านอาจารย์มั่น ฯ นี้ เมื่อท่านไปอยู่ที่ใดก็ควรจะสร้างอนุสรณ์ขึ้นในที่นั้น ๆ เพื่อจะได้ตามระลึกถึงข้อปฏิบัติที่ท่านได้แสดงให้ศิษย์อันซาบซึ้งนั้น จึงไม่เป็นการแปลกประหลาดอะไร ในเมื่อเราจะได้เห็นภาพอนุสรณ์ของสถานที่แต่ละแห่งที่ท่านจำพรรษาอยู่ เพราะบรรดาศิษย์ของท่านที่กำลังทำการเผยแพร่พระธรรมของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตามกุศโลบายของพระอาจารย์มั่น ฯ ตนของตนก็ได้รับความสงบเย็นใจและกาย และผู้ที่ได้รับฟังคำสอนก็เย็นใจ ผลที่ได้รับนั้นประมาณค่ามิได้ จึงไม่เป็นของน่าแปลกอะไรเลยที่เขาเหล่านั้นจะได้พยายามเสียสละทุนทรัพย์อันเป็นของภายนอกเพื่อก่อลร้างอนุลรณ์ ในที่แต่ละแห่งที่ท่านเคยอาศัยอยู่พรรษา ทั้งนี้ก็เพราะมาเห็นคุณประโยชน์ที่ได้รับทางจิตใจ จากการพร่ำสอนของท่านอาจารย์มั่น ฯ นั้น ซึ่งแต่ละคำมีค่ายิ่งกว่าเงินทอง ตามสามัญธรรมดาเราชาวพุทธต่างก็ทราบกันดีว่า อันเงินทองธนสารสมบัติใด ๆ ในโลกนี้นับว่าเป็นโลกีย์ทรัพย์ซึ่งต้องตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ คือเป็นของที่จะผุพังเสื่อมสลายนำติดตนตามตัวไปไม่ได้ในปรภพ แต่ทรัพย์อันยอดเยี่ยมคือ โลกุตรทรัพย์นั้นอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของสามัญลักษณ์หรืออยู่เหนือธรรมชาติ เพราะไม่สูญสลาย สามารถที่จะให้ความสุขกายสบายใจ ให้ความเยือกเย็นแก่จิตใจ พร้อมกันนี้โลกุตรทรัพย์อันนี้ยังติดตนตามตัวไปทุกภพทุกชาติ
ถ้าหากจะย้อนหลังจากปัจจุบันไปอีกสัก ๓๘ ปี โดยหวนกลับมาระลึกถึงภาพพจน์ในอดีต อันประกอบด้วยป่าเขาลำเนาไพรเพียบพร้อมไปด้วยเสียงจักจั่นและเรไร ในเขตพื้นที่อำเภอพร้าว ซึ่งเราจะไม่เห็นรถยนต์ เราจะไม่เห็นตึกร้านบ้านเรือนอันสูงตระหง่านระเกะระกะ เราจะไม่เห็นเสาสายไฟฟ้าอันกอร์ปด้วยแสงสีสว่าง ประกายแวววับระยิบระยับจับหัวใจของคนในยุคที่กล่าวกันว่าศิวิไลย์นี้ แต่จะเห็นเพียงทางเดินด้วยเท้า หรืออย่างดีก็ทางเกวียนที่ลากด้วยวัว ซึ่งนับว่าเป็นทางยาวเหลือประมาณ เมื่อคำนวณจากตัวเมืองเชียงใหม่แล้วก็ประมาณ ๘๐ กว่ากิโลเมตร แม้แต่แสงไฟซึ่งใช้ตะเกียงโคมต่าง ๆ อย่างดีก็แต่ตะเกียงเจ้าพายุ ..
ดังนั้นสภาวะอย่างนี้จึงเป็นบรรยากาศดีมาก เหมาะสำหรับนักปฏิบัติที่แสวงหาความวิเวกทางกายและทางจิต แม้แต่เพียงเดินไปไม่กี่กิโลเมตร ก็จะพบสถานที่ที่สงบสงัดแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อเราได้ที่สงบดี จะแนะนำธรรมต่าง ๆ ก็ดีไปด้วย เป็นเหตุให้พิจารณาได้ลึกซึ้ง เทศนาได้ลึกซึ้ง เพราะผู้ฟังก็สงบ ผู้แสดงก็สงบ สถานที่ก็สงบ จึงนับว่าเป็นสัปปายะ เท่ากับเป็นการส่งเสริมเกื้อกูลให้ซึ่งกันและกัน หากว่าผู้ฟังสงบ ผู้แสดงสงบ แต่สถานที่ไม่สงบ มีเสียงอื้ออึง ก็จะทำให้ไม่ได้ผล ทำให้เสียผลไปถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแม้ว่าธรรมนั้นจะเป็นธรรมที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพ ไพเราะนุ่มนวลควรแก่การสดับสักเพียงใดก็ตาม ผลก็จะไม่ได้เต็มที่ น่าเสียดาย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ท่านได้เปรียบเหมือนกับน้ำที่เต็มขัน เมื่อเราถือเดินไป ขยอกไป มันก็หกไป โดยเหตุนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาสถานที่สงบสงัดแสดงธรรมจึงจะประสบผล
อีกประการหนึ่งเล่า ผู้ฟังไม่สงบ คือไม่ได้ตั้งใจจ่อจด ทำใจส่งไปที่อื่น ๆ ตลอดถึงพูดคุยกัน อันนี้จะต้องเสียผลไปถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะขาดภาชนะที่รองรับคือผู้ฟัง เหมือนกับน้ำตกที่ตกลงมาจากท้องฟ้า ผู้ต้องการน้ำฝน แต่รองรับน้ำฝนด้วยภาชนะรั่ว แม้ฝนจะตกลงมาสักเท่าใดก็ไม่สามารถจะขังอยู่ได้ พระธรรมแม้จะดีสักเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อผู้ฟังไม่มีความตั้งใจแล้วธรรมนั้นก็ไร้ผล
สำหรับผู้แสดงไม่สงบ คือการแสดงธรรมโดยจับคัมภีร์อ่านบ้าง นึกถึงธรรมตามหัวข้อที่จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อัตโนมัติเองเสียบ้าง แสดงธรรมติดตลกบ้าง แสดงธรรมโดยหวังเพื่อกัณฑ์เทศน์บ้าง เหล่านี้ชื่อว่าความไม่สวบของผู้แสดง ผลที่ได้รับก็ไม่ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์
ท่านอาจารย์มั่นฯท่านว่า ความสงบจากผู้แสคง ความสงบจากผู้ฟัง ความสงบจากสถานที่ ประกอบกับผู้แสดง ผู้ฟังมีความภูมิใจนั่นเองที่จะได้รับผลเต็มที่ นี้เป็นความจริงซึ่งผู้เขียนและสหธรรมิกพร้อมกับครูบาอาจารย์ของผู้เขียนได้รับผลมาแล้วในอดีต....
พ.ศ. ๒๔๗๙
๑๒ ปี ในการอยู่เชียงใหม่ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตตเถระ
จำพรรษาที่เขามูเซอร์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ท่านอาจารย์มั่น ฯ เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อคณะศิษย์พากันมาหามากขึ้นทั้งเก่าและทั้งใหม่ ท่านอบรมธรรมอันเป็นภายในที่มีความสำคัญตามสมควรแล้ว ท่านก็ให้แยกย้ายกันไปแสวงหาสถานที่วิเวกตามอัธยาศัย ส่วนตัวของท่านก็เลือกเอายอดเขาที่พวกชาวเขาเหล่ามูเซอร์ อันเป็นยอดเขาลูกหนึ่งที่สูงมากในอำเภอแม่สายแห่งนี้และมีหมู่บ้านประมาณ ๑๐ ครอบครัว อากาศบนยอดเขานี้หนาวตลอดปี บ้านพวกชาวเขาที่พวกเขาอยู่กันได้สร้างขึ้นด้วยไม้และมุงหญ้าทำไม้เป็นแผ่นมีทั้งกระพี้และเปลือก ถากเป็นกระดานล้อมรอบบ้านทุกๆ หลังแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงก็ให้อยู่ในบ้านหมด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าอากาศหนาวจัดแต่มีกลิ่นสาปน่าดู ถึงเช่นนั้นพวกเขาก็สามารถอยู่ได้ เพราะความเคยชินนั่นเอง ท่านเล่าว่าพวกชาวเขาเหล่านี้รูปร่างก็ไม่เลว แต่หนักไปทางคนจีนอยู่ไม่น้อย
ท่านปรารภว่าการอยู่ในที่วิเวก เป็นเหตุให้จิตใจไม่คิดถึง โลกภายนอก ซึ่งมีแต่ความนึกติดนี้หดตัวเข้า ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีแต่ความมักน้อยในการนึกติดมากเข้า นี้เป็นธรรมชาติช่วยให้เกิดประโยชน์ทางใจ เมื่อคณะศิษย์มามาก ท่านก็ให้อุบายซึ่งเป็นประโยชน์ของการดำเนินจิตและการที่จะสั่งสอนชุมนุมชน ความรู้รอบคอบนั้นเกิดจากความวิเวกมีประสิทธิภาพมาก มากกว่าการใช้การประชุมในงานที่มีแต่โลกภายนอกเข้าปะปน ซึ่งจะมีแต่ภายนอก แม้จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันกับผู้รู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แต่เป็นเพียงสัญญาและตาภายนอกจึงเป็นเรื่องของความสมมติ ทั้งเป็นไปเพื่อพรรคพวกและทิฐิมานะ แต่ก็มีประโยชน์อยู่ตามสมควร เท่าที่สมมติจะให้ได้
ส่วนการประชุมที่ในวิเวก และแสวงหาประโยชน์จากการประชุมโดยการไปสถานที่วิเวก นี่แหละเป็นทางพระนิพพานเพื่อความไม่เกี่ยวข้องกังวล เป็นไปโดยเสียสละ ทำตัวให้เป็นสมณะที่ถูกต้องเป็นอย่างดี ต่างองค์ก็ต่างมีความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา มาเป็นการรวมอยู่ในใจอันเดียวกัน เป็นเหตุให้ค้นคิดแต่หนทางปฏิปทาที่จะให้ก้าวหน้าในด้านนี้ เป็นการรวมคณะที่หวังความจริง ซึ่งเป็นการยากเหลือเกินที่จะมีศิษย์อาจารย์เช่นนี้ ความเป็นเช่นนี้เองที่สามารถยกระดับการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน อันเป็นธุระสำคัญธุระหนึ่งในพระพุทธศาสนาให้ปรากฏเป็นที่แจ่มแจ้งในยุคนี้เพราะเหตุแห่งความจริงนี้เอง
ภูเขาที่สูงตระหง่าน เรียงรายกันเป็นเทือกเขายาวเหยียด จากเชียงใหม่ถึงเชียงรายติดต่อเข้าไปจนถึงเขตพม่าหนาทึบไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ มองดูเขียวชอุ่มเหมือนช่างภาพมาระบายสีเมื่ออยู่บนภูเขาลูกนี้ เมฆสีขาวเหมือนปุยฝ้ายยังถูกลมพัดผ่านไปต่ำกว่าสถานที่อยู่เสียอีก ต้นสนที่พวกเขาใช้เอามาทำฟืนจุดไฟแทนได้ มีมาก ขึ้นเต็มลูกภูเขา พวกชะนี ลิง ค่างมีมาก ซึ่งมันเองก็ไม่รู้ว่ามีคนอยู่แถวนั้น ต่างก็พากันมาหากินเป็นหมู่ๆ ไต่เต้นตามต้นไม้ จากต้นไม้นี้ไปต้นไม้โน้น ส่งเสียงเจี้ยวจ้าวไปตามภาษาของมัน
แต่เมื่อพวกมันมาถึงกลดของท่านอาจารย์ มันก็งงไปเพราะไม่เคยเห็นและพวกมันยิ่งส่งเสียงอีกทึก บางตัวทำชำเลืองมอง ยกมือป้องหน้า เบิ่งดูพวกแล้วพวกเล่าที่ผ่านเข้ามาทางนั้น
อันเสียงสัตว์เหล่านี้แม้จะดังพอสมควรเพราะมากตัว แต่ก็ยังเป็นเสียงวิเวกวังเวงอยู่นั้นเอง มันไม่เหมือนเสียงคนทะเลาะกันหรือเสียงคนเอะอะ หรือเสียงรถ เสียงเรือบิน เรือเหาะ เพราะเสียงเหล่านี้มิได้ให้เกิดวิเวกวังเวงเลย แต่มันทำให้เกิดความไม่สงบ กระทบกระเทือนสมาธิของผู้บำเพ็ญตบะธรรม
ตกเย็นถึงพลบค่ำ ฝูงนกจำนวนมากนานาพรรณมันคงจะไปหากินแล้วกลับมารวงรัง มันบินกันมาเป็นชุดๆ หลากสี จำไม่ได้ว่าเป็นนกอะไรบ้าง กลับมาแล้วก็ส่งเสียงสำเนียงต่างๆ กัน แม้เราจะไม่ยอมมองแต่ก็ผ่านสายตาฉวัดเฉวียนเหมือนกับนกเลี้ยง เชื่องดี เสียงแหลม เสียงทุ้ม เสียงหนักเบาระงมไปรอบบริเวณ
ทำไมหนอเสียงเหล่านั้นจึงไม่เป็นภัย เมื่อเวลานั่งสมาธิ มันกลับทำให้จิตสงบเร็วขึ้นเสียอีก เสียงนกมันก็ร้องไม่ขาดระยะ แต่การทำสมาธิได้ผลขึ้นตามปกติไม่ต้องใช้ความพยายามจนเกินควร จึงหวนคิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า
อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา สุญฺญาคาเรว ภิกฺขโว
ในป่า ใต้โคนไม้ เรือนว่าง เป็นที่สมควรแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง
ระยะนี้เป็นเวลาพลบค่ำ จำพวกจักจั่นเรไรมีมากเป็นพิเศษ มันพร้อมใจกันจริงๆ สัตว์จำพวกนี้ ช่วยกันร้องออกเป็นเสียงเดียวกัน ดังกังวานเป็นช่วงๆ แหลมคม เสียงนี้พวกเราจะหาเสียงอะไรเหมือนกับมันนั้นยากเหลือเกิน แม้พวกมันจะพูดกันไม่รู้เรื่องเหมือนมนุษย์ แต่มันก็ยังมีความสามัคคีช่วยกันในการประสานเสียง ตัวมันเล็กสักเท่านิ้วก้อย แต่มันก็มีพลังแห่งการสามัคคี รวมกันเป็นหมู่นับด้วยร้อยด้วยพัน เสียงของมันไม่แตกกันออกเสียงเดียว น่าสรรเสริญเสียงนี้ยิ่งกว่าสัตว์อื่น ยังความวังเวงให้เกิดขึ้นยิ่งกว่าเสียงใด ผู้มีจิตใจไม่แก่กล้าจริงๆ แล้ว จะต่อสู้ให้คิดถึงบ้าน แทบอยู่ไม่ได้เลยทีเดียว แต่สำหรับผู้เที่ยวธุดงค์หวังเพื่อความสงบแล้วก็ทำให้เพิ่มพลังให้เกิดความสงบยิ่งๆ ขึ้นไป
ผู้อ่านคงแปลกใจว่าทำไม ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ นี้ท่านถึงพูดเรื่องป่าเขามากนั้น เนื่องจากท่านได้เล่าเรื่องนี้ เพื่อเปรียบเทียบการวิวัฒนาการทำแก้ไขธรรมชาติ แก้กันจนจะไม่มีอะไรจะแก้แล้ว เร็วเท่าไรก็ไม่ทันใจมนุษย์ไม่พอความพอใจของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด ท่านจึงหันมาพูดเรื่องธรรมชาติบ้าง หรืออาจจะสดชื่นไปตามการอ่าน
ครั้นเมื่อได้เวลากลางคืน ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่า จำพวกไก่ป่าพระยาลอทำไมมันจึงมีมาก เพราะเราจะได้ยินเสียงขันบอกเวลา โดยที่เราไม่ต้องไปตั้งยามตั้งโมง หากเราจะทำกำหนดไว้ให้ดีแล้ว มันจะขันบอกให้ทุก ๆ ยาม ๓ ชั่วโมงต่อครั้ง แต่ที่พวกมันจะพร้อมกันขันอย่างเอาจริงเอาจังเท่านั้นเป็นเวลาตี ๓ จะต้องมีหัวหน้ามาขันก่อนตัวหนึ่ง จากนั้นมันก็จะช่วยกันขันเป็นการใหญ่ เสียงนี้จะส่งมาไกลมาก แล้วมันก็ไม่เป็นภัยต่อความสงบของผู้ต้องการความสงบแต่อย่างใดเลย เนื่องจากไม่มีเสียงอื่นเข้าปะปน เพราะสัตว์พวกต่างๆ คงจะนอนหลับกันหมด เสียงขันของไก่จึงทำให้ได้ยินชัดเจนมาก
อันที่จริงแล้วมันก็ไม่น่าจะขันให้ดังมากเช่นนี้ เพราะเสียงของมันอาจเป็นภัยแก่มันเอง เมื่อมนุษย์รู้ว่าพวกมันอยู่ตรงไหนก็จะตามเสียงของมัน แล้วจับมันไปแกงกินให้อร่อยไป พวกมันคงจะคิดกันว่า ในตอนนี้ดึกแล้วมนุษย์ผู้เป็นภัยใหญ่หลวงของมันคงจะหลับสนิท มันจึงตะโกนเสียงของมันอย่างไม่กลัวภัย
แต่พึงเข้าใจเถิดว่า อันธรรมชาติก็แสดงธรรมชาติออกมาให้ปรากฏ จึงน่าที่มนุษย์ผู้มีปัญญาทั้งหลายควรจะช่วยกันรักษาธรรมชาติเอาไว้เถิด เพื่อให้ได้ศึกษาหรือหาความเย็นใจ หรือเพื่อให้ท่านสมณะทั้งหลายอาศัยธรรมชาติหาหนทางให้ถึงซึ่งพระนิพพาน หรือมิฉะนั้นก็เพื่อที่จะให้สมณะทั้งหลายเที่ยวแสวงหาความสงบตามภาวะของท่าน ท่านก็จะได้ธรรมเทศนา หรือธรรมอันวิจิตรลึกซึ้ง ซึ่งเกิดจากธรรมชาติเหล่านี้ แล้วก็นำมาบรรยายเป็นพระธรรมเทศนา แนะนำประชาชนให้เดินทางถูกต้องตามครรลองคลองธรรม เพื่อจะมีประชาชนผู้เป็นชาวพุทธไม่ต้องพากันงมงายในสิ่งต่าง ๆ อันเป็นทางนำไปสู่มิจฉาทิฏฐิให้น้อยลง ด้วยอาศัยชาวเราช่วยกันรักษาซึ่งธรรมชาติป่าไม้ ทั้งสิงห์สาราสัตว์ไว้
คืนวันที่ล่วงไปไนป่าใหญ่ ที่มีทั้งเหวระหารลำธารน้ำ ยังความวิเวกลึกซึ้งแก่ท่านอาจารย์มั่นฯ และศิษย์ผู้หวังพ้นทุกข์อย่างยิ่งนั้น เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาการยิ่งนักแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในท่ามกลางขุนเขาลำเนาไพรซึ่งจะมีหลายจำพวก เสียงที่ทำให้แวบวาบในหัวใจของผู้ที่มีตบะอ่อนนั้นก็คือเสียงตัวใหญ่ ๆ เช่นเสือโคร่ง เสือเหลือง ช้าง และงูจงอางเป็นต้น มีชุกชุมมากในขุนเขาเหล่านี้ ส่งเสียงคำรามก้องจนแผ่นดินสะเทือน มันเป็นเสียงที่มีอำนาจอะไรเช่นนั้น
