วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ท่านเป็นนักผจญภัยเพื่อต่อสู้กิเลสอย่างยอดเยี่ยม

ประวัติพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์
โดย
พระญาณวิริยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์)
เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
ตอนที่ ๑
การเขียนประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระของข้าพเจ้า โดยการได้ยินได้ฟังจากตัวของท่านเองและครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้า ตลอดถึงลูกศิษย์ของท่าน เพราะท่านอาจารย์มั่น ฯ นี้ท่านเป็นนักผจญภัย เพื่อต่อสู้กับกิเลสอย่างยอดเยี่ยม จึงเป็นประวัติที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเองตั้งแต่เป็นสามเณร เพียงแต่ได้ยินอาจารย์ของข้าพเจ้าเล่าให้ฟัง ก็รู้สึกเลื่อมใสจริง ๆ จนอยากจะพบท่านทีเดียว แต่ประวัติของท่านอาจารย์มั่นฯ นั้น เข้าใจว่าตัวข้าพเจ้าเองไม่สามารถจะพรรณนาได้หมดแน่ เพราะเหลือวิสัยเนื่องจากมีอะไรหลายอย่างที่เป็นสิ่งลึกลับอยู่ แต่ว่าความจริงแล้วการแนะนำพร่ำสอนในธรรมทั้งหลายนั้น ข้าพเจ้ายอมรับอย่างไม่มีข้อแม้เลยว่า เป็นธรรมที่มีเหตุผลและเป็นผลที่ได้รับจริง ๆ จนข้าพเจ้าต้องอุทานมาคนเดียวขณะที่เพิ่งจะมาอยู่กับท่านว่า เรามาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ เพียงเดือนเดียว แจ่มแจ้งในธรรมดีกว่าอยู่กับท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าถึง ๘ ปี แต่อะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องอุทานออกมาเช่นนี้นี่แหละที่จะเป็นต้นเหตุให้เขียนประวัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ต่อไป
คำแรกที่ข้าพเจ้าได้ฟังจากท่านอาจารย์มั่นฯ
แม้ว่าวันแรกที่ข้าพเจ้าไปพบวันนั้นต้องเดินไปเป็นหนทางถึง ๒๐ กิโลเมตร พอสรงน้ำเสร็จเข้าไปกราบท่าน ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร แสดงธรรมเลยทีเดียว ท่านแสดงว่า
มัชฌิมา ทางกลาง หมายถึงอะไร หมายทางพอดี ของพอดีนั้นมีความสำคัญ ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างขาดความพอดี ใช้ไม่ได้ ไม้ที่จะตัดเป็นบ้านขาดความพอดีก็เป็นบ้านไม่ได้ จีวร เสื้อผ้า ตัดยาวไป สั้นไปก็ใช้ไม่ได้ อาหารมากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้ ความเพียรมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้ มัชฌิมา ทางกลางคือ ขจัดสิ่งที่ไม่พอดี ให้พอดีนั่นเอง กามสุขลฺลิกานุโยค คือ การปฏิบัติตกไปในทางรัก อตฺตกิลมถานุโยค คือ ตกไปในทางชัง นี่คือการไม่พอดี ทำสมาธิหลงไปในความสุขก็ตกไปในทางรัก ทำสมาธิไม่ดีในบางคราว เศร้าใจ ตกไปในทางชัง การขจัดเสียซึ่งส่วนทั้งสองนั้น คือการเดินเข้าสู่อริยะมรรค.การถึงอริยมรรคนั่นคือการถึงต้นบัญญัติ การถึงต้นบัญญัติคือการถึง พุทธ
ยาขนานนี้เองเป็นยาขนานแรกที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ส่งให้ข้าพเจ้าฉัน มันช่างเป็นขนานที่หนักเอาการ แต่เป็นธรรมที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ เป็นพระปรมาจารย์ทางกัมมัฏฐาน ท่านได้แสดงความสามารถในด้านนี้อย่างสูงทุกประการ ตามความเป็นจริงก็ปรากฏอย่าง(ไม่)มีศิษย์คนใดจะกล้าปฏิเสธ คุณธรรมต่าง ๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นนั้น ฝังอยู่ในดวงจิตของผู้เป็นศิษย์อย่างไม่มีทางเลือนลาง เป็นความจริงเหลือเกินที่ว่า ท่านได้ฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา จนเป็นที่รับรองจากปัญญาชนทั้งหลาย ผลประโยชน์เกิดจากการฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมปรากฏอยู่แก่ผู้ที่น้อมตัวเข้าเป็นศิษย์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แม้ว่าบางคนอาจะไม่เคยเห็นหน้าท่าน เพียงแต่เป็นชั้นหลานเหลน หรือเพียงอ่านประวัติของท่านก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสอย่างซาบซึ้งตรึงใจแล้ว
การอ่านประวัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ผู้อ่านควรจะได้ตระหนักถึงข้อปฏิบัติปฏิปทาอันจะได้นำมาเป็นตัวอย่าง ก็จะทำให้เกิดประโยชน์มากที่เดียว เพราะท่านได้ทำตัวของท่านเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศ กับทั้งยังมีความเมตตาต่อนักบวชด้วยกันอย่างมากที่สุด มองเห็นการณ์ไกลได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าใคร่จะเขียนให้ใกล้ความจริงเป็นที่สุด ซึ่งแม้จะเป็นยาขมบ้าง เข้าใจว่าอาจจะแก้โรคให้แก่ท่านในภายหลัง เพราะยาขมใครก็ไม่อยากรับประทาน จะรับประทานก็ต่อเมื่อถึงคราวจำเป็น แต่ยาขมก็ได้ช่วยชีวิตมนุษย์มาแล้วมากต่อมากมิใช่หรือ ๆ
สถานะเดิม
ท่านเกิดในตระกูล แก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อนางจันทร์ เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องอยู่ ๙ คน แต่ ๗ คนนั้นได้ถึงแก่กรรม คงเหลือ ๒ คน ท่านเป็นคนหัวปี ท่านมีร่างกายสง่าผ่าเผย หน้าตาคมสัน เป็นลักษณะน่าเคารพบูชา เป็นผู้รักการรักงาน เป็นที่ไว้วางใจได้ในการงานที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นที่รักแก่บิดามารดาอย่างยิ่ง
ท่านได้ศึกษาวิชาหนังสือไทย-ไทยน้อย-ขอม จากสำนักอา ได้ศึกษารู้เร็ว จนอาออกปากชมว่าฉลาดมาก เมื่ออ่านหนังสือได้แล้ว ท่านก็ได้ค้นคว้าหนังสือประวัติศาสตร์และนวนิยายของภาคอีสาน (เขาเรียกกันว่าลำพื้นลำแผ่น) เมื่อผู้เขียนอยู่กับท่าน ๆ จะเล่าถึงนิยายเก่ามีอันเป็นคติมาก เช่น เสียวสวาทเป็นต้น
เป็นธรรมดาอยู่เองของสังสารวัฏต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้มนุษย์เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย การหมุนเวียนนี้แหละ สำหรับผู้ดีมีวาสนา ก็หากหาแต่ความดีเท่านั้นให้เป็นทุนในการท่องเที่ยว เมื่อพอแก่ความต้องการก็เท่ากับสะสมบุญมาก ซึ่งในมงคลคาถามีว่า ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ผู้มีบุญทำไว้แล้วแต่ปางก่อน บุญย่อมผูกนิสัยให้ดีและชอบการพ้นทุกข์เสมอไป ดังในปัจฉิมภาวิกชาติของพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย บารมีได้ส่งให้พระองค์ออกบรรพชาแสวงหาโมกขธรรม โดยเกิดขึ้นในพระหฤทัยของพระองค์เอง จนกระทำให้สำเร็จพระโพธิญาณในที่สุด แม้พระสาวกทั้งหลายก็เช่นกัน เมื่อบุญติดตามผูกอุปนิสัย ก็เป็นเหตุให้น้อมเข้ามาบรรพชาอุปสมบท ในขอบเขตของพระบรมศาสดา พ้นทุกข์ไป
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ก็เห็นจะเป็นเช่นกับพระสาวกเหล่านั้น จึงมีเหตุปัจจัยแนะนำจิตของท่าน ให้น้อมไปเพื่อบรรพชา
ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาไปช่วยงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาไปช่วยเต็มความสามารถในการนั้น แม้ท่านลาสิกขาไปแล้ว ก็ลาแต่กายเท่านั้น ส่วนใจยังครองเพศบรรพชิต จึงทำให้ท่านระลึกอยู่ไม่วาย เป็นเพราะเหตุปัจจัยดังกล่าวแล้ว ท่านจึงเบื่อฆราวาสวิสัย
ครั้นเมื่ออายุ ๒๒ ปี จึงลาบิดามารดาอุปสมบท ท่านทั้ง ๒ ก็อนุญาต ท่านได้เข้าไปเล่าเรียนธรรมที่สำนักท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ วัดเลียบ อุบลราชธานี ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ที่วัดศรีทอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูศรีทา ชยเสโน เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๔ นามมคธที่อุปัชฌาย์ตั้งชื่อ ภูริทตฺโต
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเป็นผู้ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบแต่จะพยายามหาทางก้าวหน้าเรื่อยไป แม้แต่ท่านบวชเข้ามาใหม่ ก็มิใช่เพื่อบวชแล้วก็ฉันและจำวัด ได้มาอยู่กับพระผู้ปฏิบัติก็อยากจะทำให้เห็นจริงเห็นจังไปเสียเลย ความไม่ชอบอยู่นิ่งของท่านนี้เอง ทำให้ท่านต้องชักไซ้ไต่ถามหาความจริงเอากับ ท่านอาจารย์เสาร์ อยู่ตลอดเวลา ท่านได้รบเร้าให้อาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้น แต่อาจารย์ก็หมดความรู้จะสอนต่อไป
ท่านอาจารย์เสาร์ท่านเอ็นดูศิษย์คนนี้ของท่านอย่างยิ่ง เรียกว่าศิษย์คนโปรดก็ว่าได้ ท่านจึงพาศิษย์ของท่านไปทุกหนทุกแห่ง ตามป่า เขา ลำเนาไพร เพื่อแสวงหาความสงบ แต่ก็ยังไม่ได้ผลเต็มที่ จึงได้พาธุดงค์ข้ามไปฝั่งประเทศลาว จนถึงเมืองหลวงพระบาง เมื่อได้ยินได้ฟังว่าอาจารย์ไหนเก่งทางสอนกัมมัฏฐาน ก็จะได้แวะไปพักอยู่และขอเรียนกัมมัฏฐานด้วย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ยิ่งไปกว่าที่ท่านได้ปฏิบัติเรียนรู้มาแล้ว
ที่สุดก็ย้อนลงมาที่เมืองท่าแขก อยู่ฝั่งซ้าย (เขตอินโดจีน) ซึ่งเป็นภูมิประเทศอันประกอบด้วยป่าเขาลำเนาไพรมีหมู ช้าง เสือ หมี ผีร้ายนานาประการ ตลอดจนไข้มาเลเรียก็ชุกชุม แต่เป็นที่ประกอบไปด้วยความวิเวกวังเวงสงัดยิ่งนัก ซึ่งสมควรแก่ผู้แสวงหาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่อาศัย จะได้ยังความไม่ประมาทให้เป็นไปในตน ปีนั้นท่านได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งใกล้กับบ้านถ้ำ ท่านทั้ง ๓ ได้พักจำพรรษาอยู่ที่นั้น
ในระหว่างพรรษานั้น ท่านอาจารย์เสาร์ และสามเณรได้จับไข้มาเลเรีย มีอาหารหนักบ้าง เป็นบ้าง ก็ไม่ถึงกับร้ายแรงจริง
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
วันหนึ่งมีคณะอุบาสกอุบาสิกาได้นำผ้ามาบังสุกุล ท่านอาจารย์เสาร์จะต้องการตัดจีวร เราก็ต้องจัดทำทุกอย่าง กว่าจะเย็บเสร็จเพราะต้องเย็บด้วยมือ ใช้เวลาถึง ๗ วันจึงเสร็จ พอยังไม่เสร็จดีเลย ไข้มันเกิดมาจับเอาเราเข้าให้แล้ว ทำให้เราต้องเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา นึกในใจว่า เณรก็ไข้ อาจารย์ก็ไข้ เราก็กลับจะมาไข้เสียอีก ถ้าต่างคนต่างหนักใครเล่าจะดูแลรักษากัน ถ้าเกิดล้มตายกันเข้า ใครจะเอาใครไปทิ้งไปเผากันเล่า เจ้ากรรมเอ๋ยอยู่ด้วยกัน ๓ องค์ก็เจ็บป่วยไปตาม ๆ กัน ยิ่งกว่านั้นอาจารย์ของเรานั่นแหละจะร้อนใจมาก
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็เล่าต่อไปว่า
เราได้คิดมานะขึ้นมาในใจว่า บัดนี้เราไม่มีทางเลือกทางอื่นแล้ว ที่จะมาระงับเวทนานี้ได้ เพราะยาจะฉันแก้ไข้ก็ไม่มีเลย มีแต่กำลังอานุภาพแห่งภาวนานี้เท่านั้น เพราะว่าเรามาอยู่สถานที่นี้ก็เพื่อจะอบรมตน ในทางเจริญกัมมัฏฐานภาวนา เราจะมาคิดแส่ส่ายไปทางอื่นหาควรไม่ เราต้องเอาธรรมเป็นที่พึ่งจึงจะถูก แม้จะตายขอให้ตายด้วยการภาวนา ไม่ต้องท้อถอยอ่อนแอ จะต้องเป็นผู้กล้าหาญจึงจะจัดว่าเป็นนักพรตได้
แล้วเราก็ตัดสินใจปฏิบัติบูชาพระพุทธศาสนาด้วยข้อปฏิบัตินั้น
ท่านจึงกำหนดพุทโธเป็นบริกรรมต่อไป เพราะขณะนั้นท่านก็ยังไม่สันทัดในการเจริญกัมมัฏฐานเท่าไร ครั้นบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ก็นึกถึงคำสอนของอาจารย์ขึ้นมาว่า
กายนี้เป็นที่อาศัยของจิตและเป็นทางเดินของจิต เปรียบเสมือนแผ่นดิน ย่อมมีทางน้อยใหญ่เป็นที่สัญจรของหมู่สัตว์ทุกหมู่เหล่า กายนี้ก็เหมือนกัน ย่อมเป็นที่อยู่อาศัยของจิต และเป็นที่เที่ยวไปมาของจิตฉันนั้น ถ้าจิตมามัวยึดถือกายนี้ว่าเป็นตนอยู่เมื่อใด ย่อมได้รับความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจมีความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่เป็นนิตย์
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง และก็ฟังกันหลายองค์ ว่า
เมื่อหมดหนทางเพราะไม่มีใครช่วยแล้ว เรานั่งสมาธิเข้าที่อยู่โดยการเสียสละ กำหนดจิตแล้วทำความสงบ ทำให้เป็นหนึ่งแน่วแน่ ไม่ให้ออกนอกเป็นอารมณ์ได้เลย เพราะขณะนั้นทุกข์เวทนากล้าจริง ๆ พอกำหนดความเป็นหนึ่งนิ่งจริง ๆ ครู่หนึ่งปรากฏว่า ศีรษะลั่นเปรี๊ยะปร๊ะไปหมด จนเหงื่อไหลออกมาเหมือนรดน้ำ เมื่อออกจากสมาธิปรากฏว่าไข้ได้หายไปราวกับปลิดทิ้ง นี่เป็นระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถเป็นครั้งแรกของเรา เราได้พยาบาลอาจารย์ของเราได้เต็มที่
การเดินทางในครั้งนี้นั้น ได้เป็นเช่นนี้หลายหน บางครั้งมาลาเรียขึ้นสมองแทบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อลูกศิษย์อาจารย์ปรึกษากันเห็นว่าไม่มีผลในการเดินธุดงค์อันทุรกันดารเช่นนี้แล้ว ต่างก็ชวนกันกลับประเทศไทย
สถาปนาพระธาตุพนม
ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าขณะที่ข้าพเจ้าทำหมากถวายท่านเวลากลางวันต่อไปอีกว่า
พวกเราก็ต้องเดินทางหลังจากออกพรรษาแล้ว รอนแรมตามฝั่งแม่น้ำโขงเรื่อยลงมา ณ ตามฝั่งแม่น้ำโขงนั้นก็มีหมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ หลายก๊ก เช่น ภูไท ไทยดำ ลาวโซ่ง
ท่านเล่าว่า
ภูไทมีศรัทธาดีกว่าทุกก๊ก แต่ภูไทนี้การภาวนาจิตใจอ่อน รวมง่าย รักษาไม่ใคร่เป็น ส่วนลาวโซ่งนั้นไม่ใคร่เอาไหนเลย แต่ทุก ๆ ก๊กก็ทำบุญนับถือพุทธทั้งนั้น เขาให้พวกเราได้มีชีวิตอยู่ก็นับว่าดี แต่ขณะนี้ตัวของเราเองก็ยังมองไม่เห็นธรรมของจริง ยังหาที่พึ่งแก่ตนยังไม่ได้ จะไปสอนผู้อื่นก็เห็นจะทำให้ตัวของเราเนิ่นช้า จึงไม่แสดงธรรมอะไร นอกจากเดินทางไป พักไป บำเพ็ญสมณธรรมไป ตามแต่จะได้
ครั้นแล้วท่านอาจารย์เสาร์ก็พาข้ามแม่น้ำโขงกลับประเทศไทย ที่ท่าข้ามตรงกับพระธาตุพนมพอดี
ท่านเล่าไปเคี้ยวหมากไปอย่างอารมณ์ดีว่า
ขณะนั้นพระธาตุพนมไม่มีใครเหลียวแลดอก มีแต่เถาวัลย์นานาชนิดปกคลุมจนมิดเหลือแต่ยอด ต้นไม้รกรุงรังไปหมด ทั้ง ๓ ศิษย์อาจารย์ก็พากันพักอยู่ที่นั้น เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ขณะที่ท่านอยู่กันนั้น พอตกเวลากลางคืนประมาณ ๔-๕ ทุ่ม จะปรากฏมีแสงสีเขียววงกลมเท่ากับลูกมะพร้าว และมีรัศมีสว่างเป็นทาง ผุดออกจากยอดพระเจดีย์ แล้วก็ลอยห่างออกไปจนสุดสายตา และเมื่อถึงเวลาก่อนจะแจ้ง ตี ๓-๔ แสงนั้นก็จะลอยกลับเข้ามาจนถึงองค์พระเจดีย์แล้วก็หายวับเข้าองค์พระเจดีย์ไป
ทั้ง ๓ องค์ศิษย์อาจารย์ได้เห็นเป็นประจักษ์เช่นนั้นทุกๆ วัน ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ จึงพูดว่า
ที่พระเจดีย์นี้ต้องมีพระบรมสาริกธาตุอย่างแน่นอน
ในตอนนี้ผู้เขียนกับพระอาจารย์มั่น ฯ ได้เดินธุดงค์มาพักอยู่ที่วัดอ้อมแก้วมี ๒ องค์เท่านั้น และมีตาปะขาวตามมาด้วยหนึ่งคน ท่านจึงมีโอกาสเล่าเรื่องราวเบื้องหลังให้ข้าพเจ้าฟัง ซึ่งน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนจำได้ว่าเป็นปีที่พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ คุณนายพวงจากจังหวัดอุบลราชธานี จะตีตั๋วให้ไปทางเครื่องบิน ท่านบอกว่า เราจะเดินเอา จึงได้พาผู้เขียนพร้อมด้วยตาปะขาวบ๊อง ๆ คนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยจะเต็มเต็งเท่าไรนักไปด้วย เดินไปพักไป แนะนำธรรมะแก่ผู้เขียนไปพลาง จนไปถึงพระธาตุพนม เขตจังหวัดนครพนม แล้วท่านก็พาผู้เขียนพักอยู่ที่นี่และได้ฟังเรื่องราวของพระธาตุพนม ซึ่งจะได้เล่าสู่กันฟังต่อไปข้างหน้า โดยจะเล่าถึงการสถาปนาพระธาตุพนม
ดังนั้น ท่านจึงได้ชักชวนญาติโยมทั้งหลายในละแวกนั้น ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน และส่วนมากก็เป็นชาวนา ได้มาช่วยกันถากถางทำความสะอาดรอบบริเวณองค์พระเจดีย์นั้น ได้พาญาติโยมทำอยู่เช่นนี้ถึง ๓ เดือนเศษๆ จึงค่อยสะอาด เป็นที่เจริญหูเจริญตามาตราบเท่าทุกวันนี้
เมื่อญาติโยมทำความสะอาดเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ก็พาญาติโยมในละแวกนั้นทำมาฆบูชา ซึ่งขณะนั้น ผู้คนแถวนั้นยังไม่รู้ถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างจริงจัง จนได้ชักชวนกันมารักษาอุโบสถ ฝึกหัดกัมมัฏฐานทำสมาธิกับท่านอาจารย์จนได้ประสบผลตามสมควร การพักอยู่ในบริเวณของพระธาตุพนมทำให้จิตใจเบิกบานมาก และทำให้เกิดอนุสรณ์รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้อย่างดียิ่ง
ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าต่อไปว่า
ก่อนท่านจะกลับประเทศไทย ท่านเป็นโรคริดสีดวงจมูกประจำตัวมานาน โรคนั้นมักจะกำเริบบ่อย ๆ จึงทำให้ท่านกำหนดเอาเวทนาเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งความเพียรที่ท่านกำหนดเอาเวทนาเป็นอารมณ์อย่างมิได้ท้อถอยนั้น วันหนึ่งจิตของท่านได้รวมเป็นอัปปนาสมาธิ ขณะที่จิตถอยออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว ได้ปรากฏความรู้ที่น่าอัศจรรย์ขึ้นมาว่า โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาจากกรรมในปัจจุบัน เนื่องจากได้กระทำกรรมไว้ และเมื่อได้พิจารณาตามรูปเรื่องจนเห็นสมจริงตามความรู้นั้นทุกประการแล้ว จิตก็รวมลงเป็นอัปปนาสมาธิอีก คราวนี้ปรากฏว่ามีอีกาตัวหนึ่งมาจับอยู่บนศีรษะ แล้วมันก็เอาจะงอยปากจิกกินจมูกของท่านจนหมดไป ตั้งแต่นั้นมา โรคริดสีดวงจมูกของท่านก็หายเป็นปกติ นี่เป็นการระงับความอาพาธด้วยธรรมโอสถเป็นครั้งที่สอง
จากนั้นท่านทั้ง ๓ ก็ได้ออกเดินทางจาริกต่อไป และแสวงหาความสงบตามป่าดงพงพีไปเรื่อย ๆ โดยมุ่งหวังเพื่อบรรลุธรรม แต่ก็ยังไม่สมความตั้งใจไว้ ต่อมาพระอาจารย์เสาร์ ก็พากลับจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นถิ่นเดิมของท่าน
พ.ศ. ๒๔๕๔
การแสวงหาธรรมะต่อไปในประเทศพม่า
ความไม่หยุดยั้ง มุ่งหวังหาความจริงเพื่อจะต่อสู้กับกิเลสโดยทุกทางของพระอาจารย์มั่น ฯ เป็นไปอย่างไม่คอยเวลา แม้จะต้องใช้เวลาปีแล้วปีเล่าในการมุมานะ แทบว่าจะหมดหนทางอยู่แล้วก็ตาม แท้จริงพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาก็ยังมิได้เสื่อมคลายไปไหนเลย.มีแต่การที่จะหยิบยกขึ้นมาปฏิบัติให้ได้ผลเท่านั้น เพราะท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านต้องการแสวงหาความจริงที่ไม่มีความวิปริต ท่านเองปฏิบัติ พระอาจารย์พาปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งแนะแนวทาง แต่ท่านก็ยังรู้สึกตัวเองว่า ยังไม่พบความจริง ยังไม่เป็นที่พอใจ
ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งขณะนอนพักอยู่ที่บ้านนาสีนวน ตำบลหนองเหียน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในโอกาสที่ผู้เขียนกำลังถวายนวดเป็นประจำ คือในตอนเช้า หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้วก็เริ่มนวดถวายไปจนถึง ๑๑.๐๐ น. ตอนกลางคืนหลังจากเดินจงกรมแล้ว ๒ ทุ่มเศษถวายนวดจนถึง ๕ ทุ่มหรือกว่านั้น โอกาสที่เล่าถึงการไปธุดงค์ที่ประเทศพม่าครั้งนี้ ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษว่า เราอาจจะมีโอกาสไปสักครั้งบ้าง จึงทำให้ผู้เขียนพยายามจดจำการเล่าของท่าน ซึ่งท่านเองอาจจะรู้จักใจของผู้เขียนที่มีความสนใจและฝังใจ ท่านจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดถี่ถ้วนใช้เวลาหลายวัน และผู้เขียนเองก็พยายามซักถามท่านอยู่เสมอ จึงทำให้เกิดรสชาติขึ้นมาก
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ท่านก็ได้พบเพื่อนสหธัมมิกอีก ๑ องค์และมีชื่อ มั่น เหมือนกับชื่อของท่าน แต่ปัจจุบันท่านองค์นั้นยังมีชีวิตอยู่ โดยเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ คือ พระเทพมงคลปัญญาจารย์ ท่านอาจารย์มั่นฯ กับท่านเจ้าคุณ ฯ เทพมงคลปัญญาจารย์ ได้ปรึกษาหารือกันว่า เราจะต้องถวายชีวิตแต่พระพุทธศาสนา เดินธุดงค์แสวงหาที่วิเวก เมื่อตกลงสละชีวิตร่วมกันแล้ว ก็ออกเดินทางคือไปโดยไม่มีจุดหมาย ไม่ว่าสถานที่นั้นจะเป็นประเทศอะไร จะต้องมีหนังสือเดินทางข้ามแดนหรือไม่ก็ตาม เพราะถือเอาการอยู่ป่าเป็นสำคัญ เห็นที่ไหนเหมาะดีก็อยู่ทำความเพียรไป แต่พอจะเกิดความเคยชินก็เดินทางต่อไปอีก.