เพราะเหตุแห่งเสียงสัตว์ตัวร้ายนี้เอง ทำให้พระธุดงค์ทั้งหลาย ชอบที่จะธุดงค์สู่ป่าที่ใหญ่โต ในเทือกเขาอันกว้างขวาง เพราะเสียงเหล่านั้นตรงกันข้ามกับเสียงนก เสียงไก่ เนื่องจากมันเป็นเสียงไม่ไพเราะเสนาะโสตเลย ซึ่งเสียงมันแสดงให้เห็นถึงความตาย ในเมื่อมันส่งเสียงออกมาแล้ว ในใจของผู้ได้ยินก็จะต้องนึกถึงตัวของมันว่าอยู่ไหน นึกอยู่ว่าอยู่ใกล้หรือไกล ถ้าอยู่ใกล้ก็จะต้องมีการระวังตัว จิตใจในขณะนี้ได้ยินเสียงคำรามของเสือช้างนั้นได้หดตัวลงอย่างน่าประหลาดใจทีเดียว แต่มันก็หาฟังยากเหมือนกัน เพราะสัตว์พวกนี้ จะไม่อยู่เกลื่อนกลาดมากมายเหมือนสัตว์เหล่าอื่น จึงต้องมีตามภูเขาในป่าใหญ่ไกลคนจริงๆ จึงจะได้ยินเสียงมัน เราจะพยายามตามเข้าไปอยู่ในดงอย่างนั้นหรือ หามิได้ เราเข้าไปในป่าใหญ่เพื่อต้องการวิเวก แต่เผอิญเสือมันก็ชอบจะอยู่ในป่าใหญ่ที่ไกลจากคนเหมือนกัน
อันการธุดงค์นี้ ท่านอาจารย์มั่นฯ และศิษย์ถือเป็นกิจวัตรที่จะต้องทำเป็นประจำเพราะถือมิให้อยู่ที่เดียวเป็นจำเจ เปลี่ยนที่อยู่บ่อย ๆ ก็จะทำให้ไม่ต้องเป็นปลิโพธิกังวล ด้วยการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ เป็นการแสวงหาธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมนั้นก็อยู่ในตัวเรานี่เอง ทำไมจึงจะต้องไปเที่ยวหาอยู่ป่าเขาทำไม ใช่แล้วธรรมอยู่ในตัวเรา แต่การไปตามถ้ำป่าเขานี้ก็เพื่อแสวงหาความสงบให้ได้ เนื่องจากจิตใจของมนุษย์ทั้งหลายสับสนไปตามอารมณ์มากเหลือ มากจนเกินควร จำเป็นต้องหาวิธีลดความสับสนเหล่านี้โดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งก็ได้ แก่การบำเพ็ญสมาธิให้มาก สงบให้มาก
แต่การที่จะสงบใจได้นั้นก็ต้องบั่นทอนทางกายให้มาก ๆ เช่นการออกบวชก็ตัดไปส่วนหนึ่ง ออกบวชแล้วบำเพ็ญสมาธิ ก็ตัดเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แต่บวช ยังต้องออกไปธุดงค์ ฉันหนเดียว ก็ตัดเข้าไปอีกเปลาะหนึ่ง เมื่อธุดงค์ก็เดินเข้าไปในป่าใหญ่ไม่มีอะไรในตัว นอกจาก กลด มุ้งบาตร เท่านั้นที่เป็นบริขารของนักบวช ก็ตัดเข้าไปอีก ยิ่งท่านตัดมากเท่าไร การหดตัวของอารมณ์ก็มีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อการหดตัวของอารมณ์มากเข้า จิตก็จะได้ชื่อว่าถูกทรมานอย่างหนักหน่วง เพราะจิตมนุษย์ชอบแต่สิ่งที่เติมอารมณ์เท่านั้น ยิ่งเติมอารมณ์ได้มากก็ยิ่งพอใจ จึงชื่อจิตได้ถูกทรมานด้วยทำให้จิตหดตัวลง นี่คือการรับประโยชน์จากการอยู่ป่าอย่างแท้จริง
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านอธิบายให้ผู้เขียนฟัง
พ.ศ. ๒๔๘๐
๑๒ ปีในเชียงใหม่ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ
จำพรรษาที่พระธาตุจอมแจ้ง อ แม่สรวย จังหวัดเชียงราย
การบำเพ็ญประโยชน์แก่พวกอยู่ในป่าดงอันเป็นถิ่นที่แสนจะกันดาร และต่างภาษานั้นยากนัก ในสมัยนั้นการไปไหนแต่ละแห่งต้องใช้การเดินใช้เวลาหลายๆ วันจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ก็การอยู่กับพวกชาวเขาเผ่าหนึ่ง คือ มูเซอร์ ท่านก็ได้อาศัยพวกเหล่านี้อยู่จำพรรษา ท่านเล่าว่า
 ก็อัศจรรย์พวกนี้อยู่อย่างหนึ่ง คือ มีพวกมิชชันนารีที่เป็นบาทหลวงขึ้นไปแนะนำให้เขานับถือคริสตังคริสเตียน มีหลายพวกหลายครั้งที่พวกบาทหลวงเหล่านั้นไปสอน ทั้งแจกสิ่งของมากมาย แต่พวก.นี้ก็ไม่ยอมจะเข้าศาสนากับพวกนั้นเลย ครั้นเมื่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไปอยู่ พวกนี้จะทำบุญด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าอยู่ในพระพุทธศาสนา เพราะพวกนั้นนับถือภูตผีปีศาจอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม พวกชาวเขานี้จำนวนมากทั้งเชียงรายเชียงใหม่ คณะของพระอาจารย์มั่นฯ ได้ไปช่วยแนะนำสั่งสอนพระพุทธศาสนาไว้เป็นพื้นฐานมากทีเดียว จึงเป็นนิสัยติดต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นการปูพื้นฐานการนับถือพระพุทธศาสนาแก่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ไว้แล้วตามสมควร ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครสนใจชาวเขากันเลย
จากการจำพรรษาบนภูเขา ออกพรรษาแล้วท่านก็ลงจากภูเขา แต่คงอยู่ในอำเภอนี้ต่อไป ท่านเล่าว่าในเขตเชียงใหม่เชียงรายนี้มีวัดเก่าๆ ที่สร้างตามภูเขาเล็กๆ หรือท้องที่ต่าง ๆ มากทีเดียว เฉพาะที่อำเภอแม่สรวยมีวัดร้างอยู่ถึง ๒๐๐ กว่าวัด อันนี้ก็แสดงถึงความเจริญทางวัฒนธรรมในอดีตของคนภาคนี้ จากปรากฏการณ์ที่เป็นวัดร้างจำนวนมากนั้น ทำให้ท่านได้แสดงความคิดเห็นว่า การที่ประชาชนในกาลก่อน แม้ความเจริญในทางวัตถุต่าง ๆ ยังไม่มาก ทำไมถึงมีความศรัทธาอย่างยิ่ง ได้สร้างวัดมากเช่นนี้ก็เป็นการแสดงถึงความสามารถอันเกิดขึ้นจากศรัทธา เป็นการรวมพลังทำให้เกิดวัตถุภายนอกขึ้นเพราะวัดต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้นั้นมิใช่ง่าย ๆ ต้องเสียสละร่วมกันทั้งกำลังกายและกำลังความคิด กำลังทรัพย์จึงจะเกิดขึ้นได้ กำลังศรัทธาจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยความสามารถของผู้นำ จึงจะเกิดขึ้นและเป็นพลังได้ แสดงว่าก่อนนี้ทางภาคเหนือได้มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยและมีความสามารถมากทีเดียวที่ได้เป็นผู้นำสร้างวัดขึ้น แต่ละวัดนี้จะขาดเสียมิได้คือพระธาตุตามภาษาพื้นเมืองนั่นคือ เจดีย์ ที่เราเรียกกันทั่วไป
ที่เรียกว่าพระธาตุจอมแจ้งนั้น ก็เป็นวัดเก่าวัดหนึ่งในจำนวนหลายร้อยวัดที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เลือกจำพรรษาในปี ๒๔๘๐ นี้ แต่ท่านก็มิได้ตั้งใจจะรื้อฟื้นวัดร้างนี้เพื่อให้เป็นวัดที่เจริญ ขึ้นใหม่อีก เพียงแต่เห็นว่าเป็นสภาพที่สงบสงัดสมควรแก่การที่จะบำเพ็ญสมณธรรมได้ และสมควรที่ศิษย์ติดตามจะได้ใช้สถานที่เหล่านี้บำเพ็ญกัมมัฏฐานได้ดีเท่านั้น
แต่ท่านได้ให้ความเห็นแก่ผู้เขียน ในการที่วัดร้างนี้ว่า มันเป็นการดีอย่างหนึ่งคือ เป็นที่น่ากลัวแก่บุคคลผู้ยังมีกำลังใจอ่อนเพราะวัดนี้ได้ชื่อว่าต้องมีคนตายที่ต้องมาอาศัยฝังบ้าง เผาศพบ้าง โดยเฉพาะสมภารก็ต้องทำกันเอิกเกริกพิสดาร ทั้งเชื่อว่าวิญญาณเมื่อเข้าใจเอาว่าเป็นผี มันต้องอาศัยอยู่ที่วัดร้างเหล่านี้มีมากกว่าแห่งอื่น ๆ ดังนั้นจึงเกิดความหวาดเสียวที่เป็นนิสัยของคนไทย ทำให้นึกถึงว่า วัดร้างนั้นน่ากลัวมาก
จึงเป็นเหตุให้เป็นผลดีแก่นักปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่ง ทำให้จิตใจของบุคคลผู้เข้ามาอยู่วัดร้าง บังเกิดความหวาดเสียวตามนิสัยแห่งความเชื่อถือ และเป็นผลทำให้เกิดความสงบเงียบในใจขึ้นได้
เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า โดยส่วนมากท่านอาจารย์มั่นฯ ไม่ใคร่จะจำพรรษาแห่งเดียวหลายๆ ปี จะมีมากอยู่ครั้งสุดท้ายครั้งเดียวเท่านั้น เพราะระยะนั้นท่านก็ชราภาพลงมากแล้ว การที่ท่านต้องเปลี่ยนที่อยู่เสมอนั้นท่านมีความประสงค์อยู่ ๒ ประการ คือ
๑  ท่านต้องการมิให้เป็นการติดถิ่น
๒  ท่านต้องการฝึกฝนลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุสามเณร
เพราะท่านได้กล่าวอยู่เสมอว่า.พระเณรมีความสำคัญมาก ในเมื่อมีเหตุอันหนึ่งอันใด เกี่ยวกับพระเณรท่านจะให้ความสำคัญ หรือถือว่าเป็นกรณีพิเศษไว้เสมอ เกี่ยวกับการเอาอกเอาใจ ท่านถือเอาพระเณรเป็นที่หลักก่อนเสมอ ตามที่ผู้เขียนได้ติดตามท่านอยู่ระยะหนึ่งนั้น ก็ทราบเรื่องนี้ดีซึ่งท่านได้แย้มให้ผู้เขียนฟังเสมอ ๆ ว่า การฝึกฝนพระให้ได้รับประโยชน์องค์เดียวเท่ากับได้โยมเป็น ๑๐๐ เป็น ๑,๐๐๐ คน เพราะว่าพระนี้เมื่อได้รับการฝึกหัดจนเป็นอาจารย์ได้แล้ว จะเป็นผู้ไปสอนผู้อื่นได้อีกมาก ท่านจึงสนใจและตั้งใจฝึกฝนพระเณรเป็นพิเศษ
ซึ่งต่างกับอาจารย์อื่น ๆ ที่กำลังให้ความสำคัญแก่โยมหรืออุบาสกอุบาสิกามากกว่าพระเณร ในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ตลอดถึงการต้อนรับโอภาปราศัย ถือเอาโยมเป็นกรณีพิเศษไปเสียหมด.เลยทำให้พระเณรชักจะระอาครูบาอาจารย์มากขึ้น โดยเข้าใจว่าครูบาอาจารย์ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ตน หรือท่านปล่อยเวลาต่าง ๆ ไปสอนอยู่ที่โยมเสียส่วนมาก ขาดการเอาใจในพระเณร จึงทำให้พระเณรนั้นกลับมาเป็นอาจารย์ในภายหลังน้อยลงทุกวัน ๆ
สำหรับพระอาจารย์มั่น ฯ ศิษย์ที่เป็นพระก็กลับมาเป็นอาจารย์ ศิษย์ที่เป็นสามเณรก็บวชพระ กลับมาเป็นอาจารย์ รู้สึกว่าเกือบทั่วประเทศไทยที่เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ฯ ที่ท่านเหล่านั้นได้เดินทางไปประกาศสัจธรรม นี้ก็เป็นผลงานของพระอาจารย์มั่นฯ ที่ควรจะได้เป็นตัวอย่าง ทั้งเตือนสติให้ระลึกถึงว่า ผู้เป็นพระอาจารย์ทั้งหลาย ควรจะกลับมาให้ความสำคัญแก่พระภิกษุสามเณรมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น เพราะบางทีพระอาจารย์บางองค์ก็เข้าใจว่าเมื่อมีโยมมากขึ้น-นับถือ-มาหามาก ๆ เข้าก็เข้าใจว่าเป็นการดี เป็นเรื่องของคุณธรรมที่สูง จึงมีคนเลื่อมใสมาก ประชาชนเขาจึงมาหามาก อะไรทำนองนี้ เกิดความเข้าใจผิดในตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความสำคัญผิดในพระภิกษุสามเณรอันควรจะได้ใช้เวลาฝึกฝนผู้ซึ่งควรเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา
ในระยะนี้ ต่างก็เป็นที่ทราบถึงเกียรติคุณของพระอาจารย์มั่น ฯ มากขึ้นตามลำดับในหมู่ของพระภิกษุสามเณร จึงได้พยายามที่จะติดตามท่าน เพื่ออยากเห็นและอยากฟังเทศน์ท่านบ้าง หรืออยากอยู่ปฏิบัติออยู่กับท่านโดยเฉพาะในหมู่พระภิกษุสามเณรมีมาก.พอสมควร มีบางองค์ก็ได้ยอมเสียสละส่วนอื่นๆ น้อมตนเข้าปฏิบัติธรรมกัน จึงปรากฏว่ามีการเดินธุดงค์ซึ่งหมายความว่าไปหาสถานที่วิเวก มิใช่ไปแสวงหาความขลังอย่างอื่น ๆ เพราะปรากฏว่ามีการธุดงค์เพื่อแสวงหาอะไรไม่ทราบที่แฝงอยู่เบื้องหลัง หวังจะเอาการแบกกลดห่มผ้าดำ นำพรรคพวกจำนวนมากหาทางให้มันดังจนเป็นข่าว ถึงกับทางราชการออกประกาศห้ามปักกลดที่โน้นที่นี้ นี่เป็นเรื่องไม่ใคร่จะถูกต้อง
การรวมตัวของศิษย์มากขึ้น ทำให้ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านใคร่ครวญพิจารณาถึงความเป็นไปต่าง ๆ ของคนภาคเหนือ ซึ่งระยะ ๑๒ ปีนี้ ก็เป็นการศึกษาถึงนิสัยใจคอตลอดจนอุปนิสัยวาสนาได้เป็นอย่างดี ท่านได้เคยพูดกับผู้เขียนอยู่เสมอว่า
คนเมืองเหนือ ฯนี้ใจอ่อน ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็ดี แต่การที่จะยอมเสียสละบวชอุทิศตนต่อการปฏิบัติอย่างจริงจังนั้นมีน้อยมาก ๑๒ ปีของการอยู่ภาคเหนือ ยังไม่เห็นใครมาบวชและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังสักองค์เลย ซึ่งตรงกันข้ามกับคนภาคอีสานยังมีคนมาบวชแล้วตั้งใจเด็ดเดี่ยวมีอยู่มาก จนถึงมีศรัทธาความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของการปฏิบัติ แม้จะได้เรียนจากเรา ปฏิบัติกันอย่างจริงมาแล้วก็ตาม ยังได้พากันติดตามหาเราถึงจังหวัดเชียงใหม่ การมานั้นมิใช่เพื่อหวังประโยชน์อะไรอื่น นอกจากจะมาหาทางแก้ไขในเรื่องของการปฏิบัติธรรมกันทั้งนั้น คนทางตะวันออกเฉียงเหนือจึงถือได้ว่าเป็นคนที่มีความบึกบึนเป็นเยี่ยม แม้ว่าจะมีปัญญาค่อนข้างทึบอยู่เป็นส่วนมาก บรรดาผู้ที่มาฝึกฝนอยู่กับเรา ที่ติดตามมามากขึ้นทุกทีนี้เอง ทำให้คิดถึงว่าเราอาจจะต้องกลับไปทางอีสานอีก แต่ในขณะนี้ก็ใคร่จะทำประโยชน์ให้แก่คณะบ้างตามสมควร จึงพยายามหาทางปลูกนิสัยบุคคลให้เข้าใจถึงการปฏิบัติจิตใจทั่ว ๆ ไป
ทุกหนทุกแห่งตามที่ท่านเดินทางไป พร้อมทั้งบอกให้คณะศิษย์ที่มีความรู้พอสมควรเดินทางไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อหาทางฝึกปรือชาวบ้านให้เข้าใจถึงความจริงในการปฏิบัติธรรม ตลอดถึงสรณะที่พึ่งอันสมควร ทั้งเหตุผลของพระพุทธศาสนา เพื่อที่จะได้มาแก้ความงมงายต่าง ๆ ที่พากันเชื่อผิด ๆ และการนี้ก็ได้ผล คือทำให้เกิดความเข้าใจถูกต้องขึ้นมาก เนื่องจากตามชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ขาดผู้ที่มีความรู้ชี้แจงแนะนำ ก็จำต้องยอมเพื่อบางสิ่งบางอย่าง อันอาจจะทำให้เขาสำเร็จผลงานที่ตั้งใจไว้ อันความจริงความสำเร็จผลงานนั้นมันก็จะสำเร็จอยู่แล้ว แต่เผอิญประจวบกับที่เขาบูชาเช่นสรวงในสิ่งที่เขาบูชาเชื่อถือพอดีก็จึงทำให้เกิดความเชื่อขึ้น ซึ่งก็เป็นการแก้ยากมาก แต่เมื่อเขาได้มารับรสพระธรรม พร้อมกับการปฏิบัติธรรม คือการบำเพ็ญจิตให้สงบ บังเกิดผลอันเป็นภายในเข้าแล้ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง ครั้นแล้วเราก็แนะนำธรรมต่าง ๆ เพิ่มเติมก็จะบังเกิดความเชื่อมั่นยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิดผลในการเผยแพร่ธรรมได้เป็นอย่างดี
การไปทำความเพียรกัมมัฏฐานตามที่ต่าง ๆ ก็ดี การออกไปเที่ยวแนะนำสั่งสอนประชาชนตามหมู่บ้านนั้น ๆ ก็ดี.ท่านจะมีเวลานัดให้ไปรวมกันเมื่อถึงเวลา คือหากได้ไปทำประโยชน์ตนและบุคคลผู้อื่นพอสมควรแล้ว ในระยะเป็นเดือนจะนัดไปประชุมกันที่แห่งใดแห่งหนึ่ง พระเถระนุเถระที่เป็นศิษย์ของท่านที่ไปทำงานนั้น ๆ มาแล้วก็จะมาเล่าความเป็นไป หรือสิ่งที่ประสบมาเพื่อการแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ปรับปรุงการสอนให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยไม่ต้องให้เสียเวลาที่จะต้องตามไปบอกองค์นั้นองค์นี้ การดำเนินการสอนเป็นไปในแนวเดียวกันทั้งสิ้น เพราะการประชุมปรับความเข้าใจ และมีท่านเป็นประธานที่เคารพสูง มีความรู้สูง
การกระทำเช่นนั้น ท่านเล่าว่าเพื่อเป็นประโยชน์ตนและบุคคลอื่น แต่ก็พยายามที่จะแสวงหาสถานที่สงบเป็นสำคัญ เพราะในขณะที่จะฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมให้หนาแน่นยิ่งขึ้น และการแก้ไขสิ่งที่ปฏิบัติเป็นไปเพื่อความงมงายทั้งฝ่ายฆราวาสและบรรพชิต
พ.ศ  ๒๔๘๑ -๒๔๘๒
๑๒ ปี ในเชียงใหม่ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ
จำพรรษา วัดเจดีย์หลวง จำพรรษาที่ แม่คอย อ.พร้าว
ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เรามาอยู่เชียงใหม่โดยเฉพาะได้ใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในป่าเป็นส่วนมาก เพราะมีที่ควรแก่การวิเวกมาก ผลจากการพิจารณาถึงความเสื่อมความเจริญของพระพุทธศาสนา ในเรื่องของการปฏิบัติทางกรรมฐาน ก็ปรากฏชัดแก่ท่านเป็นอันมาก.ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านพักอยู่ในอรัญวิเวก.ธรรมนิมิตได้ปรากฏแก่ท่านว่า
เราได้เดินไปตามทาง ซึ่งทางนั้นโล่งเตียนสะอาด ขณะที่เราเดินไปนั้น ปรากฏว่ามีพระภิกษุสามเณรเดินตามท่านมาเป็นอันมาก ดูเป็นแถวยาวเหยียด เมื่อเดินไปและเดินไป ก็ปรากฏต่อไปว่า พระภิกษุสามเณรเหล่านั้น เป็นพระเถระผู้ใหญ่ และผู้น้อย ต่างก็เดินไปคนละทาง บ้างก็แยกไปทางซ้าย บ้างก็แยกไปทางขวา บ้างก็ล้ำหน้าเดินไปอย่างไม่เกรงใจ ดูพลุกพล่านไป
ผู้เขียนเกิดความสนใจในธรรมนิมิตนี้มาก จึงได้ถามท่านว่า
ธรรมนิมิตนี้หมายถึงอะไร
ท่านตอบว่า ก็พิจารณาเอาเองซิ
ผู้เขียนได้ถามท่านต่อไปว่า
กระผมเองไม่สามารถจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง และการตีความหมายอาจจะไม่ตรงจุดสำคัญ จึงขอให้ท่านอาจารย์จงได้กรุณาไขปัญหานี้ให้แก่กระผมด้วย
เมื่อท่านได้ถูกผู้เขียนรบเร้าขอให้อธิบายธรรมนิมิตนี้แล้ว ท่านก็จึงเริ่มที่จะอธิบายว่า
ในการต่อไปข้างหน้านี้ จะมีผู้นิยมการทำกัมมัฏฐานภาวนากันมากขึ้น กับจะมีการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกัมมัฏฐานภาวนากันมาก การตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกัมมัฏฐานภาวนานั้น ก็จะมีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ คือต่างก็จะสอนไปตามความเข้าใจของตน จนถึงกับนำเอาการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกัมมัฏฐานภาวนาบังหน้า แล้วก็ดำเนินการไม่บริสุทธิ์ด้วยประการต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นจึงไม่เห็นผลเท่าที่ควร.แต่บางพวกก็ดี เพราะยังเดินตามเราอยู่ นี้มิได้หมายความว่าเราเป็นผู้วิเศษ แต่การดำเนินของเรานั้น ได้ทำไปโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งเพื่อความพ้นทุกข์ โดยปฏิปทานี้ก็ทำให้ได้ผลทั้งตนเองและศิษยานุศิษย์ตลอดมา การต่างคนต่างตั้งคนเป็นอาจารย์นั้น ย่อมทำให้เสียผล เพราะทำให้เกิดความลังเลแก่ผู้จะเข้ามาเรียนกรรมฐานภาวนาว่าจะถือเอาอาจารย์ไหนจึงจะถูก
นี่คือการแก้ธรรมนิมิตที่พระอาจารย์มั่น ๆ ท่านแสดงแก่ผู้เขียน และผู้เขียนก็ล่วงกาลผ่านวัยมาถึงบัดนี้ก็ได้ ๓๘ พรรษาแล้วนับแต่บวชมา ก็พิจารณาตามธรรมนิมิตของท่านอาจารย์มั่นนั้นก็เข้าเค้าขึ้นมากทีเดียวในปัจจุบัน
เมื่อผู้เขียนบวชเป็นสามเณรเขาอายุ ๑๖-๑๗ ปีนั้น ก็จำความได้ว่า ยังไม่มีการนิยมเรียนและสอนกรรมฐานภาวนากันเท่าไรเลย หาคนจะมาสนใจเรียนสมาธิก็แสนยาก แม้อาจารย์จะสอนเป็นล่ำเป็นสันก็แสนยาก จะมีก็แต่ลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นฯ นี้.เท่านั้นที่ออกธุดงค์ และถือโอกาสแนะนำสั่งสอนประชาชน
ในเรื่องเกี่ยวกับสมาธิภาวนา ตัวผู้เขียนเองก็ได้มารับการฝึกอบรมสมาธิภาวนากับศิษย์ของพระอาจารย์มั่นฯ เช่นกันท่านผู้นั้นคือ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ในขณะนั้นผู้เขียนอายุเพียง ๑๓ ปีเท่านั้น และรู้สึกว่า มีศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯ เช่นกับพระอาจารย์กงมา ซึ่งเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าจำนวนหลายองค์ที่ท่านได้กรุณาออกแนะนำสั่งสอนประชาชนในเรื่องของกรรมฐานภาวนา และก็ได้ผลมาก เป็นการเปิดศักราชของการปฏิบัติธรรมขึ้นอย่างกว้างขวาง จนปรากฏว่าทุก ๆ ภาคของประเทศไทย จะได้เป็นผู้รับการอบรมการปฏิบัติธรรมสายพระอาจารย์มั่น ฯ ผลที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตนี้ เป็นสิ่งอัศจรรย์ เพราะประชาชนทั่วไปยังไม่เคยได้รับรสพระธรรมอันซาบซึ้งเช่นนี้ เมื่อได้รับก็เกิดความเลื่อมใสขึ้น และกระจายกันทั่วๆ ไป จนปรากฏเป็นวัดป่าอันเป็นแหล่งของการทำกรรมฐานทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกา
ผู้เขียนคิดว่า นี้เองเป็นต้นเหตุของการเกิดขึ้นซึ่งพระอาจารย์กรรมฐานเพราะมาคิดว่าเป็นการที่ถูกต้องแล้วว่า พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญกรรมฐานจนได้สำเร็จ.เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสาวกก็เช่นกัน และผู้ต้องการสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลก็ต้องทำกรรมฐานและทรงตรัสสรรเสริญผู้ทำกรรมฐาน จึงเป็นการถูกต้องที่ผู้บวชเข้ามาแล้วจะต้องทำเช่นนี้ ทรงตำหนิผู้ที่ไม่ทำกรรมฐานว่า เป็นเพียงลูกจ้างเฝ้าศาสนา
การปฏิบัติกรรมฐานภาวนา ที่เจริญขึ้นในประเทศไทยจะด้วยเหตุใดก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นการดีมาก เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนามาก ถึงแม้ว่าจะมีการปฏิบัติผิดนอกรีตนอกรอยไป ก็จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายอะไรมากนัก แต่ว่าควรจะได้ปรับปรุงและพยายามที่จะดำเนินการปฏิบัติธรรมไปโดยความบริสุทธิ์ใจ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ครั้นเมื่อหวนระลึกถึงธรรมนิมิตของท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ก็ทำให้เป็นห่วงถึงบุคคลที่ดำเนินการปฏิบัติกรรมฐานโดยความไม่บริสุทธิ์ใจ ที่จะทำให้เกิดความไขว้เขว แต่จะอย่างไรก็ตาม พุทธบริษัทก็คงจะมีปัญญาพิจารณาโดยตนเองแล้วก็ใช้โยนิโสใคร่ครวญ ก็อาจจะรู้ความถูกผิดด้วยคนเองไม่ยากนัก
ในระยะนี้ พระอาจารย์เทสก์ (ปัจจุบันเป็นพระนิโรธรังสีฯ) ได้อยู่กับท่านอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา กับได้พยายามที่จะอาราธนาให้ท่านกลับทางภาคอีสาน เพื่อจะได้แนะนำธรรมปฏิบัติแก่คณะสงฆ์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านจำนวนมากที่ไม่สามารถจะตามมาหาท่านที่เชียงใหม่นี้ได้ ท่านอาจารย์เทสก์ได้ชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ เป็นต้นว่า
นับแต่ท่านอาจารย์ได้มาอยู่ที่ภาคเหนือถึงเป็นสิบ ๆ ปี ยังไม่ปรากฏว่ามีนักบวชชาวเหนือสนใจและตั้งใจปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์อย่างจริงจังแม้แต่องค์เดียว มีแต่ท่านอาจารย์ปฏิบัติ ได้รับความวิเวกเฉพาะองค์เท่านั้น และบัดนี้ก็เป็นเวลานานสมควรแล้วที่ท่านอาจารย์ได้รับผลทางใจ ซึ่งควรที่จะกรุณาแก่นักปฏิบัติที่กำลังเอาจริงเอาจังอยู่ทางภาคอีสาน กระผมเองก็ยังคิดถึงหมู่คณะที่ควรจะได้รับอุบายการปฏิบัติของท่านอาจารย์ และคิดว่าจะเป็นประโยชน์จริง ๆ
เมื่อท่านได้รับการแนะนำอาราธนาของท่านอาจารย์เทสก์อย่างนี้แล้ว ประกอบกับพิจารณาเห็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ท่านจึงตัดสินใจที่จะกลับภาคอีสาน หลังจากท่านเข้ามาจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงอีกครั้ง โดยต้องการจะสงเคราะห์ชาวเชียงใหม่ แล้วท่านก็นึกถึงสถานที่วิเวก ทางแม่คอย อ. พร้าว ก็วกเข้าไปวิเวกจำพรรษาอยู่ที่นั้น
เมื่อท่านอาจารย์เทสก์ได้ทาบทามเพื่อที่จะให้ท่านกลับภาคอีสาน และแน่ใจพอสมควรแล้ว ท่านก็มีจดหมายไปถึงท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งเป็นความปรารถนาอย่างยิ่งของท่านอาจารย์เทสก์ ก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง
ออกพรรษาของปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ขึ้นไปเชียงใหม่ด้วยตนเอง โดยไปพักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง มีความกระหายที่จะได้พบพระอาจารย์มั่น ฯ
ทางฝ่ายพระอาจารย์มั่นฯ เมื่อทราบว่าศิษย์คนโปรดคือเจ้าคุณธรรมเจดีย์มา (ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์นี้ แต่ครั้งเป็นสามเณรได้มาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่าเป็นสามเณรโคร่ง คือเป็นเณรใหญ่ ได้ทำการปลูกมะพร้าวเป็นอันมากให้แก่วัดนี้ และเป็นสามเณรที่ว่านอนสอนง่าย)
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ลงจากดอยเดินทางมาพบกับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ที่วัดเจดีย์หลวง ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็เข้าไปกราบอาราธนาให้เดินทางกลับภาคอีสาน ท่านก็รับที่จะเดินทางไปตามความประสงค์
เป็นอันว่า ๑๒ ปีของการอยู่ภาคเหนือ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วยเหตุผลเป็นไปตามสมควร นักปราชญ์ผู้ฉลาดเมื่ออยู่ในสถานที่แห่งใดย่อมทำประโยชน์แก่สถานที่แห่งนั้น แม้ประโยชน์ส่วนอื่นยังไม่ปรากฏ แต่ก็ได้เกิดเป็นวัดป่าขึ้นตามสถานที่ที่ท่านได้พักจำพรรษา และไม่จำพรรษาเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ยิ่งในขณะที่เมื่อทราบว่าเป็นแหล่งสถานที่ของท่านได้อยู่อาศัยแล้ว พระภิกษุและประชาชน จะได้พยายามที่จะทำให้เป็นวัดป่าขึ้น เรียกว่ามีผลระยะยาว ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าท่านได้ปลูกฝังการปฏิบัติที่ถูกต้องและได้ผลจริงให้แก่ศิษย์ของท่าน กับทั้งศิษย์ของท่านก็ได้ปฏิบัติจริงได้ผลและสั่งสอนผู้อื่นจนเกิดผลได้ จึงเท่ากับเป็นการยกย่องเกียรติคุณของท่านไปด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้ ควรจะได้เป็นแบบอย่างแก่พระอาจารย์ทั้งหลาย ที่หวังความเจริญของพระพุทธศาสนา จะได้จดจำและหาทางดำเนินตาม ก็จะเป็นผลดีแก่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
การเดินทางกลับภาคอีสานของพระอาจารย์มั่นฯ ครั้งนักไม่มีอะไรมากนอกจากจัดบริขาร ๘ ของพระธุดงค์จะพึงมีเท่านั้นก็เป็นอันเสร็จ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ได้ล่วงหน้ากลับมาก่อนแล้ว ท่านก็ประกาศให้ศิษย์ผู้เคยปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านให้ทราบ บางองค์ก็อยู่ บางองค์ก็กลับตามท่านไป
ท่านเล่าว่า ขณะที่โดยสารรถไฟไปนั้น ท่านได้พิจารณาไปด้วย ทำสมาธิ.เป็นการภายใน แม้จะพูดจะมองดูอะไรต่าง ๆ ก็ให้จิตเป็นสมาธิมีสติ
ท่านได้เล่าเสริมว่า
เราโดยสารรถไฟคราวนี้ กำหนดจิตจนปรากฏว่าไม่มีอะไร เป็นรถไฟหรือตู้โบกี้ตู้ไหน มันก็กำลังวิ่งและกำลังเสียดสี มีเสียงอย่างไร ไปถึงไหน ไม่ปรากฏทั้งนั้น จิตได้เข้าสู่ความปรกติ การเดินทางเป็นวันเป็นคืนเหมือนชั่วขณะเดียวและสบายมากมีความเบา หลังจากลงจากรถไฟแล้วก็ไม่เสียกำลัง ทำเหมือนกับว่าอยู่ในป่าฉะนั้น
ผู้เขียนได้ฟังความข้อนี้แล้ว รู้สึกเคารพและเลื่อมใสยิ่ง ที่ท่านได้กระทำความเพียรอยู่ทุกเมื่อ แม้จะเดินทางโดยรถไฟ ท่านก็ไม่ละความเพียร ผู้เขียนฟังขณะที่ท่านเล่าโดยความเป็นกันเองเช่นนี้ ทำให้เกิดความระวังตนเองขึ้นมาก และมาได้ความคิกว่าการการทำความเพียรนี้เป็นอกาลิโกจริงๆ คำสอนของพระพุทธเจ้าในคำนี้ คือไม่เลือกกาลเลือกเวลา สามารถจะบำเพ็ญจิตได้ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ.
ปีนี้เมื่อท่านมาถึงกรุงเทพฯได้พักอยู่ที่วัดบรมนิวาสเป็นการชั่วคราว และผู้ที่ขอร้องท่านให้ไปอยู่เชียงใหม่คือท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์. (สิริจนฺโท จันทร์) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ก็ได้มรณภาพไปแล้ว ก็เพียงได้พบกับท่านสมเด็จพระมหาวีรวงศ์.(ติสฺโส อ้วน) เป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสแทน สำหรับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์นี้ก็มีความเลื่อมใสในตัวของท่านอาจารย์มั่นฯ มาก เนื่องจากได้เคยอยู่ร่วมกันที่วัดบรมนิวาสแต่ก่อน ได้เห็นจริยวัตรของท่าน และท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้กล่าวสรรเสริญไว้มาก เมื่อได้มาพบกันอีกครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันงามที่จะได้ไต่ถามข้อปฏิบัติธรรมอันเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางปฏิบัติจิตต่อไป เหตุนั้น ขณะที่พระอาจารย์มั่นฯ พักอยู่วัดบรมนิวาส สมเด็จฯ จึงถือโอกาสสนทนาธรรมปฏิบัติเป็นการส่วนตัวตลอดเวลา
ในวันหนึ่งมีพระหลายองค์กำลังนั่งอยู่ข้าง ๆ สมเด็จฯ จึงถามท่านอาจารย์มั่นฯ ว่า
เธอเข้าไปอยู่ในป่า ไม่มีตำราจะหาธรรมที่ถูกต้องได้อย่างไร
พระอาจารย์มั่น ฯ ตอบโดยไม่ต้องคิดว่า ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า สำหรับผู้มีปัญญา
สมเด็จฯ ได้อุทานขึ้นว่า จริง ๆ และขอให้ท่านอาจารย์มั่นฯ อธิบายต่อไปว่า ที่ว่า ธรรมมีทุกหย่อมหญ้า สำหรับผู้มีปัญญานั้นหมายความว่าอย่างไร ?
ท่านได้อธิบายว่า จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญหาย่อมเกิดขึ้น จะมองดูอะไรก็เป็นนิยายนิกธรรมทั้งสิ้น ส่วนผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้อง ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นธรรม เป็นยอดพระไตรปิฎกได้ ยกตัวอย่างเช่น สังกิจจสามเณรไปบิณฑบาต เห็นเขาไถนา เห็นเขาไขน้ำ นำเอามาเป็นอุบายจนเกิดปัญญา แล้วท่านก็สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ เพราะเหตุที่ท่านได้นำเอาดินที่ชาวนากำลังไถมาเป็นอุบายว่า ดินไม่มีใจ ทำไม่เขาจึงนำเอาไปตามประสงค์ได้ น้ำไม่มีใจ ทำไมเขาจึงทำเอาตามประสงค์ได้ เรามีใจ ทำไมไม่ทำใจให้เป็นไปตามประสงค์ เพราะเหตุนั้นธรรมจึงมีอยู่ทุกหย่อมหญ้ามิใช่หรือ ?