เมื่อท่านทั้ง ๒ เดินทางข้ามภูเขาไป แต่ละลูก ๆ นั้น เห็นภูเขาที่สูงชันน่ากลัวทั้งสิ้น ขณะที่ไปก็พบแต่พวกชาวเขาพูดกันไม่รู้เรื่อง
ท่านเล่าว่า ดีมากที่ไม่รู้ภาษากัน มีแต่เพียงว่าเขาให้อาหารแก่เราพอปะทังชีวิตก็พอแล้ว
ในขณะที่ท่านทั้ง ๒ กำลังเดินทางข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ก็ถึง เมืองห่าง เขตพม่า พวกชาวบ้านเป็นไทยใหญ่เป็นส่วนมาก พวกเขาพอรู้ภาษาไทยบ้างเล็กน้อย พวกชาวบ้านเห็นเข้าแล้วก็เกิดความเลื่อมใส นิมนต์ให้ท่านพักอยู่ ท่านก็พักชั่วคราว ตามที่ท่านสังเกตดู พวกเขาเป็นคนที่มีศีลธรรมดี เวลาเขาขายของกันนั้น เจ้าของร้านบางทีก็ไม่อยู่เฝ้าหน้าร้าน เขาเขียนราคาติดสิ่งของไว้เสร็จ คนซื้อไม่เห็นเจ้าของร้านก็เอาเงินวางไว้ให้ แล้วหยิบเอาของนั้นไปตามราคา การลักการขโมยไม่มี ผู้คนมีรูปร่างหน้าตาสะอาด
ท่านรำพึงว่า ธรรมะอะไรหนอ ที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้มีศีลธรรมอันดีงาม น่าแปลกใจจริง
เพื่อการแสวงหาเฉพาะธรรมะเท่านั้น ท่านทั้ง ๒ จึงไม่พยายามที่จะสอนใครและหาความสนิทสนมกับใคร ๆ เพราะต้องการปฏิบัติมากกว่า อันแดนพม่ากับแดนไทยนี้ ท่านเล่าว่า มันกีดกันด้วยภูเขาลูกใหญ่จริงๆ.ไม่เหมือนทางภาคอีสานของไทย ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วภูเขาลูกเล็ก ๆ ทั้งนั้น
เสือ-ช้าง งูจงอาง-หมี-วัวกระทิง ท่านอาจารย์ไม่พบบ้างหรือ?” ผู้เขียนถาม
ท่านตอบว่า
ไม่ต้องพูดถึงหรอก ตลอดระยะทางก็มีแต่เฉพาะพวกมันทั้งนั้น ก็เข้าไปป่าทึบซึ่งเป็นเขตของมัน แม้แต่พวกเราจะจำวัดในป่ากัน ๒ องค์ ก็ไม่อยู่ใกล้กัน เสียงช้างและเสือน่ะหรือ อ๋อ ชินต่อพวกมันเสียแล้ว แม้แต่จะเดินสวนทางผ่านกันไปก็ทำเหมือนไม่รู้ไม่ชี้
การเดินทางของเราทั้ง ๒ คราวนี้ มิได้มีการสนทนาธรรมเท่าใด เพราะต่างเอาความเพียรเป็นสำคัญ เมื่อจะพึงได้รับความสงบเย็นใจก็ถือว่าใช้ได้ บางครั้งเดินไปเหนื่อย หยุด หยุดทำไม ก็นั่งสมาธิ ถ้าไม่พบบ้านเรือนเลยก็ต้องอดอาหาร
ก็เทวดาไม่ใส่บาตรหรือครับ ผู้เขียนย้อนถาม
เทวดาก็คือคนใจบุญ เห็นมีแต่ต้นไม้จะมีเทวดาที่ไหนมาใส่บาตร
เราทั้งสองอดอาหารโดยการเดินทาง บางครั้งนานถึง ๓ วัน เพราะไม่มีบ้านคน ดื่มเฉพาะน้ำ แต่ไม่ได้กระทบกระเทือนจิตใจของเราแต่อย่างใดเลย มันเป็นความพอใจ จึงไม่เห็นจะเป็นการหนักใจอะไร เข็มทิศก็ไม่มี
การเดินทางมิหลงแย่หรือครับ ?” ผู้เขียนชักถาม
เราก็ถามชาวบ้านเขาไปเรื่อย ๆ ไปถูกผิดบ้างตามเรื่อง ส่วนการผจญกับสัตว์ป่าน่ะหรือ ก็ไม่เห็นเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์อะไร วิริยังค์ (ชื่อผู้เขียน)
นายพรานป่าพวกเขาไปตามป่าดงพงพี พบงูฆ่างู พบเสือฆ่าเสือ พบช้างฆ่าช้าง นอนกลางดงกลางป่าไม่เห็นเขาจะกลัวอะไร พวกพรานทั้งหลายซึ่งเป็นนักล่าสัตว์ เขาผจญกับพวกสัตว์ร้ายมากกว่าเรา เราไม่จำเป็นจะต้องถือว่าการผจญกับพวกสัตว์ร้ายเป็นเรื่องสำคัญ เราถือว่าการปฏิบัติที่เรากำลังจะต่อสู้กับกิเลสภายในนี้แหละสำคัญกว่า
การเดินทางอย่างทุรกันดารและยาวไกลคราวนี้ ก็ทำให้เกิดผลทางใจแก่เราไม่น้อยเลย เป็นเหตุให้เกิดความกล้าหาญในทางใจขึ้นอีกมาก"
ท่านก็พยายามหาอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานหลายต่อหลายท่าน ตามทางที่ไป จนถึงพระธาตุชเวดากอง ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดถึง ๘ เดือน แต่ยังไม่ได้ผลเป็นที่พอใจ และก็ไม่ผิดอะไรกับที่ไปประเทศลาว จึงทำให้ท่านคิดจะกลับประเทศไทยต่อไปอีก
ตามข่าวเล่าลือว่าอาจารย์ที่ประเทศพม่านี้เก่งในทางการสอนและปฏิบัติกัมมัฏฐานมาก ท่านได้เสาะแสวงหา ตั้งปัญหาถามทุกอย่าง คำตอบยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะเหมือนกับที่เราทำอยู่เดี๋ยวนี้ มิได้ยิ่งขึ้นไป แม้เราจะถามให้สูงขึ้นซึ่งอรรถปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติทางใจ แต่เราก็ไม่มีปัญญา เรามีความรู้เท่าไร ก็ถามเขาเท่านั้น มิใช่ถามเพื่อการลองภูมิ เหมือนกับคนทั้งหลายที่อวดดี ถามเพื่อจะแก้ตัวเอง เมื่อไม่มีความรู้ที่จะถาม ถามก็แต่ที่เรามีอยู่ มันก็จนใจ และก็ไม่เห็นค่า มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ต่อไป ถ้าหากว่าเราจะพึงได้รับความรู้ก้าวหน้าต่อไปอีก เราก็เห็นจะไม่ห่วงอะไรข้างหลังเลย เพราะไม่เห็นมีอะไรจะให้ห่วง
ดังนั้นเราทั้งสองจึงตัดสินใจกลับ ปีนี้กลับโดยการเดินไม่ทันเสียแล้ว จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่บนเขาแห่งหนึ่งในเขตเมืองมะละแหม่ง เป็นเพียงสำนักสงฆ์มีพระอยู่องค์เดียว เมื่ออาศัยอยู่ที่นั้น มีกุฏิที่กำบังแดดฝนถูกต้องตามพระวินัยนิยม ก็เร่งความเพียรไปตามที่พอจะทำได้
นับเป็นการเดินทางผจญภัยและหยุดจำพรรษาพักผ่อน ทั้งสองก็ปรึกษากันว่าออกพรรษาแล้วจะเข้าไปประเทศไทยที่ไหนดี. แต่ท่านมั่นบอกว่าพอแล้ว ผมจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ส่วนพระอาจารย์มั่นฯ เห็นว่า การปล่อยให้ท่านมั่นกลับเข้ากรุงเทพฯ องค์เดียวคงไม่ดีแน่ ท่านจึงได้ไปส่งและพักแรมอยู่ที่วัดสระประทุม ฯ ด้วยกัน ครั้งนั้นพอดีมีคนเยอรมัน ๒ คน มีศรัทธาเลื่อมใสท่านมั่น ช่วยสร้างกุฏิถวาย และรู้จักคุ้นเคยกับพระอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งท่านเล่าว่า ชาวเยอรมันที่มีนิสัยดี รู้จักบุญบาป มาทำบุญในประเทศไทย เท่ากับเป็นเทวดาตั้งแต่ยังไม่ตายทีเดียว
อ้าวก็ฝรั่งชาติอื่นเล่าครับ ผู้เขียนย้อนถาม
ก็เรายังไม่เคยเห็นเขาทำบุญเลย เราก็เลยไม่ต้องพูดถึงเขา
หลังจากนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็มุ่งธุดงค์องค์เดียว คราวนี้ไม่มีใครเป็นเพื่อน แล้วตรงไปยังจังหวัดเลย เพราะจังหวัดเลยมีภูมิลำเนาเป็นป่าใหญ่ มีภูเขาและถ้ำใหญ่ มาก ตามปรกติถ้ำใหญ่ ๆ ท่านไม่ค่อยจะชอบ ท่านชอบถ้ำเล็ก ๆ มีภูเขาไม่ใคร่สูงนัก พอขึ้นลงได้สบาย จึงจะอยู่นาน ท่านจึงค้นพบถ้ำหนึ่งชื่อถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ณ ที่ถ้ำผาบิ้งนี้ ต้องนับว่าเป็นสถานที่สัปปายะแก่ผู้บำเพ็ญความเพียรเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในขณะที่เขียนนี้พระอาจารย์หลุยซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งได้อาศัยอยู่และกำลังพัฒนาให้เป็นที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
ท่านพระอาจารย์มั่นฯ เล่าว่า
ในครั้งแรกของการมาที่ถ้ำนี้ หลังจากกรากกรำมาจากประเทศพม่าแล้ว ก็รู้สึกว่าได้รับความสงบมากพอสมควร การอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งแต่องค์เดียว จึงเป็นการทำความเพียรที่ได้ผลมาก แต่ก็ยังไม่ได้ปัญญา หรือเป็นที่แน่ใจอย่างไรเลย เพราะท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเป็นผู้ที่รักความจริง สิ่งปลอมแปลงหรือสิ่งหลอกลวงท่านไม่ชอบ
ขณะที่ผู้เขียนนั่งฟังท่านเล่า ได้ปรารภถึงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในครั้งนั้นว่า การเชื่อมงคลตื่นข่าวนี้ไม่ดีเลย ยิ่งเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ทำว่าตนไปอยู่ถ้ำอยู่เขาหวังเพื่อให้ดังแล้วมีคนไปหามาก นั่นคือพาให้เขาหลง
ขณะที่ท่านเล่านั้นมีพระอาจารย์รูปหนึ่งอยู่ที่ภูค้อ มีคนไปหามาก ท่านไม่ฉันข้าวอยู่แต่ในถ้ำ ท่านพระอาจารย์มั่นฯ พูดกับผู้เขียนว่า
พวกเธออย่าทำอย่างนั้น อย่าไปอยู่ถ้ำอยู่เขาให้คนแห่กันไปหา  มันบ่แม่น หมายความว่ามันไม่ถูก ท่านบอก นักบวชที่อยู่ถ้ำอยู่เขาเพียงต้องการวิเวก จะไปเที่ยวป่าวประกาศไปหาพระในถ้ำให้เอิกเกริกนั้นผิดวิสัย
อย่าว่าแต่ใครเลย แม้แต่อาจารย์ของข้าพเจ้าผู้เขียนเอง ก็ถูกท่านดุเอา ตอนที่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ อยู่วัดบ้านหนองผือ ท่านเคยพูดว่า
กงมา เธอไปอยู่ในถ้ำ และเที่ยวทำโน่นทำนี่ เขาเล่าลือ มันบ่แม่นหนา ให้อยู่อย่างสงบจริง ๆ จึงจะถูก
ซึ่งผู้เขียนได้ยินมากับหูอย่างนี้
แม้ท่านจะมาอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งนี้นาน แต่ท่านก็พยายามหลบหลีกผู้คนที่จะมาเห็นตัวท่านว่าวิเศษ ดูเอาเถิดแม้แต่กลดของท่าน ท่านเล่าว่า
เรายังต้องเอาร่มจีนกางแล้วเอาผ้ามุ้งมาย้อมกลัก ทำอย่างนี้ต้องการจะไม่ให้เขามาหาของขลัง เพราะเขาจะได้เข้าใจว่า เราไม่ใช่พระธุดงค์
ท่านพระอาจารย์มั่น ๆ พยายามหลบหลีกการมีชื่อเสียงและชุมนุมชนวุ่นวาย ซึ่งตรงกันข้ามกับพระที่อยู่ถ้ำป่าเขา เพื่อต้องการหาชื่อเสียงให้วุ่นวายไป เพราะพระภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นธรรมะป่าอะไร ๆ ทำนองนั้น ต้องการอยากจะหาชื่อเสียงให้กับตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา
ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นฯ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านรักความสงบโดยไม่เห็นแก่หน้าใครเลย ใครจะมารบกวนความสงบของท่านไม่ได้
ดูแต่วันหนึ่งท่านอยู่บ้านนามน เวลาเย็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ มีคุณโยมนุ่ม ชุวานนท์ คหบดีจากจังหวัดสกลนคร จะเข้าไปถวายสิ่งของและนมัสการ เดินเข้าไป ๓-๔ คน เวลานั้น ท่านยังต้องไล่ตะคอกให้ออกจากวัดไปโดยเร็ว เพราะเวลานี้ต้องการความสงบ อย่ามายุ่ง จนคุณโยมต้องวิ่งหนีกลับกันจ้าละหวั่น ซึ่งผู้เขียนก็ได้เห็นมาด้วยตาตัวเอง
นี่แหละจึงเห็นได้ว่า ท่านอาจารย์มั่น ฯ มิได้ต้องการมีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ต้องการอามิสอันจะนำมาซึ่งการทำลายความสงบอันเป็นยอดปรารถนา
คุณโยมที่อ้างถึงนี้เป็นโยมที่เคยอุปัฏฐากมาตั้งแต่พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้น แทนที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ จะเอาอกเอาใจ แต่ท่านต้องขับไล่ไสส่งไปเพราะมาก่อกวนความสงบ
ต่อมาภายหลังคุณโยมนุ่มก็ได้เข้าใจเรื่องนี้ดี จึงได้มานมัสการในเวลาอันสมควร
ที่ถ้ำผาบิ้งนี้ท่านบอกว่า ยังไม่สามารถจะแก้ความสงสัยของการปฏิบัติได้ แม้ว่าจะคิดการดำเนินการปฏิบัติอย่างทุรกันดารแสนที่จะตรากตรำแล้ว สงบก็ถึงที่สุดแล้ว วิเวกก็ถึงที่สุดแล้ว นั่งสมาธิก็ถึงที่สุดแล้ว เขาป่าก็ถึงที่สุดแล้ว เขาถ้ำไหนที่ใดก็ถึงที่สุดแล้ว
ในที่สุดท่านก็เดินทางกลับมายังวัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานีอีก เพื่อมาพบกับท่านอาจารย์เสาร์ จากนั้นเมื่อท่านพักอยู่ที่วัดเลียบ ท่านก็พยายามทำความเพียรอย่างเต็มกำลัง เพราะวัดเลียบในสมัยนั้นสงบสงัด ไม่พลุกพล่านเหมือนในปัจจุบันนี้
สุบินนิมิตเกิดขึ้น
เหมือนกับธรรมะบันดาล โดยความที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ประโยคพยายามอย่างจรดเหนือจรดใต้รอบฟ้าแดนดินก็ว่าได้ และยังไม่ได้สมดังความมุ่งหมาย ถ้าเป็นอย่างเรา ๆ ท่านๆ เห็นท่าจะต้องล้มเลิกการปฏิบัติเสียแล้ว เพราะลำบากแสนสาหัสจริงๆ ท่านยังพูดกับผู้เขียนเสมอ ๆ ขณะที่ผู้เขียนตำหมากถวายท่านตอนกลางวันว่า
วิริยังค์เอ๋ย มันแสนสาหัสสากรรจ์จริง ๆ หนา เราได้ตรากตรำทำมา เกือบจะเอาชีวิตไปทิ้งเสียที่ในกลางป่าดงพงไพรโดยไม่รู้ ไม่เห็นอะไร มันสาหัสก็แสนสาหัส มันสากรรจ์ก็แสนจะสากรรจ์ แต่มันก็มีอะไรอยู่อย่างหนึ่งที่ทำให้เราต่อสู้ไม่เคยกลัว และก็ไม่ถอยให้แก่มันแม้แต่ก้าวเดียว ก็เป็นเหมือนกับธรรมะบันดาล คือค่ำคืนวันหนึ่งขณะที่เราได้หลับไปแล้ว แต่การหลับของเราในขณะนั้นก็เหมือนจะตื่น เพราะต้องกำหนดจิตให้มีสติไว้เสมอๆ
ท่านเล่าว่า
เราก็ฝันไปว่า เราเดินออกจากบ้านไปตามหนทางแล้ว ก็เข้าสู่ป่าที่รกชัฏมีทั้งหนามและไม้รกรุงรัง
ท่านก็เดินผ่านป่านั้นเรื่อยไป ก็ได้พบกับต้นชาดต้นหนึ่งที่ล้มตาย มีกิ่งก้านผุไปหมด ท่านก็ขึ้นบนขอนไม้ชาดที่ล้มนั้น ปรากฏว่าเป็นขอนไม้ที่ใหญ่โตมากทีเดียว แม้ท่านขึ้นไปบนขอนไม้ชาดแล้วจึงสังเกตดูก็รู้ว่าเป็นต้นชาดที่ตายสนิท ไม่มีทางจะงอกงามขึ้นมาได้อีก มองไปข้างหน้าเป็นท้องทุ่งเวิ้งว้าง ปลอดโปร่งกว่าทางที่ผ่านมา
ขณะนั้นปรากฏว่ามีม้าสีขาวตัวหนึ่งวิ่งมาจากทางไหนไม่ทราบ แล้วก็เข้ามาเทียบข้างขอนไม้ชาดที่ท่านกำลังยืนอยู่นั้น ท่านก็ขึ้นบนหลังม้าขาวนั้นทันที ม้าก็พาท่านวิ่งห้อเต็มเหยียดไปกลางทุ่ง พอสุดทุ่งก็พอดีพบตู้พระไตรปิฎกตั้งตระหง่านอยู่ข้างหน้า ม้าก็ได้หยุดลงตรงนั้นพอดี แต่ท่านมิได้เปิดตู้พระไตรปิฎกนั้น ก็พอดีรู้สึกตัวตื่นขึ้นเสียก่อน
ครั้นเมื่อท่านตื่นขึ้นก็ได้ทบทวนตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้สุบินนิมิตนี้ เกิดความมั่นใจและทำนายนิมิตนั้นตามลำดับว่า
ที่เราออกจากบ้านไปนั้น คือเราได้ออกจากความเป็นฆราวาส แต่ไปพบป่ารกชัฏ แสดงว่าเราได้เดินทางไปแต่ยังไม่ถูกทางจริงจึงต้องลำบากอย่างหนัก แต่การที่เราได้ขึ้นบนขอนไม้ชาดที่งอกอีกไม่ได้นั้น แสดงว่าเราอาจจะเป็นชาติสุดท้ายด้วยการแสวงหาธรรมในทางที่ถูกต้องต่อไป ทุ่งว่างเป็นทางที่จะปลอดโปร่งในการที่จะดำเนินการปฏิบัติที่ไม่มีความลำบากนัก การที่เราได้ขี่ม้าขาว หมายถึงการเดินไปสู่ความบริสุทธิ์อย่างรวดเร็ว การไปพบตู้พระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เปิดดูตู้นั้น คือเราไม่ได้ถึงปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าได้เปิดตู้นั้นดูก็คงแตกฉานกว่านี้ นี่เป็นเพียงพบตู้ก็ถึงเพียงปฏิสัมภิทานุศาสน์ มีการสอนผู้อื่นได้บ้างเท่านั้น
เมื่อเหมือนบุญบันดาลเช่นนี้ ก็ทำให้ท่านเกิดความมั่นใจขึ้นมาอีกมากในการที่จะดำเนินการปฏิบัติต่อไป
ท่านเล่าว่า
จากนั้นท่านได้พยายามอยู่อย่างเดียว คือ
เมื่อจิตได้พลังเกิดความสงบ และความแกร่งขึ้นในจิตนั้นแล้ว ท่านก็ไม่ให้มันสงบเหมือนแต่ก่อน เพราะแต่ก่อนนั้นถือเอาความสงบเป็นใหญ่ แต่ตอนนี้ท่านพยายามที่จะกำหนดจิต พิจารณากายคตาอย่างหนัก ท่านได้ใช้กระแสจิตกำหนดเข้าสู่กายทุกส่วน ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ให้จิตนี้จดจ่ออยู่ที่กายตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่าย บางครั้งท่านเดินจงกรมอยู่ ปรากฏว่าท่านได้เดินลุยเหยียบไปบนร่างของคนตายซึ่งนอนเรียงรายอยู่ทั่วไป
การกระทำเช่นนี้ใช้เวลานานหลายเดือน ทั้งก็รู้สึกว่าจะเกิดปัญญาขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็ไม่เหมือนเมื่อคราวทำจิตให้สงบ ไม่เกิดปัญญาเลย มีแต่อยู่เฉยสบายๆ ก็สบายจริง แต่ก็ได้แต่สบาย ไม่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ยังบังเกิดความหวั่นไหวไปตามกิเลสอยู่ ครั้งนี้รู้สึกว่าความหวั่นไหวตามอารมณ์ชักชะงักลง จึงปลงใจว่าน่าจะถูกหนทางแล้วกระมัง
วันหนึ่งท่านนิมิตเป็นอุคคหะขึ้น (หมายความว่านิมิตในสมาธิ) เห็นคนตายนอนอยู่ตรงหน้า ห่างจากตัวท่านราว ๑ ศอก หันหน้าข้าหาท่าน ขณะนั้นมีสุนัขตัวหนึ่งเข้ามากัดซากศพนั้น ดึงเอาไส้ออกมาเคี้ยวกินอยู่ เมื่อเห็นนิมิตปรากฏอย่างนั้น ท่านก็กำหนดพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายสังเวชสลดมิได้ท้อถอย ทำให้เห็นอยู่ทุกอิริยาบถ แล้วก็กำหนดขยายส่วนต่าง ๆ ออกไปได้ตามความปรารถนา แม้จะกำหนดอย่างนั้นให้เต็มทั่วทั้งวัดและทั้งโลกก็ได้ หรือกำหนดให้ย่อยยับดับสูญไม่มีอะไรเหลือก็ทำได้ เรียกว่ากำหนดให้เป็นไปตามความปรารถนาทุกอย่าง
ท่านได้พิจารณาซากศพนี้เป็นเวลานาน และยิ่งกำหนดยิ่งพิจารณาไปเท่าไร จิตก็ยิ่งปรากฏสว่างไสวขึ้นมาก จึงได้ปรากฏเป็นดวงแก้วขึ้น แล้วทิ้งการกำหนดอสุภ โดยกำหนดเอาเฉพาะดวงแก้วนั้นเป็นอารมณ์
วาระต่อไปจึงปรากฏเห็นเป็นนิมิตอันหนึ่ง คล้ายกับภูเขาอยู่ข้างหน้า คิดอยากจะไปดู บางทีอาจจะเป็นหนทางที่อาจจะปฏิบัติได้ดีบ้างกระมัง
ปรากฏในนิมิตสมาธิต่อไปอีกว่า
ได้เดินเข้าไปมองเห็นเป็นชั้น ๆ มีถึง ๕ ชั้น จึงก้าวขึ้นไปจากชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๕ เป็นบันไดแก้วแล้วหยุดอยู่บนชั้นนั้น แต่แล้วก็กลับคืน และในขณะนั้นปรากฏว่าได้สะพายดาบอันคมกล้าไปด้วยเล่มหนึ่ง พร้อมทั้งสวมรองเท้าวิเศษอีกด้วย
ในคืนต่อไป ทำสมาธิเข้าไปถึงชั้นเดิมอีก แต่คราวนี้ปรากฏเป็นกำแพงแก้วอยู่ข้างหน้า ที่กำแพงแก้วนั้นมีประตูเข้าออกได้ จึงคิดอยากจะเข้าไปดูว่ามีอะไรอยู่ข้างในนั้น จึงเอามือผลักบานประตูเดินเข้าไป เห็นมีทางอยู่ทางหนึ่งเป็นสายตรง ได้เดินเข้าไปตามทางสายนั้น ข้างทางด้านขวามือมีที่สำหรับนั่ง และมีพระกำลังนั่งสมาธิอยู่ประมาณ ๒ - ๓ รูป ที่อยู่ของพระนั้นคล้ายกับประทุนเกวียน แต่เราไม่ค่อยจะเอาใจใส่เท่าไรนักจึงเดินต่อไป ข้างทางทั้ง ๒ มีถ้ำเงื้อมอยู่มาก และได้เห็นดาบสคนหนึ่ง แต่ก็ไม่เอาใจอีก แล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงหน้าผาซึ่งสูงชันมาก คิดจะเดินต่อไปอีกก็ไม่ได้ จึงหยุดเพียงแค่นั้นแล้วกลับมาตามทางเดิม
ในคืนต่อไป ก็ได้เข้าจิตสมาธิดำเนินไปตามทางเดิมทุกประการ เมื่อไปถึงหน้าผานั้นปรากฏว่ามียนต์อยู่อันหนึ่งคล้ายๆ กับอู่ มีสายหย่อนลงมาจากหน้าผานั้น จึงได้ขึ้นยนต์ พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ยนต์ก็ชักพาขึ้นไปบนยอดเขาลูกนั้น แต่บนเขานั้นมีสำเภาใหญ่อยู่ลำหนึ่ง ได้ขึ้นบนสำเภาลำนั้นอีก ข้างในสำเภามีโต๊ะสี่เหลี่ยมอยู่ตัวหนึ่ง บนโต๊ะมีผ้าสีขาวละเอียดปูไว้ เมื่อมองไปมองมาทั้ง ๔ ทิศ เห็นมีแสงประทีปตั้งไว้รุ่งโรจน์ชัชวาล ประทีปนั้นคล้ายกับติดเชื้อด้วยน้ำมัน จึงได้ขึ้นนั่งบนโต๊ะนั้น และได้ฉันจังหัน (ฉันเช้า) ที่นั้นด้วย ของฉันก็มีข้าวและแกงกับอีกหลายอย่าง เวลาฉันเสร็จแล้วมองข้างหน้าเห็นฝั่งโน้นไกลลิบ จะไปต่ออีกก็ไม่ได้เพราะมีเหวลึกขวางหน้าอยู่ และสะพานที่จะข้ามก็ไม่มี จึงต้องกลับสู่ทางเดิม
คืนหลังต่อมา ก็ได้เข้าสมาธิจึงไปตามเดิมนั่นเอง แต่พอมาถึงสำเภาลำนั้น ก็ยังคิดอยากจะข้ามเหวต่อไป ปรากฏว่ามีสะพานเล็ก ๆ พอข้ามไปได้ เมื่อข้ามไปถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เห็นเป็นกำแพงใหญ่สูงมาก และประกอบไปด้วยค่ายคู ประตูและหอรบครบบริบูรณ์ ด้านหน้ากำแพงมีถนนใหญ่อยู่สายหนึ่ง จากทิศใต้ไปทิศเหนือ นึกอยากไป แต่ผลักประตูไม่ออก จึงต้องกลับทางเดิม
คืนหลังต่อมาอีก ก็ได้เข้าสมาธิจิตไปตามทางเดิมนั้นอีก ในคืนวันนั้น เมื่อไปถึงระหว่างตอนที่จะข้ามสะพานครั้งเหวลึกนั้น ปรากฏว่ามีสะพานใหญ่กว่าวันก่อนมาก ขณะที่เดินไปตามสะพานถึงระหว่างกลางนั้น ก็ได้พบกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งเดินสวนทางมาแล้วกล่าวว่า อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค แล้วก็เดินต่อไป ครั้นไปถึงประตูแล้วมองเห็นประตูเล็ก จึงผลักประตูเล็กออกไปได้ เข้าไปผลักประตูใหญ่ก็ได้อีก เมื่อเดินเข้าไปก็เห็นมีกำแพงและมีเสาธงตั้งอยู่กลางเวียง กำแพงนั้นสูงตระหง่านบานใจยิ่งนัก ที่ข้างหน้ามีถนนสะอาดเตียนราบรื่นและมีหลังคามุงไว้ มีประทีปโคมไฟติดไว้ตามเพดานสว่างไสว ข้างหลังถนนเห็นมีโบสถ์หลังหนึ่ง จึงเดินเข้าไปในโบสถ์นั้น ภายในโบสถ์มีทางสำหรับเดินจงกรม และมีดวงประทีปตามไว้สว่างไสวอยู่ ๒ ข้างทางเดิน คิดอยากจะเดินจงกรม จึงได้เดินกลับไปกลับมาอยู่ ณ ที่นั้น และเห็นธรรมาสน์อันวิจิตรไปด้วยเงินตั้งอยู่  จึงได้ขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์นั้น ข้างบนธรรมาสน์มีบาตรอยู่ใบหนึ่ง เมื่อเปิดดูก็พบมีดโกนอยู่เล่มหนึ่ง
พอมาถึงตอนนี้ไม่มีนิมิตอะไรอีกต่อไป คงหยุดเพียงแค่นี้
ทุกวันทุกคืนได้เข้าจิตทำนองนี้จนเกิดความชำนิชำนาญ จะเข้าออกเวลาไหนก็ตามใจชอบ พอถึงที่ของมันแล้วจะสงัดจากอารมณ์ทั้งหลาย แม้เสียงก็ไม่ได้ยิน ทุกขเวทนาก็ไม่ปรากฏ เป็นเช่นนี้อยู่ถึง ๓ เดือน และทุกครั้งที่เข้าจิตไปนั้น ดาบและรองเท้าก็ต้องมีพร้อมทุกคราวไป จนสำคัญตนว่า ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริง หมดจดจากกิเลสแล้ว
การเกิดนิมิตที่ท่านเล่ามานี้ ผู้เขียนได้เขียนจากปากคำของท่านเอง ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นฯ นั่งอยู่ที่ศาลาเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษขอจดลงในสมุดบันทึกเลย และท่านก็บอกผู้เขียนว่า
ระวังอย่าได้ไปหลงในนิมิตเช่นนี้ เพราะมันวิเศษจริง ๆ ผู้ปฏิบัติทางจิตชอบจะมาติดอยู่เพียงแค่นี้แล้วสำคัญตนผิด เราเองก็สำคัญตัวเราเองมาแล้ว และมันก็น่าจะหลง เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก ที่วิปัสสนูปกิเลสก็คือความเห็นเช่นนี้
ท่านเล่าต่อไปว่า
ถึงแม้จะสำคัญว่าตนบริสุทธิ์แล้วก็ตาม แต่ยังมีความสงสัยอยู่เหมือนกัน จึงได้มีการกำหนดรู้ เมื่อเวลาจิตออกจากความสงบแล้ว ปรากฏว่ายังมีวี่แววแสดงอาการกระทบกระเทือน ในเมื่ออารมณ์มากระทบย่อมอ่อนไหวไปตาม เมื่อคิดค้นดูเหตุการณ์ด้วยตนเองแล้ว เห็นว่าลักษณะจิตที่ดำเนินไปอย่างนี้ คงจะยังไม่ตรงต่ออริยมรรคอริยผลแน่ จึงพยายามไม่ให้จิตมันลงไปเหมือนเดิม ถึงมันจะลงก็ไม่ยอมให้มันลง กำหนดกายคตาเป็นอารมณ์
พยายามแก้ไขตัวเองอยู่เดือนเศษ
ในวันหนึ่งหลังจากที่มิให้จิตมันหลงไปตามนิมิตต่าง ๆนั้นได้แล้ว กำหนดเฉพาะกายคตา จิตได้เข้าถึงฐาน ปรากฏว่า ได้เลิกหนังของตนออกหมด แล้วแหวะภายในกาย ได้พิจารณาทบทวนอยู่ในร่างกายอย่างละเอียด แต่ก็ใช้เวลาพักจิต มิใช่พิจารณาไปโดยได้มีการหยุดพัก แต่เมื่อพักจิตก็รู้ว่า ปัญญาได้เกิดขึ้นพอควร มีอาการไม่ตื่นเต้นและไม่หวั่นไหว จึงได้เปล่งอุทานว่า
นี่แหละจึงจัดว่ารวมถูก เพราะไม่ใช่จิตรวมสงบก็อยู่เฉย ที่สงบนั้นต้องสงบแล้วพิจารณาอยู่ในกัมมัฏฐาน คืออยู่ในการพิจารณาดูตัวทุกข์คือ กายนี้เป็นตัวทุกข์ และให้เห็นตัวทุกข์อยู่จึงจะได้ชื่อว่าดำเนินจิตอยู่ในองค์มรรค
ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าถึงตอนนี้ จึงพูดขยายความต่อไปอีกว่า
เราจะต้องตรวจค้นให้รู้จริงเห็นจริงอยู่ที่กายกับจิตเท่านั้น จึงจะถูกอริยมรรคปฏิปทา
จนครั้งหนึ่งปรากฏว่าร่างกายของท่านแตกออกเป็น ๒ ภาค แล้วก็ได้กำหนดจิตให้นิ่ง จนเกิดความสังเวชสลดใจ จึงถือเอาหลักนั้นเป็นการเริ่มต้น เพราะเห็นว่าถูกต้องแล้วเป็นปฏิปทาดำเนินต่อไป
พ.ศ. ๒๔๕๕
ธุดงค์ผจญภัยองค์เดียวถึงถ้ำไผ่ขวาง
ท่านได้พิจารณาในตัวของท่านเองว่า ที่เราบำเพ็ญถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็พอจะรู้ทางถูกทางผิดบ้างแล้ว ถ้าเราจะอยู่ที่วัดเลียบต่อไป การทำความเพียรของเราก็จะไม่สามารถทำถึงขั้นอุกฤษฏ์ได้ เพราะยังเกี่ยวข้องกังวลบางสิ่งบางประการ จึงตัดสินใจออกป่าแต่ผู้เดียว โดยท่านเอาร่มจีนมาแทนกลด เพราะถ้าเอากลดไปด้วยแล้ว ก็จะทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นพระธุดงค์ ก็จะมารบกวนหาของขลังอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นที่กังวลเป็นอุปสรรคต่อการประกอบความเพียร ท่านเห็นพระธุดงค์ไปที่พระพุทธบาท ถึงกับเขียนไว้ข้างมุ้งกลดเลยว่า มีพระให้เช่า ท่านบอกว่า ท่านที่ธุดงค์โดยมุ่งหวังชื่อเสียงลาภสักการะนั้น อย่าธุดงค์ดีกว่า เราเข้าป่าเพื่อแสวงหาธรรมปฏิบัติ ก็ควรจะยกความกังวลทั้งหลายออกไปเสีย
ท่านเดินธุดงค์ออกจากจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนั้นด้วยการเดินเท้าเปล่า รอนแรมผ่านดงพญาเย็นเรื่อยมา แทบจะกล่าวได้ว่า ท่านได้ผ่านภูเขาแทบทุกลูกในประเทศไทย แต่แล้วก็ยังไม่เหมาะในการทำความเพียร ในที่สุดการธุดงค์ของท่านในครั้งนั้น ก็ลุมาถึง ถ้ำไผ่ขวาง ข้างน้ำตกสาริกา เขตจังหวัดนครนายก ซึ่งในสมัยนั้นยังคงเป็นป่าทึบและดงดิบ อยู่กลางป่าจึงดาษดื่นไปด้วยสิงห์สาราสัตว์ เช่นเสือ ช้างที่ดุร้าย พร้อมทั้งงูเห่าและงูจงอาง ท่านเล่าว่า เดินเข้าไปเย็นยะเยียบเงียบจากเสียงภายนอก มีแต่เสียงของพวกสัตว์นานาชนิด มันเป็นสิ่งที่เราปรารถนาและต้องการอยู่แล้ว เพราะจะพยายามทรมานตัวเอง
เมื่อท่านได้มุ่งหน้าเข้าไปยังถ้ำน้ำตกสาริกาบนภูเขา ในระหว่างทางได้พบหมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือนซึ่งเป็นชาวไร่ พวกเขาจึงถามท่านว่า
ท่านหลวงพ่อครับ จะไปไหน ?”
ท่านตอบว่า จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในเขาลูกนี้
บรรดาชาวไร่เหล่านั้นก็พากันตกตะลึง พยายามทัดทานท่านว่า
อย่าเข้าไปเลยหลวงพ่อ เพราะพระที่เข้าไป ในถ้ำนี้มรณภาพไปแล้วถึง ๖ องค์ ขอให้อยู่กับพวกผมที่บ้านนี้เถิด อย่าเข้าไปเลย
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ตอบไปว่า เออ โยมขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ ๗ ก็แล้วกัน
ท่านไม่ยอมฟังคำทัดทานของชาวบ้าน ได้เดินธุดงค์เข้ายังถ้ำภูเขาลูกนั้นต่อไป
ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่โตเท่าใดนัก มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่นจนมืดครึ้ม เป็นที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งเป็นที่พระธุดงค์ได้มรณภาพถึง ๖ องค์ ชาวบ้านแถวนั้นเขาเข้ามานำเอาศพไปบำเพ็ญกุศลกันตามมีตามเกิด ท่านอาจารย์มั่น ฯ เมื่อทอดอาลัยในชีวิตแล้ว ก็วางบริขารไว้แห่งหนึ่งตรงปากถ้ำ จัดการสถานที่แล้วเดินดูรอบๆ บริเวณ ได้ยินแต่เสียงจักจั่นเรไรร้อง พวกนกส่งเสียงกระจิ๊บกระจ๊าบ ก็ยิ่งทำให้เกิดความวังเวงยิ่งขึ้น
เมื่อเวลาตอนพลบค่ำสนธยา รอบ ๆ บริเวณนั้นเต็มไปด้วยความสงัดเงียบ ถ้าเป็นคนที่มีจิตใจไม่แข็งพอ ก็อาจจะเป็นบ้าไปเพราะความกลัวเสียก็ได้ แต่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเคยชินในเรื่องนี้เสียแล้ว จึงไม่มีอะไรจะมาทำให้จิตใจของท่านเกิดหวั่นไหว เมื่อค่ำลงสนิทแล้วท่านก็เริ่มบำเพ็ญความเพียรด้วยการนั่งสมาธิตลอดคืน ปรากฏว่าสว่างไสวไปทั่วหมด ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตอันดีเป็นอย่างมากในค่ำคืนวันนั้น
รุ่งขึ้นท่านก็ออกบิณฑบาตที่บ้านไร่นั้น นำอาหารกลับมาฉันที่ถ้ำ เมื่อฉันเสร็จแล้วท่านก็พักกลางวันไปสักชั่วโมง เพราะเหน็ดเหนื่อยมาตลอดคืนที่แล้ว แต่พอลุกขึ้นท่านก็รู้สึกหนักตัวไปหมด และหนักผิดปกติจนท่านแปลกใจ
เมื่อท่านไปถ่ายอุจจาระก็รู้สึกว่าเป็นท้องร่วง เมื่อสังเกตดูอุจจาระก็พบว่าทุกอย่างไม่ย่อยเลย ข้าวสุกก็ยังเป็นเมล็ด แตงโมก็ยังเป็นชิ้นอยู่ ถ่ายออกมาก็ยังมีสภาพเหมือนเดิม ท่านเข้าใจว่าเหตุนี้เอง พระเหล่านั้นมรณภาพ ตัวเราเองก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น
ท่านจึงเดินเที่ยวหาบริเวณที่อันจะทำให้เกิดความหวาดเสียว ซึ่งต้องเป็นที่เหมาะ เพราะจะต้องทำกันให้ถึงที่สุด แล้วท่านก็เหลือบไปเห็นหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งตั้งอยู่บนปากเหวลึก แล้วท่านก็ทดลองโยนหินลงไป กว่าจะได้ยินเสียงก็กินเวลาอึดใจหนึ่ง ท่านก็กะว่าที่ตรงนี้เหมาะแล้ว ถ้าเราจะต้องตายก็ขอให้ตายตรงนี้ ให้ท่านหล่นลงไปในเหวนี้เสียเลย จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายแก่ใครๆ ซึ่งจะต้องกังวลทำศพให้เรา
ในค่ำวันนี้ท่านตั้งปณิธานว่า
เอาละ ถ้าเราไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด
และในค่ำคืนวันนั้นเอง เมื่อท่านกำหนดจิตตามที่ท่านฝึกฝนไว้ตอนหลังสุดตามอุบายนั้น ก็เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน ซึ่งปรากฏเห็นแม้กระทั่งเมล็ดทราย โดยปรากฏเห็นเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน ความผ่องใสของใจนี้ทำให้พิจารณาเห็นอะไรได้ทุกอย่างที่ผ่านมา แจ้งประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบันทั้งหมด
การนั่งสมาธิคราวนี้ท่านใช้เวลา ๓ วัน ๓ คืน โดยไม่แตะต้องอาหารเลย การพิจารณาถึงกายคตาตลอดถึงธรรมะต่าง ๆ ท่านได้ตัดความสงสัยทุกอย่างโดยสิ้นเชิงในการปฏิบัติจิต
ในขณะที่การพิจารณาธรรมทั้งหลายอย่างได้ผลนั่นเอง นิมิตอย่างหนึ่งได้ปรากฏขึ้นแก่ท่าน คือเห็นเป็นลูกสุนัขกินนมแม่อยู่ ท่านได้ใคร่ครวญดูว่า นิมิตที่เกิดขึ้นนี้ จะต้องมีเหตุ เพราะขณะจิตขั้นนี้จะไม่มีนิมิตเข้ามาเจือปนได้ คือเลยชั้นที่จะมีนิมิต
ท่านกำหนดพิจารณาโดยกำลังของกระแสจิต ก็เกิดญาณคือความรู้ขึ้นว่า ลูกสุนัขนั้นหาใช่อื่นไกลไม่ คือตัวเราเอง เรานี้ได้เคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มานับครั้งไม่ถ้วน คงหมุนเวียนเกิดตายอยู่ในชาติของสุนัข
ท่านใคร่ครวญต่อไปว่า ก็ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คือเหตุใดจึงต้องเป็นสุนัขอยู่อย่างนั้น
ได้ความว่า ภพ คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีอยู่ในภพของมัน จึงต้องอยู่ในภพของมันตลอดไป
ขณะท่านทราบว่าตนต้องเกิดเป็นสุนัขนั้น ได้ถึงซึ่งความสลดจิตมากที่สุด แม้ความสว่างไสวของจิตก็ยังคงเจิดจ้าอยู่ตลอดระยะเวลานั้น ท่านจึงพิจารณาค้นความจริงในจิตของท่านว่า เหตุอันใดที่ต้องทำให้เกิดความพะว้าพะวงห่วงหน้าห่วงหลังอยู่ในขณะนี้ แม้จะได้รับความสลดอย่างยิ่งนี้แล้ว ก็ยังจะพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปไม่ได้ ก็เมื่อความละเอียดของจิตเกิดขึ้นพร้อมกับความสว่างไสวแล้วนั้น ความจริงที่ยังไม่ทราบมาก่อนได้เกิดขึ้นแก่ท่านแล้วก็คือ
การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ
ท่านจึงหวนรำลึกต่อไปว่า เราได้ปรารถนามานานสักเท่าใด
ก็เพียงสมัยพระพุทธกาลนี่เอง ไม่นานนัก
ท่านจึงตัดสินใจที่จะไม่ต้องการพุทธภูมิอีกต่อไป เพราะเหตุที่มาสังเวชตนที่ตกเป็นทาสของกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดเป็นสุนัขเสียนับภพนับชาติไม่ถ้วน
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงนึกถึงธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ ก็มาระลึกได้ว่า ปฐมเทศนาเป็นบทบาทสำคัญซึ่งจะเป็นทางบรรลุธรรม เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมนี้ จากความเห็นจริงที่พระองค์ได้ทรงรู้ แล้วนำออกมาแสดง เช่นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงอริยสัจจ์ ๔ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือ
ทุกข์ ควรกำหนดรู้
สมุทัย ควรละ
นิโรธ ควรทำให้แจ้ง
มรรค ควรเจริญให้มาก
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้มาคำนึงถึงธรรมะอันเป็นหัวใจของพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเช่นนี้แล้ว ท่านก็มาพิจารณาต่อไปอีกว่า
ทุกข์ คืออะไร
ในปฐมเทศนาแสดงว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ และใครเล่าเกิด-แก่-เจ็บ ตาย ก็คืออัตภาพร่างกายของเรานี่เอง ฉะนั้นร่างกายนี้จึงถือได้ว่า เป็นอริยสัจจธรรม การพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงในกายนี้ ก็เท่ากับรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจจ์นั่นเอง
ดูแต่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ด้วยพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ คืออนัตตลักขณสูตร พระพุทธองค์ทรงยก รูป ขึ้นมาให้พระปัญจวัคคีย์พิจารณา คือทรงแสดงว่า
รูปํ ภิกขเว อนตฺตา รูปไม่ใช่ตน
ปริวัตน์ที่ ๒ ว่า ตํ กึ มญฺญสิ ภิกฺขเว รูปํ นิจฺจํ วา อนิจฺจํ วาติ      ภิกษุที่หลายท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
ปริวัตน์ที่ ๓ ว่า ตสฺมา ติห ภิกฺขเว รูปํ อตีตํ วา อนาคตํ วา ปจฺจุปนฺนํ วา      เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย รูปในอดีต อนาคต หรือรูปปัจจุบัน
สพฺพํ รูปํ      รูปทั้งปวง
เนตํ มม เนโส หมสฺมิ น เม โส อตฺตา ติ      ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนเรา
เอวเมตํ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญา ยทตฺตพฺพํ      จงพิจารณาข้อความนี้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ
ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ได้พิจารณาว่า
การพิจารณาตัวทุกข์นี้ก็คือรูปกายนี่เอง พระปัญจวัคคีย์แม้จะได้บรรลุธรรมในเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ พระพุทธองค์จึงต้องทรงเน้นหนักลงไปที่กายนี่เอง โดยทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เพี่อจะให้พระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรมชั้นสูงสุด
ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ได้คำนึงถึงปฏิปทาของพระพุทธองค์ตอนที่จะตรัสรู้ ที่ทรงนั่งสมาธิในวันวิสาขะ เพ็ญเดือน ๖ นั้น
ตอนปฐมยาม ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ระลึกชาติในหนหลังได้ นี่คือการพิจารณา กาย จุดสำคัญจุดแรก เนื่องจากอัตภาพ แต่ละอัตภาพที่พระพุทธองค์ทรงระลึกนั้นมีทั้ง สุข ทุกข์ มีทั้ง เกิด แก่ เจ็บ ตาย นับภพนับชาติไม่ถ้วน เป็นการยืนยันว่า พระพุทธองค์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ทรงพิจารณา กาย เพราะญาณเป็นที่ระลึกชาติหนหลังได้นั้น ต้องรู้ถึงการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่คืออัตภาพแต่ละอัตภาพ ซึ่งต้องมีทุกข์ครบถ้วนทุกประการในการที่พระพุทธองค์ทรงระลึกนั้น
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้คำนึงว่า
การพิจารณาทุกข์ พระพุทธองค์ทรงดำเนินมาแล้วแต่ปฐมยามนั่นเอง ท่านจึงได้ความชัดในใจของท่าน แล้วก็ได้นำเอาการระลึกชาติ ในการที่ท่านได้เกิดเป็นสุนัขอันแสนนานนั้น มาเป็นเหตุพิจารณาให้เกิดความแจ่มแจ้งขึ้นในจิตนั้น เพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการแห่งสัจธรรม ดำเนินให้เป็นไปตามความเป็นจริงนี้ เรียกว่า ญาณ คือการหยั่งรู้ ท่านได้ความรู้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเพียงพอ (อิ่มตัว) ของญาณแต่ละครั้ง มิใช่เป็นสิ่งที่จะนึกคิดเอา หรือน้อมเอาเพื่อให้เป็นไป แต่ต้องเกิดจากความจริงที่ว่า ต้องพอเพียงแห่งความต้องการ (อิ่มตัว)
การเป็นขึ้นจากการพิจารณาโดยความเป็นจริงแห่งกำลังของจิตที่ได้รับการอบรมมาพอแล้ว เช่นผลไม้ มันต้องพอควรแก่ความต้องการของมัน จึงจะสุก ห่อข้าวที่ถูกไฟ หุงด้วยไฟ มันต้องการไฟเพียงพอกับความต้องการของมันจึงจะสุก แม้การพิจารณากายที่เรียกว่าตัวทุกข์นี้ก็เช่นเดียวกัน กว่าจะกลับกลายเป็นญาณขึ้นมาได้ ต้องอาศัยการพิจารณาจนเพียงพอแก่ความต้องการ (จุดอิ่มตัว) แต่ละครั้ง เช่นกำลังของการพิจารณานี้ มันอาจจะอยู่ได้ชั่วขณะหรือเวลา สุดแล้วแต่กำลังของญาณ เช่น นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย จะตั้งอยู่ในใจ นานเท่าไรนั้น สุดแล้วแต่การพิจารณากายเห็นชัด ด้วยสามารถแห่งพลังจิต การพิจารณาทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดญาณนี้ ถ้าเกิดความเพียงพอกำลังเข้าเมื่อใด ญาณนั้นจึงจะเป็นกำลังตัดกิเลสได้เมื่อนั้น



ตอนที่ ๒
การผจญอันตรายภายใน
ท่านอาจารย์มั่นฯ เล่าต่อไปว่า
ณ ค่ำคืนระหว่างแห่งการดำเนินจิตก็กำลังสว่างไสวและได้ผลนั้น สิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมาในเวลา ๒๓.๐๐ น ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว คือมีอาการสั่นสะเทือนขึ้นทั้งภูเขา ดูรู้สึกเหมือนกับว่า ภูเขาลูกที่ท่านนั่งอยู่นั้น จะพลิกคว่ำ ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างได้ผล บางครั้งจะได้ยินเหมือนเสียงต้นไม้หักเป็นระนาวทีเดียว อากาศเป็นเหมือนกับมืดลมมืดฝน เป็นลักษณะที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง เกือบจะทำให้ท่านต้องลืมตาออกมาทีเดียว แต่ท่านก็หาได้ลืมตาดูตามลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่
ท่านได้พิจารณาเป็นอนุโลมิกญาณในอริยสัจธรรม พร้อมกับเหตุอันน่าสะพรึงกลัวนั้น ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่เป็นอยู่อย่างนั้นนานเท่าใดไม่อาจทราบได้ ท่านได้กำหนดสติอย่างมั่นคง และได้คำนึงถึง สติ นี้เป็นอย่างดีและชัดเจนขึ้นอย่างยิ่งว่า สติอันที่จะเรียกได้ว่ามีกำลังนั้น ต้องมาต่อสู้และผจญภัย” เพื่อเป็นการทดสอบว่า จะเกิดความหวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอก จะยังคงพิจารณาอยู่กับร่องรอยได้หรือไม่ ท่านได้พิสูจน์แล้วว่า ความหวั่นไหวแห่งสติในขณะนั้นไม่มีเลย  ยังคงรักษาระดับการพิจารณา อันเป็นอนุโลมิกญาณได้อย่างปกติ
เหตุการณ์หาได้หยุดยั้งลงแต่เพียงแต่นั้นไม่ ยังคงดำเนินอย่างรุนแรงขึ้นทุกขณะ มันประดุจว่าร่างกายของท่านแทบจะถูกบดไปเป็นผุยผง เป็นจุณวิจุณไปทีเดียว เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดเป็นเวลานาน พลันอาการประหลาดก็เกิดขึ้นมาอีก คือมีอาการร่างกายใหญ่โตขึ้นสูงเท่ากับต้นไม้ใหญ่ ถือตะบองเหล็กซึ่งมีรัศมีดังเปลวไฟแปร๊บปร๊าบ เดินย่างสามขุมตรงรี่เข้ามาหาท่านอย่างผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจ พร้อมกับตวาดว่า
จงลุกจากที่นี่เดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นจะต้องตาย
ว่าแล้วก็เงื้อตะบองขึ้นสุดแขน ขณะท่านอาจารย์มั่น ฯ กำลังพิจารณาอนุโลมิกญาณอย่างได้ผล ก็มาผจญกับสิ่งลึกลับ อันไม่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อน ซึ่งมันทำให้ท่านแทบจะเผลอลืมตาขึ้นมาดู แต่ท่านก็ระงับสภาพอันน่าละพึงกลัวนั้นเสียได้ ไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์เหล่านั้น กำหนดสติอันทรงพลังของท่าน และท่านก็มั่นใจในสติอันที่ได้อบรมจนเป็นมหาสตินั้น
ณ ที่นั้น การที่เกิดความมหัศจรรย์เช่นนี้ต้องถือว่าเป็นอันตรายต่อการบำเพ็ญจิตขั้นละเอียดเป็นที่สุด เพราะถ้าเสียทีตกใจลืมตา หรือสติอ่อนจะผ่านขั้นนี้ไม่ได้เลย หลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ถูกยักษ์ตนนั้นมันตะคอกเอาแล้ว ท่านก็กำหนดในใจ พูดตอบยักษ์ไปว่า
เราไม่ลุก
ทันใดนั้นเองปรากฏว่ายักษ์ได้หวดตะบองอันใหญ่นั้นลงยังร่างของท่านอย่างน่าใจหายใจคว่ำ ท่านรู้สึกประดุจว่าตัวของท่านจมลงดินลงไปลึกประมาณ ๑๐ วา
แต่ทันใดนั้นก็ปรากฏว่าตัวของท่านลอยขึ้นเหนือแผ่นดินอีก ขณะที่มีอาการเช่นนั้นท่านหาได้ลืมสติไม่ กำหนดเป็นอนุโลมิกญาณ อยู่ตลอดไป จึงยังแน่วแน่จดจ่ออยู่ ณ ที่เดียว ซึ่งขณะนั้นเป็นการพิจารณาจุดสุดยอดของญาณ
ท่านว่า เป็นสิ่งที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง คำว่าชีวิตความตายมิได้มีความหมายเลยในขณะนั้น ชีวิตมิได้เป็นสิ่งมีค่า เท่ากับการพิจารณาจุดสุดยอดแห่งอนุโลกมิกญาณในขณะนั้นเลย จึงหาได้เกิดความหวาดกลัว หรือสะดุ้งแต่ประการใดไม่ !
เหตุการณ์ก็หาได้หยุดลงแต่เพียงนั้นก็หาไม่ ทันใดเจ้ายักษ์ตนนั้น มันก็ถอนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นต้นตะเคียน อยู่ข้างหลังของท่าน ต้นตะเคียนนั้นใหญ่ขนาด ๑๐ อุ้ม ใหญ่มากทีเดียว มันเอามือทั้งสองข้างฉุดต้นตะเคียน เหมือนกับยกหม้อน้ำ ปรากฏว่ารากตะเคียนได้หลุดขึ้นจากดินพร้อมกับดินแถว ๆ นั้นกระจายไปหมด ปรากฏว่าก้อนดินหล่นกระจายถูกต้องร่ายกายทั่วไป และพร้อมกันนั้น มันก็ยกต้นตะเคียนขึ้น พร้อมด้วยความโกรธตาแดงยังกับลูกไฟ ยกขึ้นสูงเหนือภูเขาลูกนั้น ฟาดลงมายังร่างของท่านดังสะท้านหวั่นไหว ปรากฏว่าร่างกายของท่านทรุดแบนละเอียดติดอยู่กับก้อนหินนั้น และพร้อมกันนั้นก็ปรากฏว่าหินก้อนที่ท่านนั่งอยู่นั้น ก็แตกละเอียดเป็นจุณไปในชั่วพริบตานั้นเอง ขณะนั้นเกือบจะทำให้ท่านต้องเผลอลืมตาขึ้นมาดูความเห็นไปต่าง ๆ แต่ว่าท่านได้คำนึงถึงมหาสติอันเป็นเครื่องบังคับกำกับการพิจารณาในจุดสุดยอดแห่งธรรมอันละเอียดอ่อน ทำให้ท่านได้พิจารณาอย่างเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้เหตุการณ์อันเป็นเครื่องทำให้เกิดอาการหวั่นไหว ท่านก็มิได้มีความหวั่นไหวเลย
ในที่นี้ท่านได้คำนึงต่อไปว่า มีสิ่งหนึ่งอันเป็นประการสำคัญ ซึ่งเป็นมลทินของใจ นั่นคือการพะว้าพะวัง ของการปรารถนาพระโพธิญาณและก็กลับไม่ปรารถนาเช่นนั้น หันมาเพื่อความพ้นทุกข์ อันจะพึงได้บรรลุธรรมอันยิ่งใหญ่ในขณะนั้น นี่เองที่ทำให้มีมลทินเป็นเครื่องสะกิดใจไว้ แต่เมื่อได้สละแล้ว ท่านจึงมิได้คำนึงถึงสิ่งอื่น อันเป็นเหตุให้ต้องประสบสิ่งอันเป็นที่หวาดกลัวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นแล้ว ปรากฏว่าทุกอย่างในโลกนี้มีสภาพเป็นอันเดียว ดุจหน้ากลองชัย โลกนี้ราบลงหมด คือสว่างราบเตียน ร่างกายของท่านก็ปรากฏว่าประมวลกันเข้าดังเดิม และปรากฏว่ายักษ์ตนนั้นจำแลงตัวเป็นมนุษย์ ลงมากราบไหว้ขอขมาลาโทษท่าน แล้วมันก็หายไป
ขณะนั้น ไก่ขันกระชั้นแล้ว แสดงว่าใกล้แจ้ง ซึ่งประมาณเวลาราวๆ ตี ๓ หรือตี ๔ เห็นจะได้ ท่านได้คำนึงถึงญาณ ๓ ในอริยมรรค คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ จิตที่บำเพ็ญถึงจุดอิ่มตัวเป็นญาณ ซึ่งมิใช่ว่าจะถือเป็นชั้นนั้น ชั้นนี้ เพราะถือว่าได้สำเร็จ การเข้าใจว่าได้ชั้นนั้นชั้นนี้คือการไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นการหลงสมุทัยไปทีเดียวเลย
ท่านคำนึงถึงญาณว่า เป็นจุดอิ่มตัว เหมือนกับการรับประทานอาหาร มันมีจุดอิ่มตัว พอมันพอเพียงแก่ความต้องการแล้วก็อิ่ม ไม่ต้องพูดอะไรให้มาก มีอาหารรับประทานเข้าไปก็แล้วกัน ญาณก็เช่นเดียวกัน บำเพ็ญให้ถูกต้อง โดยการพิจารณาทุกข์ เมื่อถึงจุดอิ่มตัวเมื่อไรก็รู้เอง เหมือนคนรับประทานอาหารอิ่มเมื่อไรเขารู้ตัวของเขาเอง เช่นเมื่อพิจารณา กาย คือตัวทุกข์ นั้นแล้ว พอเมื่อเห็นกายเขาก็เกิดความสังเวชสลดจิต แล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายเป็นญาณ เพราะมันจะเกิดขึ้นเอง จะมาสมมุติให้เกิดขึ้นไม่ได้ คำว่า สัจจะ คือความจริง เช่นกับการพิจารณาเห็นตัวทุกข์ ชื่อว่าเห็นจริงมิได้เดาเอา เช่น เห็นว่า ผม เป็นธาตุดิน อย่างนี้เป็น สัจจญาณ การดำเนินญาณคือความจริงให้ปรากฏอยู่เสมอ ชื่อว่า กิจจญาณ การถึงจุดละวาง เหมือนกับคนอิ่มอาหาร ละไปแล้วซึ่งความหิว โดยอัตโนมัติ เป็น กตญาณ
ท่านได้คำนึงถึง สมุทัย ว่า อัน กามตัณหา ความใคร่ในกาม ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา ความไม่อยากมีอยากเป็น ที่จริงแล้วคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตในขณะที่กำลังบำเพ็ญญาณนั้นเอง เพราะ กิเลสเกิดขึ้นตอนเจริญปัญญาญาณนี้สำคัญนัก จะเกิดการถือตัวอย่างก้าวไปไกล แก้ไม่หลุด คือ เมื่อเห็นญาณ ความหยั่งรู้เกิดขึ้น ซึ่งละเอียดและอัศจรรย์ เลยยึดเอาว่า เป็นพระนิพพานเสียเลย นี่แหละ กิเลสปัญญา เพราะตอนที่ผู้บำเพ็ญจะสำคัญตนว่าบรรลุแล้ว มิหนำซ้ำยังตั้งตนเป็นนักพยากรณ์เสียอีกว่า คนนั้นได้ชั้นนั้น คนนี้ได้ชั้นนี้ บางครั้งเกิดอัศจรรย์ขึ้นมาในจิต ว่าละกิเลสได้หมด แล้วมีธรรมมาบอกเกิดขึ้นเมื่อวันนั้นเดือนนั้น เราได้บรรลุชั้นนั้นชั้นนี้แล้ว ถ้าหากว่ามีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ บัญญัติเราเข้าให้อีกว่า แน่แล้ว สำเร็จแล้ว ทีนี้ก็จะทำให้จิตต้องนึกว่าสำเร็จ บรรลุ และถือตนหนักขึ้น ดังนั้นในสมุทัยสัจจ์ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า ปหาตพฺพนฺติ เม ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทัย ควรละ ก็ละตรงที่เรียกง่าย ๆว่า วิปัสสนูปกิเลสดังกล่าวนั้นแล้ว
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้คำนึงถึงเรื่องนี้ เพื่อความรอบคอบของจิตที่กำลังเนินไปอย่างได้ผลว่า เมื่อไม่ข้องอยู่ในอุปาทาน และห่วงอยู่ในความที่จะเข้าใจตัวเองว่า บรรลุชั้นนั้นชั้นนี้ได้แล้ว เพราะว่าท่านขณะที่กำลังบำเพ็ญวิปัสสนาญาณนั้น ได้ทราบชัดว่า วิปัสสนา นั้นคือความเห็นแจ้ง แต่ธรรมดาแล้วก็คงเห็นแจ้งเฉย ๆ เช่นเห็นว่าเป็นธาตุเป็นขันธ์ เกิดขึ้นจากตาในด้านการพิจารณา แต่ยังไม่ใช่ญาณ การที่จะเป็นญาณขึ้นมาได้นั้น ต้องถึงจุดอิ่มตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง เช่น พิจารณารู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ทั้งหลายแล้ว พิจารณาไม่หยุดยั้ง จนถึงจุดอิ่มตัว ญาณ คือความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น นี่แหละจึงจะชื่อว่า เป็นวิปัสสนาญาณ ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นเองเนื่องจากการบำเพ็ญวิปัสสนาให้เพียงพอ เช่นเดียวกับความอิ่มเกิดขึ้นจากความเพียงพอของการรับประทานอาหารนั่นเอง เพราะความเกิดเอง ในที่เรียกว่า สันทิฏฐิโก ความเห็นเอง นิโรธ ควรทำให้แจ้ง การทำให้ไม่ให้คนหลง ในมรรคผลนิพพานนั่นเอง เพระผู้ปฏิบัติทั้งหลายงมงายในความเป็นเช่นนี้มาก ในเมื่อไม่ใช้ปัญญาญาณเพราะไปใช้แต่สิ่งสำคัญตนจึงต้องใช้การทำให้แจ้ง มันจะเป็นอย่างไรขึ้นก็ช่าง เราทำไป แล้วธรรมที่ดำเนินไปก็บรรลุเป็นหมายเอง
ในวาระสุดท้าย
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
เราได้กำหนดทวนกระแสจิต คือเมื่อพิจารณาไปแล้วทุกอย่าง นับมาแต่การพิจารณาดูตัวทุกข์ คือขันธ์ทั้ง ๕ นั้นแล้ว และพิจารณาให้เป็นวิปัสสนา คือให้เห็นว่าขันธ์ทั้ง ๕ เท่านั้นเป็นธาตุ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และพิจารณาที่ธรรมทั้งหลายอันละเอียดวิเศษที่สุด จนเข้าใจว่าเป็นผู้บรรลุ ขจัดออกไปทั้งหมดโดยอนุโลมิกญาณแล้ว ท่านก็ทวนกระแสจิต กลับมาหา ฐิติภูตํ คือที่ตั้งของจิต ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เป็นต้นเหตุการณ์ทวนกระแสจิตที่เป็นอนุโลมิกญาณ ให้เห็นว่า ใครผู้รู้ ใครผู้เห็น” คือให้รู้ว่าเป็นผู้ไม่ตาย ให้เห็นว่าเป็นธาตุ เพราะได้พิจารณาเห็นโดยญาณนั้นเป็นความจริง อันตัว ผู้รู้ เห็นอยู่ที่ไหน อาศัยญาณที่บำเพ็ญขึ้นจนพอแก่ความต้องการ อันที่เรียกว่า อนุโลมิกญาณนั้นแล้ว ก็จะปรากฏว่าได้เห็นตัว “ผู้รู้ ผู้เห็น” “ผู้ไม่ตาย” คราวนี้ก็จะถือได้ว่าเป็นองค์มรรค ภาเวตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว มรรคควรเจริญให้มาก ผู้ที่มาเห็นตัว ผู้เห็น กล่าวว่า เป็นผู้หายความสงสัยแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องห่วงว่าอาจารย์โน้นถูก อาจารย์นี้ผิด เรากำลังทำนี้จะถูกหรือจะผิด ไม่มีในจิตของผู้เป็นเช่นนี้ ถ้ายังไม่ถึงเช่นนี้ ก็จะยังสงสัยอยู่ร่ำไป แม้ใครจะมาเทศน์ให้ฟังเท่าไรก็แก้สงสัยไม่ได้
ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ขณะนั้นปรากฏว่าโลกนี้เตียนราบประดุจหน้ากลองชัย เรียบเอาจริง ๆ ท่านได้ย้ำให้ข้าพเจ้าฟัง แต่การราบเรียบเหมือนหน้ากลองชัย คือการอยู่ในสภาพอันเดียวกัน ได้แก่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน แต่การปรากฏขึ้นในจิตนั้น เป็นเช่นนั้นเพราะว่าไม่มีอะไรมาข้องอยู่กับใจ ในจิตนั้นเป็นเช่นนั้น เพราะท่านพูดกับข้าพเจ้าต่อไปว่า นี้เป็นการที่ได้หนทางเป็นครั้งแรก ในใจของเราให้หายสงสัยว่า จะเป็นอะไรต่อไป แน่ชัดในใจโดยปราศจากการกังขา
ในที่นี้จึงรวมไว้ซึ่ง อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ เป็นที่รวมกำลังทั้งหมด เท่ากับเป็นการรวมกองทัพธรรมใหญ่ พร้อมที่จะขยี้ข้าศึก คือ กิเลส ให้ย่อยยับลงไป ในเมื่อการรวมกำลังนี้สมบูรณ์เต็มที่แต่ละครั้ง เพราะความที่ได้ขยี้ข้าศึกคือกิเลสนี้เอง จึงเกิดเป็นวิสุทธิ ๗ ประการ ครั้นเมื่อเป็นดังนี้บริบูรณ์แล้ว คำว่าชั้นนั้นชั้นนี้ก็ไม่ต้องกล่าวถึง เพราะเหตุได้ตัดเสียแล้วซึ่งอุปาทาน
ท่านได้เล่าเป็นเชิงแนะนำผู้เขียน เป็นลำดับตามวาระแห่งจิตของการดำเนินของท่าน จนผู้เขียนไม่อาจนำมาเขียนให้หมดไปทุกคำได้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำพูดที่ท่านได้แสดงให้ผู้เขียนฟังเท่านั้น
เป็นอันว่า ๓ วัน ๓ คืนของการพิจารณานั้น ท่านได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ และควรเห็น ได้รับผลคือความจริงในพระพุทธศาสนาในครั้งนั้น
ท่านเล่าต่อไป ว่า ในวันนั้นท่านได้พิจารณารู้แจ้งเห็นจริง แล้วก็ลุกขึ้นเดินจงกรมเสียเวลาก่อนแจ้ง รู้สึกเบาตัวไปหมด ได้เวลาไปบิณฑบาตตอนเช้า ท่านได้นุ่งสบงห่มจีวร ซ้อนสังฆาฏิเป็นปริมณฑล กับบาตรสะพายไว้ข้าง ประดุจอุ้ม แล้วก็เข้าไปสู่หมู่บ้านที่ท่านเคยไปแต่กาลก่อนนั้น
อันชาวบ้านต่างก็พากันเชื่อว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ตายไปเสียแล้ว เพราะไม่ได้มาบิณฑบาตตั้ง ๓ วัน เนื่องจากพระธุดงค์มาตายที่นี่หลายองค์ ท่านอาจารย์มั่น ฯ องค์นี้จะต้องเหมือนกับองค์อื่น ๆ ซึ่งชาวบ้านต่างก็พากันสงสัยตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ซึ่งพอท่านอาจารย์มั่น ฯ มาอยู่วันเดียว บิณฑบาตวันเดียวก็หายไปเฉย ๆ แต่ก่อนๆ พระธุดงค์ที่มาอยู่ที่นั้น บางองค์ก็ ๓ เดือน ๖ เดือนจึงตาย แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ องค์ใหม่นี้ทำไมจึงตายเร็วนัก เพียงสองสามวันเท่านั้น ชาวบ้านบางคนที่สนใจเป็นพิเศษ พอไม่เห็นท่านมาบิณฑบาต ก็ได้ไปเยี่ยมท่านที่ถ้ำ แต่ก็ไม่เห็น เพราะที่ท่านนั่งสมาธินั้นลี้ลับมาก ครั้นจะค้นให้ทั่วก็กลัวจะเป็นการรบกวนสมาธิของท่าน ถ้าท่านกำลังนั่งสมาธิ แต่ถ้าหากท่านตายจริง หลายวันแล้วเดี๋ยวก็จะเน่าเฟะ ก็จะลำบาก ชาวบ้านต่างก็โจษขานกันไป และคิดที่จะหาหนทางเอาศพมาบำเพ็ญกุศลกัน
แต่ที่ไหนได้ รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๓ นั้น ก็ปรากฏเห็นโฉมหน้าของท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังออกมาบิณฑบาตโดยปกติแล้ว ทุกคนก็บังเกิดความเลื่อมใส ต่างก็ถามท่านว่า
ท่านอาจารย์ครับ ๓ วันที่แล้วมาทำไมจึงไม่มาบิณฑบาต
ท่านอาจารย์ได้ตอบว่า ก็เราได้ต่อสู้กับความโง่ของตัวเองนั่นแหละโยม เห็นจิตสงบดีจึงไม่ได้มา
แต่ชาวบ้านก็ยังไม่แน่ใจว่า ท่านจะอยู่ไปได้ตลอดหรือไม่
หลังจากท่านบิณฑบาตกลับไปที่ถ้ำแล้วนั้น จากนั้นอาการต่าง ๆ ก็ปกติดี อาหารทุกอย่างย่อยเป็นปกติ ร่างกายของท่านสมบูรณ์
ในตอนนี้ท่านได้พักผ่อนบำเพ็ญความเพียรตามปกติ และท่านก็หวนพิจารณาถึงพระที่มรณภาพไปแล้ว ๖ องค์ ว่าเป็นเพราะเหตุใด ก็ได้ทราบว่า ประพฤติเป็นศีลวิบัติโดยลักษณะต่าง ๆ กัน
องค์ที่ ๑ ได้มาอยู่ ๒ เดือน ๒๙ วันก็มรณภาพ องค์นี้ผิดวินัยข้อที่เก็บอาหารเป็นสันนิธิ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ในโภชนวรรค สิกขาบทที่ ๗ เวลาไปบิณฑบาตแล้ว มีอาหารบางสิ่งที่ไม่บูดเสียแล้วเก็บไว้ฉันในวันต่อไป
องค์ที่ ๒ อยู่ได้ ๓ เดือนกับ ๑๐ วัน ก็มรณภาพ ส่วนองค์ที่ ๒ นี้ ได้ตัดต้นไม้ในป่าด้วยตนเอง แล้วนำมาทำร้านเพื่อเป็นที่สำหรับนั่งและนอนนอกถ้ำ เพราะว่าจะนั่งนอนกับหินและดินก็ชุ่มชื้น นี่ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ในสิกขาบทที่ ๑ แห่งภูตคามวรรค
องค์ที่ ๓ อยู่ได้ ๔ เดือนกับ ๒๒ วันก็มรณภาพ องค์ที่ ๓ นี้ได้ขุดดิน โดยที่แถวนั้นมีมันป่ามาก ก็ขุดเอามันมาไว้และต้มฉันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สมณะไม่ควรทำ และผิดวินัยตามพุทธบัญญัติข้อ ๑ ของ ภูตคามวรรค และข้อที่ ๑๐ ของมุสาวาทวรรค
องค์ที่ ๔ ได้มาพักอยู่ ๕ เดือนกับ ๒๐ วัน ก็มรณภาพที่ถ้ำนี้ ชาวบ้านได้นำศพไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณี องค์นี้ได้ทำผิดวินัยที่เก็บอาหารบิณฑบาตมาได้ แล้วเอาไว้ฉันต่อไป และได้ไปเก็บผลไม้ต่าง ๆ ในป่ามาเองซึ่งเป็นการผิดวินัยข้อ ๘ ของโภชนวรรคปาจิตตีย์ และข้อที่ ๑ ของภูตคามวรรคปาจิตตีย์
องค์ที่ ๕ อยู่ได้ ๖ เดือนกับ ๒๘ วันก็มรณภาพ องค์นี้ได้ไปเก็บผลไม้จากต้นไม้ เพราะในป่านั้นก็มีผลไม้ป่าต่าง ๆ เป็นต้นว่า ไม้เต็ง ไม้พอง ผลนมวัวเป็นต้น ท่านได้ไปเก็บเองจากต้นมาฉันเอง นี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ข้อที่ ๑ ขอภูตคามวรรคและข้อที่ ๑๐ ของโภชนวรรค