เป็นอันว่าท่านมาอยู่วัดบรมนิวาสชั่วขณะหนึ่ง ก็ยังได้ทำประโยชน์ แนะนำธรรมปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาลิกาตามสมควรแล้ว ท่านก็เดินทางต่อไป และได้แวะจังหวัดนครราชสีมา พักอยู่วัดสาลวัน ขณะนั้นพระอาจารย์สิงห์เป็นเจ้าอาวาสอยู่ และพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ก็เป็นศิษย์ขั้นพระเถระ เป็นศิษย์รุ่นแรกของท่าน เมื่อพระอาจารย์มั่นฯ มาเยี่ยมคราวนั้นมีความดีใจมาก กับทั้งพระเถระอื่นๆ ทั้งพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้นก็ยังอยู่ที่นั้น เป็นโอกาสที่ท่านจะได้แสดงธรรมอันเป็นส่วนของการแก้ไขจิต ทั้งพระเถระทั้งหลายก็สนใจที่จะฟังเพื่อการดำเนินปฏิปทาอันถูกต้อง ขณะนั้นผู้เขียนยังอยู่จังหวัดจันทบุรี
เมื่อพระอาจารย์มั่นฯ ได้พักอยู่ที่วัดสาลวันชั่วระยะหนึ่งแล้วและได้สถิตธรรมส่วนลึก อันเป็นธรรมสำคัญไว้ เพื่อการให้ความคิดของท่านพระเถระทั้งหลาย จนมีความคิดว่าจะต้องติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไป แต่ขณะนั้นท่านพระเถระทั้งหลายก็ยังต้องอยู่ เพื่อรักษาศรัทธาของประชาชนไปพลางก่อน แต่ปรากฏว่าบรรดาพระอาจารย์ทั้งหลาย ในกาลต่อไปได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ มาเป็นส่วนมาก
ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ได้จัดเสนาสนะถวายท่านอาจารย์มั่นฯ เพื่อจำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวสน์.ท่านก็ได้พักจำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวสน์ ใน พ.ศ  ๒๔๘๓-พ.ศ  ๒๔๘๔ ครั้งนี้ก็เป็นการเปิดเผยตัวของท่านอาจารย์มั่น ฯ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากท่านได้ปลีกตัวอยู่ในถ้ำภูเขา ซ่อนเร้นเพื่อสมณธรรมอยู่เชียงใหม่ - เชียงรายเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ที่ได้กล่าวว่าท่านได้เปิดเผยตัวนั้นก็คือ ท่านจำพรรษาอยู่ใกล้บ้าน และเปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณรทั้งหลายเข้าศึกษาและปฏิบัติอยู่กับท่านได้ และท่านก็อบรมและให้โอวาทแนะนำ และแก้ไขปฏิปทาต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในให้อย่างไม่อั้น เป็นเหตุในพระภิกษุสามเณรผู้สนใจในการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ ได้ทราบข่าวอันเป็นมงคลนี้อย่างรวดเร็ว พระเล็กเณรน้อย และพระเถรานุเถระจึงหลั่งไหลกันเข้ามามอบตัวเป็นศิษย์เป็นอันมาก
แม้ผู้เขียนได้สดับข่าวอันเป็นมงคลนี้เช่นกัน มีความกระตือรือร้นอยากที่จะมาหาท่านให้จงได้ แต่พระอาจารย์กงมา ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้ายังไม่ให้โอกาส เพราะขณะนั้นท่านยังสร้างวัดทรายงาม บ้านหนองบัว จังหวัดจันทบุรีอยู่ ท่านก็บอกว่าจะพาไป ผู้เขียนก็พยายามทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ไม่หลับไม่นอนตลอด เวลาหลายเดือนเพื่อเร่งความเพียรหวังเพื่อจะได้ศึกษาต่อกับพระอาจารย์มั่น ฯ จนเมื่อ พ.ศ  ๒๔๘๔ ผู้เขียนก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และก็ได้ทำการรบเร้าพระอาจารย์กงมาเพื่อให้นำไปหาพระอาจารย์มั่นฯ ให้ได้ ปีนี้ออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์กงมา ก็ได้พาผู้เขียนเดินธุดงค์จากจังหวัดจันทบุรี ผ่านพระตะบอง.จังหวัดมงคลบุรี ศรีโสภณ ตัดขึ้นไปอรัญประเทศ และข้ามภูเขาไปที่ถ้ำวัวแดง ผ่านอำเภอกระโทก เข้าจังหวัดนครราชสีมา ต่อไปถึงจังหวัดขอนแก่น อุดร แล้วตรงไปจังหวัดสกลนคร พบกับท่านอาจารย์มั่นฯ ที่บ้านโคก ต.ตองโขบ อ. เมือง จ.สกลนคร อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระอาจารย์กงมาผู้เป็นอาจารย์ของผู้เขียน

 ตอนที่ ๘

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระกลับภาคอีสาน
พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๗ จำพรรษาบ้านโคก
พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษาบ้านนามน

พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๘๔ - ๒๔๘๕
วัดป่าโนนนิเวศน์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
พระอาจารย์มั่น ฯ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงการมาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานีว่า เจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มีความประสงค์จะอยู่ใกล้ชิดเพื่อขอการแนะนำในทางจิตอันที่จะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเพื่อความอบอุ่นของคณะ เพราะเวลานั้นความมั่นคงของคณะไม่ค่อยจะดี พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายกรรมฐานได้ไปอยู่คนละทิศละทาง การกระทบเพื่อความมั่นคงของคณะมีมาก และกำลังพระภิกษุสามเณรมีน้อย ที่เป็นเช่นนี้เพราะขาดหลักที่ยืดถือ หมายถึงพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นแกนกลาง เจ้าคุณธรรมเจดีย์เองท่านเป็นเจ้าคณะพระผู้ใหญ่ก็จริง แต่ยังไม่สามารถจะรวมกำลังของพระภิกษุสามเณรที่เป็นพระปฏิบัติได้ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ความร่อยหรอของพระภิกษุสามเณรก็จะมีมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นการอ่อนแอของคณะได้
ดังนั้นพระอาจารย์มั่นฯ ท่านจึงได้สละเวลาถึง ๓ ปี ในการที่อยู่ที่วัดโนนนิเวศน์จังหวัดอุดรธานี หลังจากที่พระอาจารย์มั่นฯ ท่านมาอยู่ที่นี้แล้ว พระเถรานุเถระทั้งหลายจำนวนมากเมื่อทราบข่าวต่างก็พากันมา เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ เป็นเหตุให้เกิดพลังคณะสงฆ์ขึ้น เพราะท่านพระเถรานุเถระเหล่านี้เป็นที่เลื่อมใสของอุบาสกอุบาสิกาพระภิกษุสามเณรเป็นอันมาก เมื่อพระเถรานุเถระมารวมกันมาก ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านก็ให้แยกย้ายกันออกไปอยู่แห่งละ ๕ องค์ ๑๐ องค์ ถึงเวลาอันควร พระเถรานุเถระเหล่านี้ก็เข้าไปอยู่ศึกษาธรรมปฏิบัติเป็นครั้งคราว และก็ได้รับประโยชน์อย่างมากทั้งด้านจิตใจและปฏิปทา จนเป็นต้นเหตุให้เกิดวัดป่าขึ้นอีกนับร้อย ๆ วัดป่าคือสถานปฏิบัติธรรมที่ท่านพระเถรานุเถระที่มาศึกษาธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านเอง
ฉะนั้นการมาอยู่ของพระอาจารย์มั่นฯ ๓ ปี ที่จังหวัดอุดรธานีจึงถือว่าเป็นการฟื้นฟูคณะธรรมยุติครั้งยิ่งใหญ่ที่จังหวัดอุดรธานีจนถึง จังหวัดหนองคาย  นครพนม เป็นต้น ความเป็นพลังคณะสงฆ์ปรากฏเด่นชัดขึ้นตามลำดับ จนถึงกับพระปฏิบัติสายพระอาจารย์มั่นฯ ต้องมารับหน้าที่ฝ่ายปกครองเป็นเจ้าคณะ เราอาจกล่าวได้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) กำลังพระธรรมยุติเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย รับข้อปฏิบัติอันเป็นปฏิปทาของพระอาจารย์มั่นฯ แม้จะเข้ามาบริหารหมู่คณะ เป็นฝ่ายปกครองได้รับการเชื่อถือจากมหาชนอย่างมาก ประโยชน์อันจะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงแก่คณะนี้เอง ที่ทำให้พระอาจารย์มั่น ได้กลับจากเชียงใหม่ตามคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
ทั้งนี้ก็ต้องระลึกถึงพระคุณของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ที่ท่านมีสายตาอันยาวไกลเพื่อหมู่คณะมิใช่เพียงเพื่อตัวของท่านเอง ด้วยความพยายามอย่างยิ่งเป็นเวลาหลายปีกว่าจะอาราธนาให้ท่านอาจารย์มั่นฯ กลับภาคอีสานได้ ลบไม่ศูนย์ คือความดีงามและความเห็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ความประเสริฐเลิศยิ่งแห่งความบริสุทธิ์ใจแก่หมู่คณะธรรมยุติ ภาคอีสาน ที่จะต้องจารึกไว้นี้เอง คือคำว่า ลบไม่ศูนย์ ของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
ปี พ.ศ. ๒๔๘๕
บ้านโตก ต.ตองโขบ อ.เมือง จังหวัดสกลนคร
ณ สถานที่นี้ของผู้เขียนที่ได้อยู่จำพรรษารวมกับท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ภูริทตฺตเถระ เป็นพรรษาแรก เป็นความดีใจของผู้เขียนอย่างยิ่งเพราะเป็นความหวังความตั้งใจอันสูงส่ง บรรลุสมความประสงค์ เป็นความดีใจเช่นกับนักเรียนสอบเข้า (เอ็นทรานซ์) มหาวิทยาลัยได้ ซึ่งเขาก็มีหวังเป็นบัณฑิต แน่นอน เช่นกับผู้เขียนได้เข้ามาอยู่กับท่านปรมาจารย์ชั้นสูงสุด
ในพรรษานี้ตามที่ผู้เขียนได้สังเกตเห็นว่าพระอาจารย์มั่นฯ ท่านได้แสดงธรรมอย่างสม่ำเสมอแก่ศิษย์ผู้เข้ามาอยู่ในสำนักนี้ เนื้อหาธรรมะนั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์ยิ่งเพราะเป็นธรรมจากจิตใจ สรรหาออกมาเป็นคำพูด และถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ซาบซึ้งใจแก่ผู้ฟัง หยั่งลึกลงสู่ภวังค์แห่งจิต ขจัดความสงสัยนานับปการแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย
ทุก ๆ ท่านที่ได้รับรสพระธรรมของท่านต่างก็ปรารภเช่นเดียวกัน เช่นคำว่า มัชฌิมา ทางกลาง ท่านก็แสดงว่าทางพอดี เช่น ท่านแสดงว่าต้นบัญญัติ คือผู้ทำจิตถึงผู้รู้ที่เป็น ฐิติภูตํ หรือเป็นที่สุดทั้งสอง อันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ
1. อตฺตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเปล่า
2. กามสุขลฺลิกานุโยค ผู้หมกมุ่นในกาม นี้ท่านก็แปลว่า ผู้บำเพ็ญจิตยังตกอยู่ในความรัก ชอบ ชัง เกลียด ผู้นั้นยังไม่ถึงหนทางกลาง
อธิบายว่า ผู้บำเพ็ญจิตทั้งหลายเมื่อจิตสงบ ดีใจ เมื่อไม่สงบไม่ได้ดังใจ เสียใจ ถือว่าตกไปในทางรัก - ชัง ชื่อว่ายังใช้ไม่ได้ หรือผู้ที่บำเพ็ญจิตกล่าวโทษบุคคลผู้อื่นที่มีความเห็นไม่ตรงกับตน ถือว่าตกไปในทางชั่ว หรือผู้ที่ยกยอผู้อื่นด้วยความเกรงใจ ตกไปในทางรัก ถือว่าไม่เป็นมัชฌิมา ไม่ได้เดินทางกลาง บุคคลเหล่านี้ยังห่างไกลความพ้นทุกข์ ยังห่างไกลความอริยะยิ่งนัก
ผู้เขียนฟังแล้วในพระธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ แสดงได้ความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งในเหตุผล ทำให้เข้าใจตนและบุคคลผู้อื่น คณะตน คณะผู้อื่นอีกมากในเรื่องของการปฏิบัติจิต
แม้การอยูที่เสนาสนะป่าบ้านโคก หนทางไกลจากการคมนาคมมาก ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ก็ได้มาพบนมัสการพระอาจารย์มั่นฯ อยู่เป็นนิตย์ ทั้งนี้เพื่อดำเนินการให้พระภิกษุสามเณร มีความรวมตัวกันยิ่งขึ้น ให้สมกับที่พระอาจารย์มั่นฯ ได้เสียสละเวลาจากเชียงใหม่กลับไปภาคอีสาน เป็นโอกาสอันสำคัญยิ่ง ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ท่านจึงไม่ทิ้งโอกาสนี้และก็เป็นจริงเช่นนั้น
ผู้เขียนได้มาอยู่กับพระอาจารย์มั่นฯ ในฐานะผู้อุปัฏฐากหรือผู้ใกล้ชิด ได้เห็นพระอาจารย์ใหญ่ ๆ หลายองค์ได้เข้ามานมัสการหรืออยู่กับท่านในระยะนี้ เรียกได้ว่ามีการประชุมใหญ่ของพระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐาน ท่านพระอาจารย์เหล่านี้ได้ไปเผยแพร่พระธรรมทุก ๆ แห่งได้ผลเกินความคาดหมาย มีประชาชนเลื่อมใสอยู่ในขั้นสูง จนเป็นการปฏิบัติจิตได้แพร่หลายไปโดยทั่ว ซึ่งกาลก่อนนั้นการปฏิบัติดูเหมือนมืดมน การเลื่อมใสยิ่งของมหาชนได้เพิ่มขึ้น จนเหตุให้หลายแห่งต้องดำเนินสอนด้านจิตใจเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้นการอยู่จังหวัดสกลนครของท่านพระอาจารย์มั่นก็คือรวบรวมพระคณาจารย์ให้มาประชุมหาทางให้สอนด้านการปฏิบัติให้ก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อไป จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้เขียนได้พบพระคณาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิตลอดเวลา และท่านคณาจารย์ก็ได้มาพักอยู่ฟังธรรมและศึกษาธรรมจากท่านอาจารย์มั่นฯ องค์ละเป็นเวลายาวนาน
พ.ศ. ๒๔๘๖
เสนาสนะป่าบ้านนามน
ต.ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร
ณ ที่บ้านนามนนี้ เป็นบ้านเดิมของพระอาจารย์เนียม ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ (พระอาจารย์องค์แรกของผู้เขียน) ในครั้งเป็นฆราวาส สถานที่ตั้งสำนักสงฆ์นี้มีป่าไม้ธรรมชาติ เช่นไม้ยาง ไม้ตะเคียน ได้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้อื่น ๆ แม้จะอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน แต่ก็เป็นป่ารกชัฏ เหมาะแก่การทำความเพียร
พระอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เลือกสถานที่ที่นี้จำพรรษา ซึ่งก็ไม่ไกลจากเสนาสนะ เป็นการเปลี่ยนสถานที่เท่านั้นเอง ผลก็ได้เหมือนเดิม เพราะพระอาจารย์ทั้งหลายทั่วภาคอีสานได้เข้ามานมัสการฟังธรรมมากเพิ่มขึ้น และท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านก็ได้แสดงธรรมวิจิตรยิ่งขึ้น เป็นที่ถูกอกถูกใจซาบซึ้งในรสพระธรรมของท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้และก็ได้ซาบซึ้งตรึงใจในรสพระธรรมจนไม่สามารถจะอดใจได้ ที่คิดถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ฟังธรรมอันวิจิตรนี้ ผู้เขียนจึงต้องบันทึกพระธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์มั่นฯ ตลอดพรรษานี้ จนได้นามหนังสือนี้ผู้เขียนบันทึกว่า หนังสือมุตโตทัย
การประชุมพระคณาจารย์ทั้งหลายได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะพระคณาจารย์เหล่านี้มิได้มีการอาราธนา หรือบอกกล่าวแต่อย่างใด ท่านทั้งหลายนั้นได้มาสู่สถานที่นี้โดยมีพระอาจารย์มั่นฯ เป็นจุดมุ่งหมาย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการประชุมที่อัศจรรย์ เนื่องจากพระคณาจารย์เหล่านี้ไม่ต้องมีพิธีการต้อนรับหรือต้องเกรงใจ หรือต้องทำระเบียบการประชุม เรื่องต้องของบประมาณค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ผู้เขียนยังอัศจรรย์และแปลกใจในการมาของคณาจารย์เหล่านี้ซึ่งล้วนเป็นพระเถระผู้ใหญ่ และผู้น้อย ผู้ติดตาม จึงเป็นเหตุให้การประชุมรวมตัวของคณะสงฆ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างล้นเหลือ
ผู้เขียนครุ่นคิดว่าประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลแก่ทั้งส่วนตัวและแก่ทั้งส่วนคณะได้ผลจริง ๆ มิฉะนั้นคณะธรรมยุติภาคอีสานคงจะไม่แกร่งมาถึงปัจจุบัน.เนื่องพระอาจารย์มั่นฯ ได้วางนโยบายสำคัญ ๆ ทั้งทางด้านปกครอง และด้านการปฏิบัติกรรมฐาน ผู้คนทั้งหลายยังไม่ทราบข้อเท็จจริงนี้เท่าไร ผู้เขียนจึงขอจารึกประวัติศาสตร์แห่งคณะไว้ ณ ที่นี้ เพราะความใกล้ชิดที่ได้รับความไว้วางใจจากท่านพระอาจารย์มั่นฯ ผู้เขียนจึงได้เป็นพระอุปัฏฐาก ทำให้ได้ทราบความตื้นลึกหนาบางในการอยู่ในจังหวัดสกลนคร
บั้นสุดท้ายชีวิตของท่านพระอาจารย์มั่นฯ ที่ได้ทำงานให้แก่พระพุทธศาสนาให้แก่คณะ ดุจปิดทองหลังพระ แต่นั้นคือการแก้ไขสิ่งบกพร่อง ดำเนินการพัฒนาในธรรมปฏิบัติ บรรจุสิ่งที่เป็นประโยชน์ลงสู่จิตใจของบรรดาพระคณาจารย์ต่าง ๆ อย่างเต็มเพียบ ท่านพระคณาจารย์ต่าง ๆ เหล่านั้น ล้วนมีคุณธรรมเป็นฐานรองรับข้อปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งในการรับข้อปฏิบัติในสมัยนั้น จึงทราบได้ถึงความรอบรู้สามารถลึกซึ้งของท่านพระอาจารย์มั่นฯ
เป็นอันว่าเสนาสนะป่าบ้านนามนนี้ ก็เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งควรค่าแก่การศึกษา กุฏิของท่านพระอาจารย์มั่นฯ ก็ยังคงรักษาไว้ให้คงสภาพเดิม แม้กุฏิผู้เขียนก็ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๘๗
เสนาสนะป่าบ้านโคก ครั้งที่ ๒
พระอาจารยกงมา จิรปุญโญ พระอาจารย์องค์แรกของผู้เขียน ท่านได้พยายามที่จะให้พระอาจารย์มั่น ฯ กลับมาที่เสนาสนะป่าบ้านโคกอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านอีกสักครั้ง และแล้วความปรารถนาก็ได้สมดังความตั้งใจของท่านพระอาจารย์กงมา โดยที่พระอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ตัดสินใจกลับมาจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคกเป็นครั้งที่.๒
ในย่านนี้เป็นหมู่บ้านเหมือนกับบ้านป่า เพราะคมนาคมยังไม่ดี ไปไหนก็ต้องเดินเท้า ด้วยเหตุนี้ ที่ว่างเปล่าเป็นป่าละเมาะที่ไม่มีผู้ใดจับจองจึงมีอยู่มาก ป่าไม้เหล่านี้ก็มีเป็นต้นว่า ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ยาง ไม้ตะบาก ไม้ตะแบก เป็นต้น สูงบ้าง ต่ำบ้างเป็นร่มเงาได้ดี เหมาะแก่การสร้างวัดในทางปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งหาที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านจนเกินไป พออาศัยบิณฑบาตยังชีพของสงฆ์ เป็นสถานที่สงบสงัดดี จึงเป็นการง่ายมากที่จะสร้างเสนาสนะป่าพออาศัยทำความเพียร ซึ่งสถานที่เสนาสนะป่าเหล่านี้เองได้กลับกลายเป็นวัดที่แท้จริงเป็นจำนวนมาก เพราะหากไม่ขออนุญาตตั้งวัด ก็จะกลายเป็นสำนักสงฆ์เถื่อน แม้ท่านพระอาจารย์ทั้งหลายที่คงแก่ธรรม ก็จำเป็นต้องขออนุญาตให้เป็นวัดทั้งที่ท่านก็ไม่ปรารถนา วัดที่เกิดขึ้นจากเสนาสนะป่านี้มั่นคงถาวร บางแห่งมีอาคารไม้สัก วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ ดีกว่าวัดในบ้านในเมือง
ฉะนั้นการอยู่จำพรรษาที่เสนาสนะบ้านโคกครั้งที่ ๒ นี้ เป็นที่ทราบของท่านพระเถรานุเถระที่ไฝ่การปฏิบัติธรรมกว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีพระอาจารย์จำนวนมากที่แปลกหน้าผู้เขียนไม่เคยเห็นได้มารวมตัวกัน จึงเป็นโอกาสที่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ จะได้แสดงข้อวัตรปฏิบัติตื้นลึกหนาบางของความเสื่อมความเจริญ นับว่าเป็นบุญหูบุญตาของผู้เขียนมากมายเหลือประมาณ เพราะการที่พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายมาพบกันนั้นยากมาก เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก ต้องเดินทางด้วยเท้าเป็นส่วนใหญ่
และก็เป็นที่พอใจแก่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ เพราะท่านต้องการจะพบกับคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย เพื่อจะได้แนะนำการปฏิบัติจิตขั้นสูงเพราะขั้นธรรมดาทุกๆ ท่านก็ทราบมาก่อนแล้ว และการดำเนินการปกครอง เนื่องหมู่คณะได้มีมากขึ้นปัญหาต่างๆ ก็ตามมาเป็นธรรมดา แต่เพราะความรอบคอบของท่านพระอาจารย์มั่นฯ คณะปฏิบัติสายพระอาจารย์มั่นฯ จึงเป็นที่ยอมรับและนับถือ เชื่อมั่นกันเป็นเวลานานตราบจนปัจจุบัน.
มีข้อหนึ่งที่ผู้เขียนฟังแล้วใส่ใจอยู่ตลอดคือ พระอาจารย์ท่านพูดว่า อย่าทำให้โลดโผน หรือดังเกินไป อย่างทำให้คนขาดความเลื่อมใส เพราะไม่มีเสียง สิ่งที่จะมั่นคง คือ เป็นไปพอดี ๆ แต่หนักแน่น
จากนี้ไปเป็นการที่ผู้เขียนได้ประสบความเป็นไปต่างๆ ของพระอาจารย์มั่นฯ ด้วยตนเอง หลังจากได้รับคำบอกเล่าจากท่านและสานุศิษย์ของท่าน และได้เขียนไปตามที่ทราบมาก็นับว่าพอจะให้ความรู้และความเข้าใจตามความเป็นจริงแก่ท่านผู้สนใจในประวัติความเป็นมาของพระอาจารย์มั่นฯพอสมควรฯ
จะอย่างไรก็ตาม ขณะที่ผู้เขียนกำลังนั่งตำหมากและรินน้ำชาถวายท่าน พร้อมกับได้ฟังเรื่องของเชียงใหม่จนจุใจ ก็นับว่าเป็นกุศลจิตที่ได้มาพบท่านผู้ทรงคุณวุฒิ เนื่องจากการเล่าความเป็นมาหรือประวัติของท่านเองนั้น โดยมากท่านก็ไม่ใคร่จะเล่าให้ใครฟังเท่าไรนัก ท่านแสดงธรรมอันลึกซึ้งนั้นมากกว่า แต่การที่ท่านจะเล่าถึงความเป็นไปต่าง ๆ ของท่านนั้นก็ต่อเมื่อถูกรบเร้าจากลูกศิษย์ ผู้ต้องการจะทราบความเป็นมาของท่านบ้างเท่านั้น
ในขณะที่ท่านอยู่ เสนาสนะป่าบ้านโคก-นามน เป็นเวลา ๓ ปีแล้ว ท่านก็ได้ปรารถนาที่จะย้ายไปอยู่ที่บ้านหนองผือ ต นาใน อ พรรณานิคม ซึ่งเป็นการเตรียมงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่ท่านจะไปคราวนี้ เพราะขณะนี้มีพระอาจารย์ใหญ่ๆ ที่เป็นศิษย์ของท่านได้มารวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อข่าวการเคลื่อนย้ายแพร่ออกไป ทุก ๆ ท่านก็รีบเข้าประชุมเพื่อจะได้ติดตามท่านไป
การเดินทางครั้งนี้ เป็นการเดินทางโดยเท้าอีกครั้งหนึ่งของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ซึ่งเป็นการเดินธุดงค์ครั้งสุดท้าย แต่เป็นความกรุณาอย่างยิ่งของท่านแก่ผู้เขียนในการณ์ครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง คือ ท่านได้ไปแวะพักที่บ้านห้วยแคน อยู่ระยะหนึ่งเดือนกว่าๆ บ้านนี้เป็นบ้านของพวกโซ่ง อยู่ตามชายเขาภูพาน ผู้เขียนได้ไปอยู่กับพวกเขาหลายเดือนโดยแนะนำธรรมต่าง ๆ จนเขาเกิดความเลื่อมใสมาก
ขณะที่ท่านพักอยู่ที่ป่าใกล้บ้านแห่งนี้ ผู้เขียนได้พักอยู่กับท่านและพระอื่นๆ สอง-สามรูปทำให้ชาวบ้านแถวนั้นยินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุที่ชาวบ้านเหล่านั้นได้รับรสพระธรรมจากผู้เขียนที่ได้ไปวางรากฐานการปฏิบัติไว้ก่อนแล้ว
เมื่อได้กำหนดที่เดินทางคือไปยังบ้านหนองผือ พระเถรานุเถระได้ทราบข่าวการเดินทาง ก็ได้เตรียมตัวที่จะติดตามไปในระยะใกล้บ้าง ห่างบ้าง หนทางลัดที่จะไปบ้านหนองผือนั้น จะต้องเดินตัดดงไปทางบ้านห้วยกับแก้ ผ่านไปทางบ้านกุดไห บ้านกุดบาก-บ้านผักอีเลิด
การเดินทางครั้งนี้เดินวันเดียวไม่ถึง จึงต้องค้างคืนกลางทาง ทั้งการเดินทางก็ไม่ได้เร่งร้อนอะไร ถือว่าค่ำไหนนอนนั่นตามสบาย ส่วนพระเถรานุเถระผู้ติดตามนั้น ก็หาที่พักที่มีหมู่บ้านอยู่ห่าง ๆ ออกไป เพราะถ้ารวมกันอยู่เป็นหมู่ก็จะลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต ส่วนผู้เขียนก็ได้ติดตามท่านอาจารย์มั่น ภูริทตตเถระ ไปตลอดทาง
เมื่อถึงบ้านผักอีเลิด เป็นเวลาเย็นมากแล้ว ท่านจึงสั่งให้พักอยู่ใกล้หมู่บ้านแห่งนี้ หมู่บ้านแถวๆ นี้เป็นชาวบ้านป่า ทำมาหากินด้วยการทำไร่ถางป่า บ้านไม่ค่อยเป็นหลักฐานเท่าไร สถานที่เป็นภูเขาแต่ก็ไม่สูงนัก ส่วนต้นไม้เท่าที่สังเกตดู เป็นไม้เต็ง-รัง-ไม้แดง-ไม้มะค่าโมงเป็นส่วนมาก บางแห่งเป็นต้นเตี้ยๆ แต่บางแห่งก็เป็นดงต้นไม้สูงๆ เป็นดงทึบ มองแทบไม่เห็นดวงอาทิตย์ การเดินครั้งนี้เป็นการขึ้นลงภูเขาไปด้วย จึงทำให้ล่าช้าในการเดินทาง ฯ
ผู้เขียนจำได้ว่า การเดินทางของท่านอาจารย์มั่น ฯ ในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่าน ในการเดินทางไกลข้ามภูเขา แต่ตามที่สังเกตการเดินทางของท่านแล้ว ซึ่งขณะนี้ท่านมีอายุได้ ๗๕ ปีแล้วก็ยังเดินอย่างกระฉับกระเฉงว่องไว เดินไปได้อย่างสบาย ผู้เขียนก็ได้เดินตามท่านไปอย่างใกล้ชิดตลอดทาง ฯ
ภูเขาที่เดินผ่านไปนั้นเรียกว่า ภูพาน โดยส่วนมากจะเป็นภูเขาหินทราย มิใช่หินปูนเหมือนแถบลพบุรี จึงทำให้คนอยู่ได้อย่างสบายไม่มีการแพ้ ถ้าเป็นภูเขาหินปูนคนอยู่แล้วจะเกิดอาการแพ้ เกิดโรคภัยต่าง ๆ จึงปรากฏว่า มีผู้คนอาศัยทำมาหากินอยู่เป็นอันมาก แต่ก็เป็นชาวเขาแทบทั้งนั้น เขาเรียกผู้คนในแถวนี้ว่า ลาวโช่ง” “โซ่-ข่า และ ลาวภูไท และทุกๆ คนชาวเขาเหล่านี้เลื่อมใสพระพุทธศาสนากันทั้งนั้น มีการทำบุญตักบาตร สร้างวัดวาอารามเช่นเดียวกับคนไทยทั่วๆ ไป แต่ยังขาดการศึกษาเท่านั้น เพราะไม่มีโรงเรียนจึงทำให้มีอะไรหลายๆ อย่างที่ควรจะดีกว่านี้ แต่ไม่สามารถจะทำได้ การศึกษาจึงมีความสำคัญแก่มวลมนุษย์ชาติตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนกระทั่งบัดนี้
เมื่อได้พักค้างคืนที่ข้างๆ หมู่บ้านผักอีเลิดแล้ว การเดินทางไปบ้านหนองผือก็ไม่ไกลเท่าไร วันนั้นหลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ท่านก็พักผ่อนพอสมควร บ่ายแล้วจึงออกเดินทาง ถึงบ้านหนองผือประมาณ ๕ โมงเย็น ชาวบ้านทางนี้ทราบข่าวการมาของท่านอาจารย์มั่นฯ ก่อนแล้ว จึงพร้อมด้วยพระเถระบางรูปผู้สันทัดในการจัดเสนาสนะ ได้คอยให้ความสะดวกแก่ท่านและพระติดตาม
ในบริเวณวัดหนองผือนี้ เป็นดงมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมครึ้ม ทำให้อากาศถ่ายเทลำบาก จึงเป็นแหล่งที่มีความสำคัญอย่างหนึ่ง คือต้องทำความเพียรให้มาก นอนมากไม่ได้ อาจจะถึงล้มป่วยและตายได้ ซึ่งปรากฏว่าผู้ที่มาหาท่านอาจารย์ได้ป่วยและมรณภาพไปหลายรูป
ครั้นเมื่อท่านไปถึง และบอกแก่ศาสนศิษย์ญาติโยมว่า จะอยู่จำพรรษาที่นี่ทั้งญาติโยมและพระก็ช่วยกันจัดการซ่อมแซมเสนาสนะ ซึ่งมุงด้วยหญ้าคามาแต่เดิมและผุพังไปเป็นส่วนมาก ที่ต้องซ่อมแซมให้ไว้ได้มากนั้น เพราะพระภิกษุสามเณร มีความประสงค์จะเข้ามาอยู่กับท่านทั่วสารทิศ เมื่อกาลออกพรรษา ก็จะเดินทางมาศึกษาธรรมกับท่านตลอดเวลา ชุดนั้นออก ชุดนี้เข้า เป็นประจำอยู่อย่างนี้..
ผู้เขียนเองขณะนี้ก็ได้จากท่านไปอยู่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งก็ได้มาอยู่กับท่านก่อนออกพรรษาเป็นเวลาหลายๆ เดือน ทุกๆ ปี จนถึงปีสุดท้าย
ความจริงภูมิประเทศของบ้านหนองผือนี้ เป็นที่เหมาะแก่การทำความเพียรมาก เพราะเป็นที่ไกลต่อการคมนาคมผู้ที่จะเข้าไปในหมู่บ้านนี้ ต้องเดินทางจากถนนใหญ่ ๓ ถึง ๔ ชั่วโมงจึงจะถึง ถ้าจะไปอีกทางหนึ่งก็คือทางเกวียนเป็นทางอ้อมมากต้องใช้เวลาถึง ๘ ชั่วโมงกว่าจึงถึง แสดงว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเลือกภูมิประเทศที่ไม่ให้ผู้คนมารบกวนท่าน ซึ่งไม่เหมือนกับปัจจุบัน ผู้เป็นอาจารย์ทั้งหลาย แม้เมื่อไปอยู่ในถ้ำภูเขา ยังอุตส่าห์ตัดถนนให้รถยนต์เข้าไปถึง เพื่อให้ผู้คนสัญจรสะดวก เมื่อคนไปหามากก็บ่นว่ายุ่ง ไม่ทราบว่าจะบ่นทำไม ในเมื่อท่านเองก็ชอบจะให้เขาเข้าไปหา ถึงตัดถนนให้ความสะดวกแก่ชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่เหมือนกับท่านอาจารย์มั่นฯ ผู้เป็นพระปรมาจารย์เลย เพราะเมื่อท่านอยู่บ้านโคกนามน ท่านบ่นว่าใกล้ทางรถยนต์คนมาสะดวกทำให้ยุ่ง เราจะสอนพระภิกษุสามเณร โยมก็มาวุ่นเสียเรื่อย ทำให้เสียจังหวะ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ท่านจึงหาทางไปที่อื่น และได้บ้านหนองผือเป็นสัปปายะ
ตอนนี้จะพูดถึงบริเวณบ้านหนองผือ เพื่อให้ผู้อ่านที่ยังไม่เคยไป จะได้ทราบถึงสถานที่แห่งนี้ว่า เพราะเหตุใดท่านอาจารย์มั่นฯ จึงจำพรรษาอยู่ที่นี่ถึง ๕ ปี
บ้านหนองผือนี้เอานามของหนองน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นผือ หรือต้นปรือ เป็นต้นไม้สำหรับทอเสื่อ เหมือนกับชาวจันทบุรีทอเสื่อกกนั่นเอง บ้านหนองผือนี้อยู่ในแอ่งของภูเขา มีภูเขาล้อมรอบอยู่ทุกด้าน ในขณะที่เราเดินทางเข้ามาและยืนอยู่บนภูเขาแล้วแลลงมาดูบ้านหนองผือ จะเห็นเป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะ ก่อนเข้าถึงหมู่บ้านก็จะพบลำธารน้ำเล็ก ๆ ไหลผ่านไม่ขาดสายอยู่แห่งหนึ่งเสียก่อน และข้างลำธารมีก้อนหินใหญ่บ้างเล็กบ้าง เรียงรายกันอยู่เข้าไปถึงกลางลำธาร เป็นหินมีหลังนั่งพักสบาย โดยเฉพาะผู้เดินทางจากบ้านหนองผือไปที่อำเภอพรรณานิคม ออกเดินทางแต่เช้า จะต้องมาหยุดรับประทานอาหารกันที่นี่ แม้ข้าพเจ้าเอง ก็เคยมาฉันอาหารเช้าที่นี่หลายหน โดยนั่งฉันบนหินมีหลัง มีน้ำใส ร่มเย็นนั่งฉันสบาย แต่เมื่อเรามาถึงที่นี่แล้ว ก็จะไม่ทราบเลยว่าหมู่บ้านหนองผือมีลักษณะเป็นแอ่ง เหมือนก้นกระทะ เพราะพื้นที่เป็นที่ราบกว้าง เหมาะแก่การทำไร่ทำนา เมื่อเพาะปลูกอะไรลงไปแล้วเป็นงอกงามดีทั้งนั้น ซึ่งจะสังเกตได้ในวัด ปลูกต้นกล้วย มะม่วง มะละกอ ควินิน มะพร้าว ทุกอย่างงอกงามมีใบสดเขียวชอุ่มการทำนาดีมาก เหลืออยู่เหลือกิน มีแม่น้ำอยู่สายหนึ่งเป็นที่อาศัยทำมาหากินของชาวบ้านหนองผือนี้ คือแม่ถ้าคูน มีต้นไผ่ติดต่อกันไปตามลำคลอง การสร้างที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเป็นแบบโบราณธรรมดา มุงหญ้า คนรวยก็มุงกระดาน อาหารหลักคือการรับประทานข้าวเหนียวล้วน ชาวบ้านเป็นคนภูไท มีหมู่บ้านประมาณ ๗๕ หลังคาเรือน อาชีพมีการทำไร่กันเป็นพื้น โดยเฉพาะไร่ฝ้าย พริก ยาสูบ ฝ้ายนำเอามาปั่นเองทอเป็นเสื้อผ้าจนเหลือใช้ อาหารก็เป็นอาหารธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งพาที่อื่น มีการเป็นอยู่ด้วยความสงบ สถานที่เป็นดงทึบ จึงเกิดมีไข้มาลาเรียชุกชุม ปีหนึ่ง ๆ ทำให้คนตายเพราะมาลาเรียไม่น้อย. (ประวัตินี้กล่าวตอนท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ยังมีชีวิตอยู่) ฯ
วัดป่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ข้างทุ่งนา เดินลำบาก ชาวบ้านจึงได้ทำสะพานข้ามจากท้ายบ้านมาถึงวัด วัดนี้ท่านอาจารย์หลุยเป็นผู้มาเริ่มต้นก่อสร้างไว้ก่อนหน้าท่านอาจารย์มั่น ฯ มาอยู่ประมาณ ๑๐ ปี ที่ตั้งวัดเป็นเนินสูงกว่าบ้าน โดยมีทุ่งนาเป็นเขตกั้นระหว่างบ้านกับวัด ในสถานที่อันเป็นที่ตั้งของวัดและบ้าน บางครั้งก็ขุดค้นพบวัตถุโบราณ อันแสดงว่าเดิมเคยเป็นหมู่บ้านมาแต่โบราณกาล  ที่ตั้งหมู่บ้านเป็นที่ราบมีต้นไม้ใหญ่ เพราะเป็นดงดิบมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ทางด้านตะวันออกเป็นดงไม้ดิบติดต่อกันไป การสร้างกุฏิก็สร้างเป็นหลังๆ อยู่เฉพาะองค์ๆ ตามธรรมเนียมของวัดป่า มีศาลาสวดมนต์ ศาลาหอฉัน สถานที่สุขา หลุมเทหยากเยื่อ บ่อน้ำใช้และฉันสะอาดดี ฯ
เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่สงัด การภิกขาจารก็ไม่ไกลนัก ประชุมชนมีศรัทธาดีมาก ขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นฯ ก็มีวัยชราภาพมากแล้ว อายุ ๗๕ ปี จึงพักอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลาถึง ๕ ปี ฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พระภิกษุสามเณรผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานก็ได้หลั่งไหลเข้ามาโดยไม่ขาดสาย เป็นเหตุให้เสนาสนะที่อยู่ในวันนี้มีไม่เพียงพอ จึงพากันออกไปอยู่ในที่ซึ่งไม่ไกลนัก อันเป็นที่พักพอที่จะเจริญสมณธรรมได้ และสำนักที่พอสมควร ที่ตั้งอยู่ใกล้วัดป่าหนองผือ ก็มี
๑  วัดนาไนย
๒. วัดโคกมะนาว
๓  ห้วยบุ่น
๔. บ้านอูนโคก
๕  บ้านผักอีเลิด
๖. บ้านคงบาก
ที่ซึ่งท่านแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่างๆ เหล่านี้ จะมารวมกันทำอุโบสถ ( ฟังปาฏิโมกข์) ที่วัดป่าหนองผือกันทั้งนั้น เพราะเมื่อถึงวันอุโบสถ ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็จะได้ให้โอวาทหลังจากทำอุโบสถเสร็จแล้ว โดยการชี้แนวทางในทางธรรมข้อปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินจิตทุกๆ คราวไป ฯ
ส่วนท่านที่อยู่ใกล้พอสมควร ก็จะมาฟังธรรมได้สะดวกในเวลากลางคืน ซึ่งก็ได้มาแทบทุก ๆ คืน ได้ฟังธรรมปกิณกะมีนัยต่าง ๆ แล้วก็กลับไป นับว่าเป็นความอุตสาหะวิริยะอย่างยอดเยี่ยม ของท่านเหล่านี้ ฯ
พระเถระภิกษุสามเณรทั้งหลายที่อยู่โดยรอบ ใกล้บ้างไกลบ้างเหล่านี้ คอยฟังข่าวอยู่เสมอว่า พระเถระผู้ใหญ่ที่อยู่ทางไกล และเป็นผู้มีจิตเป็นไปในธรรมอันละเอียด ซึ่งท่านเหล่านั้นจะได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตเถระ เนื่องจากว่าพระเถระรูปใดเป็นผู้มีความสำคัญในทางปฏิบัติ และเป็นผู้มีความหนักแน่น มีสมรรถนะและความสามารถสูง มีการดำเนินทางจิตที่ถูกต้อง มีความเมตตาต่อหมู่คณะ ท่านจะต้องกล่าวถึงพระเถระรูปนั้น ๆ ในท่ามกลางสงฆ์ หรือกล่าวกับผู้ปฏิบัติใกล้ชิดอยู่เสมอว่า ท่านองค์นั้นองค์นี้ดีมาก หากใครต้องการจะปฏิบัติก็ให้ติดตามองค์นั้นไปเถิดจะเกิดผล อย่างนี้เป็นต้น ฯ