องค์ที่ ๖ อยู่ได้ ๗ เดือนกับ ๑๒ วันแล้วก็ขอให้โยมพาไปส่งที่วัดเดิมของท่านที่ขอนแก่น เมื่อกลับไปอยู่วัดเดิมได้ ๑ เดือน ท่านก็มรณภาพ องค์นี้ก็เก็บอาหารต่าง ๆ ที่เป็นสันนิธิ เป็นอาบัติโดยที่ได้ทำอยู่เป็นอาจิณ แล้วตัวท่านเองก็มิได้รู้ถึงสมุฏฐานแห่งการเป็นอาบัติ จึงต้องศีลวิบัติอันเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต และการจะเดินธุดงค์และอยู่ป่านั้น ข้อสำคัญต้องรักษาขนบธรรมเนียมพร้อมด้วยพระธรรมวินัยของพุทธบัญญัติอย่างเคร่งครัด จึงจะเป็นไปเพื่อความสะดวกสบายได้
ในวันหนึ่งท่านได้นั่งสมาธิปลอดโปร่งมาก แต่ว่าการที่ท่านได้มาอยู่ที่ถ้ำนี้ นับแต่ท่านพบแสงสว่างแห่งธรรม ท่านก็ได้รับผลแห่งความสงบตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ในคืนนั้น ท่านพิจารณาถึงการแนะนำสั่งสอนธรรมอันเป็นภายในนี้ว่า เราแนะนำพร่ำสอนไฉนหนอ จึงจะเป็นผล ท่านก็กำหนดพิจารณาดูในขณะนั้นว่า
การแนะนำในขั้นต้นนี้ ควรจะต้องดำเนินไปเฉพาะพระภิกษุสามเณรเป็นประการสำคัญ เพราะพระภิกษุสามเณรแม้องค์เดียว ถ้าได้เห็นธรรมเป็นที่แน่ชัดแล้ว จะไปสอนอุบาสกอุบาสิกาได้เป็นจำนวนมาก และก่อนแต่ที่จะสอนใครก็ควรต้องพิจารณาจิตใจของผู้นั้นว่า ควรจะได้รับธรรมะอย่างไร ผู้นั้นควรจะนำไปปฏิบัติอย่างไร
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านย้ำกับผู้เขียนว่า
ถ้าเราไม่พึงรู้ถึงความเป็นจริง คืออุปนิสัยวาสนาและปุพเพนิวาสแต่กาลก่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราได้ทราบชัดว่า ผู้ใดควรได้รับธรรมกัมมัฏฐานอะไร และจะสามารถรู้ซึ้งในกัมมัฏฐานได้แล้ว เราจะยังไม่สอนใครเลยทีเดียว
ฉะนั้นการสอนกัมมัฏฐานของท่านจึงได้ผลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ปรากฏต่อมาว่าเมื่อท่านสอนใครแล้วต้องได้ผล เพราะเราจะเห็นผู้เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานองค์สำคัญ ๆ ที่ได้ทำประโยชน์แก่พุทธศาสนาอยู่ในเวลานี้ ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นส่วนมาก เพราะได้รับการฝึกฝนมาอย่างถูกต้องจากท่านอาจารย์มั่น ฯ นั้นเอง
ณ ที่นี่เองท่านก็ได้รู้จักภาษาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในป่า เป็นต้นว่า ลิงบ้าง นกบ้าง มันคุยกัน มิใช่ว่าท่านจะได้ยินเพียงแต่มีเสียงจี๊ด ๆ  แจ๊ด ๆ หรือ กรี๊ด ๆ แกร๊ด ๆ แต่ว่ามันก็ใช้ภาษาของมัน ซึ่งบางครั้งท่านอาจารย์เล่าว่า
พวกนกจะรู้ภาษากันก็หาไม่ พวกมันก็ได้ตักเตือนกันอยู่ แต่มีบางตัวบางพวกก็ไม่เชื่อฟัง มันรู้เรื่องของมนุษย์ได้ดีว่า มนุษย์บางคนมีจิตใจโหดร้าย มาขโมยเอาลูกเขาไปทั้ง ๆ ที่เขาก็หวงแสนหวง แต่พวกนกหนูทั้งหลาย บางครั้งไปหากิน ลักขโมยมนุษย์ตามไร่ตามสวนนั้น หาใช่ว่าพวกมันจะไม่รู้ก็หาไม่ พวกเขาก็ได้ตักเตือนกันอยู่ แต่พวกมันก็ไม่ยอมเชื่อฟัง แต่บางทีพวกนักล่าลิง ได้ยิงลิงแล้วเอามาลอกหนังกินเสียนั้น พวกลิงมันก็เห็นว่ามนุษย์นี้น่ากลัวยิ่งนัก แต่พวกที่ไม่เคยเห็นว่ามนุษย์ฆ่าพวกมัน ๆ จะไม่กลัว แต่ว่าพวกมันเห็นว่าเป็นตัวอะไรแปลกน่ากลัว นี้เป็นภาษาสัตว์ ซึ่งผู้ใดได้รู้และเข้าใจภาษาของมันแล้ว ก็จะทำให้ได้รู้อะไรแปลก ๆ ขึ้นมาก
และในบริเวณนั้นมีลิงอยู่ฝูงหนึ่งที่ไต่ยั้วเยี้ยอยู่ตามข้าง ๆ ถ้ำ บางครั้งพวกมันจะหายไป เพราะไปเที่ยวหากินตามที่ไกล ครั้นพอเวลาเย็นมันก็จะกลับมาอยู่ข้างถ้ำ ต่างก็สนทนากันทุกวัน บ้างก็ทะเลาะกัน บางทีก็สัพยอกหยอกกันตามภาษาของมัน ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า
น่าขำ บางตัวมันจะว่า มึงได้อะไรมาไม่แบ่งกู กูได้มาก็ยังแบ่งให้มึง บางทีไปเจอลูกผลไม้อะไรที่อร่อยในลูกเดียวกัน มันก็ต้องยื้อแย่งกันจนต้องกัดกัน ตัวหน้าหรือจ่าฝูงต้องมาห้าม บางทีเขาชอบพอกันระหว่างตัวเมียกับตัวผู้ มันก็ว่า ฉันชอบเธอ อะไรทำนองนั้น แต่ที่ดีที่สุดนั้นคือเขาจะมีการยำเกรงหัวหน้ากันมาก เชื่อกันจริงๆ พอหัวหน้าให้สัญญาณมันจะต้องเงียบ ให้สัญญาณหากินกันได้ ก็รีบไปหากิน ให้สัญญาณกลับก็จะกลับกันทันที
มีอยู่สี่ห้าตัวซึ่งเป็นลิงชั้นหัวหน้า พากันมานั่งอยู่บนก้อนหินก้อนหนึ่งชำเลืองคอยดูท่านอาจารย์อยู่ตลอดเวลา แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็มิได้เอาใจใส่ แล้วมันก็สนทนากันว่า ฤๅษีนี้ดีมากไม่เหมือนฤๅษีองค์ก่อนๆ ฤๅษีองค์ก่อนๆ นั้น บางทีก็ขว้างปาเรา เหมือนกับจะกินเรา และทำผิดทำเนียมของฤๅษี ไม่ทำความเพียรเหมือนฤๅษีเราองค์นี้นั่นเองถึงได้ต้องตายกันไปจนหมด เราเข้าใจว่าฤๅษีองค์นี้คงไม่ตายแน่เพราะฤๅษีองค์นี้ร่างกายท่านผ่องใสมาก
ท่านอาจารย์ท่านได้ยินพวกมันพูดกันโดยตลอด โดยที่ท่านรู้และเข้าใจภาษาสัตว์ ท่านก็นึกในใจว่า
พวกสัตว์เดียรัจฉานแท้ๆ มันก็ยังรู้อะไรๆ ดีเหมือนกัน ไม่ใช่จะมาเพียงแต่ส่งเสียงร้องกันเจี๊ยก ๆ จ๊ากๆ แต่มันก็มีความหมายเป็นอย่างยิ่ง ดูแต่เราฟังภาษาแขกภาษาจีน ภาษาฝรั่งเถอะ ถ้าเราไม่เข้าใจก็จะไม่รู้เรื่องอะไร คือไม่ผิดอะไรกับที่เราฟังอึ่งอ่างมันร้อง พวกนกหนูปูปีกมันส่งเสียงร้อง และเราก็จะไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกัน แต่ถ้าใครได้เรียนตามภาษานั้น ๆ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า เขาพูดอะไรกัน
ในการผ่องใสแห่งจิตที่ได้รับในถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ของท่านพระอาจารย์มั่น ฯ จึงเป็นที่พอใจของท่าน ที่ได้เข้าถึงธรรมอันละเอียดทั้งฌานทั้งญาณ ทำให้ท่านแน่ใจถึงความรู้ของท่านอย่างแท้จริง
ครั้นท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นี้ จวบใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว ท่านจึงได้ออกเดินธุดงค์ต่อไป ผ่านจังหวัดสระบุรี ได้ไปถึงจังหวัดลพบุรี และได้พักอยู่ที่ถ้ำสิงห์โต เขาช่องลม (ปัจจุบันนี้เรียกเขาพระงาม ) ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๕๖
ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ไปพักอยู่สถานที่นั้น เป็นที่สงบสงัดเงียบยิ่งนัก ท่านได้พักเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่นั่นหลายวัน และในขณะที่ท่านอยู่ ถ้ำเขาช่องลมนั้นท่านบำเพ็ญความเพียร หวนระลึกถึงความเป็นจริงที่ท่านได้ปรากฏแล้วให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ท่านได้ระลึกว่า
สาวกของพระพุทธเจ้า จะต้องถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับ และถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย
โดยนัยนี้ท่านก็ได้รู้ขึ้นภายในสมาธิ คำว่าถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุนั้น ได้แก่การที่จะปฏิบัติให้เป็นไปเพื่อความถูกต้อง หรือต้องการความจริงแท้ ต้องดูความจริงอันเป็นมูลเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ได้ออกบรรพชาในเบื้องต้น ซึ่งพระองค์ได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ราชบัลลังก์ พระมเหสี ราชสมบัติ แม้ที่สุดพระเกศา การเสียสละเช่นความสุขอันเป็นไปด้วยราชสมบัตินั้น พระพุทธองค์มีผู้คนคอยยกย่องสรรเสริญ คอยปฏิบัติวัฏฐาก แล้วได้เสียสละมานอนกับดินกินกับหญ้าใต้โคนต้นไม้ ถึงกับอดอาหารเป็นต้น การเสียสละเหล่านี้เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อให้ถึงซึ่งวิโมกขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากการ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย และเมื่อพระองค์จะได้ตรัสรู้ ก็ทรงนั่งสมาธิใต้ร่มไม้ อันเป็นสถานที่สงบสงัด และได้ทรงพิจารณาซึ่งความจริงคือ อริยสัจ ๔ นั้น นี้เป็นมูลเหตุอันเป็นเบื้องแรกของพระองค์
สาวกผู้ที่จะเจริญตามรอยพระยุคลบาทนั้น จำเป็นที่จะต้องระลึกถึงความเป็นจริงของพระพุทธองค์ในข้อนี้ นำมาเป็นสิ่งพิสูจน์ปฏิปทาของตนที่กำลังดำเนินอยู่ว่า ในการปฏิบัติหรือการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พวกเราได้พากันถือเอาต้นเหตุให้พึงระลึกถึงความจริงของตนที่ว่า ได้เสียสละโดยความเป็นจริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่ถือเอาความจริงตามปฏิปทาของพระพุทธองค์ในข้อนี้ ก็จะเรียกได้ว่า ไม่ถือเอาพระองค์เป็นมูลเหตุ คือบางหมู่บางเหล่าถือการปฏิบัติเพียงแต่เป็นโล่ห์บังหน้า แล้วก็มีเบื้องหลังที่ไม่มีการเสียสละ หรือทำไปอย่างมีการยุ่งยากพัวพัน จะสละก็สละไม่จริง ซึ่งบางทีแม้แต่เป็นบรรพชิต แล้วก็ยังมีจิตใจโลภโมโทสัน ไม่สละแม้แต่อารมณ์ ยังจะถือว่าข้าพเจ้ามียศถาบรรดาศักดิ์อะไรเทือกนั้น
บางทีการอยู่ป่าเอามาเพียงเพื่อเป็นเลศบางประการ ทำเป็นว่าเรานี้อยู่ป่าอยู่เขา เหมือนจะออกวิเวกให้เป็นที่บำเพ็ญความสงบ แต่กลับเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความห่วงใยอาลัย ยุ่งยากด้วยการก่อสร้าง สะสมด้วยเครื่องกังวลนานับปการ นี้ไม่ได้ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ
ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเกิดความสว่างผ่องใส อันเป็นภายในนั้น ท่านพยายามพิจารณาหาความจริง เพื่อเป็นแนวทางในอันที่จะปฏิบัติตัวของท่านให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่แท้จริง และจะได้แนะนำให้คนอื่นทำให้ถูกทางต่อไป ท่านจึงได้พิจารณาต่อไปถึงคำว่า
พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้เอาเราเป็นเนติแบบฉบับ
ท่านได้คำนึงว่า
พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติตัวของพระองค์ให้เป็นแบบอย่างจริง ๆ มิใช่เพียงทรงสอนคนอื่นแล้วพระองค์ไม่ทรงปฏิบัติ เช่น ตอนแรกหลังจากตรัสรู้แล้ว จะทรงรับข้าวมธุปายาสจาก ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ก็ทรงหาบาตรเพื่อรับ และพระองค์ก็ทรงทำพุทธกิจ
บุพพณฺเห บิณฺฑบาตญฺจ รุ่งเช้าพระองค์เสด็จไปบิณฑบาต
สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ตอนป่ายพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท คืออุบาสกอุบาสิกา
ปโทเส ภิกฺขุ โอวาทํ พอพลบค่ำพระองค์ก็ทรงประทานโอวาทแก่พระภิกษุและสามเณร
อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหานํ ตอนกลางคืนทรงแก้ปัญหาเทวดาทั้งหลาย
ปจฺจุสฺเสฺว คเตกาเล ภพฺพา ภพฺเพ วิโลกานํ ในเวลาใกล้รุ่งพระพุทธองค์ก็ทรงตรวจดูว่า สัตว์โลกจะมีผู้ใดบ้างที่มีวาสนาบารมีอันจะพึงได้รับพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงใคร่ครวญแล้วทรงทราบว่า ผู้ใดสมควรจะได้รับผลแห่งธรรม พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรดให้เขาเหล่านั้นได้รับผลแห่งธรรม
นอกจากนั้นพระองค์จะทรงปฏิบัติตามธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติ เช่น การทรงจีวร การฉันเฉพาะในบาตร แม้กระทั่งจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ก็ยังทรงอุ้มบาตรไว้ตลอดเวลา
นับแต่วันที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์จะทรงเปี่ยมพระทัยถึงความมีพระเมตตาต่อมนุษย์ทุกถ้วนหน้า ไม่เลือกชั้นวรรณะ ทรงกระทำประโยชน์ให้แก่เขาทั้งหลาย โดยมิได้คิดเพื่อจะเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเครื่องตอบแทนเลย ทรงเสียสละอย่างจริงใจแท้ แม้บางครั้งพระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อย ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างหนัก แต่พระองค์ก็ทรงกระทำอย่างที่ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยนั้นแต่ประการใด
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้พิจารณาถึงเนติแบบฉบับ รำพึงถึงความจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแล้ว ก็ได้คำนึงต่อไปอีก
การที่ให้ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบฉบับนี้ ย่อมเป็นประการสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าสาวกไม่ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างแล้ว จะเป็นเพียงอาศัยการอยู่ในพุทธศาสนา เพียงเพื่อหาความสุขอันไม่ถูกทาง เช่น ไม่มีเมตตากรุณา ไม่มีการเสียสละ แม้แต่จะปฏิบัติธรรมวินัย ถึงจะเป็นบรรพชิตแล้วก็ยังไม่ยอมเสียสละ เอาแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง เอาแต่ความเพลินเพลินในกามคุณ หาอุบายวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งความโลภ โกรธ หลง แม้แต่การเที่ยวไปบิณฑบาตก็หาว่าเสียเกียรติ หรือว่าการแสดงธรรม ก็ต้องมีกัณฑ์เทศน์เป็นเครื่องตอบแทน จะบำเพ็ญศาสนกิจ ก็ต้องหวังปัจจัยลาภ ในที่สุดก็ลืมความเป็นสมณะเสียสิ้น นี้คือไม่ถือเอาพระพุทธองค์เป็นเนติแบบฉบับ
ท่านอาจารย์มั่นฯ พยายามใคร่ครวญในข้อนี้มากที่สุด เพราะท่านมาทราบแน่แท้แก่ใจแล้วว่า การบำเพ็ญกัมมัฏฐานในสมัยนั้นได้เสื่อมลงมาก ไม่ใคร่จะตรงความจริงทั้งภายในทั้งภายนอก
ท่านมาคำนึงว่า การปฏิบัติจิตนี้จะต้องประกอบพร้อมทั้งภายในภายนอก เช่น
ภายนอก การรักษาไว้ซึ่งพระวินัยน้อยใหญ่นี้สำคัญยิ่ง ถ้าผิดพระวินัยแม้แต่อาบัตินิดเดียวก็จะทำให้จิตละเอียดไม่ได้ เช่นการปฏิบัติเรื่องของบาตร ถ้าล้างแล้วไม่เช็ดเก็บไว้ในที่สมควรก็จะเป็นอาบัติทุกกฎ หรือการฉันจุ๊บ ๆ จั๊บ ๆ เป็นอาบัติทุกกฎ อาบัติเล็กน้อยจะล่วงละเมิดไปไม่ได้เลย ต้องรักษาให้เรียบร้อยจริง ๆ
นอกจากอาบัติแล้ว ก็มี การรักษาธุดงค์ ข้อวัตรต่างๆ เช่น ฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต เป็นต้น อันเป็นการนำไปสู่การขัดเกลากิเลสหยาบ ๆ นั้น ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านพิจารณาว่าก็เป็นแบบฉบับที่พระบรมศาสดาได้กระทำเป็นแบบฉบับมาแล้ว ถ้าหากว่าผู้ต้องการความสงบ ความก้าวหน้าแห่งการบำเพ็ญจิตแล้วจะละเลยเสียไม่ได้
และอีกประการคือรักษาวัตรต่าง ๆ จากวัตรหลายประการเช่น อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร อาคันตุกวัตร เวจจกุฎีวัตร เสนาสนวัตร ภัตตาวัตร และเสขิยวัตร เหล่านี้นั้นย่อมเป็นปัจจัยแก่การปฏิบัติจิตทั้งนั้น ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติเพื่อศีลวิสุทธิ์ และจิตวิสุทธิ์
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านปรารภในใจของท่านว่า บุคคลผู้เป็นสาวกของพระพุทธองค์นี้ ถ้าไม่ถือเอาพระพุทธองค์เป็นแบบฉบับแล้วจะไม่สามารถนำหมู่คณะไปสู่ความเจริญได้ เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ทิ้งความจริงอันเป็นแบบฉบับที่ดีไว้แล้วเพื่อให้สาวกทั้งหลายได้เอาเป็นตัวอย่าง และตัวอย่างอันนี้ได้รับความเจริญยั่งยืนนานมาแล้ว เพราะเหตุแห่งแบบอย่างที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้นเอง ที่ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงถาวรเจริญมาแล้ว การนำเอาพระพุทธองค์เป็นเนติแบบฉบับจึงเป็นการนำความเจริญได้แน่แท้แก่ตนและบุคคลอื่น
ท่านได้คำนึงถึงข้อต่อไป ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้เอาเราเป็นที่พึ่งอาศัย คือว่า ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทนั้นควรจะได้รู้ข้อเท็จจริงในที่พึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า
พาหุ เว สรณํยนฺติ ปพฺพตานิ วนานิ จ อารามรุกฺขเจตยานิ มนุสฺสา ภยตชฺชิตา
เนตํ โข สรณํ เขมํ เนตํ สรณมุตฺตมํ เนตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ
โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ
ทุกขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ ทุกฺขูปสมคามินํ
เอตํ โข สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺข ปมุจฺจติ
มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากถูกภัยคุกคามแล้ว พากันไปถือภูเขา ป่า อารามและต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ ว่าเป็นที่พึ่ง
นั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม นั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันอุดม พวกเขาพากันพึ่งสิ่งเหล่านี้แล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้
ส่วนผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง มาเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ ก้าวล่วงทุกข์ด้วยมรรค ๘
นี่แหละเป็นที่พึ่งอันเกษม นี่แหละเป็นที่พึ่งอันอุดม พวกเขาอาศัยที่พึ่งนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไม่ให้ถือเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เพราะว่า
การถือเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งนั้น เป็นเรื่องงมงาย เช่น ต้นไม้ใหญ่ ตั้งศาลพระภูมิ ถือว่าผีเจ้าเข้าทรง เหล่านี้นั้นเป็นเรื่องของความไม่แน่ใจในพระองค์ ซึ่งท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้พิจารณาเห็นว่า การเชื่อเช่นนั้น จะทำให้ผิดการดำเนินสู่จุดที่หมายแห่งความจริงในพระพุทธศาสนา แม้ในการบำเพ็ญจิตในเบื้องต้นก็จะทำให้ไขว้เขว เพราะขาดองค์คุณคือศรัทธา
คนธรรมดาสามัญที่ยังไม่ได้บวชก็พอทำเนา แต่ผู้ที่บวชแล้ว เช่นพระภิกษุสงฆ์นี้ ย่อมจะต้องแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในพระพุทธองค์ จึงได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบท แต่พระภิกษุสงฆ์บางองค์กลับมาเป็นเสียเอง เช่น พาเขาไปตั้งศาลพระภูมิ หาวันตั้งศาลพระภูมิ นี้เป็นการแสดงถึงความไม่แน่ใจของท่านต่อองค์พระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมศาสดาของท่านเอง ท่านเหล่านั้นหาได้คิดไม่ว่า การกระทำเช่นนั้นคือการทรยศ อาศัยผ้ากาสาวพัสตร์ โดยการอยู่ได้ด้วยปัจจัยบริโภค ไม่อดอยากปากแห้ง แต่กลับถือเอาศาสนาคร่ำครึที่พระพุทธองค์ได้ทรงตำหนิแล้ว นำเอามาใช้ ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ออกปากว่า ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แต่เหตุไฉนเล่า จึงไปสนับสนุนการนับถือศาสนาอื่น อันที่เรียกว่าพระภูมิบ้าง อะไรอื่นบ้าง นั้นคือการทรยศต่อพระพุทธศาสนา
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านว่า ข้อนี้สำคัญ เพราะจะเป็นเบื้องต้นของการจะดำเนินไปหาที่สุดแห่งทุกข์ เพราะทุก ๆ คนที่เป็นศาสนิกชนต้องกล่าวว่า
ข้าพเจ้าถึงซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
แต่เขาไฉนจึงไปถือเอาผีป่า พระภูมิ ซึ่งมันหาตัวจริงมิได้เป็นที่พึ่ง เมื่อขั้นต้นทำไม่ได้แล้ว ต่อไปจะทำอะไรให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย ทางฝ่ายพระสงฆ์นั้นถือว่าเป็นผู้มีความเชื่อมั่นใจในพระพุทธองค์อย่างแน่นแฟ้นแล้ว จึงได้ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ออกจากความเป็นฆราวาสมาทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัตร์ จึงต้องไม่เป็นผู้ทรยศต่อองค์พระบรมศาสดา
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านว่า
คำว่าศรัทธา คือความเชื่อนี้ จึงถือว่าเป็นรากฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเช่นท่านพระอริยบุคคลชั้นต้น คือพระโสดาบัน ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธา มีข้ออันท่านพระโสดาบันละได้อันเนื่องมาจากมรรคนั้นมี ๓ ประการคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ความเห็นถือว่าเป็นตัวตน ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความลูบคลำในศีล คืองมงายในสิ่งไม่ควรจะยึดถือ เช่นนับถือภูต-ผี-พระภูมิเป็นต้น นี่เป็นสิ่งแสดงว่าการจะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยถือเอาพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง ความจริงแล้วการนับถือพระพุทธองค์นั้นก็คือต้องการให้เอาพระพุทธองค์เป็นมูลเหตุ และเป็นแบบฉบับนั้นเอง แม้ว่าเราจะยังไม่เป็นอริยโสดาก็ตาม แต่เราก็ต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นอริยศาสดาเป็นต้น ความที่เป็นบุคคลอ้างตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา พระภิกษุสามเณร แต่พากันหลงเชื่องมงาย เช่นเชื่อ ศาลพระภูมิ เชื่อผีเจ้าเข้าทรง พระภูมิเจ้าที่ อะไรอย่างนี้ จะอ้างตนว่าเป็นภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา นั้นดูเป็นการไม่สมควรเลย"
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านว่า
เราต้องการสอนคนให้เข้าถึงอริยสัจธรรม ถึงความเป็นอริยบุคคล ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้ำถึงความจริงข้อนี้ให้หนักที่สุด เพราะถ้าไม่เข้าใจถึงความจริงแห่งความเชื่อนี้แล้ว จะเป็นการกั้นหนทางที่จะเข้าสู่ความจริงเป็นอริยเสีย เราทุกคนก็พยายามอย่างยิ่งที่จะปรารถนาพระนิพพาน แม้การบำเพ็ญการกุศลต่าง ๆ ก็กล่าวกันว่า นิพพานปจโยโหตุ ขอให้เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานเถิด’ แม้ว่าเราจะพึงทราบว่าผู้ใดผู้หนึ่ง ทรงความเป็นอริยบุคคล เราก็จะให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง นี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า คุณธรรมอันสูง คือความเป็นอริยนี้ เป็นยอดปรารถนาของบรรดาพุทธศาสนิกชน
ก็แต่ว่าเบื้องต้นในการดำเนินไปสู่ความเป็นอริยนี้ จำเป็นที่จะต้องมองดูความจริงข้อนี้คือ
ให้ถือเอาเราเป็นที่พึ่งอาศัย” อันเป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เน้นหนักในข้อที่ว่า ต้องไม่ถือสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งท่านได้คำนึงความข้อนี้ว่า ต้องให้ผู้ที่จะดำเนินจิตตามเรา เราจะต้องแนะนำให้เห็นจริงในข้อนี้เสียก่อน จึงจะสอบความจริงในชั้นต่อไป
เป็นอันได้ความละเอียดแน่ชัด พร้อมกับความสว่างไสวภายในของท่าน ในข้อความ ๓ ประการ แห่งพระดำรัสของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ
ให้ถือเราเป็นมูลเหตุ   ให้ถือเราเป็นเนติแบบฉบับ   ให้ถือเราเป็นที่พึ่งอาศัย
ก็เมื่อรุ่งเช้าวันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันปลอดโปร่งที่สุดแล้ว ท่านคงบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตามปกติ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านนั่งกำหนดพิจารณาความละเอียดอยู่ในถ้ำสิงห์โตนั้น ได้ระลึกไปถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) ณ ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ที่วัดนั้น
ปรากฏว่าท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง บนธรรมาสน์ ในเวลานั้นเป็นเวลาราว ๒๓.๐๐ น.เศษ นั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และกำลังพิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาท ว่า
อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เมื่อเป็นชาติ ก็ต้องมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ และการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ นี้เหตุมาจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเมื่อยังมีอวิชชาอยู่ตราบใด ก็จะต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตราบนั้น
ท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านก็ได้คำนึงถึงพระพุทธเจ้า ที่ทรงพิจารณาถึง ปฏิจจสมุปบาท ว่า พระองค์ท่านได้ทวนกระแสกลับ ดูตัวอวิชชา
ท่านจึงได้เริ่มทวนกระแสว่า เพราะเหตุใดท่านจึงต้องแก่ ตาย โศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้รำพัน คับแค้นแน่นใจ เพราะความพลัดพรากจากของชอบใจ พลาดหวัง ท่านได้พิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะได้เกิดมาเป็นอัตภาพแห่งมนุษย์ จะต้องประสบความเป็นเช่นนี้ทุกคน อัตภาพคือความเกิดนั้นมาจากอะไร ก็มาจากภพ
คำว่าภพ ก็คือสัตว์ทั้งหลายที่พึงอาศัยอยู่ ขณะนี้เรากำลังอาศัยอยู่ในภพ ซึ่งมันเป็นผลมาจากอะไร ก็เป็นผลมาจากอุปาทาน คือความเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะจิตเศร้าหมองติดพันอยู่กับสิ่งใด ด้วยเหตุแห่งการยึดมั่น จิตก็จะไปก่อกำเนิด ณ ที่นั้น เช่นบุคคลที่ทำจิตไปในทางฌาน เพ่งอยู่ในความละเอียดคือไม่มีรูป ก็จะไปเกิดในภพเป็นอรูปภพ เพ่งอยู่ในความละเอียดในรูป ก็จะไปเกิดในภพคือรูปภพ และถ้าได้ฝึกจิตเป็นธรรมดา ก็จะไปเกิดในกามภพ เช่น มนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน เปรต นรก เป็นต้น สุดแล้วแต่จิต ไปประหวัดกับอะไร ก็จะไปถือกำเนิดในสิ่งนั้น สุดแล้วแต่กรรมของคนที่จะประหวัดเห็นดีไป
ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านก็พิจารณาไปก็ได้ถอยกลับมาจากที่ว่า ก่อนอุปาทานนี้มาจากอะไร คือมาจากตัณหา คือความทะเยอทะยาน อันความทะเยอทะยานนี้ คือกามตัณหา
ความทะเยอทะยานในกามคุณ คือความใคร่ในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น
ความทะเยอทะยานในภวะ คือความมีความเป็น ต้องการอยาก รูปสวยรวยทรัพย์ ต้องการอยากเป็นคุณหญิงคุณนาย ต้องการอยากมียศถาบรรดาศักดิ์
ทะเยอทะยานในวิภวะ คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็น คือไม่อยากมีความทุกข์ ความอดอยากปากแห้ง ไม่อยากเสื่อมจากยศถาบรรดาศักดิ์ที่ตนกำลังเฟื่องฟูอยู่
ความทะเยอทะยานเหล่านี้ ก็มาจากเวทนา คือความเสวยทุกข์ เสวยสุข ทุกข์ที่เกิดเป็นมีขึ้นมาแล้ว และได้รับผลอยู่ทุกกาลเวลาแห่งความเกิดขึ้น ได้รับอันเนื่องมาจากความได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ขณะที่เสวยทุกข์นั้น ก็ต้องการแต่ความสุขเป็นต้น แต่ผลหาได้มีแต่ความสุขไม่ ต้องมีทุกข์ด้วย
ความเสวยสุขเสวยทุกข์นี้เนื่องมาจากอายตนะ คือมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เช่นมีตาไปเห็นรูป ก็เกิดความสุขทุกข์ หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจกระทบอารมณ์ เกิดความสุขทุกข์ ก็นับเนื่องมาจากนามรูป เพราะนามกับรูปที่ก่อกำเนิด เกิดขึ้นมาเป็นคน คนเรานี้มีนามกับรูปจึงเป็นตัวขึ้นมาได้
ท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านได้พิจารณาถอยร่นปฏิจสมุปบาท มาจนถึงรูปนามนี้แล้ว ท่านเกิดความสงสัยว่า
ถอยจากรูปนามยังมีวิญญาณและสังขาร แล้วจึงขึ้นต้นด้วยอวิชชา และวิญญาณ สังขารนี้ก็มีแล้วในนามรูป เหตุไฉน จึงมามีสังขารและวิญญาณ โดยเฉพาะของตัวมันอีก
เมื่อท่านสงลัยแล้วก็ได้เลิกพิจารณาในวันนั้น
อยู่มาวันหนึ่งท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้มาเที่ยวที่เขาพระงาม ลพบุรี เพราะโดยปรกติแล้วท่านจะไปที่นี่บ่อยๆ ซึ่งท่านชอบสถานที่นี้มาก จนภายหลังท่านได้สร้างพระใหญ่ หน้าตักกว้างถึง ๑๒ วากว่า และวันนั้นเป็นวันที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้มาที่เขาพระงามตามปกติ ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้นเหมือนกัน เมื่อได้ทราบว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ มา ท่านก็ไปนมัสการและได้สนทนาปราศรัยตามปกติ เมื่อได้สนทนาเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้ถามขึ้นว่า
เมื่อคืนวันที่ ๑๐ ค่ำที่แล้ว คือเดือน ๘ นั้น ท่านเจ้าคุณนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. เศษ ได้พิจารณาถึงปฏิจสมุปบาท หวนกลับไปกลับมา แล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาตอนหนึ่งใช่ไหมครับ
ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เมื่อได้ฟังคำถามเช่นนั้นถึงกับตกตะลึง ไม่นึกเลยว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านจะมาล่วงรู้ถึงการพิจารณาของเราที่ได้พิจารณาด้วยตัวเองโดยมิได้บอกให้ใครรู้เลย
ท่านจ้าคุณอุบาลีฯ จึงพูดถามอาจารย์มั่น ฯ ว่า
ก็ท่านอาจารย์ว่าอย่างไรเล่า ที่ผมสงสัย อธิบายให้ผมฟังบ้างได้ไหม ?”
ท่านอาจารย์มั่นจึงตอบว่า ได้ แล้วท่านก็ได้อธิบายถวายท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ว่า
ปฏิจสมุปบาท ข้อที่ว่าวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปนั้นแล ในนามรูปก็มีทั้งวิญญาณและสังขาร ซึ่งมันจะมีการแตกต่างกันดังนี้ คือ
สังขาร วิญญาณ ที่ต่อจากอวิชานั้น เรียกว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรม แตกต่างกับสังขาร-วิญญาณ-ของนามรูป
สังขารวิญญาณของนามรูปนั้น เป็นสังขารวิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่ คือว่า สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นภาวะที่ไม่เป็นอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของกรรม มี (อวิชชา) เป็นหางเรือใหญ่ อาศัยสังขารการปรุงแต่ง อาศัย วิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรับปรุงภพ อันจะเป็นแนวทางแห่งการก่อให้เกิด ซึ่งในขณะนั้นจิตเป็นประธาน อาศัยสังขารปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึก ในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขารกรรม วิญญาณกรรม ทั้ง ๒ นั้นสืบเนื่องมาจากจิต ณ ที่นี้จึงแล้วแต่กรรมจะจำแนกไป คือให้สังขารและวิญญาณนี้เห็นดีไป เมื่อเห็นดีไปอย่างไร จิตก็จะไปตั้งก่อให้เกิดไปตามนั้นเพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้สึกมันละเอียด และพึงจะรู้จริงได้ต่อเมื่อจิตได้ดำเนินตามอริยสัจจ และเป็นวิปัสสนาอันแก่กล้าแล้วนั้นทีเดียว
ที่กระผมได้อธิบายมานี้เป็นสักแต่แนวทางเท่านั้น ตามความเป็นจริงต้องมีตาภายในคือกระแสจิต กระแสธรรมเท่านั้น ที่จะเขาไปรู้จริงได้
เมื่อท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ฟังดังนั้นก็ถึงกับอุทานขึ้นว่า
อ้อ เราเข้าใจแล้ว ท่านอาจารย์รู้ใจผมได้ดีมาก และถูกต้องทุกประการ และแก้สงสัยให้ผมได้ราวกับปลิดทิ้ง ผมพยายามพิจารณาเรื่องนี้มานาน แต่ยังไม่แจ่มแจ้ง พึ่งจะแจ่มแจ้งในเวลานี้เอง
หลังจากนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้เดินทางกลับไปกรุงเทพฯ อยู่ที่วัดบรมนิวาสนั้น ท่านเจ้าคุณก็ได้ประกาศความดีของท่านอาจารย์มั่นฯ ให้แก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลายฟังว่า
ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่มีความสามารถมากที่สุดในยุคนี้ ถ้าใครต้องการจะศึกษาธรรมปฏิบัติแล้ว จงไปศึกษากับท่านอาจารย์มั่น ฯ เถิด เธอทั้งหลายจะได้ความรู้จากธรรมปฏิบัติอันลึกซึ้งจากท่านอาจารย์มั่น ฯ
ท่านเจ้าคุณอุบาลีได้กล่าวเช่นนี้กับพระภิกษุสงฆ์สามเณรทั้งหลายอยู่เสมอๆ ทำให้พระภิกษุสามเณรผู้ใคร่การปฏิบัติธรรม สนใจในท่านอาจารย์มั่นฯ มากขึ้น ต่างก็ต้องการจะไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน
ในปีนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านก็ได้รับการขอร้องจากท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ให้จำพรรษาที่กรุงเทพ ฯ ท่านได้เลือกเอาวัดสระปทุมเป็นที่จำพรรษา เพราะเป็นวัดที่สงบสงัดดี
ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระปทุม ท่านก็พยายามมาที่วัดบรมนิวาสทุกๆ วันธรรมสวนะ ฟังท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เทศน์ พอหลังจากฟังเทศน์แล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็จะให้เข้าไปหาท่านอยู่  ๒ ต่อ ๒ และขอศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่นฯ ตลอดระยะเวลาพรรษา ในตอนนี้ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่า
วัดสระปทุมมีอาจารย์สอนกัมมัฏฐานอยู่องค์หนึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมาก ท่านสอบแบบอานาปานสติ คือให้ตั้งใจอยู่ที่ลมแล้วก็กำหนดตั้งไว้ เช่นครั้งแรกให้ตั้งอยู่ที่กระหม่อม เมื่อดีแล้วก็ลดลงมาที่หน้าผาก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่ปลายจมูก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่หน้าอก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่สะดือ กำหนดลม พร้อมกับบริกรรมว่า พุทโธๆ ให้นับพุทธ ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐-๖๐-๗๐-๘๐-๙๐-๑๐๐ แล้วทวนกลับ ๑๐๐-๙๐-๘๐-๗๐-๖๐-๕๐-๔๐-๓๐-๒๐-๑๐-๔-๓-๒-๑ ทวนไปทวนมา ท่านได้สังเกตดู คนบางคนได้รับความเย็นใจมากพอสมควร นับว่าเป็นทางที่ให้เกิดความสงบได้
แต่ท่านเล่าว่ามันเป็นการเกินความจำเป็นที่จะกำหนดเช่นนั้น เพราะเมื่อเรามีความสงบแล้วก็ควรปล่อย แล้วรักษาแต่สติให้คงอยู่ ไม่ต้องนับ แต่เมื่อท่านสังเกตดูเหตุการณ์แล้ว ท่านก็ไม่ว่าหรือตำหนิอะไรในที่นั้น แม้เขาจะทำอยู่เช่นนั้นก็ไม่เห็นบาปกรรมอะไร เป็นกุศลแก่เขาอย่างมากมายอยู่แล้ว เมื่อผู้ใดบำเพ็ญภาวนาก็เป็นเหตุ เป็นบ่อเกิดกุศลผลบุญอย่างที่บุคคลจะพึงกระทำได้ยาก
การที่ท่านเดินไปวัดบรมนิวาสทุกวันพระนั้น แม้เส้นทางจากวัดสระปทุมดูเหมือนก็จะไกลมิใช่น้อยแต่กลับเป็นใกล้ เพราะขณะที่เดินไป ท่านภาวนาไปด้วย
ในวันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินไปนั้น กำหนดจิตสงบลง ปรากฏว่าเหมือนกับแผ่นดินยุบลงไป แลดูไปทุกอย่างที่ไม่มีอะไรที่จะถือได้ว่าตัวตน เดินเหมือนกับชั่วอึดใจเดียวก็ถึงวัดบรมนิวาส
ในวันนั้นเป็นเวลากลางวัน ขณะที่ท่านเดินออกจากวัดบรมนิวาสไปถึงถนนหลวง ขณะที่กำลังเดินไปอยู่นั้น ท่านเล่าว่า เวลาจิตกำลังดูดดื่มในอรรถปฏิบัติมาก ทั้งเดินไปทั้งเจริญอสุภกัมมัฏฐานไปเรื่อย ๆ ขณะนั้นได้มองเห็นผู้หญิงแขกคนหนึ่งกำลังเดินอยู่ข้างหน้า ประเดี๋ยวเดียวผู้หญิงแขกคนนั้น ปรากฏว่ามีร่างกายอ้วนขึ้นทุกที นึกแปลกใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ก็ได้มองดูไปเรื่อย ๆ หนักเข้า มันมิใช่อ้วนเสียแล้วนั้นคือทั้งตัวกำลังพองเน่าขึ้นอืด อันจะให้เป็นของน่าเกลียดนั้นเอง พอมันขึ้นเต็มที่ของมันแล้วก็เปื่อยเน่า มีน้ำเลือดและน้ำหนองไหลเยิ้มไปทั้งตัว แล้วมีพวกหมู่หนอนชอนไชและแมลงวันไต่ตอมไปมา น่าเกลียดจริง ๆ ในที่สุดเลือดเนื้อและหนังเอ็นก็ได้เปื่อยเน่าย่อยยับไปหมด เหลือแต่โครงกระดูกติดต่อกันไว้เท่านั้น แล้วก็ได้เห็นโครงกระดูกนั้นเดินไปได้ จะปรากฏเป็นชายหรือหญิงก็หาไม่ จึงได้เกิดความอัศจรรย์เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ก็เพราะท่านมิได้ตั้งใจที่จะพิจารณาให้ร่างกายนั้นเป็นอสุภอะไร เพียงเพียงมองดูธรรมดา ๆ เท่านั้นแต่มันก็สามารถเป็นไปได้ จึงได้นึกถึงประวัติของพระเถระองค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล นัยว่าท่านกำหนดเอากายคตาสติเป็นอารมณ์เหมือนกัน
วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินอยู่นั้น สามีภรรยาคู่หนึ่งเกิดทะเลาะกัน ฝ่ายภรรยาก็หลบหน้าสามีไป ได้เดินทางผ่านมาพบกับพระเถระองค์นั้นเข้า เบื้องต้นหญิงคนนั้นก็ได้แสดงอาการยิ้มแย้มไปบ้าง พระเถระเมื่อมองไปเห็นฟันของหญิงคนนั้นเข้าแล้ว ได้ปรากฏเห็นเป็นร่างกระดูกไปทั้งตัว แล้วก็เห็นเป็นร่างกระดูกเดินได้ จึงมิได้รู้จักว่าคน ๆ นั้นเป็นหญิงหรือชาย
ครั้นเมื่อสามีเขาตามมาพบพระเถระแล้วถามท่านว่า ได้พบผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาทางนี้หรือไม่ ท่านจึงบอกเขาไปว่าได้เห็นแต่ร่างกระดูกร่างหนึ่งเดินผ่านไปแต่ไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือชาย
ตั้งแต่วันนั้นต่อมาท่านจึงได้รู้เรื่องว่าการเจริญอสุภะ เมื่อเป็นไปแก่กล้าแล้ว สามารถเห็นเป็นอสุภะไปได้ทั้งนอกและใน จึงได้หมดความสงสัยในเรื่องนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ท่านอาจารย์มั่นฯท่านเล่าให้ฟังว่า
ตามข้างทางจากวัดบรมนิวาสไปวัดสระปทุมในสมัยนั้น บนทุ่งนาบ้าง เป็นสวนบ้าง แม้แต่ที่วัดบรมนิวาสเอง ก็มีแต่หนามหวายเกิดอยู่เต็มบริเวณ
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาที่กรุงเทพฯ ในปีนั้นแล้ว ท่านก็พิจารณาภายในพรรษานั้นว่า เราควรจะได้แนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่เราจะได้รู้ ได้เห็นมา ซึ่งเป็นธรรมที่ยากนักจะรู้ได้ เราอุตส่าห์พยายามมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี ควรจะได้แนะนำบรรดาผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติให้ได้รู้และจะได้แนะนำกันต่อ ๆไป
ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ได้ลาท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กลับไปจังหวัดอุบล ฯ จำพรรษาที่วัดบูรพา ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น ท่านมีพรรษาได้ ๒๕ พรรษา ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น ท่านก็พิจารณาว่า ใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน
ในขณะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นครูสอนนักเรียนอยู่เหมือนกับครูอื่น ๆ เป็นครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ ในวันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว ท่านก็ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพา ขณะนั้นเป็นเวลา ๑ ทุ่มแล้ว เมื่อเข้าไปเห็นท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเดินจงกรมอยู่ ท่านก็รออยู่ครู่ใหญ่ จนท่านอาจารย์เลิกจากการเดินจงกรม เหลือบไปเห็นท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง ท่านจึงได้เรียกและพากันขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากท่านอาจารย์สิงห์กราบแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้พูดขึ้นว่า
เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน
เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เพราะท่านได้ทราบจิตใจของท่านอาจารย์สิงห์มาก่อน เนื่องจากท่านอาจารย์ได้ตั้งใจมาหลายเวลาแล้วที่จะขอมาพบกับท่าน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย พอท่านอาจารย์สิงห์ฯ ได้ฟังเช่นนั้นก็รีบตอบท่านไว้ว่า
กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว
กล่าวจบท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้อธิบายให้ฟังว่า
การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้นจักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือพิจารณา ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เป็นเบื้องแรกเพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติอริยสัจจธรรม ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เมื่ออธิบายไปพอสมควร ท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นผู้นำนั่งสมาธิในตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบ แล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันที เป็นการอัศจรรย์ยิ่ง ภายหลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณาจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับไป
จากนั้นมาท่านก็พยายามนั่งสมาธิทุกวัน จนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ไปสอนนักเรียนตามปรกติ ซึ่งเด็กนักเรียนในสมัยนั้น เรียนรวมกันทั้งชายและหญิง และอายุการเรียนก็มาก ต้องเรียนถึงอายุ ๑๘ ปี เป็นการบังคับให้เรียนจบ ป. ๔
ขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียน มองดูเด็กนักเรียนเห็นแต่โครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด ไม่มีหนังหุ้มอยู่เลยสักคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ ๓๘ คนได้มองเห็นเช่นนั้นไปหมดทุกคนเลย แม้ท่านจะพยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น ที่สุดก็เกิดความสังเวชใจขึ้นแก่ท่านเป็นอย่างมาก แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง. จึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์นัก เพราะธรรมดาปฏิภาคนิมิตต้องเกิดในขณะหลับตาอยู่ในฌานจริง ๆ แต่ท่านกลับเห็นทั้งหลับคาและลืมตา อาการที่ท่านเห็นเป็นอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน จนนักเรียนพากันสงสัยว่า ทำไมครูจึงนั่งนิ่งอยู่เช่นนั้น ทุกคนเงียบกริบ เวลาได้ล่วงไปนานโขทีเดียว ตาของท่านจึงค่อยปรากฏเห็นร่างของเด็ก นักเรียนในชั้นเหล่านั้นมีเนื้อหนังขึ้นจนปรากฏเป็นปรกติ หลังจากนั้นท่านก็พูดกับเด็กนักเรียนทั้งหลายเป็นการอำลาว่า
 นักเรียนทุกคน บัดนี้ครูจะได้ขอลาออกจากความเป็นครูตั้งแต่บัดนี้แล้ว เนื่องจากครูได้เกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงเสียแล้ว
เมื่อได้ล่ำลาศิษย์ของท่านเสร็จ ท่านก็จัดกลด อัฐบริขารของพระธุดงค์ออกจากวัดเดิมที่ท่านอยู่ ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมให้ยิ่ง จนกระทั่งได้เห็นอรรถธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
ในปีนี้เองท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้คิดถึงพระกรรมวาจาจารย์ของท่านคือพระครูสีทา ชยเสโน เพราะหลังจากท่านได้พบกับความจริงแห่งการปฏิบัติแล้วนั้น ท่านใคร่จะให้อาจารย์ของท่านได้รับแสงสว่างแห่งธรรมนี้บ้าง ในวันหนึ่ง ท่านจึงได้เข้าไปนมัสการที่วัด และพูดขอโอกาสที่จะเล่าความจริงแห่งการปฏิบัติธรรมถวาย เมื่อท่านพระครูให้โอกาสท่านเล่าถวายแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้เริ่มเล่าความจริงที่ท่านได้ประสบมา ในขณะที่ท่านบำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่ที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกสาริกานั้นว่า
การปฏิบัตินี้เป็นทางที่จะเห็นทางพาให้พ้นทุกข์ คือมรรค ๘
มรรค ๘ ข้อต้นนั้น ได้แก่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นชอบ เห็นอะไร เห็นอริยสัจ ๔
อริยสัจ ๔ คืออะไร คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
มรรคคือ มรรค ๘ ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติสัมมาทิฏฐิข้อเดียว จึงเท่ากับปฏิบัติทั้งหมด ๘ ทุกข์คืออะไร คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครคือผู้เกิดผู้ตาย ร่างกายของเรานี้ ฉะนั้นร่างกายของเรานี้จึงเป็นตัวทุกข์ เพราะจิตเข้าไปยึดมั่น
การบำเพ็ญจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์ ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิดไม่พ้นทุกข์ ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์ คือต้องใช้กระแสจิตที่เป็นกำลังอันเกิดจากความสงบนั้นมาพิจารณา เพราะกระแสจิตนี้ได้รับการอบรมจากสมาธิแล้วเป็นกำลังมหาศาล ซึ่งไม่ควรนำไปใช้ทางอื่นเสีย ควรใช้พิจารณาตัวทุกข์ คือร่างกายนี้ให้เห็นชัดเจนจนกระทั่งเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย เจริญให้มาก กระทำให้มาก ญาณเกิดขึ้นจนกว่าจะแก่รอบ
เมื่อท่านพระครูได้ฟังแล้ว ท่านก็เกิดความเลื่อมใสว่า
ธรรมเช่นนี้ แม้เราที่ได้เรียนมาแล้วแต่ไม่เข้าใจ เพราะปริยัตินั้นเพียงแต่เรียนพอเข้าใจ แต่ไม่รู้วิธีการที่ใช้ คราวนี้รู้วิธีการที่จะทำอะไรกับสิ่งนั้นแล้ว เอาละเราขอขอบใจเธอมาก
ท่านอาจารย์มั่นฯ เมื่อได้สนทนากับท่านอาจารย์ของท่านพอสมควรแล้วก็ลากลับไป
เมื่อท่านพระครูได้บำเพ็ญกัมมัฏฐาน ตามแนวของท่านอาจารย์มั่นฯ มาเป็นเวลานาน ครั้นแล้ววันหนึ่งก็เกิดความอัศจรรย์ขึ้น ซึ่งสามารถพิจารณาเห็นกายและเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย และสามารถทวนกระแสจิต เห็นตัวผู้รู้ผู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว สิ้นกังขาความสงสัยในใจซึ่งสัตถุศาสนา จึงได้ให้พระไปนิมนต์พระอาจารย์มั่นฯ มาพบและเล่าให้ฟัง
ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ว่า ทำถูกแล้ว ต่อไปนี้ก็ขอให้เจริญให้มาก เมื่อพอเพียงแก่ความต้องการแล้วก็จะพึงรู้เอง
เมื่อท่านพระครู ฯ ได้ให้ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้รู้เห็นเป็นพยานในการเห็นธรรมในกาลนั้นแล้วท่านได้รำพึงว่า
ศิษย์ของเราองค์นี้นับว่าเห็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีมากเหลือเกิน เพราะเมื่อได้รู้ได้เห็นธรรมอันแท้จริงแล้วก็ไม่ลืมครูบาอาจารย์ อุตส่าห์มาแนะนำให้เราได้รู้ได้เห็น และเป็นการถูกต้องแม้เราเป็นพระผู้เฒ่า เป็นถึงอาจารย์ถ้าจะพึงมัวถือแต่มานะทิฏฐิก็คงไม่สามารถฟังธรรมจากศิษย์ที่มีความสามารถในธรรมได้ แต่ก็ดีที่มีศิษย์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เป็นประโยชน์แก่ชนบทเป็นอันมาก อันว่าศิษย์นั้นถ้าดี ผู้เป็นครูเป็นอาจารย์ก็พลอยได้รับเกียรติและชื่อเสียงตามไปด้วย นี่ก็เป็นเช่นนั้น
ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมโดยทั่วไป สุดแล้วแต่ผู้ใดจะมีความสามารถ เมื่อผู้มีความสามารถมากก็แนะนำบอกกล่าวแก่ผู้มีความสามารถน้อย ก็จะทำให้สัตถุศาสนากว้างขวางออกไป มิใช่ว่าใครจะว่าเราใหญ่เราโต เป็นอาจารย์เป็นอุปัชฌาย์ เรามียศถาบรรดาศักดิ์แล้วนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องกีดขวางการที่จะศึกษาหาธรรมอันยิ่งให้ตน นี่เป็นทางเสื่อมเสียแก่ตน และผู้อื่นอย่างใหญ่หลวง แต่เราเองมิได้คิดเช่นนั้น เราได้ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญสมณธรรมตามที่ศิษย์ของเราแนะนำให้จนเกิดผล และเราเองบัดนี้ก็จะสามารถสอนใครต่อใครให้ดำเนินตามแนวนี้ อันเป็นทางถูกต้องแก้ความสงสัยได้
ขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นฯ เห็นท่านพระครูฯ นั่งนิ่งเฉยอยู่นาน ท่านก็เลยอำลากลับ
และในปีนี้เองท่านก็ได้พบโยมมารดาของท่าน ซึ่งท่านได้ตั้งใจไว้ว่าท่านจะโปรดโยมด้วยธรรมทั้งหลายที่รู้มาแล้ว ท่านจึงเดินทางไปพบกับโยมที่บ้านตำบลบ้านบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลฯ
เมื่อโยมได้เห็นท่านก็มีความดีอกดีใจมาก เพราะท่านได้จากไปเสียนาน เมื่อท่านได้ปราศรัยเล่าถึงการเดินทางธุดงค์ ทั้งในและต่างประเทศตลอดจนได้แสงสว่างแห่งธรรมได้แก่โยมฟัง จนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านก็ย้อนมาพูดถึงการปฏิบัติ โดยขอร้องให้โยมพยายามปฏิบัติจิต อันเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ ทางโยมมารดาก็ตกลงที่จะปฏิบัติตามที่ได้แนะให้
นับแต่ที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้แนะนำให้แล้ว โยมมารดาก็ได้มีความสนใจเป็นกรณีพิเศษ ได้ทำตามคำแนะนำทุกประการ และจิตก็เป็นไปได้ตามจริงที่เกิดขึ้น ได้รับความเย็นใจมีศรัทธาแก่กล้า ลาลูกหลานออกบวชเป็นชี โดยมีท่านอาจารย์เสาร์บวชให้
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่า
โยมมีความเพียรมาก แม้ว่าจะแก่แล้วก็ตาม อธิษฐานนอนตะแคงข้างขวาตลอดชีวิต มีการเดินธุดงค์ไปในที่กันดารเช่นเดียวกับพระสงฆ์ รับประทานอาหารเพียงมื้อเดียวตลอดชีวิต มีความเพียรมั่นคงไม่ท้อถอย แม้แต่ท่านอาจารย์มั่น ฯ เองก็ชมว่ามารดาของท่านมีความเพียรแก่กล้า
หลังจากที่โยมได้บำเพ็ญกัมมัฏฐานตามคำแนะนำของท่านอาจารย์มั่นฯ มาหลายปี ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ทราบว่า อินทรีย์ของการอบรมจิตได้แก่กล้าแล้ว ท่านได้แนะนำวิธีสุดท้ายคือ
การบำเพ็ญวิปัสสนาญาณให้เกิดความแก่รอบของญาณโดยอุบาย ซึ่งท่านได้ยกตัวอย่างของ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เมื่ออินทรีย์แก่กล้าแล้วพระพุทธองค์ได้ทรงให้ปัญจวัคคีย์ พิจารณา รูป เวทนา เป็นต้น โดยปัญญาตามความเป็นจริง ปัญญาในที่นี้ได้แก่ ญาณ หรือความรู้อันเกิดจากกระแสธรรมอันยิ่ง
โยมมารดาของท่านได้รับการอบรมมากแล้ว ก็พิจารณาตามนั้น จนเป็นที่พอแก่ความต้องการ โดยการเจริญให้มากกระทำให้มาก มีความรู้ความสามารถทวนกระแสจิตเข้าถึงซึ่งฐิติภูตัง และเจริญต่อไปจนเป็นการพอโดยการอบรมเป็นอินทรีย์ บังเกิดความรู้แจ่มแจ้ง ตัดความสงสัยแล้วโดยสิ้นเชิง และได้ออกอุทานต่อหน้าพระอาจารย์มั่นฯ ว่า
เราหายสงสัยแล้ว เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว
จึงนับว่าเป็นที่พอใจของท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นอย่างยิ่ง แล้วท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้บอกแก่โยมมารดาของท่านว่า
บัดนี้อาตมาภาพได้ทดแทนบุญคุณของคุณโยมหมดแล้ว เป็นการทดแทนที่ได้สิ้นสุดลงเป็นการสุดท้าย
จากนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้พยากรณ์มารดาของท่านกับพระบางองค์ว่า
มารดาของท่านได้เป็นอริยบุคคลชั้นที่ ๓ ( ตามคำบอกเล่าของท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ) หลังจากนั้น เมื่อสังขารของโยมแก่หง่อมแล้ว ความชราเข้าครอบงำ ลูกหลานขอให้รับประทานอาหารในตอนเย็นก็ไม่ยอม โยมมารดาของท่านพูดว่า เราต้องมีศีล ๘ เป็นวิรัติตลอดชีวิตของเรา เมื่อถึงกาลที่โยมมารดาของท่านจะสิ้นชีวิต ท่านก็ได้บอกถึงวัน เดือน ปี เวลาบ่าย ๓ โมงเย็นว่าจะถึงแก่กรรม เมื่อถึงกาลนั้นก็ได้ถึงแก่กรรมตามที่พูดไว้ด้วยความสงบจริง ๆ ในตอนสุดท้ายเมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ทราบวันเวลาแล้วท่านก็ได้ไปทำฌาปนกิจศพมารดาของท่านด้วยตัวท่านเอง
ส่วน ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งได้พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ในเมืองอุบลราชธานี ได้ออกจากการเป็นครูแล้ว เพราะผลแห่งการปฏิบัติธรรมที่ได้รับการแนะนำจากท่านอาจารย์มั่นฯ ซึ่งปรากฏว่าได้รับผลเป็นที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง
ในระหว่างเดือนเดียวกันนั้น พระปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของท่านก็พลอยได้ไปศึกษาด้วย และได้เกิดความเลื่อมใสในอุบายทางด้านการปฏิบัติพอสมควร ท่านอาจารย์สิงห์ได้ตกลงใจอย่างแน่วแน่ ในการเปลี่ยนจากพระปริยัติเป็นพระธุดงค์เพื่อติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ต่อไป ส่วนพระปิ่นเป็นผู้น้องชายขอลาไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ โดยปฏิญาณว่าจะขอศึกษาสัก ๕-๖ ปี แล้วจึงจะลาออกปฏิบัติตามภายหลัง เมื่อท่านพักศึกษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ ครบกำหนด ๕ ปี และสอบได้เปรียญ ๕ ประโยคแล้ว ก็ได้ออกไปปฏิบัติตามคำปฏิญาณของของท่านจริงๆ โดยติดตามท่านอาจารย์ไปทุกหนทุกแห่ง ตามป่าเขาอันเป็นสถานที่วิเวก