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไร ที่พวกเราและพวกเถระรุ่นใหม่จะต้องทราบถึงความดีของพระเถระรุ่นเก่าๆ ว่าท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม ด้วยเหตุนี้ เมื่อพวกเราได้ข่าวว่า พระเถระองค์ที่มีความสำคัญมาแต่ไกล ท่านอาจารย์มั่น ๆ ก็จะแสดงธรรมอย่างวิจิตร หรือเรียกว่าธรรมกถากัณฑ์ใหญ่ เพราะเหตุที่พระเถระเหล่านั้นจะได้ไต่ถามอรรถปัญหา ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็จะได้วิสัชนา และแสดงธรรมไปพร้อม ซึ่งกาลเช่นนี้หาฟังได้ยากนัก จึงทำให้พวกเราต้องตั้งใจคอย เพื่อให้มีให้เกิดมหาธรรมกถา จึงปรากฏว่าเมื่อถึงกาลเช่นนี้ จะปรากฏมีพระภิกษุสามเณร พระเถรานุเถระมากันมากเป็นพิเศษจนเต็มไปหมด ไม่ทราบว่า ออกมาจากป่า จากเขา จากถ้ำ จากที่ไหนๆ กันนัก
ตอน พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ
จำพรรษาเสนาสนะป่า บ้านหนองผือ
เนื่องจากพระอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาเป็นหลักแหล่งที่บ้านหนองผือนี้นานถึง ๕ พรรษา จึงทำให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน อนึ่งกิตติศัพท์ของท่านได้ปรากฏมานาน แม้ผู้เขียนมีอายุเพียง ๑๓ ปี ก็ได้ทราบข่าวแล้ว แต่ก่อนนั้น ท่านมิได้จำพรรษาซ้ำเป็นปีที่ ๒ เลยสักแห่งเดียว ถึงจะจำพรรษาอยู่ที่เดิมบ้าง ก็ต้องไปที่อื่นมาก่อน แล้วจึงหวนกลับมา โดยปกติท่านจะอยู่จำพรรษาในป่าดงพงไพรในภูเขาเถื่อนถ้ำเป็นส่วนมาก
จึงเป็นเหตุให้ผู้ประสงค์จะปฏิบัติศึกษาด้วย ต้องเที่ยวตามแสวงหาท่าน แสนยากแสนลำบากและแสนจะกันดาร เฉพาะพระภิกษุสามเณรเท่านั้นที่สามารถจะติดตามศึกษาหาข้อปฏิบัติได้โดยใกล้ชิด ส่วนอุบาสกอุบาสิกานั้นยากนักที่ที่จะตามเห็น เว้นแต่จะได้ศึกษาข้ออรรถธรรมเป็นครั้งเป็นคราวในเวลาอยู่จำพรรษาเท่านั้น เหตุนั้นเมื่อท่านองค์ใดได้ติดตามศึกษาปฏิบัติอยู่กับท่าน ก็ได้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในอันที่จะได้สั่งสอนประชาชน ให้เข้าใจในธรรมปฏิบัติเป็นตัวอย่าง เป็นอาจารย์ เป็นผู้น่าเคารพเลื่อมใสอย่างยิ่ง แม้ผู้เขียนเองเคยได้ยินกิตติศัพท์มาตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี จนถึงอายุ ๒๓ ปีจึงได้พบและปฏิบัติอยู่กับท่าน
ครั้นประชาชนได้ทราบข่าวว่า พระอาจารย์มั่น.ภูริทตฺตเถระ ได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือเป็นหลักแหล่งเช่นนี้แล้ว คณะพระภิกษุ-สามเณร-อุบาสก-อุบาสิกาทั้งหลาย.ที่เคยเป็นศิษย์ท่านมาแต่เดิมและพึ่งได้รับฟังกิตติศัพท์ใหม่ ๆ ก็มิได้รอรั้ง ต่างก็เข้ามาศึกษาหาข้อปฏิบัติ ฟังธรรมเทศนา บ้างก็พากันมาบำเพ็ญทาน ทั้งทางไกลและทางใกล้ ทั้งภาคใต้และภาคเหนือ ต่างก็ทยอยกันมาเข้านมัสการทุกๆ วันไม่ขาดสาย บรรดาท่านที่เข้ามานั้น ในปีหนึ่งๆ มีประมาณไม่น้อยเลย มากันแทบทุกวัน ทั้งๆ ที่ถนนหนทางก็ไม่สะดวก แสนที่จะกันดาร และอากาศก็ไม่ใช่เล่น ใครๆ ที่เข้ามาต้องระวังตัวมาก ถ้าพลาดพลั้งก็รักษาตัวกันไม่ไหว เพราะเคยปรากฏว่า ผู้ที่เข้ามานมัสการพักอยู่กับท่าน เกิดอาการแพ้อากาศ เจ็บป่วยล้มตายไปทั้งพระทั้งเณร และญาติโยมก็หลายคน
ถึงแม้การณ์จะเป็นเช่นนั้นทุกๆ คนก็หามีความท้อถอยไม่ เพราะต้องการฟังธรรมอันวิจิตรของท่าน จึงยอมสละชีวิตเข้ามาหาท่านอย่างน่าอัศจรรย์ แม้ข้าพเจ้าเองจากท่านไปอยู่จันทบุรี ก็ได้เดินทางมาอยู่กับท่าน (เพียงแต่ในพรรษาเท่านั้น) ออกพรรษาก็รีบมา พอใกล้เข้าพรรษาก็กลับจันทบุรี เช่นนี้ทุกๆ ปีจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย
การจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือนี้ ตลอดระยะเวลา ๕ พรรษา ท่านก็ได้พยายามชี้แจงธรรมต่างๆ แก่บรรดาศิษย์ทั้งหลายตลอดเวลา ท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นผู้มีกำลังวังชาดี เดินไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่ว อนึ่งขณะที่ท่านอยู่ที่วัดป่านี้ ท่านได้แสดงธรรมอันเป็นส่วนข้อปฏิบัติมากที่สุด มิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเลย เมื่อผู้ใดเข้ามาหา ท่านก็แสดงธรรมให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นพระเล็กเณรน้อย.ตลอดถึงพระเถระผู้ใหญ่ บางครั้งเป็นวันวิสาขบูชา มาฆบูชา ท่านได้แสดงผู้เดียวจนถึงเที่ยงคืน การแสดงธรรมก็เป็นไปวิจิตรพิสดาร มีอรรถรสแห่งข้อปฏิบัติสำนวนไพเราะมาก ซึ่งบางแห่งบางข้อข้าพเจ้าเคยได้บันทึกไว้ในหนังสือ มุตโตทัย เป็นที่เข้าอกเข้าใจแก่บรรดาสานุศิษย์ บางองค์ถึงกับบ่นว่า เราไปภาวนาตั้งเดือน สู้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์ครั้งเดียวก็ไม่ได้ เช่นนี้ก็มีมาก
อนึ่งท่านได้พยายามสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งหลาย โดยทุกวิถีทาง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหวังให้ศิษย์ทั้งหลายได้เข้าใจในปฏิปทาข้อปฏิบัติ และท่านก็ได้เลือกเฟ้นเอาธรรมทั้งหลาย ตลอดทั้งแนะแนวทางให้แก่บรรดาศิษย์มากมายด้วยอุบายต่าง ๆ โดยมุ่งหมายที่จะพาให้ดำเนินสู่ทางอันบริสุทธิ์ ตรงต่อพุทธพจน์จริงๆ ในการที่ท่านอยู่ที่วัดบ้านหนองผือนี้ มีความประสงค์เพื่อให้บรรดาศิษย์เก่าและศิษย์ใหม่เข้ามาศึกษาเป็นการเปิดโอกาสแก่บรรดาพระภิกษุสามเณร และเพื่อให้เข้าใจในธรรมยิ่งๆ ขึ้น กับทั้งการแสดงธรรมนั้นยังความชื่นชมและแก้ความสงสัยให้ อย่างไม่มีข้อแย้ง ซึ่งคล้ายกับว่าท่านจะรู้ว่ากาลแห่งสังขารธรรมจักอยู่ไปไม่ได้นาน ใคร่จะสอนให้แก่บรรดาศิษย์เป็นผู้เข้าใจในธรรมอันควรที่จะพึงรู้พึงเข้าใจ สืบแทนท่านให้เป็นหลักฐานแก่คณะกัมมัฏฐานต่อไป
กฎการปฏิบัติประจำ
ข้อปฏิบัติ อันเป็นอาจินต์วัตรของท่านนั้น เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ขณะนี้ท่านชราภาพมากแล้ว แม้ปฏิปทาจะเพลากว่าเดิมไปบ้างก็ยังปรากฏว่า เป็นที่น่าเคารพและเลื่อมใส ดังที่ผู้เขียนเคยอยู่และเคยเห็นมา จะเล่าสู่กันฟังโดยย่อ พอเป็นคติแก่อนุศิษย์ต่อไป
ก่อนออกบิณฑบาตตอนเช้า ต้องขึ้นสู่ที่จงกรมก่อน และก่อนที่จะไปบิณฑบาต ขณะที่ท่านจงกรมอยู่ ศิษย์ทั้งหลายต่างพากันทำวัตรปฏิบัติต่าง ๆ มีการเก็บบาตร กวาดสถานที่ เทกระโถน เก็บอาสนะไปปูยังโรงฉัน และเตรียมคลี่สังฆาฏิไว้รอท่าน เพราะตามธรรมดาแล้วการซ้อนผ้าสังฆาฏิเข้าสู่โคจรคามนั้นไม่เคยขาดเลย เว้นแต่จะมีฝนตกใหญ่เท่านั้น เมื่อท่านเดินจงกรมจนถึงเวลาที่ออกเที่ยวบิณฑบาตแล้ว ก็ลงจากที่จงกรมไปสู่โรงฉัน ศิษย์ทั้งหลายก็ถวายผ้าสังฆาฏิช่วยครองกลัดลูกดุมรังดุมทั้งข้างล่างและข้างบนแล้วเข้าไปสู่บ้าน ผู้ถือบาตรไปก่อนโดยไปรออยู่ที่นอกอุปจาระบ้าน เมื่อท่านไปถึงก็รับเอาบาตร ศิษย์ก็ตามเข้าไปเป็นแถวตามลำดับอาวุโส มี ๑๐-๒๐-๓๐ ถึง ๕๐-๖๐ องค์.และเป็นแถวยาวเหยียด ตอนขากลับศิษย์ก็รับเอาบาตรล่วงหน้ามาจัดการแก้ถลกบาตรเตรียมรอไว้โดยเรียบร้อย (การบิณฑบาตใช้สะพายอุ้มบาตรไว้ข้างหน้า ซึ่งไม่ผิดอะไรกับการอุ้มบาตรซึ่งท่านอาจารย์ใหญ่ ได้นำมาใช้ปฏิบัติในคณะพระกัมมัฏฐานและคณะกัมมัฏฐานทั้งหมดจึงได้กระทำเหมือนท่าน ด้วยกันทั้งนั้น)
ครั้นเมื่อท่านมาถึงวัดแล้วพวกศิษย์ ๆ ก็เตรียมรับผ้าสังฆาฏิเอาออกผึ่งแสงแดดพอสมควร แล้วก็เก็บไว้เป็นที่ การฉันก็รวมลงในบาตรกันทั้งนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นท่านเอาอาหารไว้ภายนอกบาตรเลย เว้นแต่เมื่อคราวล้มป่วยครั้งสุดท้ายเท่านั้น แม้การไปบิณฑบาตท่านก็ไม่ยอมขาดได้ง่ายๆ เว้นเสียแต่ว่าไปไม่ได้จริงๆ ซึ่งตามธรรมดาเมื่อสุขภาพและกำลังของท่านยังคงอยู่. แต่หากท่านป่วยอาพาธแล้ว ท่านมักจะระงับด้วยการไม่ฉันจังหันและไม่ออกบิณฑบาต ประกอบความเพียรบางครั้งถึง ๓ วัน ก็มี พอโรคระงับแล้วจึงค่อยฉันต่อไป
ท่านเคยพูดว่า
การเที่ยวบิณฑบาตโปรดสัตว์นั้น แม้แต่องค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังเสด็จไป และพระอริยเจ้าผู้สาวกก็ไปบิณฑบาต เราผู้สาวกภายหลังจะไม่ไปบิณฑบาต ก็เท่ากับว่าดีกว่าพระพุทธเจ้าผู้บรมศาสดา ซึ่งก็เท่ากับว่าดีเกินครูไปเท่านั้น หมายความว่า นอกครู
เมื่อคราวท่านอาพาธครั้งสุดท้ายนั้น เมื่อเข้าบิณฑบาตตลอดบ้านไม่ได้ ก็ไปเยี่ยมครึ่งบ้าน เมื่อเข้าไปบ้านไม่ไหวท่านก็ไปสุดเขตวัด และเมื่อไปสุดเขตวัดไม่ไหวก็ไปแค่ศาลาโรงฉัน เมื่อไปบิณฑบาตถึงศาลาไม่ไหวจริง ๆ จึงงดบิณฑบาต จนถึงวาระสุดท้าย อันเป็นการแสดงถึงความเอาใจใส่อย่างยิ่งในข้อวัตรปฏิบัติของท่านในการออกบิณฑบาตเป็นวัตร
อนึ่ง การฉันนั้น รวมฉันแห่งเดียวกันหมด เมื่อจัดอาหารใส่บาตรกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (การจัดอาหารนั้น มีพระผู้แจก คือตักแจกไปตามลำดับจนกว่าจะหมดและเพียงพอ พระที่แจกมี ๒-๓ องค์ เป็นภัตตุเทสก์ที่สงฆ์ตั้งไว้) ท่านก็นำพิจารณาเป็นปัจจเวกขณะ บางครั้งก็เตือนเมื่อมีเสียง บางครั้งก็พิจารณาด้วย
บทสรุป
ท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ หลังจากท่านได้มอบงานใหญ่ให้ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม แล้ว ท่านก็ได้เดินธุดงค์วิเวกไปทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ท่านได้เที่ยววิเวกหาความสงบ พิจารณาถึงพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนได้รับผลเป็นที่พึงพอใจ ตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี ในที่สุดท่านก็ได้เดินทางกลับมาทางจังหวัดภาคอีสาน เพื่อจะได้พบปะลูกศิษย์ลูกหาเก่าแก่ ซึ่งท่านได้อบรมไว้ก่อนแล้วนั้น
ท่านได้พักอยู่จังหวัดอุดร และจังหวัดสกลนคร เมื่อบรรดาศิษย์ทั้งหลายของท่านได้ทราบข่าวถึงการกลับมาอยู่จังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม ซึ่งท่านอยู่นานกว่าทุกแห่งแล้ว เป็นโอกาสให้บรรดาคณาจารย์ผู้เป็นศิษย์ได้เข้ามาพบและอยู่กับท่าน ซึ่งก็เป็นความประสงค์ของท่านอาจารย์มั่นฯ อยู่แล้ว เพราะท่านต้องการที่จะแถลงนโยบาย หรือความละเอียดที่ท่านได้ค้นคว้าและศึกษามาตลอดระยะเวลา ๑๒ ปีที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่งแก่บรรดาคณาจารย์ที่จะได้มารับนโยบายอันถูกต้องในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านได้เลือกเฟ้นและแนะนำให้ฟัง
เมื่อท่านอาจารย์มั่นฯ ได้พักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือตลอดระยะเวลา ๕ ปี ก็มีประโยชน์ที่ได้วางแผนงานขั้นสุดท้ายให้แก่คณาศิษย์พระคณาจารย์ของท่าน ซึ่งท่านเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการเป็นทายาทของท่านอย่างยิ่ง
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งท่านก็ได้พยากรณ์ชีวิตของท่านให้แก่ศิษย์ฟังแทบทุกองค์แล้ว ท่านพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า ล่วงเลยมาเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี ในปีนี้นับแต่วันเข้าพรรษาผ่านไป ท่านก็เริ่มไม่สบาย อาการก็รู้สึกจะหนักขึ้นทุกวันๆ เมื่อเดือนที่ ๑ ผ่านไปอาการของท่านไม่มีเบาขึ้นเลย ถึงกับพระอาจารย์ผู้เป็นศิษย์อยู่แถวใกล้ ได้มาพยาบาลท่านกันเป็นจำนวนมาก อาการของท่านก็มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น
ต่อมาอาพาธของท่านก็พอจะค่อยยังชั่วขึ้นหน่อย ท่านไม่ฉันยา แม้ว่าลูกศิษย์จะถวายเท่าไรๆ ท่านก็ไม่ฉัน ท่านบอกแก่ทุกคนว่า
ต้นไม้ที่มันตายยืนต้นอยู่แล้ว จะเอาน้ำไปรดเท่าไรจะให้มันเกิดใบอีกไม่ได้หรอก อายุของเรามันก็ถึงแล้ว
ครั้นเมื่อใกล้จะออกพรรษา เหลืออีกประมาณ ๑๐ วัน ท่านก็ได้บอกพระที่อยู่ใกล้ชิดว่า
ชีวิตของเราใกล้จะสิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมะเป็นครั้งสุดท้าย
บรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้จดหมายบ้าง โทรเลขบ้างไปยังที่อยู่ของพระคณาจารย์เหล่านั้น บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายเมื่อได้รับจดหมายบ้าง โทรเลขบ้างแล้ว ต่างก็ได้บอกข่าวแก่กันต่อ ๆ ไปจนทั่ว เมื่อการปวารณาออกพรรษาแล้วต่างองค์ก็รีบเดินทางมุ่งหน้ามาหาอาจารย์มั่นฯ ยังบ้านหนองผือ อันเป็นจุดหมายเดียวกัน
ท่านอาจารย์เทสก์ กับ ท่านอาจารย์วิริยังค์ (พระญาณวิริยาจารย์) ก็ได้มาจากจันทบุรี ร่วมในครั้งนี้ด้วย วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ  ๒๔๙๒ ท่านอาจารย์มั่น ฯ ลุกขึ้นเดินไปไหนไม่ได้เป็นวันแรก บรรดาพระอาจารย์ได้เข้าไปประชุมกัน แล้ว ท่านได้ลุกนั่งแสดงธรรมะให้แก่ศิษย์ทั้งหลายฟังอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมงเป็นเนื้อความว่า
 “การปฏิบัติจิตถือเป็นเรื่องสำคัญ การทำจิตให้สงบถือเป็นกำลัง การพิจารณาอริยสัจถือเป็นการถูกต้อง การปฏิบัติข้อวัตรมีการฉันหนเดียวเป็นต้น เป็นทางพระอริยะ ผู้เดินผิดทางย่อมไม่ถึงที่หมาย คือพระนิพพาน
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านพักอยู่บ้านหนองผือเป็นเวลา ๕ ปีนั้น นับว่าเป็นลาภของชาวหนองผือยิ่งนัก ทุกๆ ปีจะมีคนมานิมนต์ให้ท่านไปทางโน้นทางนี้บ้างแต่ท่านก็ไม่ไป ทั้งทำให้เห็นหน้าแขกต่างบ้านมากมาย ทั้งพระและฆราวาสคล้ายกับว่าบ้านหนองผือเป็นบ้านสำคัญแห่งหนึ่ง ทำให้มีชื่อเสียงปรากฏทั่วประเทศไทย และชาวบ้านก็ศรัทธาในตัวท่านอาจารย์ใหญ่กันทั่วทุกคน