ในสมัยนั้นพระเปรียญที่ออกเที่ยววิเวกธุดงค์กัมมัฏฐาน ท่านนับว่าเป็นองค์แรก ซึ่งแต่กาลก่อนนานมาแล้วไม่เคยมีปรากฏเลย นับเป็นศุภนิมิตที่ดีอย่างยิ่ง เมื่อท่านออกธุดงค์คราวนี้ ท่านก็ได้นามว่า พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ขณะนั้นท่านมีอายุ ๓๐ ปี พรรษาที่ ๘
ในคราวเดียวกันกับที่ท่านออกธุดงค์ในคราวนั้น มีพระที่ออกธุดงค์ไป เพื่อจะศึกษากับท่านอาจารย์มั่นฯ ด้วยกัน ๓ องค์เท่านั้น คือ
. พระอาจารย์คำพวย
. พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี
๓. พระอาจารย์ทอน บ้านหัววัว อ.ลุมพุก จ.อุบลฯ


ตอน ๓
พระหลวงปู่มั่นบูชาคุณพระอาจารย์เสาร์
พ.ศ. ๒๔๕๙
ถ้ำภูผากูด กิ่งคำชะอี จังหวัดนครพนม
เมื่อออกพรรษา ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้กราบลาพระกรรมวาจาจารย์ เพื่อไปติดตามพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด เมื่อทราบแน่แล้วท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้เดินโดยเท้าเช่นพระธุดงค์ทั้งหลาย ท่านเล่าว่า ทางรถยนต์ไม่มีรถยนต์วิ่ง นับเป็นเวลาเดือน ๆ ก็ไม่เห็นสักคันหนึ่ง ตามทางที่ท่านไปก็เป็นดงดิบ ล้วนแต่ต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง ต้นประดู่ ต้นตะแบก และสารพัดไม้นั้นเป็นไม้ใหญ่ บางต้น ๙ อ้อม ๑๐ อ้อม แลดูไม่เห็นพระอาทิตย์ทีเดียว เป็นป่าเปลี่ยวจริงๆ ขณะที่เดินธุดงค์เห็นว่าที่ไหนเหมาะ ก็แวะพักทำความเพียรกันเป็นเวลา ๕ วัน หรือ ๗ วัน
ขณะที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ กำลังเดินธุดงค์ระหว่างทางยังไม่ถึงถ้ำภูผากูดนั้น ท่านได้คิดถึงอาจารย์ของท่านมากและก็วันหนึ่งหลังจาการพักผ่อนการเดินทาง ซึ่งเร่งเดินเป็นวัน ๆ มาแล้วอย่างเหน็ดเหนื่อย ท่านได้พิจารณาถึงท่านอาจารย์เสาร์ที่เป็นอาจารย์ของท่าน และได้ระลึกถึงที่ท่านได้ทราบภายในญาณเมื่อคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกาว่า ท่านอาจารย์ของท่านปรารถนาปัจเจกโพธิ
ถ้าหากว่าท่านยังมีจิตกังวลในการปรารถนาเช่นนั้น การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ก็จะสำเร็จไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเราเหมือนกัน เพื่อความปรารถนาพระโพธิญาณยังฝังอยู่ในจิต เราก็ไม่สามารถดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์ เพื่อความหมดจดจากกิเลสได้ ถ้าเราไปพบท่านอาจารย์ของเรา ๆ ก็จะต้องแนะนำให้ท่านเลิกจากการปรารถนาเช่นนั้นเสีย จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่หนอ
นี้เป็นการรำพึงภายในการเป็นสมาธิละเอียดของท่านอาจารย์มั่นฯ แต่เมื่อท่านได้สละความคิดนั้นเพื่อมิให้กังวลใจแล้ว และท่านก็ได้ธุดงค์เรื่อยๆ ไปจนใกล้จะถึงถ้ำภูผากูด โดยรอบบริเวณภูเขาอันเป็นถ้ำแห่งนี้นั้นเป็นภูมิประเทศที่เป็นป่าไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้มะค่า แต่ไม่เป็นดงทึบเหมือนกับดงอื่นๆ จึงทำให้บริเวณนั้นมีอากาศปลอดโปร่งดี ถ้ำแห่งภูเขาแถวนั้นก็ไม่อับชื้น ทั่วบริเวณจึงเป็นสถานที่ที่จะพึงอาศัยเป็นเวลาแรมปีได้ ถ้าเป็นดงดิบมองไม่เห็นพระอาทิตย์แล้วจะอยู่กันนานไม่ได้เพราะจะทำให้สุขภาพเสีย
โดยที่ท่านอาจารย์เสาร์ท่านได้เลือกเอาสถานที่แห่งนี้อยู่ถึง ๕ ปี และท่านก็ยังมีสุขภาพดีเป็นปรกติเหมือนกับอยู่ในวัดธรรมดา นับว่าท่านอาจารย์เสาร์มีความรู้ความชำนาญในการอยู่ป่าอย่างยิ่ง
ท่านอาจารย์มั่น ๆ ท่านว่าเราได้เดินมองพิเคราะห์ดูแล้วเป็นที่เหมาะสมจริง ๆ เพราะมีธารน้ำเล็กๆ ไหลไม่ขาด อยู่ที่ตรงกลางทางที่จะขึ้นถ้ำพอดี คำว่าภูผากูด คือมีผักกูดขึ้นอยู่ตามตลิ่งธารน้ำนั้นมาก เมื่อผักกูดขึ้น ผักที่จะขึ้นตามผักกูดมาก็เช่นผักหนาม ผักเต่าเกียด
ในคราวนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ทราบว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ธุดงค์ไป ท่านก็ธุดงค์ตามไปติด ๆ กับท่านอาจารย์มั่นฯ แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบล ฯ เมื่อท่านหายป่วยแล้วก็ได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไป เพื่อหวังในการศึกษาธรรมปฏิบัติอีก โดยมิได้มีการย่นย่อท้อถอยแต่ประการใด
ครั้นเมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เดินจนกระทั่งถึงและขึ้นไปบนถ้ำภูผากูด เมื่อวางบริขารไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ท่านก็เข้าไปนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ ซึ่งท่านอาจารย์เสาร์ได้รู้ล่วงหน้าและเตรียมสถานที่ไว้คอยรับศิษย์รักอันจากกันไป นานอยู่แล้ว ท่านอาจารย์ มั่นฯ ได้เข้าไปกราบนมัสการสนทนาปราศรัยตามสมควรแล้วก็ไปพัก ณ บริเวณแห่งหนึ่ง ตามอัธยาศัย และท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ตั้งใจจะจำพรรษา ณ ถ้ำนี้กับท่านอาจารย์เสาร์
ในระหว่างพรรษาทั้งศิษย์และอาจารย์ก็ได้ปรึกษาสนทนาในเรื่องธรรมปฏิบัติแทบทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มั่นฯ ได้พูดขึ้นว่า
ท่านอาจารย์ได้พิจารณาอริยสัจธรรมหรือไม่ ?”
ท่านอาจารเสาร์ได้ตอบว่า เราก็ได้พิจารณาเหมือนกัน
ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ?” ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม
ได้ผลเหมือนกันแต่ไม่ชัดเจน ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ
เพราะเหตุไรบ้างครับ ?” ท่านอาจารย์มั่น ฯ ถาม
เราได้พยายามอยู่ คือพยายามคิดถึงความแก่ความตาย แต่ว่าบางคราวมันก็ไม่แจ่มแจ้ง ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ
ถ้าเช่นนั้นคงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง ?” ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม
เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้ ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ และได้กล่าวต่อไปว่า ความจริงความสว่างของดวงจิตนั้นก็เป็นปรกติดีอยู่ แม้มันจะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มันก็เรื่องธรรมดาของสมาธิ แต่ว่าเมื่อจิตพิจารณาทีไรรู้สึกว่าไม่ก้าวไป
ท่านอาจารย์ มั่นฯ จึงกล่าวว่า กระผมคิดว่าคงมีอะไรสักอย่างเป็นเครื่องห่วง
ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า และเธอรู้ไหมว่าเรามีอะไรเป็นเครื่องห่วง ?”
ท่านอาจารย์มั่นฯ เห็นเป็นโอกาสที่จะได้ถวายความรู้ในครั้งอยู่ถ้ำสาลิกาโน้นจึงได้ตอบทันทีว่า ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาเรื่องปัจเจกโพธิกระมังครับ 
ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า
แน่ทีเดียว ในจิตใจเราตั้งอยู่ว่า จะขอให้รู้ธรรมเองโดยมิต้องให้ใครมาแนะนำหรือบอกให้ และมันก็ตั้งอยู่ในใจของเรามาตลอด
ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงขอความกรุณาแล้วบอกท่านอาจารย์เสาร์ว่า ขอให้ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจเพื่อความพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิด เพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณ และกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฎ์นี้มันนานเหลือเกิน
ในวันนั้นท่านอาจารย์เสาร์ต้องประหลาดใจที่ศิษย์ของท่านได้ล่วงรู้ถึงความจริง อันปรากฏอยู่ในใจของท่าน ซึ่งท่านไม่เคยปริปากบอกใครเลย ฉะนั้นจึงทำให้ท่านรู้สึกว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ นี้ ต้องมีความดีความจริงความชัดเจนในใจอย่างแน่นอน ในวันนั้นก็ได้คุยกันเพียงเท่านี้แล้วก็เลิกกันไป
อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์เสาร์ได้ไปนั่งอยู่ที่สงัดเฉพาะองค์เดียว เริ่มด้วยการพิจารณาถึงอริยสัจจ์โดยอุบายอย่างหนึ่งคือ การพิจารณากายจนชัดแจ้งประจักษ์เกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายขึ้น และท่านก็เริ่มดำเนินจิต เจริญให้มาก กระทำให้มากจนเป็นญาณ สามารถทวนกระแสมาถึงที่ตั้งของจิตได้ และวันนั้นท่านก็ตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด เมื่อได้รับการอธิบายจากท่านอาจารย์มั่นฯ ซ้ำอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรจะเจริญให้มากจนกว่าจะพอแก่ความต้องการ เมื่อจวนถึงกาลปวารณาออกพรรษาท่านก็ทราบชัดถึงความเป็นจริงทุกประการ และท่านก็บอกแก่อาจารย์มั่นฯ ว่า เราได้เลิกการปรารถนาพระปัจเจกโพธิแล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมจริงแล้ว
เมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ฟังก็ได้พูดให้ความแน่ใจว่า เป็นจริงเช่นนั้นแล้ว ต่างก็มีความอิ่มเอิบในธรรม ระยะเวลานั้นท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านมีพรรษา ๒๖ พรรษา ท่านได้ปฏิบัติท่านอาจารย์เสาร์เหมือนกับท่านเป็นพระใหม่ คือปฏิบัติตั้งแต่การล้างบาตร ซักจีวร ปูที่นอน ตักน้ำถวายสรง ถูหลัง ทุกประการ ซึ่งแม้อาจารย์เสาร์จะห้ามไม่ให้ทำ แต่ท่านก็ปฏิบัติได้โดยมิได้มีการแข็งกระด้างแต่ประการใด
ก่อนเข้าพรรษาปรากฏว่ามารดาของท่านอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งยังกระหายต่อการปฏิบัติศึกษาธรรมอยู่มิวาย จึงอุตส่าห์ล้มลุกคลุกคลานตามวิบากของคนแก่ติดตามไปที่ถ้ำภูผากูด เพื่อศึกษาอบรมตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมปฏิบัติ ท่านอาจารย์เสาร์จึงได้บวชชีให้อยู่ปฏิบัติ ณ ถ้ำนี้โดยจองเอาที่เงื้อมแห่งหนึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรม เร่งความเพียรทั้งกลางวันทั้งกลางคืนอยู่ที่ถ้ำนั้น
ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม หลังจากหายป่วยแล้วก็ติดตามไปปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่น คือไปทุกหนทุกแห่ง ซึ่งเริ่มติดตามพบที่ถ้ำในปีนี้เอง
พ.ศ.๒๔๖๐
บ้านดงปอ ห้วยหลวง อำเภอเพ็ง
ในพรรษานี้ ท่านอาจารย์มั่น ฯ จำพรรษาที่ป่าแห่งหนึ่ง ที่บ้านดงปอ ต.ห้วยหลวง อ.เพ็ง หลังจากที่ท่านได้เปิดศักราชแห่งการปฏิบัติธรรมอย่างได้ผลแล้ว ท่านก็เริ่มอบรมพระภิกษุสามเณรอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง เพื่อผลงานในด้านนี้ของพระพุทธศาสนาจะได้เด่นขึ้น อันจักเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ในปีนี้บรรดาพระภิกษุที่หลายผู้เคยได้รับรสพระธรรมจากท่าน และผู้ที่ได้เคยสดับแต่กิตติศัพท์ก็ได้ติดตามมาปฏิบัติกับท่าน
การจำพรรษาของท่าน ท่านไม่ต้องการอยู่รวมกันหลายองค์ เพราะจะทำให้ไม่วิเวก ดังนั้นท่านจึงตรวจดูเฉพาะองค์ที่กำลังจะได้รับผลที่แน่นอนให้จำพรรษาอยู่กับท่าน เพื่อที่จะได้แนะนำตลอดระยะเวลา เพื่อความก้าวหน้าไม่หยุดยั้งของศิษย์
ส่วนผู้ที่กำลังจะทำการอบรมเพื่อรอความแก่กล้าของสมาธิ ท่านก็แนะนำให้ไปอยู่แห่งละองค์สององค์ จะได้อบรมตนให้ยิ่งไม่ต้องกังวลกับใคร แต่พอเมื่อสงสัยในการปฏิบัติเกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นจะมาหาให้ท่านอาจารย์ช่วยแก้ความสงสัยเป็นราย ๆ ไป การที่บรรดาศิษย์ได้ไปอยู่ตามสถานที่ต่าง.ๆ มิใช่ว่าท่านจะทอดธุระเสียแต่อย่างใด ท่านต้องใช้ญาณภายในตรวจตราพร้อมทั้งคอยสดับตรับฟังข่าวอยู่ตลอดเวลา ท่านพิจารณาเห็นเหตุการณ์ของศิษย์แล้วถ้าเป็นเหตุสำคัญ ท่านจะใช้ให้พระหรือโยมไปตามพระองค์นั้นมาหาท่านทันที เพื่อจะได้แก้ไขเหตุการณ์ให้ดำเนินไปเพื่อความถูกต้อง และได้ผลเป็นประมาณ
เช่นคราวหนึ่ง ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีอาจารย์องค์หนึ่งพักอยู่บนภูเขาเรียกกันว่าภูค้อ อาจารย์องค์นั้นไม่ฉันอาหารตลอด ๓ เดือน ผู้คนได้แตกตื่นกันไปหาท่านอย่างล้นหลาม แต่อาจารย์องค์นั้นไม่ได้เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯแต่อย่างใด ท่านจึงเพียงแต่แนะนำศิษย์ของท่านว่า การไปอยู่ป่าอยู่เขาทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง เพราะไปทำอภินิหารอดอาหาร อยู่ถ้ำเพื่อที่จะให้คนไปหาเป็นการผิดวิสัย พวกเราอย่าได้พากันทำเช่นนั้นเพราะตามความเป็นจริงแล้ว การอยู่ป่าต้องทำตัวเก็บตัวแสวงหาความสงบด้วยใจจริง โดยความบริสุทธิ์ในการแสวงหาธรรมปฏิบัติ การอยู่ป่าอยู่เขาโดยการเพื่อแสวงหาลาภหาปัจจัยนั้นไม่ถูกต้อง พวกเธอถ้าหากว่าจะพึงแสวงหาความสงบแล้ว ต้องอย่าไปทำอะไรที่ชวนให้คนหลงตามไปหา ซึ่งมันจะไม่เป็นการบริสุทธิ์ใจของนักปฏิบัติ
การควบดุมการปฏิบัติของศิษย์นั้น ท่านพิถีพิถันมาก พยายามติดตามดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านได้พิจารณาเห็นว่าศิษย์รูปนั้นจะเป็นผู้มีนิสัย วาสนาเป็นผู้ที่ปฏิบัติเข้มแข็งและจะพึงเห็นอรรถเห็นธรรมในเบื้องหน้าแล้ว ท่านยิ่งจะติดตามคอยแนะนำการปฏิบัติให้ทุกระยะ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เข้ามามอบตัวเป็นศิษย์ของท่าน หลังจากนั้นท่านก็ได้พิจารณาเห็นว่าท่านมหาปิ่นนี้มีบุญวาสนา ได้บำเพ็ญมาพอสมควรที่จะเห็นอรรถธรรมได้ ท่านจึงพยายาม.แนะนำธรรมปฏิบัติให้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง
อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มหาปิ่น ท่านนั่งพักอยู่ในกุฏิหลังเล็กมุงหลังคาแฝกในเสนาสนะป่าซึ่งท่านก็ได้ผ่านการนั่งสมาธิมาแล้ว ๒ ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น.เศษ พลางท่านก็ได้นึกไปถึงอาจารย์มั่นฯ ว่า
ท่านอาจารย์มั่นมิได้ร่ำเรียนพระปริยัติธรรมมากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร เราได้ร่ำเรียนมาถึง ๕ ประโยค จะต้องมีความรู้กว้างขวางมากกว่าท่าน และที่ท่านสอนเราอยู่เดี๋ยวนี้จะถูกหรือมิถูกประการไรหนอ
ก็ขณะนั้นเองท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านนั่งอยู่กุฏิของท่านห่างกันคนละมุมวัด ท่านก็ทราบวาระจิตของท่านมหาปิ่นทันทีว่า กำลังจะคิดดูถูกท่านอยู่ และการคิดเช่นนี้ย่อมเป็นภัยแก่การบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ท่านจึงลุกขึ้นถือไม้เท้าเดินไปที่กุฏิมหาปิ่นทันที และเอาไม้เท้าเคาะข้างฝาที่ทำด้วยใบไม้ดังปั๊บ ๆ แล้วก็ส่งเสียงขึ้นว่า
 ท่านมหาปิ่น นี่เธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุไร ? การคิดเช่นนี้เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา มหา
มหาปิ่นได้ฟังตกใจสุดขีด เพราะมิได้นึกฝันเลยว่า เรานั่งคิดอยู่คนเดียวในเวลาที่ดึกสงัดเช่นนี้ ท่านอาจารย์มั่น ฯ จะมาล่วงรู้วาระจิตของเราได้ จึงรีบลุกขึ้นจากกุฏิตรงเข้าไปกราบเท้าท่านอาจารย์มั่น ฯ รีบกราบเรียนว่า
กระผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ในด้านอกุศลจิต กระผมขอกราบเท้า จงอโหสิกรรมให้แก่กระผมเถิด ตั้งแต่วันนี้ต่อไปกระผมจะบังคับจิตมิให้นึกคิดถึงสิ่งที่เป็นอกุศลจิตอย่างนี้ต่อไปอีก
(ตรงนี้ผู้เขียนขอแทรกข้อความตอนเชียงใหม่ให้ผู้อ่านได้ทราบตอนสำคัญไว้ เพราะจะรอเขียนตอนท่านอยู่เชียงใหม่ก็จะไม่ทันใจผู้เขียนและผู้อ่าน)
เมื่อท่านพักอยู่บนภูเขากับพวกมูเซอ ในจังหวัดเชียงใหม่ มีพระหลวงตา (หมายถึงผู้มีครอบครัวแล้วถึงบวช) ๓ องค์ ได้พยายามติดตามถามข่าวหาท่านอาจารย์มั่นฯ อยู่ถึง ๓ ปี จึงได้ข่าวว่าอยู่บนภูเขากับพวกมูเซอ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อรู้ชัดแน่แล้วจึงรีบไปเพื่อที่จะได้พบท่านทั้ง ๓ หลวงตาก็เดินทางปีนป่ายภูเขาขึ้นอย่างความตั้งใจจริง ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากแต่ประการใด เพราะตั้งใจมานานแล้ว พึ่งจะใกล้ความสำเร็จ ซึ่งทั้ง ๓ หลวงตาคงจะเข้าใจว่า เมื่อพบท่านแล้วคงจะได้ธรรมแสงสว่างไม่ยากนัก จึงได้อุตส่าห์ติดตามเป็นเวลานาน ก็พอดีเป็นเวลาเย็นประมาณบ่าย ๕ โมง จึงได้ถึงสถานที่อาจารย์มั่นฯ อยู่ เมื่อถึงแล้วก็เข้าไปนมัสการท่าน ท่านกำลังฉันน้ำร้อนอยู่ มีพระเณรอยู่ด้วย ๒-๓ องค์ คอยปรนนิบัติอยู่ เมื่อหลวงตาทั้ง ๓ กราบแล้วท่านก็ถามว่า เธอตามหาเรามานานแล้ว วันนี้มาจากไหน สามหลวงตาก็งงเป็นที่สุดว่าท่านรู้ได้อย่างไร และก็ตอบพร้อมกันว่า วันนี้มาจากอำเภอสันทราย แล้วท่านก็ให้พระไปจัดสถานที่อยู่ให้ตามจะพึงมี
จำเดิมแต่นั้นหลวงตาทั้งสามก็พยายามปฏิบัติตามโอวาทของท่านอยู่อย่างเต็มความสามารถ ทั้งสามหลวงตาเล่าว่า ไม่ว่าพวกฉันจะนึกอยากฟังธรรมข้อใด ท่านจะต้องเทศน์ธรรมข้อนั้นให้ฟังโดยไม่ต้องออกปากถามเลย ฉันอัศจรรย์ใจจริง แต่....อยู่มาวันหนึ่ง ฉันทั้งสามได้ไปนั่งอยู่บนหินก้อนใหญ่งามมาก หลังหินเสมอเรียบดี พวกเราก็นั่งประชุมสนทนากัน. ก็พูดถึงเรื่องทางบ้านว่า ป่านนี้ภรรยาของเราอยู่กันอย่างไรหนอ ลูกของฉันมี ๔ คน ลูกหญิงเป็นสาวยังไม่ได้แต่งงานเลย อีกองค์ก็พูดว่า ภรรยาน่ากลัวจะไปมีผัวใหม่ อาจจะทิ้งลูกเสียก็ได้และก็พูดกันหลายอย่างเป็นเวลากว่าชั่วโมง ทุกองค์ก็ต่างกลับมา แต่ก็มิได้อาลัยในคำพูดเหล่านั้นดอก พูดแล้วก็แล้วกันไป
แต่ที่ไหนได้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้รู้เรื่องราวของเราหมด และในวันนั้นก็ได้มีพระภิกษุสามเณรทุกแห่งที่อยู่แถวใกล้ๆ นั้นมาประชุมกันหมด ท่านก็ยกเอาเรื่องทั้งสามหลวงตาขึ้นมาพูดในท่ามกลางบริษัทว่า
 ดูสิ ทั้งสามหลวงตานี่ อุตส่าห์มาอยู่ป่า บวชแล้วยังคิดถึงมาตุคามลูกเมีย มันจะมีประโยชน์อะไรที่จะมาอยู่ในกลางป่าเช่นนี้ ซึ่งไม่ควรเลย น่าอับอายท่านผู้รู้ นี่แน่ะ หลวงตา เธอเป็นพระกี่เปอร์เซ็นต์
เท่านั้นเองพวกเราทั้งสามอายเพื่อนอย่างหนัก นั่งก้มหน้า เมื่อเลิกประชุมแล้วพวกเราทั้งสามก็ร้อนไปหมด จึงเป็นอันว่าพวกเราอยู่ไม่ไหว คืนนั้นประมาณเที่ยงคืนพวกเราก็เก็บบาตร กลดหนีกันทั้งคืน ปากก็พูดว่า อรหํ ๆ ๆ ทั้งเดินหนีไปมิได้อำลาท่านเลย โดยมิได้คำนึงว่าทางที่เดินมานั้นมีทั้งหมีทั้งเสือทั่วไป แต่พวกเรากลัวท่านอาจารย์มั่นฯ มากกว่าเสืออีก
พ.ศ. ๒๔๖๑
ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย
หลังจากอยู่ปฏิบัติและถวายความรู้ในธรรมปฏิบัติอันยิ่งแก่อาจารย์ของท่านแล้ว ท่านเห็นหมู่คณะตามท่านมามากรู้สึกกังวลขึ้น ท่านจึงปลีกตัวออกจากหมู่ เดินธุดงค์ไปแต่องค์เดียวจนบรรลุถึงถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย ในปีนี้ท่านต้องการพิจารณาถึงความจริงทั้งหลายอันเกิดแก่การบำเพ็ญในตนของท่าน และต้องการวัดผลการปฏิบัติที่ท่านไค้แนะนำสั่งสอนแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ว่า ผลต่างๆของการปฏิบัตินั้น ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายมาเดิมหรือไม่ และเป็นผลที่ถูกต้องทำนองคลองธรรมคำสอนของพระพุทธองก์จริงหรือไม่
เมื่อได้ใคร่ครวญทั้งความนึกคิดอันเป็นภายนอก และพิจารณาตามญาณอันเป็นภายใน ท่านก็พอใจในผลงานเหล่านั้นว่าเป็นประโยชน์มาก สมควรที่จะยอมเสียสละในการแนะนำสั่งสอนพุทธบริษัทต่อไป
ในวันหนึ่งขณะท่านนั่งสมาธิได้รับความสว่างอยู่นั้น ท่านหวนพิจารณาถึงความรู้ของท่านและที่ได้แนะนำสั่งสอนผู้อื่น ได้ปรากฏว่า อันที่จริงอริยธรรมเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่เพราะเหตุที่ผู้ศึกษาไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้น จึงปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ลึกลับยากแก่การจะรู้จริงได้ แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงแจ้งชัดสักเท่าใดก็ตาม เช่นพระองค์แสดงอนัตตลักขณสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงชี้ลงไปที่กายคือรูปของปัญจวัคคีย์นั่นเอง ได้ทรงแสดงว่า รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา รูปไม่ใช่ตน แม้รูปของปัญจวัคคีย์ก็มีอยู่แล้ว ทำไมปัญจวัคคีย์จึงไม่พิจารณาเอาเองเล่า มารู้แจ้งเห็นจริงเอาตอนที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ดู จึงค่อยมาได้สำเร็จ
ข้อนี้ก็เป็นเช่นกับตัวของเรานั้นเอง ได้อุตส่าห์เที่ยวไปแสวงหาอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิกระทั่งทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ครั้นจะมารู้จริงได้ก็คือการมาศึกษาปฏิบัติเอาโดยตนเอง ตามแนวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง แต่ว่าเท่าที่เราเองได้เข้าใจนั้นก็เพราะเราไปเห็นความจริงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความจริงก็อยู่ใกล้นิดเดียว แต่ว่าการรู้ปฏิบัติเพื่อความรู้จริงนี้มันเป็นสิ่งที่แปลก เพราะเห็นว่าการทำจิตเป็นนามธรรม เมื่อเกิดความอัศจรรย์หรือความสบาย ก็ไปเข้าใจเสียว่าดีเสียแล้ว จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถจะรู้ยิ่งขึ้นได้ จึงไม่ควรตำหนิผู้ที่เขาพากันทำสมาธิแล้วหลงใหลไปตามโลกียฌาณหรือตามวิปัสสนูปกิเลส เพราะเขาเหล่านั้นก็ได้รับความสงบความเย็นใจซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่ที่ควรตำหนิก็เพราะว่า เขาไม่พยายามหาโลกุตรธรรมนั่น แม้แต่เราในเบื้องแรก เราก็ได้พบโลกียฌาน ฌานมากมาย ซึ่งมันก็ทำให้เราต้องหลงใหลมันไปพักใหญ่ แต่เราพยายามที่จะแสวงหาให้ยิ่งขึ้น เราจึงไม่ติดอยู่เพียงแค่นั้น
อันการติดอยู่หรือเข้าใจผิดในธรรมปฏิบัติจิตอันเป็นภายในนี้ มันไม่ไปนรกดอก แต่ว่าการที่ไปติดมัน มันทำให้ต้องล่าช้าต่อการรู้ยิ่งเห็นจริงต่างๆ หาก เราเองเมื่อได้ความรู้แจ้งนี้แล้ว จึงได้พยายามเพื่อความที่จะทำจิตให้ก้าวหน้าโดยไม่หยุดยั้ง ทุกหมู่ทุกจำพวกในบรรดาผู้บำเพ็ญจิตในกัมมัฦฐานทั้งหลายนั้น ต่างก็มุ่งหวังเพื่อความดีความเจริญทุกหมู่ทุกคณะ แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง ที่ทำให้เขาต้องเสียประโยชน์
ท่านได้ปรารภไปถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่ เนื่องด้วยดาบสทั้ง ๒ นั้น ได้มรณะไปเสียก่อนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ความจริงดาบสทั้งสองก็เป็นผู้สำเร็จฌานชั้นสูงกันทั้งนั้น อันว่าฌานชั้นสูงนี้ ก็เป็นการให้ความสุขอันยิ่งแก่ผู้ได้สำเร็จอยู่มากแล้ว แต่เพราะเหตุใดเล่าพระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่ ก็เพราะว่ายังไม่หมดจากกิเลส เพราะเพียงแต่ข่มกิเลสไว้ เหมือนกับศิลาทับหญ้าเท่านั้น
อันที่จริงฌานชั้นสูงนั้น ก็เป็นเบื้องต้นแห่งการดำเนินไปสู่ความหมดจิตจากกิเลส แต่เพราะความที่ดาบสนั้นไม่เข้าใจวิธีแห่งการอันจะพึงทำจิตเข้าลู่อริยสัจเท่านั้น ข้อนี้เป็นประการสำคัญนัก เพราะการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุนี้คือ อริยสัจจ์นี้ แต่ท่านได้พิจารณาคือไปอีกว่า การบำเพ็ญจิตต้องอาศัยปัญญาจึงจะรู้ถูกผิด และมิใช่จะเอาแต่ทำจิตอย่างเดียว ต้องมีสิ่งแวดล้อมภายนอกอีก อาทิเช่นธรรมวินัยทั้งอย่างหนักและอย่างเบา แม้ว่าจะพยายามทำจิตสักเท่าใดก็ตาม ถ้าประพฤติผิดพระวินัยน้อยใหญ่แล้วจะทำจึงย่อมไม่บังเกิดผล
พร้อมกันนั้นต้องเป็นผู้สันโดษมักน้อย รักษาธุดงควัตรต่าง ๆ อันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสหยาบ ด้วยว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ที่จะต้องพยายามปฏิบัติให้เป็นอันดี เท่ากับเป็นเครื่องบำรุงส่งเสริม เช่นกับรถยนต์ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ถึงเป็นเครื่องดีมากสักเท่าใดก็ตาม ถ้าขาดการบำรุงรักษา ก็ไม่สามารถที่จะให้ผลแก่ผู้ใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือเช่นต้นไม้ต่าง ๆ ถ้าเราจะปลูกบ้านให้ได้ผลก็ต้องบำรุงรักษาจึงจะให้ผลแก่เจ้าของได้
การบำเพ็ญจิตก็เช่นเดียวกัน ควรจะได้กำหนดข้อปฏิบัติอันเป็นการสันโดษมักน้อยเอาไว้ โดยการฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต การปัดกวาดทำความสะอาดเสนาสนะ การอยู่โคนต้นไม้ การอยู่ป่า การมีจีวรเพียงแต่ไตรจีวร การรักษาวัตรทั้งหลายมีเสขิยวัตรและอาจาริยวัตรเป็นต้น
ในปีนั้นท่านได้พิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ อันที่จักนำไปเพื่อความเจริญในการปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่แน่นอนแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย พร้อมกันนั้นท่านได้ทำตัวของท่านให้เป็นตัวอย่างอีกด้วย ทั้งการที่แก้ไขความประพฤติเพื่อให้เป็นการเหมาะสมจากมรรยาทที่ต่ำไปหาที่สูง อันนี้ก็ต้องทดสอบในธรรมวินัยให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องด้วย
หลังจากที่ท่านพิจารณาถึงหลักพระธรรมวินัย ของพระพุทธองค์ทั้งภายนอกนามตำรับตำรา และภายในคือการพิจารณาหาความจริงอันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจะป้องกันความงมงายต่าง ๆ เช่นสีผ้าท่านก็กำหนดได้ว่าในครั้งพุทธกาลใช้ผ้าลีอะไร ท่านยังทราบว่าพระอนุรุธเถระเจ้า ใช้ผ้าสีคร่ำอ่อน พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเถระใช้สีวัวโทนและท่านพระมหากัสสปะใช้ผ้าสีคร่ำเป็นต้น
บางครั้งท่านได้คำนึงถึงท่านพระสารีบุตรซึ่งครั้งหนึ่งได้ชวนพระโมคคัลลานะไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำแห่งหนึ่งเป็นเวลาหลายวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านพระสารีบุตรได้ป่วยเพราะโรคปวดท้องกำเริบขึ้น อันพระโมคคัลลานะถามว่า ท่านเป็นโรคนี้เคยฉันยาอะไรจึงหาย พระสารีบุตรตอบว่า โรคนี้ต้องได้ฉันข้าวมธุปายาสมีน้ำอ้อยผสมกับน้ำตาลกรวดจึงหาย
ขณะนั้นเทวดาที่สิงอยู่ในถ้ำนั้นได้ยินก็ต้องการที่จะให้พระเถระได้ฉัน จึงรีบไปยังบ้านอันเป็นโคจรตามของพระเถระทั้งสองแล้วก็เข้าไปสิงในร่างของเด็ก ทำอาการให้เด็กชักดิ้นชักงอ อันบิตามารดาต้องพยายามแก้ไขทุกอย่างเด็กก็ไม่ทุเลา เทวดาที่สิงจึงบอกว่า นี่ พวกท่านต้องการให้ลูกหายไหม
บิดามารดาตอบว่า ข้าพเจ้าต้องการเป็นที่สุด
เทวดาที่สิงอยู่ในร่างเด็กก็บอกว่า ท่านจงทำข้าวมธุปายาส มีน้ำอ้อยผสมน้ำตาลกรวดไปถวายท่านพระสารีบุตรเท่านั้นเอง บุตรของท่านก็จะหายทันที
อันบิดามารดาของเด็กรับว่า เพียงเท่านั้นข้าพเจ้าทำได้ และพระเถระนี้ข้าพเจ้าก็เลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง
แล้วเทวดานั้นก็ออกจากร่างเด็กๆ ก็หายทันที
รุ่งเช้าพระโมคคัลลานะออกบิณฑบาตแต่เช้า ได้ไปถึงบ้านนั้น อันเขาทั้งหลายได้ถวายอาหารแก่พระโมคคัลลานะแล้วก็ถวายข้าวมธุปายาส และขอร้องให้ไปถวายแก่พระสารีบุตร อันพระโมคคัลลานะนำมาแล้วก็น้อมเข้าไปถวาย ท่านพระสารีบุตรได้พิจารณาว่าอาหารนี้ไม่บริสุทธิ์ท่านจะนำมาทำไม
เพราะเหตุใด ท่านพระโมคคัลลานะถาม
เพราะว่าเทวดาไปบังคับเขา พระสารีบุตรตอบ ส่วนท่านพระโมคคัลลานะได้พิจารณาก็ทราบทันที แล้วพระโมคคัลลานะจึงอุทานว่า  เราตาบอดไปเชียว
แล้วนำมธุปายาสนั้นไปเททิ้ง พระสารีบุตรก็กำหนดจิตให้บริสุทธิ์ หายจากโรคปวดท้องทันที
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้พูดเป็นอุบายว่า ความบริสุทธิ์ของศีลนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความผ่องใสเป็นทางให้เกิดความจริงได้ เพราะศีลมีทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้พูดเสมอว่า ท่อนไม้ยางใหญ่ๆ มันเข้าตาคนไม่ได้หรอก ผงธุลีเล็กๆ ต่างหากมันเข้าตาคน
ในราตรีหนึ่งระหว่างกาลเข้าพรรษา ขณะที่กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่เกิดความสงบเยือกเย็นมาก จนเกิดแสงสว่างพุ่งไปสู่พระอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ขึ้นมาแล้วได้พิจารณากำหนดพิจารณาแยบคายค้นคว้าสามารถรู้ได้ทั้งอรรถและทั้งแปล อย่างคล่องแคล่ว ได้พิจารณาอย่างละเอียดตลอดคืนยันรุ่ง พอรุ่งเช้าออกจากสมาธิแล้ว ความรู้เหล่านั้นปรากฏว่าลบเลือนไปเสียเป็นส่วนมาก ยังจำได้เฉพาะที่สำคัญ พอรู้ความหมายเฉพาะเรื่องหนึ่งๆ เท่านั้น ท่านได้พิจารณาวาสนาบารมีของท่าน แล้วคำนึงถึงว่าเมื่อแจ่มแจ้งแล้วทำไมจึงลบเลือนไปเสีย
ท่านได้ทราบในญาณของท่านว่า ปฏิสัมภิทานุสาสน์ ความรู้ที่จะพึงแตกฉานในพระธรรมวินัยนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะได้มีความแตกฉานเป็นปฎิสัมภิทาญาณก็หามิได้
เช้าวันนี้เมื่อเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมาใส่บาตรแล้วพูดขึ้นว่า เมื่อคืนนี้ผมฝันเห็นท่านเปิดเอาหนังสือพระไตรปิฎกออกมาอ่านเป็นอันมาก ท่านคงภาวนาดีในคืนนี้ ท่านได้ยินโยมพูดก็เพียงแต่ยิ้มแย้มนิดหน่อยแล้วก็เดินบิณฑบาตต่อไป
พ.ศ. ๒๔๖๒
เสนาสนะป่าบ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี
ในปีนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านค้อ อำเภอผือ เป็นปีที่เริ่มแนะนำข้อปฏิบัติแก่พระภิกษุเป็นส่วนมาก ซึ่งปรากฏว่าท่านอาจารย์สุวรรณ สุจินฺโณ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านอาจารย์ตื้อ ท่านอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ ท่านอาจารย์หนูใหญ่ ได้ติดตามมาปฏิบัติอยู่กับท่าน ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้แนะนำเพื่อความก้าวหน้าแห่งการดำเนินจิตเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากท่านทุกองค์เหล่านี้ได้บำเพ็ญ ได้ผลในทางปฏิบัติกันมาแล้ว เพียงเพื่อจะอบรมให้เกิดความแก่กล้าขึ้นเท่านั้น
ท่านได้แนะนำถึงข้อสำคัญในเรื่องความหลงในญาณว่า ผู้ต้องการพ้นทุกข์จริงๆ แล้ว ต้องไม่หลงในความเป็นเหล่านั้น ท่านได้อธิบายว่า ญาณคือความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งความสงบ เป็นต้นว่าญาณระลึกชาติหนหลังได้ ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอดีต ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอนาคต รู้จักวาระจิต ความนึกคิดของบุคคลอื่นเป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิชาที่น่าอัศจรรย์มากทีเดียว แต่ถ้าหากว่าหลงและติดอยู่ในญาณเหล่านี้แล้ว จะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติ เมื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม แต่ญาณเหล่านี้เป็นอุปกรณ์อย่างดีพิเศษ ในอันที่ดำเนินจิตเข้าสู่อริยลัจจ์หรือการทรมานบุคคลบางคน แต่ว่าจะต้องรู้ว่ามันเป็นญาณ อย่ายินดีหรือติดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเท่ากับว่ามันเป็นผลพลอยได้ เกิดจากการบำเพ็ญจิตเข้าสู่อริยสัจจ์นั่นเอง ถ้าหากว่าเราไปยินดีหรือไปติดอยู่เพียงเท่านี้แล้ว ก็จะก้าวเข้าไปสู่ความพ้นไปจากทุกข์ไม่ได้
แม้แต่พระเทวทัตในสมัยครั้งพุทธกาลก็สำเร็จญาณถึง ๕ ประการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้สมกับความประสงค์ แต่หลงอยู่ในความรู้ญาณของตน เกิดทิฐิมานะว่าคนเก่งตนดี ถึงกับต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้าแทนเอาเลยทีเดียว แต่ที่ไหนได้ ในที่สุด โดยอาศัยความหลงญาณ กลับต้องเสื่อมหมดทุกอย่าง ไม่พ้นทุกข์ ไม่เข้าถึงอริยสัจ แต่กลับตกนรกไปเลย.
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเน้นว่า ญาณเหล่านี้มันน่าคิดจริง ๆ เพราะมันวิเศษแท้ ทั้งเยือกเย็นทั้งสว่างผ่องใส ทั้งรู้อะไรที่เป็นอดีต อนาคต ตามความประสงค์ ผู้ที่ไม่เข้าใจความจริง ที่ไปติด ณ ที่นี้ เราจะสังเกตเห็นได้ตรงที่เกิดทิฐิขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือการถือตัวว่าดีกว่าใคร ๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นครูบาอาจารย์หรือเพื่อนสหธรรมิกหรือศิษย์ หาว่าศิษย์สู้เราไม่ได้ ใครก็สู้เราไม่ได้ ทิฐิชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ตัวของตัวเองไม่รู้ตัวเอง ซึ่งท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเปรียบว่า มีจระเข้ตัวหนึ่งใหญ่เหลือเกินอยู่ในท้องทะเล มันไม่รู้ว่าหางของมันอยู่ไหน เมื่อมันไม่รู้ มันเห็นหางของมัน มันก็กินหางของมัน กินไป ๆ จนเหลือแค่หัว เลยม้ำช้ำหมดเลย
และท่านก็อธิบายว่า การหลงตัวด้วยญาณนี้มันละเอียดนัก เราจะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่ง คือการขาดจากความรอบคอบบางสิ่งบางประการ เพราะเหตุแห่งการถือตัว เช่นการกล่าวคำดูถูกดูหมิ่นต่อเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน หรือต่อครูบาอาจารย์ของตน หรือบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการดำเนิน
ญาณทุกญาณ ท่านอาจารย์มั่นฯ กล่าวว่า มันต้องเสื่อม มันจะคงตัวอยู่ได้ตลอดไปหาได้ไม่ แม้จะใช้ความพยายามสักเท่าใดก็ตาม คือว่าครั้งแรก ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริงได้ แต่ต่อไปก็เลือนเข้า ๆ กลับกลายเป็นความนึกคิด โดยอาศัยสัญญาเก่า นี้คือความเสื่อมแห่งญาณ ลูกศิษย์มีหลายองค์ ที่ต้องเสื่อมลงจากญาณเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสื่อม จึงต้องรีบดำเนินจิต เข้าสู่อริยสัจจ์เสียเลย เพราะความที่จิตเข้าสู่อริยสัจจ์ได้แล้ว มันก็ห่างจากความเสื่อมเข้าไปทุกที ๆ
ท่านยกตัวอย่างว่าท่านอาจารย์หนูใหญ่ อายุคราวเดียวกับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไม่พยายามดำเนินจึงเข้าสู่อริยสัจจ์แต่ว่ามีวิญญาณแหลมคมดี เอาแต่ญาณภายนอกอย่างเดียว จึงเสื่อมไปได้ คือท่านอาจารย์หนูใหญ่นั้น ปรากฏว่า เมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดญาณรู้ความจริงบางอย่างได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นที่ปรึกษาหารือแก่สหธรรมมิกด้วยกันได้เป็นอย่างดี ทั้งมีความรู้พิเศษเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก เมื่อหมู่คณะที่อยู่รวมสำนักกับท่านประพฤติผิดธรรมวินัยในข้อวัตรปฏิบัติแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านสามารถรู้ได้ด้วยญาณของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นแต่ประการใด
อาทิเช่นครั้งหนึ่ง เวลาตอนบ่าย สามเณรทั้งหลายได้จัดน้ำปานะ (อัฏฐบาล) ถวายพระเวลาที่พระทั้งหลายกำลังดื่มอยู่นั้น ขณะนั้นท่านอาจารย์หนูใหญ่ กำลังทำสมาธิอยู่ในความสงบ ได้ปรากฏเห็นพระเหล่านั้นในญาณ ของท่านว่า กำลังฉันอาหารกันอยู่ ท่านจึงไปที่ท่ามกลางหมู่คณะนั้นแล้วกล่าวว่า พวกเรากำลังฉันสิ่งของที่เจือด้วยอนามิสแน่ เพราะมันไม่บริสุทธิ์ ซึ่งพระภิกษุสามเณรทั้งหลายกำลังฉันน้ำปานะกันอยู่ พากันสงสัย และสามเณรผู้ทำก็ยืนยันว่าบริสุทธิ์ไม่มีอะไร เพราะทำมากับมือ แต่อาจารย์หนูใหญ่ก็ยืนยันว่าไม่บริสุทธิ์แน่ จึงได้มีการตรวจค้นกันขึ้น ได้พบเมล็ดข้าวสุกติดอยู่ที่ก้นภาชนะนั้นจริง ๆ เพราะเหตุนั้นหมู่คณะทั้งหลายจึงเกรงขามท่านมาก เพราะเมื่ออยู่ใกล้ ๆ กับท่านแล้วต้องระวัง ระวังความนึกคิด เป็นเหตุให้เกิดสติสัมปชัญญะขึ้นมาก
แต่นั้นแหละเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านอาจารย์หนูใหญ่ได้ออกไปไกลจากอาจารย์มั่น ฯไม่ค่อยจะได้เข้าไปศึกษาบ่อยๆ เมื่อภายหลังได้เกิดญาณเสื่อมจากคุณธรรมส่วนยิ่งโดยไม่รู้สึกตัว ต่อสู้กับกิเลสมาก คือไปไม่ได้ จึงลาสิกขาบท ไปอยู่ในฆราวาสวิสัย ยอมอยู่ใต้อำนาจของกิเลสต่อไป
ท่านอาจารย์มั่นฯหลังจากเล่าความเป็นไป ของท่านอาจารย์หนูใหญ่ให้เป็นตัวอย่างแล้ว ท่านก็เน้นลงไปอีกว่า บุคคลผู้ที่ได้ญาณนี้แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งทีเดียว เพราะเท่ากับกับได้สมบัติมหาศาลแล้วรักษาสมบัติไม่ได้ หรือใช้สมบัติไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากสมบัตินั้น ผู้ที่ได้ญาณก็เหมือนกันว่าจะทำมันขึ้นมาได้แสนยากลำบากนัก แต่เมื่อได้มาแล้วไม่รู้จักรักษาและไม่รู้จักทำให้มันเป็นประโยชน์ จึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรสังวรเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับเรื่องญาณ หรือความสงบ ถ้าหากไปหลงมันเข้าปล่อยให้เกิดแต่ความสงบอย่างเดียวย่อมไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะได้ เพราะสถานที่นั้นเป็นที่สบายอย่างยิ่งและน่าอยู่ มันทำให้เกิดความสุขอย่างน่าพิศวง และเป็นสถานที่น่าคิดอยู่ของหมู่โยคาวจรทั้งหลายจริงๆ มิหนำซ้ำบางทีท่านก็หลงไปถึงกับว่าที่นี่เองเป็นที่หมดไปจากกิเลส อันที่จริงแล้วที่นี่เองจำเป็นต้องแก้ไขตัวของตัวเองอย่างหนัก เหมือนกันกับคนที่กำลังนั่งนอนสบาย และจะให้ทำงานหนักก็จำเป็นต้องทั้งบังคับทั้งปลอบ
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านชี้ตัวอย่างท่านอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี (พระนิโรธรังสีฯ) ว่า ท่านเทสก์นี้ได้ติดอยู่ในญาณนี้นานยิ่งกว่าใครๆ ในระยะที่ท่านเทสก์หลงอยู่ในญาณนั้น เราได้พยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้คลายจากความเป็นเช่นนี้นั้น กว่าจะได้ผลต้องใช้เวลาถึง ๑๒ ปี เพราะท่านอาจารย์เทสก์ได้ติดอยู่ในญาณถึง ๑๒ ปี ครั้นเมื่อท่านอาจารย์เทสก์แก้ไขตัวของท่านได้แล้วถึงกับอุทานว่า เราหลงไปถึง ๑๒ ปี ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแก้ไขเราแล้วก็จะต้องติดไปจนตาย
ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เน้นหนักว่า การแก้ไขสิ่งของที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ลำบากกว่าแก้สิ่งของไม่ดี เพราะความไม่ดีรู้กันในหมู่ผู้หวังดี หาทางแก้ไขได้ง่าย ส่วนความดีที่ต้องติดดีนี่แก้ไขยาก ผู้ติดดีจึงต้องใช้ความพยายามหลายอย่าง เพราะขั้นนี้มันเป็นขั้นปัญญา เนื่องจากการเกิดขึ้นภายในนั้นมีพร้อมทั้งเหตุและผล จนทำให้เชื่อเอาจนได้ จะไปว่าอะไรแต่อย่างอื่นที่ไกลจากอริยสัจธรรม แม้แต่วิปัสสนาซึ่งก็เป็นทางไปสู่อริยสัจจ์อยู่แล้ว แต่ผู้ดำเนินไม่มีความรอบรู้พอ กลับกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปได้ การเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้นคือ
โอภาโส แสงสว่างไม่มีประมาณ แสงสว่างที่เกิดจากจิตที่สงบยิ่งเกิดแสงสว่างขึ้น เป็นแสงสว่างที่จะหาสิ่งเปรียบเทียบยาก ผู้บำเพ็ญจิตเบื้องต้น พอจิตสงบแล้วเกิดนิมิต เห็นแสงสว่าง เท่านั้นไม่จัดเข้าในวิปัสสนู เพราะแสงสว่างที่จัดเข้าในวิปัสสนูนี้ เป็นแสงที่เกิดจากการเห็นของธรรมชาติ แม้การเห็นเป็นธรรมชาติ เป็นของจริงก็ตาม การที่จะถือเอาของจริงแม้นั้นก็ผิด เพราะความจริงที่เห็นนี้สำหรับพิจารณาด้วยญาณต่างหาก ไม่ใช่จะให้ติดข้องพัวพัน ถ้าติดข้องก็เกิดเป็นกิเลส ก็เลยยึดเข้าไปหาว่าได้ชั้นนั้นชั้นนี้ เลยยิ่งเหลวไปใหญ่ แสงสว่างที่เห็นของจริงนี้ท่านจึงจัดเป็นวิปัสสนูเพราะไปหลงเข้าแล้วหาว่าดี แม้เพียงเท่านี้ ความจริงมันเป็นเพียงเครื่องมือพิจารณาต่อไป ท่านจึงห้ามติด
ญาณะ ความรู้ไม่มีประมาณ ความรู้ที่เกิดในขั้นต้น เป็นต้นว่ารู้ว่าจิตสงบ หรือรู้อยู่เฉพาะหน้าบ้าง อย่างนี้ไม่จัดเข้าในขั้นนี้ ความรู้ที่จัดเป็นวิปัสสนูนั้น คือความรู้ที่หยั่งรู้ว่า จิตเรานี้ว่ามีความสว่างจริง เช่นเห็นธาตุ ว่าเป็นธาตุจริง ชนิดนี้เราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน แน่ล่ะ ถ้าจะเป็นของจริง เลยเข้าใจว่ารู้นี้เป็นธรรมแท้ จึงเป็นกิเลส เป็นเหตุให้ถือตัว แต่ความจริงแล้วท่านให้ใช้ความรู้นี้พิจารณาให้ยิ่งเท่านั้น มิใช่ให้ถือเอาความรู้ ก็เท่ากับถือเอาเครื่องมือว่าเป็นของจริง ท่านจึงห้ามติด
ปีติ ความอิ่มใจอันแรงกล้า ความอิ่มใจซาบซ่านในตัวอันเกิดขึ้นแก่ผู้ฝึกสมาธิในขั้นต้น ไม่จัดเข้าในชั้นนี้ ปีติที่จัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น คือความเยือกเย็นอันได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น เช่นเห็นว่า ธาตุทั้งหลาย สักแต่ว่าธาตุ เป็นธรรมธาตุแห่งสภาพจริงๆ ความปีติเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยพบ ก็จะได้พบ เมื่อพบเข้าเลยเกิดความอิ่มใจอย่างแรงกล้า เข้าใจว่าเป็นของจริงทำให้ติด เกิดกิเลสเป็นเหตุให้ยึดถือว่า เป็นธรรมพิเศษหรืออมตธรรม ก็เลยจะเป็นทางให้ยึดแล้วก็ทำให้เนิ่นช้า ท่านจึงห้ามติด
ปัสสัทธิ ความสงบยิ่ง การทำจิตสงบชั่วครั้งชั่วคราวของผู้เริ่มความเพียรไม่นับเข้าในชั้นนี้ ปัสสัทธิที่จัดเป็นวิปัสสนูฯ นั้น คือความสงบที่มีกำลังอันอาจจะจำแนกธาตุออกไปได้ว่าธาตุนั้นเป็นดิน เป็นน้ำเป็นต้น เพราะสงบจริง จึงจะเห็นธาตุเป็นธาตุจริง ซึ่งสามารถจะให้จิตหลง เพราะความสงบนี้เยือกเย็นมากขึ้นเป็นกำลัง แม้จะทำให้เกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าไปติดเพียงเท่านั้นแล้วก็เข้าใจว่าเป็นของจริง กลับกลายเป็นกิเลส ท่านจึงห้ามติด
สุขะ ความสุขอันลึกซึ้ง ความสุขเกิดแก่จิตของผู้ฝึกหัดใหม่นั้น แม้ครั้งสองครั้งหรือชั่วครั้งชั่วคราวไม่จัดเข้าในชั้นนี้ สุขะที่จัดเป็นวิปัสสนูฯ นั้นเป็นผลไปจากการเห็นธาตุทั้งหลายว่าเป็นจริง เกิดความสงบสุขยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ความสุขนี้จะมีชั้นสูงขึ้นตามลำดับแห่งการเห็นตามเป็นจริงแห่งธรรมธาตุ ถ้าติดก็เป็นกิเลส เป็นเหตุให้พอใจเพียงแค่นั้น จะไม่ก้าวหน้าต่อไป ท่านจึงห้ามติด
อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ของจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นฐิติธรรม อาศัยอวิชชาเป็นเครื่องปิดบังจึงไม่สามารถจะเข้าถึงได้ แต่เมื่อพอแก่ความต้องการแล้วก็เป็นอันว่าถึงได้แน่นอน เมื่อทำไม่พอแก่ความต้องการแล้วก็ถึงไม่ได้ เหมือนกับคนทั้งหลายจะพากันเดินทางจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ เช่นเขาทั้งหลายอยู่เชียงใหม่ แต่กรุงเทพนั้นน่ะมีจริง พอเขาเดินมาถึงลำปาง เขาก็พากันน้อมใจเชื่อว่า ลำปางนี่แหละคือ กรุงเทพ ฯ เขาเหล่านั้นก็ลงรถไฟโดยถือเอาลำปางเป็นกรุงเทพฯ เมื่อน้อมใจเชื่อเช่นนี้เป็นอันถึงกรุงเทพ ฯ ไม่ได้ กรุงเทพมีจริงแต่ต้องขึ้นรถไฟรถยนต์จากเชียงใหม่ไปให้พอแก่ความต้องการ ก็จะต้องถึงจนได้ อันการบำเพ็ญจิตยิ่งบำเพ็ญยิ่งละเอียดขึ้นเป็นลำดับ น่าทึ่งน่าอัศจรรย์มากมายเหลือจะนับจะประมาณ มีสิ่งประหลาดมากมายทีเดียวจึงเป็นสิ่งที่คล้ายกับธรรมชั้นสูง โดยเหมือนกับมีธรรมผุดขึ้นมาบอกว่า ถึงธรรมชั้นนั้นชั้นนี้บ้าง ได้เห็นอริยสัจจ์บ้าง ได้เห็นจะบรรลุบ้าง อะไรมากมายที่จะเกิดขึ้นน้อมใจเชื่อมันแล้ว เป็นกิเลสตัวใหญ่กางกั้นความดี ที่กำลังจะก้าวหน้าไปอย่างน่าเสียดาย
ปัคคาหะ ความเพียรอาจหาญ การบำเพ็ญจิตจนเกิดความดี ความงาม ความที่ละเอียดอ่อน โดยอาศัยพลังงานแห่งจิต โดยที่ต้องการให้ถึงเร็ว เป็นการเร่งเกินแก่ความพอดี อย่างไม่คำนึงถึงว่าร่างกายมันจะเป็นอย่างไร เอาใจเป็นใหญ่ หักโหมความเพียรอย่างไม่ปรานีปราสัย นี่ก็เป็นทางเสียหาย เพราะเหตุใด ท่านจึงจัดเป็นอุปกิเลสแห่งวิปัสสนาด้วยเล่า ก็เพราะว่าในที่นี้นับว่าเป็นความปรารถนาอย่างรุนแรงของใจ จนอาจจะเป็นอันตรายได้ โดยขาดมัตตัญญู ความเป็นผู้รู้จักประมาณไป จึงกลายตัวมาเป็นอุปกิเลส ซึ่งทำให้เกิดความมัวหมอง ถึงกับจะกางกั้นความเจริญชั้นสูงต่อไป แต่การจะถือเอาวิปัสสนูฯ ข้อนี้มาทำให้เกิดหย่อนความเพียร เรื่องก็ยิ่งเสียหายกันไปใหญ่อีก ในที่นี้ท่านต้องการความพอดี เหมือนกับการรับประทานอาหารความอิ่ม นี่คือความพอดี ถ้าเรารับประทานไม่อิ่ม แต่เราถือว่า อิ่ม นี่คือไม่พอดี ถ้าเรารับประทาน อิ่ม ยิ่งเติมเข้าไป ก็เกินความพอดี เราจะต้องทราบความละเอียดที่เกิดผลตามสมควร จึงจะชื่อว่าพอดี ไม่หักโหมเกินไป จนเป็นเหตุให้ถือเอาความเพียรข่มผู้อื่นอันจะกลับกลายเป็นกิเลสไป
อุปฐานะ สติกล้า สตินี้ไม่น่าจะเป็นอุปกิเลส เพราะสตินี้เองสามารถดำเนินจิตให้ตั้งเที่ยงอยู่ได้ แต่ว่าไม่ว่าอะไรทุกสิ่งทุกอย่างจะดีสักเท่าไรก็ตาม ถ้าเกินไปก็ใช้ไม่ได้ แม้สติกำหนดเพ่งกันเกินไป กำหนดอยู่ในกายานุปัสสนา ไม่รู้จักพักผ่อน เกินแก่ความต้องการไม่ช้าก็ต้องเลอะเลือน ธรรมดาการใช้สติกำหนดต้องรู้จักพักตามสมควร เพราะถ้าไม่รู้จักพักแล้ว เมื่อมันเกิดความเลอะเลือนขึ้น ความสงสัยก็ตามมา ก็จะกลับกลายเป็นอุปกิเลสไป
อุเบกขา ความวางเฉย การจัดอุเบกขาเป็นวิปัสสนู ฯ นั่นคือการไปเข้าใจเอาเองว่า นี่เป็นวิมุตติธรรม หรือความละเอียดแห่งจิต เท่านี้ถือว่าเป็นการบรรลุธรรมชั้นสูง เลยวางเฉย ถือว่าเป็นสิ่งแน่นอน ยังไม่ถึงอริยสัจจ์เต็มที่ มาวางเฉยเสียก่อนเป็นการคำนึงเอง หรือเป็นการ ชิงสุกก่อนห่ามท่านจึงจัดว่าเป็นเครื่องเศร้าหมอง นักปฏิบัติควรระวังเป็นพิเศษในข้อนี้ อย่าไปวางเฉยเอาง่าย ๆ ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน
นิกันติ ความพอใจ ความพอใจแม้จะเป็นธรรมชั้นละเอียดก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นการพอใจอยู่เพียงหนทาง ไม่เชื่อว่าพอใจในสถานที่ต้องการ เพราะการถึงสถานที่ที่ต้องการนั้น มิใช่เป็นความพอใจ แต่เป็นความจริง และของจริงนั้นเมื่อเป็นขึ้น ย่อมเป็นสิ่งล่วงพ้นจากความพอใจที่จะพึงกำหนดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ถ้าทำความพอใจในธรรมละเอียดไม่ดี จะกลายเป็นอัตถวาทุปาทานไปเสีย จะเสียงานใหญ่ในการที่จะบำเพ็ญให้ก้าวหน้าต่อไป.