มาในขั้นสุดท้ายชีวิตของท่านอาจารย์มั่นฯ ชาวบ้านเขาก็มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะแทนคุณท่านอาจารย์ครั้งสุดท้าย คือขอให้ท่านมรณะที่บ้านหนองผือนี้ ท่านได้บอกกับชาวบ้านและพระภิกษุสามเณรทั้งหลายว่า
เราจะไม่มรณภาพที่นี่ เพราะถ้าเราตายที่นี่แล้ว คนทั้งหลายก็จะพากันมามาก จะพากันฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย เนื่องด้วยศพของเรา จะทำให้ชาวบ้านเป็นบาป สมควรที่จะจัดให้เราไปมรณภาพในจังหวัดสกลนครเถิด
พระคณาจารย์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลาย เมื่อได้ทราบความประสงค์ของท่านแล้ว ก็พากันประชุมกันในค่ำคืนวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๑๒ นั้นเอง ตกลงจะนำท่านไปวัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
เมื่อชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า ท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่งของพวกเขาจะไปในตอนเช้าของพรุ่งนี้แล้ว ถึงทำให้เกิดโกลาหลอลหม่านเป็นราวกับว่าแผ่นดินจะทรุดฉะนั้น ไม่ทราบว่าจะคิดอ่านประการใด เพราะเหตุผลให้เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว ต่างก็หารือในอันที่จะยับยั้งท่านไว้ บางคนก็มากราบเรียนยับยั้ง แต่ก็ไม่ได้ผล ในคืนวันนั้น ก็มิได้เป็นอันหลับนอนกันทั้งหมู่บ้าน เข้ามาวัดฟังเหตุการณ์ จนถึงรุ่งสางของวันใหม่ เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าท่านจะไป ทุกคนต่างก็แสดงสีหน้าสลดผิดปกติ เพราะในใจของเขาไม่ต้องการให้ท่านจากไป จึงทำให้เขาทั้งหลายเสียใจเป็นที่ยิ่ง ไม่มีอะไรเปรียบ
ชาวบ้านหนองผืออัดอั้นตันใจ จะพูดว่าอย่างไร ก็หมดหนทางแล้ว สุดท้ายก็คือประชุมกันเพื่อไปส่งท่าน ภิกษุสามเณรในเช้าวันนั้นต่างก็รีบฉันกันแต่เช้า ครั้นเมื่อถึงกำหนดเวลา ซึ่งเป็นวันจากบ้านหนองผือของท่านอาจารย์มั่น ฯ ชาวบ้านทั้งแก่เฒ่าและหนุ่มสาว หลามไหลเข้ามาวัดกันอย่างคับคั่ง ทุกคนในมือถือดอกไม้และธูปเทียน นำเข้าถวายท่านอาจารย์มั่นฯ แล้วก็กล่าวขอขมาลาโทษ พร้อมทั้งสะอึกสะอื้นน้ำตาร่วงไหลทุกคน ส่วนพระเถรานุเถระได้มาประชุมกันที่หน้ากุฏิใหญ่ของท่านอาจารย์มั่นฯ จัดแคร่สำหรับหามที่มุงด้วยผ้าขาวมาวางไว้ข้างบันได เมื่อทุกอย่างเสร็จแล้วก็เข้าไปกราบเรียนท่าน ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็เตรียมตัวลุกขึ้นเองอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้ง ๆ ที่ท่านลุกไม่ได้มาตั้ง ๙ วันแล้ว ท่านเรียกเอาไม้เท้าเท้ายันเดินไป และก็เป็นการเดินครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่าน
ท่านได้เดินเข้าไปที่แคร่หาม ผู้มีกำลังก็เข้าประจำที่จะหามท่านอาจารย์ใหญ่ออกจากบ้านหนองผือ ในวันนี้อันตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลา ๙.๐๐ น. อันเป็นวาระสุดท้ายในชีวิตของท่านที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านที่บ้านหนองผือ สายตาท่านได้สอดส่ายไปดูญาติโยมจนถ้วนทั่ว แต่ท่านก็ไม่ได้พูดอะไร
ครั้นแล้วขบวนก็ได้เคลื่อนออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ บรรดาพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ก็ออกติดตามเป็นทิวแถว เมื่อขบวนผ่านใจกลางบ้าน ชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็พากันชะเง้อคอมองดู บ้างก็เตรียมตัวออกมาส่ง บ้างก็แสดงความเศร้าโศก ทั้งออกหน้าและตามหลัง เป็นราวกับว่าของที่เคารพบูชาจะพลัดพรากจากไป ทั้งๆ ที่แลเห็นแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกครั้งเมื่อท่านกับพระภิกษุ สามเณรทั้งหลายแวดล้อมติดตามไปเป็นแถวนั้น คือการไปบิณฑบาต แล้วก็กลับมายังที่วัดป่านี้ ก็มีจิตคิดว่ายังเห็น ยังอุ่นใจ พากันติดตามมาส่งอาหารกัน ก็มาบัดนี้ท่านได้ผ่านไปพร้อมกับทั้งพระภิกษุสามเณร เป็นการไปไม่กลับเสียแล้ว ต่างก็พากันออกติดตามคล้ายๆ กับจะพาท่านให้กลับคืนมาให้ได้เสียดังนี้ แต่จะทำไฉนเล่า เป็นการเหลือวิสัยเสียแล้ว จึงเท่ากับติดตามไปส่งเพื่อไว้อาลัย ที่ท่านได้มาสั่งสอนในธรรมะปฏิบัติต่าง ๆ จนพากันเลื่อมใสยิ่งในพระพุทธศาสนา เป็นระยะเวลาถึง ๕ ปีทีเดียว
ในวันนี้ชาวบ้านหนองผือเกิดโกลาหลอลหม่าน เป็นการใหญ่ ซึ่งราวกับว่าแผ่นหินจะทรุดฉะนั้น. ผู้คนออกติดตามส่งประมาณ ๒๐๐ คนเศษ เมื่อขบวนผ่านพ้นจากบ้านหนองผือ ก็เป็นที่น่าชวนให้คิดดังนี้ว่า
 “โอ ! ชาวบ้านหนองผือ คราวนี้ช่างกระไร จักพากันได้รับความเศร้าโศก.อัดอั้นตันใจคับแค้นแน่นใจอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาแต่กาลไรๆ ทั้งๆ ที่ความโศกแม้จะปรากฏขึ้นซ้ำ อันความว้าเหว่ก็เข้ามาแทนที่ โอ้ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวทั้งทางวัดและทางบ้านให้เงียบเชียบยังกับไม่มีคน โอ๋ ! บ้านหนองผือจะต้องเงียบเชียบทั้ง ๆ ที่มีคนเต็มบ้านหลานเต็มเมือง แต่ก็ควรคิดไปในทำนองคลองธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า สพฺเพหิ เมปิ เยหิ มนา เปหิ นา นาภาโว วินาภาโว แปลว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งสิ้นไป
ขบวนได้ถึงบ้านห้วยบุ่น ท่านอาจารย์หลุยกับท่านอาจารย์เนตรกำลังออกวิเวกอยู่ พึ่งรู้ออกมารับและติดตามไปด้วย ท่านอาจารย์วิริยังค์จึงได้ถามว่า
เอ้า ! ทำไมไม่รู้เรื่องหรือยังไง ท่านอาจารย์หลุยจึงได้ตอบทันทีว่า
แหม ! ภาวนาอยู่ในถ้ำกำลังดี ได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครมก็เลยออกมาดู เจอพอดี แหม ! เกือบเสียคน
คราวนี้พวกออกหน้าก็คอยถางทาง อันมีเรียวไม้ต้นไม้ระเกะระกะอยู่ ทางพวกหามก็ผลัดกันออก ผลัดกันเข้า เคลื่อนขบวนกันไปเรื่อยๆ โดยอาการช้าๆ ตามราวป่าแถวนั้นมีบ้านชาวเขาอยู่ประปรายห่างๆ กัน พอทราบข่าวการจากไปของท่านอาจารย์มั่นฯ ก็พากันออกจากป่ามาเข้าขบวน เลยกลายเป็นขบวนใหญ่ ขบวนนี้ก็ขึ้นดงลงห้วย ลำธารเลาะลัดไปตามป่าไม้น้อยใหญ่ เลียบไปตามชายภูเขาประกอบกับเนินสูงๆ ต่ำ ๆ ทั้งขึ้นโคกออกทุ่งเป็นแห่งๆ ไป มีทั้งต้นไม้เดียรดาษ อันมีต้นพฤกษาชาติต่างๆ หลายอย่างหลายประการ มีทั้งสมอ มะขามป้อมซึ่งกำลังผลิดอกออกผล ยังกับจะชวนท่านภิกษุสามเณรให้แวะนั่งพักฉันเพื่อเป็นยาปนมัตต์ ขบวนได้หยุดลง ณ ที่นี่พอดี
ผู้คนไปส่งก็พากันกลับ.เหลือแต่ผู้หามเคลื่อนขบวนกันไปเรื่อย ๆ บ่ายโมงถึงบ้านโคกกระโหร่ง ได้หยุดพักถวายยาชูกำลังและบำบัดโรคตามสมควรเท่าที่จะหาได้ เพื่อประทังไป ขบวนหามก็เริ่มหามต่อไป ในไม่ช้าข่าวนี้ก็ได้แพร่สะพัดไปโดยรวดเร็ว ถึงชาวบ้านโคกสาวขวัญ บ้านกุดก้อม บ้านบง.บ้านม่วงไข่พรรณา อำเภอพรรณนา ว่าท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังมา ประชาชนต่างก็พากันหลามไหลออกมาดักขบวน เข้าช่วยหาม เวลาบ่าย ๕ โมงเย็น ก็ถึงบ้านโคกสาวขวัญ ถึงบ้านบง และพระได้เรียนท่านว่าบัดนี้ถึงกุดก้อมแล้ว ท่านบอกว่าให้นำท่านไปวัดป่าบ้านนาภู่ แต่ชาวบ้านม่วงไข่ก็จะเอาไปม่วงไข่ ตอนนี้อยู่ระหว่างกึ่งกลางทางจะไปม่วงไข่และดงนาภู่
ชาวบ้านได้เถียงกันเป็นการใหญ่ ต่างคนก็ต่างจะเอาไป ท่านอาจารย์มั่นฯ บอกว่า
ให้ไปบ้านนาภู่ดีกว่า ขบวนจึงตกลงไปวัดป่าบ้านนาภู่ ท่านอาจารย์มั่นฯ จึงบอกแก่พวกขบวนว่า
เราต้องการไปโปรดนายอ่อนและนางสัม.
ขบวนหามก็ข้ามทุ่งนา ซึ่งข้าวกำลังออกรวงเหลืองอร่ามข้ามท้องทุ่ง เจ้าของนาก็ออกมารับ และปวารณาบอกว่าให้ย่ำข้าวไปเลย จะเสียหายสักเท่าใดไม่ว่า
ท่านอาจารย์ผ่านนาโชคดีแท้ ๆ  เจ้าของนาว่า.
ในที่สุดขบวนก็มาถึงวัดป่าดงนาภู่ เป็นเวลา ๒๑.๐๐ น พอดี จึงได้นำท่านอาจารย์ขึ้นสู่ศาลา ครั้งนั้นแหละข่าวอันนี้ก็ได้แพร่สะพัดไปโดยรวดเร็วทั้งทางไกลและทางใกล้ว่า  ท่านอาจารย์มั่นฯ เวลานี้พักอยู่วัดป่าดงนาภู่ พระภิกษุ สามเณร อุบาสกอุบาสิกา ต่างหลั่งไหลกันเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย เพื่อทัศนานุตะริยะครั้งสุดท้าย และบำเพ็ญกุศล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอ่อนและนางสัม โมราราช สองสามีภรรยาได้มีความปลาบปลื้มปีติเหลือล้น เพราะได้คิดว่าวัดนี้เป็นวัดของตน ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้มาพักสมดังเจตนาเดิมด้วย ทั้งกลางวันกลางคืนได้เฝ้าท่านอยู่ตลอดเวลาไม่ยอมห่าง
วันนี้ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ขณะที่นางสัมมายืนมองท่านทางหน้าต่างศาลา ท่านทักขึ้นมาว่า
นี่หรือนางสัมภริยานายอ่อน
นางจึงตอบว่า ค่ะ
ท่านจึงถามต่อว่า สบายดีหรือ ?”
สบายดีค่ะ ท่านจึงพูดกับนางสัมต่อไปอีกว่า
เราเต็มทีแล้ว โรคเกิดขึ้นคราวนี้หนักมากนะ เป็นคำพูดที่ท่านพูดโต้ตอบมากกว่าใครๆ ทั้งสิ้น ทำให้นางสัมมีความยินดีปรีดาอย่างยิ่ง และก็สลดใจ ฝ่ายท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโร) ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) เพิ่งจะมาถึง ก็ทยอยกันเข้ามาเป็นลำดับ
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พักอยู่ที่บ้านดงนาภู่ เป็นเวลา ๙ วัน จวบกระทั่งวันแรม ๕ ค่ำ นางนุ่ม ชุวานนท์ ผู้อุปฐากมาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยท่านอาจารย์เสาร์ ได้เข้าไปนมัสการท่าน ๆ พูดกับนางนุ่มว่า
เราเต็มทีแล้ว อาการหนักเหมือนบุรุษมีกำลังหลายคน จับคนไม่มีกำลังคนเดียว
เมื่อนางนุ่มได้ฟังแล้วก็รู้สักตื้นตันใจจนไม่ทราบจะกล่าวประการใดก็ลากลับ
ในระยะที่อยู่บ้านนาภู่นี้ ไม่ทราบว่าคนได้หลั่งไหลกันมาอย่างไร ทั้งไปกลับ ทั้งนอนค้าง แน่นขนัดไปหมดทั่วบริเวณ การเข้านมัสการท่านอาจารย์มั่น ฯ นั้น เข้ากันจนไม่ขาดระยะ (ศาลาหลังนี้สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร) อาจารย์วิริยังค์ผู้ที่ได้อุปฐากมาตั้งแต่หนองผือจนกระทั่งขณะนี้ เห็นว่าจะเป็นการรบกวนท่านมากเกินไป เลยห้ามไม่ให้คนเข้ามาภายในศาลา ให้นมัสการข้างนอกแล้วปิดประตูไว้
เมื่อท่านได้ยินเข้ากลับบอกให้เขาเปิดประตู ให้เข้ามาตามความพอใจ ทีนี้ละ ผู้คนต่างพากันเข้ามาทางประตู เกิดแน่นขนัดจนถึงประตูผู้ที่เข้าไม่ได้ก็ยืนมองอยู่ข้างนอกประตู เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงต้องเปิดหน้าต่างอีกข้างหนึ่งใกล้ ๆ ท่าน คนก็ไหลเข้ามาทางนี้ พอค่อยยังชั่ว
ตอนที่ท่านพักอยู่ที่บ้านนาภู่นั้น ท่านได้พูดกับศิษย์ที่ใกล้ชิดว่า
นำเราไปวัดสุทธาวาสเถอะ เหมาะดี
ดังนี้ตั้งหลายครั้ง ส่วนนายอ่อนนางสัมไม่ยอมเด็ดขาด อ้อนวอนท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ และท่านอาจารย์เทสก์ ให้ทัดทานไม่ให้ท่านไป แต่ก็ไม่เป็นผล ท่านยังคงยืนยันคำเดิม และในวันนั้นคือวันพฤหัสบดี วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งตรงกับวันเกิดของท่านพอดี ท่านบอกว่า
ต้องไปวันนี้ เพราะเป็นวันสุดท้ายแล้ว
ชาวสกลนคร มีนางนุ่มเป็นต้น ได้จัดการนำรถมา เพื่อจะนำท่านไปยังวัดสุทธาวาส จอดรถคอยตั้งแต่เช้าตรู่ของวันแรม ๕ ค่ำนั้นแล้ว แต่ด้วยเหตุที่นายอ่อนนางสัมทัดทานอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้การเดินทางต้องล่าช้า เพราะว่าคณาจารย์ที่เป็นศิษย์ของท่านต่างรู้แล้วว่า ท่านจะสิ้นใจไปเสียวันนี้เป็นแน่ จึงได้เตรียมการกันเสียเอิกเกริก เพื่อให้พอเพียงต่อความสะดวกต่าง ๆ
ประชาชนและคฤหัสถ์ต่างเนืองแน่นอยู่เต็มบริเวณวัด ในที่สุดพระก็ได้อุ้มท่านเข้าสู่แคร่คานหามอีกคำรบหนึ่งเมื่อเวลา ๑๐.๒๐ น. ก่อนที่จะขึ้นแคร่ ท่านได้พูดกับพระคณาจารย์ที่ยืนออกันอยู่ ณ ที่นั่นว่า เราจะเข้าฌานสงบ แล้วท่านก็ไม่ได้พูดอะไรกับใครต่ออีกเลย มีผู้คนติดตามไปส่งท่านที่รถเป็นขบวนยาวเหยียดเพื่อไปขึ้นรถยนต์ที่ถนนใหญ่ ซึ่งมีท่านอาจารย์เทสก์ ท่านอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร และท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์กงมา เจ้าคุณธรรมเจดีย์ สามเณรอำพนธิ์ ผู้ซึ่งเป็นเหลนของท่านเป็นผู้พยุงท่านไปกับรถ
ขณะนั้นเอง นายอ่อนนางสัม อุบาสกอุบาสิกาในแถบพรรณานิคม ที่มาประชุมกันอยู่นั้นถึงกับตกตะลึง นางสัมถึงกับล้มเป็นลมพับลงไป ต้องช่วยกันเยียวยาจึงฟื้น เพราะการไปของท่านอาจารย์มั่น ฯ คราวนี้ด่วนมาก ตกลงเพียงชั่วโมงเดียว จึงทำให้ไม่ทันคิดหลังยับยั้งจิตไม่ทัน อันเป็นเหตุให้เกิดโทมนัสเหลือกำลังถึงกับร้องห่มร้องไห้กันเสียงระงม
รถฟาร์โก้ขนาดเล็กพาท่านอาจารย์มั่นฯ และคณะแล่นไปตามถนนหลวง ส่วนญาติโยมต่างนั่งร้องไห้กันอยู่เต็มลานวัดทางเบื้องหลังอยู่ระงมไปหมด ซึ่งวันนั้นฝนตกพรำ ๆ ท้องฟ้ามืดครึ้มไปหมด อันทำให้ศิษย์ทุกคนได้คิดถึงคำพยากรณ์ของท่านว่า วันที่ท่านจะสิ้นลมปราณนั้นฝนจะต้องตกพรำ ๆ และก็สมจริง
๑๔.๓๐ น. รถฟาร์โก้เล็กคันนั้นก็นำท่านอาจารย์ไปจอดสงบนิ่งอยู่ในลานวัดสุทธาวาส ครั้นถึงแล้วก็ได้จัดแจงเข้าพักในกุฏิเป็นที่เรียบร้อย แล้วท่านก็นอนในสภาพปกติ ชาวจังหวัดสกลนครเมื่อได้ยินข่าวต่างพากันดีใจที่ท่านอาจารย์มั่นฯ เดินทางมาถึง ต่างก็หลามไหลเข้ามากราบไหว้กันเป็นทิวแถว ทั้งพ่อค้าข้าราชการประชาชนเป็นจำนวนมาก.
เมื่อดึกควรแก่เวลาแล้ว ชาวบ้านที่มานมัสการก็พากันทยอยกลับ ส่วนพระคณาจารย์ที่เป็นศิษยานุศิษย์ทั้งหลายก็ได้นั่งประชุมกันอยู่ตลอดเวลา อาการของท่านก็ปกติอยู่จนกระทั่ง ๒๔.๐๐ น. ครั้นเมื่อถึง ๐๑.๐๐ น. ตรง อาการของท่านผิดปกติขึ้นทันที อาจารย์วัน อุตฺตโม ผู้ปฏิบัติใกล้ชิด ก็ได้รีบไปแจ้งแก่พระคณาจารย์ทุกองค์แล้วก็พร้อมกันอยู่ในห้องเพื่อคอยดูอาการ
ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น ชีพจรทั้งหลายก็อ่อนลงหดเข้า ๆ ที ถอนขึ้นทุกระยะ จนเหลืออยู่แต่ที่หัวใจ ภายในไม่ช้าก็สิ้นลมหายใจด้วยอาการปกติทุกประการ
ต่อจากนั้นอาจารย์ทั้งหลายก็ผลัดกันเข้าไปกราบศพเป็นลำดับ.จนถึงวาระของพระอาจารย์วิริยังค์ท่านได้กราบลงหมอบข้างศีรษะของท่าน จิตก็คิดว่า
ท่านอาจารย์หนอมาละพวกกระผมไปเสียแล้ว โดยสภาพแห่งความเป็นจริงของสังขาร อันโทษกรรมใดๆ ทั้งที่เป็นทางกายด้วย ทางวาจาด้วย ทางใจด้วย ซึ่งกระผมไม่มีต่อท่านอาจารย์แล้ว.ขอจงอโหสิกรรมแก่กระผมด้วยเถิด
ชีวิตและความดีเด่นอันหายากนักที่จักทำได้ ดังท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ต้องจบลงแต่เพียงแค่นี้ จะยังคงเหลืออยู่แต่ลูกศิษย์ลูกหาผู้ออกเผยแพร่ธรรมและสร้างเสนาสนะไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อสอนลูกหลานต่อกันมาตราบเท่าทุกวันนี้
 http://www.dharma-gateway.com/image/bar-4-two-head.jpg
ปล. ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ จบสมบูรณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๒ เวลา ๒๔.๒๖ น.
ต้นฉบับนั้นข้าพเจ้าได้บันทึกไว้เมื่อครั้งข้าพเจ้าอยู่กับท่านเป็นเวลา ๔ ปี ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๘
ตอนถวายการประชุมเพลิง
หลังจากการมรณภาพของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ขณะพระเถระผู้ใหญ่ที่ได้มาประชุมกันอยู่แล้ว ก็ได้กำหนดการประชุมเพลิงเพื่อเป็นการถวายการกตัญญูกตเวทีของบรรดาศิษยานุศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย
ทั่วสารทิศอีกเช่นกัน บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้หลั่งไหลกันเข้ามานมัสการศพของพระอาจารย์มั่นฯ และได้ถือโอกาสนั้น บำเพ็ญกุศลฟังพระธรรมเทศนา จากพระอาจารย์ทั้งหลาย ที่นับเนื่องเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น นับวันก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ เพราะทั่วทุกสารทิศ ข่าวการมรณภาพของพระอาจารย์มั่นได้แพร่ไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุดังกล่าว ทั้งภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาจึงเนืองแน่นในวัดสุทธาวาสเหมือนมีงานเทศกาลก็ไม่ปาน ผู้เขียนได้เห็นภาพต่าง ๆ เหล่านี้ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ยังไม่เคยเห็นที่ใดเลย เพราะบรรดาทุกคนที่มากันนี้ ได้นำความเดือดร้อนลงมาให้เจ้าภาพเลย เนื่องทุกหนแห่งประชาชนที่มา ต่างก็นำเสบียงมาพร้อม ๆ กับของที่จะทำบุญเกี่ยวกับงานศพด้วย มิหนำก็ยังมาช่วยถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสามเณรที่มาในงานจำนวนกว่าพันรูปอีกด้วย
ทางฝ่ายพระภิกษุสามเณรที่มาในงานศพพระอาจารย์มั่นฯ ครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำความลำบากหนักใจให้แก่ทางเจ้าภาพเลย เพราะเมื่อทุกท่านมาถึง ท่านก็ช่วยตัวเองกันทั้งนั้น โดยไปหาที่อยู่เอาเองตามอัธยาศัยใต้โคนต้นไม้ เรื่องหมอนมุ้งก็ไม่ต้องจัดให้ท่านพักกับโคนต้นไม้ ใช้ผ้าอาบน้ำเป็นเสื่อ ใช้ตีนบาตรเป็นหมอน ทุกอย่างก็ไม่ต้องกวนเจ้าภาพ ที่ใส่น้ำทุกองค์ก็มีกันมาเอง
ซึ่งต่อมาคณะกรรมฐานหมายถึงคณะวัดป่าได้ถือเอาธรรมเนียมนี้ ใช้ต่องานประชุมเพลิงศพหรืองานอื่นๆ โดยต่างคนต่างเตรียมเสบียงมาพร้อม ไม่ให้เป็นที่หนักใจแก่เจ้าภาพ บรรยากาศก่อนการประชุมเพลิงตลอดระยะเวลา ๓ เดือนนั้น เป็นบรรยากาศล้วนธรรมะ ที่ประกาศแว่วเสียงลงสู่โสตประสาทแก่ผู้ที่มาร่วมงาน ซึ่งเป็นผลประโยชน์อันมหาศาล ทำให้เกิดความเลื่อมใสใฝ่ในธรรมอย่างยิ่ง เพราะพระธรรมเทศนานั้นมาจากพระอาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิศิษย์พระอาจารย์มั่นฯ ทั้งนั้น ล้วนแต่มีความสามารถในทางแสดงธรรมเป็นยอด มาร่วมในงานและได้แสดงธรรม เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาแด่พระอาจารย์มั่นฯ กันทั้งนั้น จึงเป็นพระสัทธรรมที่ไพเราะ และเพราะพริ้งจริง ๆ
ผู้เขียนก็ตั้งใจฟังอย่างมิให้เหลือเศษ คือฟังทุกองค์ ทุก ๆ กัณฑ์ ทุก ๆ เวลา เพราะยิ่งฟังก็ยิ่งอิ่มใจ ได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นอีกเยอะ ในขณะนี้ประชาชนได้สละกิจการบ้านเรือน ทั้งทางไกลทางใกล้ เข้ามาบำเพ็ญกุศลต่อพระอาจารย์มั่น ฯ เนืองแน่นขึ้นทุก ๆ วัน
น่าประหลาดใจที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นบอกต่อกันไปเพียงเท่านั้น ไม่มีออกข่าวหนังสือพิมพ์วิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ หมายความว่า สื่อมวลชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานประชุมเพลิงศพของพระอาจารย์มั่นฯ ครั้งนี้แต่อย่างใด แต่ก็อัศจรรย์ คนได้ไปกันแทบทุกจังหวัดในภาคอีสาน แม้ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกก็ไปกันทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ทางคมนาคมไม่สะดวกเท่าใดนัก ทางรถยนต์ก็มีแต่ลูกรัง เครื่องบินก็ไม่มี ถนนจากกรุงเทพไปสู่ภาคอีสานก็ยังไม่มี แต่ผู้คนได้มากันจนวัดสุทธาวาสกว้าง ๕๐ กว่าไร่ แน่นจนไม่มีที่จะอยู่
ผู้เขียนมองเห็นพระอาจารย์ออกบิณฑบาตจากวัดสุทธาวาสไปถึงในเมืองประมาณ ๒ ก.ม. หัวแถวเข้าเมืองแล้วหางแถวยังอยู่ที่วัดสุทธาวาสเลย หมายถึงแถวเรียงหนึ่ง เป็นทัศนียภาพที่น่าเลื่อมใสยิ่ง ผู้เขียนเองก็ได้เข้าแถวบิณฑบาตเช่นเดียวกับสงฆ์องค์อื่นๆ ก็ยิ่งทำให้ตนของตนเข้าสู่บรรยากาศที่แท้จริง คือได้สัมผัสด้วยตนเอง จึงมีความรู้สึกที่ลึกซึ้งในธรรมยิ่งนัก จะหาทัศนียภาพเช่นนี้เห็นจะไม่มีอีกแล้ว.มีแต่ในงานศพท่านพระอาจารย์มั่นฯ ในระหว่างรอกาลเวลาที่จะมีการประชุมเพลิง
ของถวายพระภิกษุสามเณรที่มาในงานศพครั้งนี้ได้รับโดยทั่วถึงกัน เพราะเฉพาะผ้าขาวที่จะตัดเป็นสบง จีวรนั้นมากมายเหลือเกิน ผ้าขาวเหล่านี้เป็นผ้าที่เขาเอามาถวายเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ แม้จะเป็นเวลาหลังสงครามที่ข้าวของกำลังแพงและหายาก ถึงอย่างนั้นก็ได้มีผู้ศรัทธานำไปถวายท่านมิได้ขาด วันที่ท่านมรณภาพ บรรดาญาติโยมทางบ้านหนองผือได้ช่วยกันขนผ้าขาวเหล่านั้นจำนวนหลายสิบเล่มเกวียน นับเป็นผ้าที่จะตัดจีวรได้ จำนวนหลายพันตัว จึงเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นท่านได้จัดจีวรให้แก่พระที่อยู่กับท่าน และที่มาเยี่ยมท่านเป็นอันมาก ถึงอย่างนั้นผ้าขาวที่จะทำจีวรก็ยังเหลือ
แม้ผู้เขียนเองในปีนี้ (๒๔๙๒) ก็ได้พาโยมมารดามาทอดกฐินเป็นครั้งสุดท้าย โดยนำผ้าขาวมาถึง ๑๐ พับ.แต่เมื่อมาถึงท่านก็ให้ทอดเป็นผ้าป่า โยมมารดาก็ได้ทำตามท่านแนะนำ แม้ขณะนั้นท่านกำลังอาพาธแต่ท่านก็ได้ลุกขึ้นมารับผ้าป่าของโยมมารดาผู้เขียน ทำให้โยมมารดาปลื้มปีติอย่างยิ่ง หลังจากนี้ท่านก็ลุกไปศาลาโรงฉันไม่ได้แล้ว
จริงอย่างที่เขียนไว้ข้างต้นว่าในระยะเวลาก่อนจะถึงวันประชุมเพลิงพระอาจารย์มั่นฯ เป็นเวลา ๓ เดือนเต็ม เวลาที่มีอยู่นี้เป็นเวลาที่มีคุณค่าเหลือล้นพ้นประมาณ เพราะมีการแสดงธรรมเทศนา นั่งสมาธิภาวนาตลอด ถือว่าอุดมธรรมะจริง ๆ ท่านพระอาจารย์ทั้งหลายท่านจะเปิดเผยธรรมในใจของท่านออกมาทางการแสดงธรรมเทศนา บางทีเป็นธรรมที่ลึกซึ้งจนผู้มีจิตธรรมดาไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ท่านก็แสดงทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเข้าใจยาก แต่ก็ยังมีไม่น้อยที่รู้เร้าเข้าใจ จึงเรียกว่าธรรมกถาที่ใหญ่ยิ่งจริง ๆ
ณ วันนี้ที่จะต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ คือวันเคลื่อนศพจากศาลาสู่เมรุที่จัดไว้อย่างธรรมดาไม่หรูหราและไม่เลวนัก ประชาชนทั่วไปได้ฟังประกาศว่า บัดนี้จะได้เคลื่อนศพแล้ว ซึ่งเวลานั้นเป็นเวลา ๑๐.๐๐ น. บรรดาพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทั้งในบริเวณนอกบริเวณวัดต่างก็รีบเดินเข้ามาดุจนัดหมายกันเอาไว้ พรึบเดียวเท่านั้นแน่นขนัดไปทั่วบริเวณ บรรยากาศในขณะนี้เป็นบรรยากาศเศร้าสลด หมายถึงว่าทุกคนในขณะศพกำลังถูกยกเคลื่อนที่จากที่ตั้งบนศาลา กำลังเคลื่อนลงมาอย่างช้า ๆ ขณะนั้นนั่นเองน้ำตาของทุกคนจากดวงตาหลายหมื่นดวงได้ร่วงพรูลงพร้อมกันเหมือนกับนัด พร้อมทั้งผู้เขียนซึ่งกำลังยืนเคารพศพอยู่ข้าง ๆ นั้น ผู้เขียนได้มองไปทั่วบริเวณ เห็นน้ำตาอันบริสุทธิ์หลั่งไหลจากดวงตาของคนทุกเพศทุกวัยนี้ นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในหลายสิ่ง ที่บอกเหตุแห่งความเลื่อมใสศรัทธาต่อองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ผู้เขียนรู้สึกว่าในใจหายวาบ ๆ เป็นครั้ง ๆ ทุกคนที่ยืนอยู่กันอย่างสงบดุจตุ๊กตา ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เงียบกริบไม่มีแม้กระทั่งเสียงไอ และจาม เป็นความหยุดเหมือนถูกสะกด ในขณะที่ศพกำลังถูกเคลื่อนออกจากศาลาไปสู่เมรุอย่างช้า ๆ
ขณะนี้เหลือเวลาอีก ๓ วันที่จะถึงวันประชุมเพลิง บรรดาพระภิกษุ สามเณรประชาชนทั้งทางไกลและทางใกล้ต่างได้สละเวลาอันมีค่าของตนมาพร้อมกันแล้ว.ณ ที่วัดสุทธาวาสเป็นจำนวนมาก บรรยากาศในขณะนั้น มีการบำเพ็ญกุศลทอดผ้าบังสุกุลตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้เขียนได้สังเกตดู เป็นผ้าที่ชาวบ้านทอกันเองเป็นส่วนมาก ญาติโยมก็หานิมนต์พระภิกษุสามเณรที่มาในงานมารับผ้าบังสุกุล ดูก็เป็นธรรมชาติดีเหลือเกิน เพราะไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร ใครมาเมื่อไรก็ได้ บังสุกุลเมื่อไรก็ได้ พระภิกษุสามเณรมารับเมื่อไรก็ได้ ผู้เขียนก็ถูกนิมนต์ให้รับก็หลายครั้ง รู้สึกว่าทุกคนที่บำเพ็ญกุศลไม่มีการหวงห้ามหรือปิดกั้นขั้นเวลาต่าง ๆ ญาติโยมได้หลั่งไหลเข้ามาสู่เมรุ เพื่อทอดผ้าบังสุกุลไม่ขาดสายตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
บรรยากาศอย่างนี้คงหาดูได้ยาก แม้จะมีการประชุมเพลิงพระอาจารย์องค์ใด ๆ ก็คงไม่เหมือนงานศพของพระอาจารย์มั่นฯ เพราะเป็นศรัทธาในตัวของทั้งพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาที่มีต่อท่านพระอาจารย์มั่นฯ อย่างเปี่ยมล้นด้วยกัน ฉะนั้นเมื่อมีการบำเพ็ญกุศลใด ๆ โดยเฉพาะงานประชุมเพลิงเป็นงานขั้นสุดท้ายแล้ว ทุกคนจึงแสดงออกแห่งศรัทธาอันยิ่งยวดในใจ ออกมาเป็นภาพที่มีความดื่มด่ำ พลังแห่งความนึกคิดเป็นปรากฏการณ์ออกมา ให้ทุกคนได้ทึ่งและอัศจรรย์ ดังนั้นพลังศรัทธาจึงเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ และสามารถนำไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในทุก ๆ กรณี
เวลา ๑๗ นาฬิกาของวันเผา คือรวมกันวางดอกไม้จันทน์ หรือเรียกว่า (เผาหลอก) ประชาชนแน่นขนัดในบริเวณวัดเนื้อที่กว่า ๕๐ไร่ แม้เขาเหล่านั้นจะวางดอกไม้จันทน์กันแล้วทุกคนไม่กลับ รอคอยประชุมเพลิงจริง (เผาจริง) ดังนั้นถึงคราวเผาจริงคนจึงยิ่งมากเพิ่มขึ้น ในเวลา ๒๒.๐๐ น.
บัดนี้การประชุมเพลิงสรีระของท่านพระอาจารย์มั่น ได้เริ่มขึ้นแล้ว ทุกคนที่มาต้องการอัฐิของท่าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้อารักขาอย่างเข้มแข็ง ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้ศรัทธาในองค์ท่านถึงกับเอามือล้วงเอาขณะไฟยังไม่มอด ซึ่งในที่สุด พระเถรานุเถระผู้เป็นศิษย์ของท่านก็ได้เก็บรวบรวมอัฐิ แล้วก็แจกจ่ายให้แก่ตัวแทนศิษย์ที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ พอสมควรแล้ว ผู้เขียนในขณะนั้นก็เป็นตัวแทนจังหวัดจันทบุรี เพราะไม่มีใครเป็นผู้ใหญ่อยู่ที่จันทบุรี เมื่อเสร็จทุกอย่าง ประชาชนก็ยังอยู่ในบริเวณเป็นอันมาก
ในหลังเว้นวันถัดมา ต่างก็เก็บเอาเถ้าถ่าน ถึงกับกอบเอาดินที่ตรงประชุมเพลิงไปคนละกำ ๒ กำ พระเถรานุเถระเหล่านั้นก็ได้มีฉันทานุมัติให้เก็บอัฐิส่วนใหญ่ไว้ที่วัดสุทธาวาส ในเมื่อสร้างอุโบสถเสร็จก็ให้เก็บอัฐิไว้ในอุโบสถเพื่อสักการบูชาแก่ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายต่อไป
เป็นอันว่าการประชุมเพลิงศพพระอาจารย์มั่นได้เรียบร้อยแม้ทุกประการ ทุกคนที่มาในงานศพต่างก็ได้ชื่นชมพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ แสดงโดยพระเถรานุเถระที่มาในงานอย่างวิจิตรพิสดารซาบซึ้งตรึงใจ ได้บุญกุศลจากการมาทำการประชุมเพลิงศพของพระอาจารย์มั่น ฯ โดยทั่วกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น