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เน้นหนักลงไปถึง ฌาน และญาณนี้หนักมากในพรรษานี้ เพื่อให้ศิษย์ทั้งหลายได้สำเหนียก เพื่อความก้าวหน้าของตน

ตอนที่ ๔
พระอาจารย์มั่นฯ ท่านได้มาเปิดศักราชแห่งการปฏิบัติจิต

พ.ศ. ๒๔๖๓
เสนาสนะ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
การจำพรรษาของท่านอาจารย์มั่นฯ นั้น โดยส่วนมากท่านย้ายสถานที่อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อจะได้บำเพ็ญประโยชน์ให้ได้มาก ๆ และมิให้จำเจที่จะต้องเกิดความกังวลอีกด้วย และแม้ว่าท่านจะไปจำพรรษาที่ไหนก็ตาม บรรดาลูกศิษย์ผู้หวังดีจะต้องติดตามไป เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติจากท่านเพื่อให้ก้าวหน้าต่อไป แม้ว่าจะได้ทราบชัดถึงหนทางที่ท่านได้แนะนำให้อย่างแจ่มแจ้งแล้วก็ตาม แต่ข้อละเอียดบางประการ ก็ต้องอาศัยการอบรมจากท่านอยู่อย่างใกล้ชิด
ในปีนี้พระภิกษุสามเณรรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ก็เริ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากว่า ก่อนนี้ การปฏิบัติโดยเฉพาะ การบำเพ็ญสมณธรรมนั้นเป็นของลึกลับมาก ยากแก่การที่มาดำเนินกันอย่างง่าย ๆ แต่ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ก็มาเปิดศักราชการปฏิบัติ โดยกำหนดการปฏิบัติอย่างง่ายๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือพระภิกษุสามเณร ก็สามารถทำได้ด้วยกันทั้งนั้น และก็ได้ประสบผลอย่างทันตาด้วย โดยไม่ต้องไปเสียเวลายกครู ยกขัน ๕ ขัน ๘ เหมือนอย่างแต่ก่อน แม้สามเณรองค์เล็กก็สามารถปฏิบัติให้เกิดความอัศจรรย์ได้ อันพุทธบริษัทในสมัยนั้นบางจำพวกก็ยังพากันกล่าวถึงว่า มรรคผลธรรมวิเศษนั้นหมดเขตหมดสมัยแล้ว จึงได้พากันไม่สนใจต่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพราะถือว่าเปล่าประโยชน์ แต่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านได้มาเปิดศักราชแห่งการปฏิบัติจิต แก้ไขความคิดเห็นของผู้ที่ยังหลงงมงายเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง เพราะว่าสามเณรองค์เล็ก ๆ เมื่อปฏิบัติแล้วก็ได้รับผลแห่งความเย็นใจ และฆราวาสผู้ปฏิบัติก็ได้รับผลเป็นที่พึงพอใจอย่างฉับพลัน ความจริงที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่น้อมนำมาเชื่อและปฏิบัติตามนี้ จึงได้ลบความเชื่อถือที่ว่ามรรคผลหมดเขตหมดสมัย
การที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เผยแพร่ความจริงของการปฏิบัติ ที่เป็นการเผยแพร่โดยให้บุคคลที่น้อมตัวเข้ามาเชื่อได้เห็นเอง คือให้กระทำแล้วได้รู้เองว่า รสของพระสัทธรรมนั้นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้เกียรติคุณของท่านจึงแพร่ไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ลูกศิษย์ของท่านมีมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ตัวท่านและศิษย์ที่มารับการอบรมก็ได้รับรสพระสัทธรรม และช่วยให้บุคคลอื่นนอกนั้นมาร่วมเป็นสมาชิกในการดำเนินการปฏิบัติจิต และก็บรรดาผู้ที่น้อมตัวเข้ามาเป็นศิษย์ของท่าน ก็เป็นอันรับรองได้เลยทีเดียวว่า จะต้องได้รับผลแน่นอน เพราะปรากฏในภายหลังว่า ศิษย์ของท่านได้กลับกลายเป็นผู้มีความสำคัญ ในการเผยแพร่การปฏิบัติที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณ ทำประโยชน์แด่พระพุทธศาสนาเป็นอันมาก
ทั้งนี้เนื่องมาจากว่า ท่านได้กำหนดวางรากฐานการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่กาลสมัย เพราะการกำหนดมาตรการอันเป็นสิ่งที่ท่านได้กำหนดพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจริง ๆ ปรากฏตามประวัติที่ท่านต้องออกไปอยู่ในถ้ำแต่ผู้เดียวบ้าง ศึกษาจากครูบาอาจารย์บ้าง และการที่ท่านได้ทำความรอบคอบในการวางรากฐานแห่งการปฏิบัตินี่เอง เป็นผลให้เกิดความมั่นคงในวงการของนักปฏิบัติผู้นับเนื่องในความเป็นศิษย์ของท่าน และการที่ท่านจะวางมาตรการของท่าน ก็ต้องวางให้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ ดังนั้นท่านจึงได้อ้างถึงพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่ใคร เพราะอะไร ท่านได้แสดงเสมอว่า พระปัญจวัคคีย์เมื่อจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระองค์ก็ทรงชี้ลงไปที่รูปของพระปัญจวัคคีย์เอง มิได้ทรงแสดงเกินกว่ารูปพระปัญจวัคคีย์เลย เช่นทรงแสดงว่า รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตน ปัญจวัคคีย์ก็มีรูปมาแต่ไหน ๆ แต่ทำไมไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ มาสำเร็จเอาตอนที่พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ คนเราก็เช่นเดียวกัน แม้เราพากันพิจารณาดูรูปก็ต้องไม่ผิดหนทางแน่นอน ท่านได้อ้างอิงอย่างมีหลักฐานเช่นนั้น จึงเป็นที่น่าเชื่อถืออย่างยิ่งแก่บุคคลที่เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน
ณ ที่ท่าบ่อนี้เอง บัดนี้ได้กลับกลายมาเป็นวัดป่าอันเป็นสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐานเป็นเหตุให้เกิดมีผู้บุญขึ้นมาอีกมาก ได้นามว่า วัดอรัญญวาสี มีพระอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สุวรรณ พระอาจารย์หลายและองค์อื่นๆ อีกมาก ที่ได้มาเห็นว่าสถานที่นี้ดี เหมาะแก่ การบำเพ็ญสมณธรรม และได้มาบำเพ็ญแล้วก็ได้รับประโยชน์ทางใจจากสถานที่นี้มากมายทีเดียว
พ.ศ. ๒๔๖๔ เสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย กิ่งคำชะอี
จังหวัดนครพนม
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย เขตจังหวัดนครพนม ปรากฏว่าได้มีพระภิกษุ ๕ รูปและสามเณรอีก ๕ รูป ร่วมจำพรรษากับท่าน ในปีนี้ท่านได้เริ่มศักราชแห่งการแก้ความเห็นผิดแก่ชาวบ้านตามท้องถิ่นที่ท่านได้ไปพักพาอาศัย โดยการแนะนำถึงพระไตรสรณคมน์ว่า การนับถือพระพุทธเจ้าและพระธรรม พระสงฆ์นั้นเป็นประการสำคัญ การนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ ของประชาชนแถบนี้ ในสมัยนับถือกันหนักมาก ซึ่งท่านก็พยายามแสดงเหตุผลและพยายามให้เข้าใจจริง จนทำให้ประชาชนเหล่านั้นได้ละความถืออย่างผิดๆ นั้น เช่นเขานับถือว่า บิดามารดาตายแล้วก็มาอาศัยอยู่ที่หิ้ง คอยทำให้ลูกหลานเจ็บป่วย ตลอดจนการปลูกศาลเจ้าที่.พระภูมิเจ้าที่ เป็นต้น เมื่อประชาชนละความเห็นผิดนั้นแล้ว ก็ให้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเสียหมด พร้อมทั้งปลูกศรัทธาในการเจริญกัมมัฏฐานภาวนา ซึ่งปรากฏ ว่าประชาชนในถิ่นนั้นจนตราบเท่าทุกวันนี้ ได้เป็นผู้เกิดความสนใจ ในการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาสืบต่อกันมา และท่านได้พักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านห้วยทรายนี้ประมาณ ๑๐ เดือนจึงได้เดินธุดงค์ต่อไป
ท่านอาจารย์เสาร์ ท่านพักอยู่ที่ถ้ำภูผากูดถึง ๕ พรรษา ออกพรรษาแล้วไปพักจำพรรษาในเขตท้องถิ่นของอำเภอมุกดาหาร และกิ่งอำเภอคำชะอีไปๆ มาๆ เมื่อท่านอาจารย์มั่นฯ ออกจากบ้านห้วยทรายแล้ว ท่านต่างก็ได้ร่วมทางเดินธุดงค์ออกขึ้นไปทางทิศเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านหนองลาด บ้านม่วงไข่พรรณา ซึ่งเป็นบ้านที่ใกล้บ้านเดิมของท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร และออกเดินธุดงค์ไปทางบ้านหนองแวง บ้านโพนเชียงหวาง ตามหนทางถิ่นนี้เป็นป่าดงพงพีเต็มไปด้วยไม้เต็งรัง ไม้แดง ไม้ตะเคียน เป็นป่าทึบ ท่านได้พักพิงและพาหมู่คณะศิษย์ทำความเพียรเป็นระยะไป และได้ลูกศิษย์เพิ่มขึ้นตามระยะทาง ทั้งที่เป็นพระภิกษุสามเณรและเด็ก
จากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป ถึงบ้านหนองใส บ้านตาลโกน บ้านตาลเนิ้ง อันเป็นบ้านเดิมของท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม บริเวณถิ่นนี้มีหมู่บ้านเป็นหย่อมๆ พวกเขาส่วนมากเป็นชาวนา การไปตามแถวถิ่นนี้ท่านจะแนะนำหมู่ชนให้ละจากการนับถือภูตผีปีศาจ โดยความหลงผิดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นตัวอย่างให้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของท่านได้เจริญรอยตามที่ท่านได้ทำมาแล้ว คือให้ละจากการถือผิด ให้เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง พร้อมทั้งปลูกศรัทธาในการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาไปด้วย
จากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านหนองปลาไหล บ้านพังโคน กิ่งวาริชภูมิ แม้ในขณะที่ท่านพาหมู่คณะที่เป็นศิษย์ธุดงค์ไปตามหมู่เขาลำนาไพรนี้ เมื่อพักอยู่นานๆ เข้าก็จะมีทั้งพระภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกา สนใจจากทางไกลๆ เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน เพราะเหตุว่าการปฏิบัติแต่ก่อนนี้เป็นสิ่งลี้ลับ กลับมาเปิดเผยจะแจ้งขึ้น ท่านผู้ใดได้บำเพ็ญตามท่าน แม้แต่อุบาสกอุบาสิกา ซึ่งเป็นฆราวาสมาบำเพ็ญก็ได้ผลอย่างน่าประหลาด ผู้ที่เป็นพระภิกษุจะมาอยู่ดูดายไม่ปฏิบัติ ก็จะด้อยกว่าฆราวาสด้านปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นการทำให้ฆราวาสดูถูกดูแคลนได้ จึงปรากฏว่า บรรดาพระภิกษุทั้งหลายเกิดการตื่นตัวขึ้น มาหาท่านเพื่อขอมอบตัวเป็นศิษย์ ทั้งพระผู้ใหญ่อันเป็นพระเถระ และพระผู้น้อย ทั้งพระเก่า ๆ ที่เป็นพระเถระซึ่งติดตามท่านไปห่าง ๆ ก็สามารถสอนธรรมกัมมัฏฐานได้เช่นท่านเหมือนกัน การเดินธุดงค์จึงเป็นการเผยแพร่พระธรรมปฏิบัติไปในตัวด้วย
ในขณะนั้นพระอุปัชฌาย์เกิ่ง อธิมุตตโก ท่านอาจารย์ดี วัดม่วงไข่พรรณาก็ได้มาขอเรียนกัมมัฏฐานภาวนาจากท่านอาจารย์มั่นฯ จนปรากฏว่าได้ผลอย่างมหัศจรรย์ จึงได้พาหมู่คณะอันเป็นศิษย์เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติอีกด้วย ระยะนี้เริ่มมีผู้สนใจในการปฏิบัติกับท่านเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นคณะหมู่ใหญ่ขึ้น เขตในท้องถิ่นนั้นและเขตใกล้เคียงได้เกิดศรัทธา ปฏิบัติเห็นอรรถธรรม ต้องการบรรพชาอุปสมบท แต่ขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านยังไม่ได้เป็นอุปัชฌาย์ จึงได้นิมนต์ท่านพระครูอดิสัยคุณาธาร (อากโร คำ ) ที่วัดศรีสะอาด เจ้าคณะจังหวัดเลยมาเป็นอุปัชฌาย์
การทำการอุปสมบทในสมัยนั้น เป็นการเริ่มต้นวางระเบียบการบวชตาผ้าขาวแต่ก่อนที่จะทำการบรรพชาอุปสมบท การบวชตาผ้าขาว คือการรักษาศีล ๘ และให้รับประทานอาหารเพียงมื้อเดียว และฝึกหัดดัดแปลงนิสัยใจคอ ทั้งฝึกสมาธิให้เป็นประดุจพระหรือสามเณรไปตั้งแต่ยังเป็นตาผ้าขาวนี้เสียก่อน ถ้าการฝึกยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็ยังไม่บรรพชาอุปสมบทให้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี การฝึกผู้จะบวชนั้นปรากฏว่าเรียบร้อยดีมาก
ระเบียบนี้จึงได้มีขึ้นในคณะกัมมัฏฐานจนถึงปัจจุบัน คือผู้ที่จะบวชเป็นการถาวร ต้องทำการฝึกหัดให้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตลอดจนพระวินัยเป็นการเตรียมเพื่อจะทำการบรรพชาอุปสมบท
ในแถวๆ บ้านโพนเชียงหวางนี้มีผู้มีบุญวาสนาได้ปวารณาตนเข้ามาปฏิบัติอยู่ด้วยท่านอาจารย์มั่น ฯ และลูกศิษย์ของท่านมาก ทั้งปรากฏเป็นผู้เข้มแข็งในการเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งปรากฏในภายหลังว่าได้เป็นพระอาจารย์ผู้สันทัดในการสอนกัมมัฏฐานมากขึ้นในแถบนั้น.
การธุดงค์ที่ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ดำเนินขึ้นในปีนั้น เป็นการวางแผนแบบใหม่ขึ้นคือ เมื่อถึงคราวที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ท่านก็จัดผู้ทรงคุณธรรมภายในและมีปฏิภาณเฉลียวฉลาดในการแสดงธรรมเป็นหัวหน้าชุดละ ๓ - ๔ องค์ ท่านเป็นหัวหน้าไปพักบ้านหนึ่งบ้านใด อาจจะเป็น ๗ วัน ๑๐ วัน ๑ เดือน สุดแล้วแต่ความเหมาะสมอันจะเป็นประโยชน์ได้ และหัวหน้าตามหลังท่านมาก็พักอยู่ตามทาง ตามบ้านที่ท่านพักตามกำหนดที่ท่านอาจารย์มั่นฯ พัก และทำการสอนกัมมัฏฐานภาวนา ติดตามท่านมาตลอดแห่งหนทางการไปธุดงค์ และการที่จะตัดสินใจไปที่ใดนั้นเป็นหน้าที่ของท่านอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งการไปไม่ว่าจะเป็นที่ใด ท่านจะพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะพึงเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง คือชาวบ้านเหล่านั้น และกุลบุตรในแถบถิ่นนั้นจะพึงมีบุญวาสนาพอจะรับธรรมปฏิบัติจากท่านได้ ท่านก็จะพาคณะเดินทางไปยังประเทศตำบลนั้น
นี้เป็นวิธีที่ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโมนำเอามาเป็นแบบดำเนินการหลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ท่านได้มอบศิษย์ทั้งหลายให้อยู่ในความปกครองของท่านอาจารย์สิงห์ทั้งหมด ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านได้ดำเนินธุดงค์พิธีนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ โดยได้เดินทางมาจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปรากฏว่าได้มีวัดเสนาสนะป่า อันเป็นแหล่งสถานที่บำเพ็ญสมณธรรมแก่ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา เป็นอันมาก นับเป็นจำนวนพันๆ แห่งทีเดียว
อีกวิธีหนึ่ง การธุดงค์นั้น ท่านจัดให้ไปแสวงหาความสงบโดยเฉพาะ วิธีนี้ได้จัดขึ้นให้เป็นประโยชน์เฉพาะภิกษุสามเณร คือผู้ที่บวชใหม่ หรือบวชเก่า แต่ยังปฏิบัติไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะได้ ก็ต้องไปธุดงค์ คือจะต้องแสวงหาสถานที่ไกลจากบ้านพอสมควร อาจจะเป็นป่าไม้ หรือภูเขา หรือเป็นถ้ำ หรือเป็นป่าช้า พักอยู่บำเพ็ญสมณธรรมโดยเฉพาะ ไม่สอนอุบาสกอุบาสิกา แนะนำกันในระหว่างพระภิกษุสามเณร อบรมกันให้ยิ่งด้วยการกำหนดจิตพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แก้ความสงสัยที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิดผลขึ้นจากบำเพ็ญ ถ้าหากว่าแก้กันไม่ไหวก็จะนำไปหาท่านอาจารย์ใหญ่ เพื่อแก้ไขความสงสัยทั้งหลาย
การอยู่นั้นสุดแล้วแต่สถานที่ ถ้าเป็นที่สงบสงัดดี บำเพ็ญสมณธรรมได้ผล ก็อยู่นาน ถ้าเป็นที่ไม่ค่อยสงบหรือไม่ได้ผลในการบำเพ็ญสมณธรรมเท่าไร ก็จะอยู่ไม่นาน การธุดงค์แบบนี้จะอยู่กันชั่วคราวทุกสถานที่ แต่ถ้าเป็นสัปปายะดีก็อาจจะอยู่เป็นเวลาหลายวัน หลายเดือน นี้หมายความว่าได้ประโยชน์ในการบำเพ็ญจริงๆ
แม้การจำพรรษาก็เหมือนกัน ท่านจะต้องแสวงที่ๆ จะพึงได้ประโยชน์แก่การบำเพ็ญสมณธรรมจริงๆ จึงพยายามหาวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งพระอมฤตธรรม จึงปรากฏว่าได้ดำเนินถูกต้องตามทำนองคลองธรรมอย่างแต่กาลก่อน เช่นที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า
อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา สุญฺญาคาเร จ ภิกฺขโว
ในป่า ใต้โคนต้นไม้ เรือนว่างเปล่าเป็นที่สงบสงัด สมควรแก่บุคคลผู้ต้องการด้วยความเพียรและอมฤตธรรมจะพึงอยู่อาศัย
ครั้งนั้นแม้แต่พระที่เป็นหลวงตา บวชเมื่อแก่ ซึ่งเป็นชาวบ้านโพนเชียงหวางองค์หนึ่ง ได้ติดตามมาปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่นฯ และเคร่งครัดต่อการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง มีความเพียรอันกล้าหาญ จนบังเกิดผลมีความรู้ฉลาดในการปฏิบัติจิต แม้หลวงตานี้จะมิได้เรียนทางปริยัติมาเลย แต่อาศัยการเจริญภาวนาค้นคว้าพระธรรมวินัยเฉพาะด้านจิต ท่านก็แตกฉานจนถึงเป็นที่พึ่งเก่นักศึกษาธรรมปฏิบัติรุ่นหลังต่อมาได้ ซึ่งปรากฏเป็นที่เคารพนับถือของหมู่คณะได้เป็นอย่างดี
พ.ศ. ๒๔๖๕
เสนาสนะป่า บ้านหนองลาด อ. สว่างแดนดิน จ. สกลนคร
ท่านอาจารย์เสาร์ และท่านอาจารย์มั่น ฯ พร้อมทั้งศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้ง ๒ รุ่นแรก และผู้เข้ามาฝึกหัดใหม่ รวมกันจำนวนมาก จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่า บ้านหนองลาด (ปัจจุบันเป็น ร.ร.ประชาบาล) อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร นับเป็นเวลา ๗ ปี ที่ท่านอาจารย์ได้เริ่มแนะนำการปฏิบัติธรรมที่ง่าย และได้ผลจริงจังจนถึงปีนี้ และได้มีผู้ที่ได้รับธรรมชั้นสูงจากท่านจนสามารถสอนธรรมกรรมฐานแทนท่านได้ก็มากองค์ มาในปีนี้ท่านอาจารย์ใหญ่ทั้ง ๒ ใคร่จะได้ปรับปรุงแผนการให้ได้ผลยิ่งขึ้น ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ จึงได้มีการรวมประชุมบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายให้มาจำพรรษา ณ ที่นี้
แม้ท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ก็ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับธรรมปฏิบัติเป็นประจำ ท่านอาจารย์เสาร์ ก็ได้มอบให้ท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นผู้วางแผนงาน ตลอดถึงแนะนำธรรมปฏิบัติ เพื่อให้ทุกองค์ได้ยึดเป็นแนวการปฏิบัติ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ทางฝ่ายบรรพชิต ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ยืนยันถึงการที่ได้ปฏิบัติมาและแนะนำมาก่อนแล้วนั้น เป็นทางดำเนินถูกต้องแล้ว ว่าแต่ใครๆ อย่าไปแหวกแนวเข้าก็แล้วกัน เพราะเมื่อดำเนินมาเป็นเวลา ๗ ปีนี้ เกิดผลสมความตั้งใจแล้วคือการปฏิบัติตามอริยสัจจธรรม โดยเฉพาะท่านย้ำถึงการพิจารณากายนี้เป็นหลักประกันที่สำคัญยิ่ง ท่านได้ยกตัวอย่างมากมาย นับแต่พระบรมศาสดา และพระสาวกทั้งหลายซึ่งผู้ที่จะผ่านเข้าสู่อริยสัจจ์นั้นจะไม่พิจารณากายไม่มีเลย ข้อนี้ท่านยืนยันอย่างแน่วแน่
การที่ท่านย้ำลงในข้อการพิจารณาโดยอุบายต่าง ๆ นั้น เพราะกลัวศิษย์จะพากันเข้าใจผิดว่าเป็นการพิจารณาที่ไม่ถูก อาจจะเข้าใจไขว้เขว แล้วจะเป็นการเสียผลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้วิตกว่ากลัวผู้ที่ไม่เข้าใจโดยละเอียดถ่องแท้จะพากันเขวหนทางและพาให้หมู่คณะที่อยู่ในปกครองเขวหนทางตามไปด้วย เพราะท่านได้นิมิตในภายในสมาธิของท่าน ณ ค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านนิมิตว่า
ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า เราได้พาพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก เข้าไปบิณฑบาตในละแวกบ้าน ขณะนั้นก็ได้เกิดนิมิตในสมาธิเป็นที่น่าประหลาดใจขึ้น คือ พระภิกษุสามเณรที่ตามเรามาดี ๆ ก็เกิดมีพวกหนึ่งแซงซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ขึ้นหน้าเราไป บางพวกก็เลยเดินออกไปนอกทางเสีย และก็มีอีกพวกหนึ่งที่เดินตามเราไป
การนิมิตเช่นนี้ ท่านได้เล่าให้ศิษย์ของท่านฟังทุก ๆ องค์ พร้อมทั้งอธิบายว่า
ที่มีพวกภิกษุสามเณรแซงท่านขึ้นไปข้างหน้านั้น คือบางพวกจะพากันอวดตัวว่าเก่งว่าดีแล้ว ก็จะละจากข้อปฏิบัติที่เราได้พาดำเนิน ครั้นแล้วก็จะเกิดความเสื่อมเสีย ไม่ได้ผลตามที่เคยได้ผลมาแล้ว ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะมาอ้างเอาว่าเป็นศิษย์ของเรา แต่ที่ไหนได้พากันหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่างๆ ที่เรากำหนดให้ไว้ ที่สุดแม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อย ๆ เช่นสีจีวรเป็นต้น การจะปฏิบัติเพื่อการพิจารณากายอันนับเนื่องด้วยอริยสัจจธรรมก็ยิ่งห่างไกล
จำพวกหนึ่งเดินออกนอกทาง คือจำพวกนี้เพียงแต่ได้ยินกิตติศัพท์เราแล้ว ก็อ้างเอาว่าเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯ บางทีจะยังไม่เคยเห็นหน้าเราเสียด้วยซ้ำ และก็หาได้รู้อุบายแยบคายในการปฏิบัติแต่อย่างใดไม่ หรือพวกที่เคยอยู่กับเรามา เมื่ออยู่กับเราก็คงเคร่งครัดเพราะกลัว แต่พอออกจากเราไปแล้ว ก็ไม่นำพาในข้อธรรมและการปฏิบัติของเรา เพียงแต่มีชื่อว่าเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯ เท่านั้นแต่ไม่มีข้อปฏิบัติอันใดที่จะถือได้ว่าเป็นแนวทางเป็นตัวอย่างอันนำมาจากเราเลย
จำพวกหนึ่งที่เดินตามหลังเราไปนั้น จำพวกนี้เป็นผู้ดำเนินตามคำแนะนำของเราทั้งภายนอกและภายใน เป็นผู้ใคร่ต่อธรรม ต้องการพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร พยายามศึกษาหาความรู้ทุก ๆ ประการที่มีความสนใจ ต่อหน้าหรือลับหลังก็เหมือนกัน รับข้อปฏิบัติแม้เล็กน้อยรักษาไว้ด้วยชีวิตจิตใจ เพราะจำพวกนี้ได้รับผลแห่งการปฏิบัติมากับเราแล้ว เกิดผลอันละเอียดอ่อนจากข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะแปรผันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
พวกที่ออกนอกลู่นอกทางนั้นคือ เขาเหล่านั้นไม่ได้รับผลอย่างจริงจังจากการปฏิบัติอยู่กับเรา เพราะเหตุที่ไม่ได้ผลจริงนั้นเอง ทำให้เกิดความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ แต่พวกที่เดินตามเราย่อมได้รับความเจริญ
การที่ท่านได้เล่าถึงเหตุการณ์ในอนาคตของศิษย์ของท่าน เพื่อเตือนสติให้ระลึกถึงความที่ว่า ธรรมปฏิบัติที่ท่านได้อุตส่าห์ลงทุนลงแรง พากเพียรพยายามทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนบังเกิดผลมหาศาล จะพึงอยู่นานได้เพียงไรนั้น ก็แล้วแต่ศิษย์ทั้งหลายจะพากันมีสติหรือพากเพียร เพื่อให้เกิดผลจริงจัง จะรักษาการปฏิบัติเหล่านี้ได้ ถ้าใครจักพึงกล่าวว่าเป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่นฯ เขาก็จะได้รักษาไว้ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ผลลัพธ์ที่จะได้ก็จะได้สมจริง
นอกจากการที่ท่านได้เน้นหนักในการรักษาแผนกการสอนและแนวทางด้านการปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรแล้ว ท่านมาแสดงถึงพุทธบริษัททางด้านฆราวาส
ทางฆราวาสท่านเน้นหนักการเชื่อถือ เพราะปรากฏว่าพุทธบริษัทบางจำพวกพากันไปนิยมนับถือในสิ่งที่ผิดเสียมาก เช่นนับถือภูตผีปีศาจ นับถือศาลเจ้าที่ นับถือการเข้าทรง นับถือเทพเจ้าต่างๆ นับถือศาลพระภูมิ นับถือต้นไม้ใหญ่ นับถืออารามเก่าแก่ ซึ่งการนับถือสิ่งเหล่านี้นั้น มันผิดจากคำสอนพระพุทธเจ้าโดยแท้ เป็นการนับถือที่งมงายมาก ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทไม่ควรที่จะนับถือสิ่งเหล่านี้เลย เพราะเมื่อไปนับถือสิ่งเหล่านี้เข้า ก็เท่ากับเป็นอ่อนการศึกษามากหรือขาดปัญญาในพระพุทธศาสนา เขาเหล่านั้นได้ปฏิญาณตนว่าได้ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้วกลับมีจิตใจกลับกลอกหลอกหลอนตนเอง ไม่นับถือจริง เพราะถ้านับถือจริง ก็ต้องไม่นับถือสิ่งที่งมงาย ที่พระพุทธองค์ทรงตำหนิแล้ว ดังนั้นจึงปรากฏในภายหลังว่า ภิกษุผู้เป็นชั้นหัวหน้าผู้ที่ได้รับการอบรมจากท่านอาจารย์มั่น ฯ แล้ว จะต้องรู้จักวิธีการแก้ไขผู้นับถือผิดเกี่ยวกับภูตผีปีศาจเป็นต้นได้ทุกองค์ ถ้าแก้สิ่งงมงายเหล่านี้ไม่เป็น หรือพลอยนับถือไปกับเขาเสียเลย ก็จะรู้ได้ทันทีว่าไม่ใช่ศิษย์ท่านอาจารย์มั่น ฯ แน่นอน เพราะว่าการแก้เรื่องภูตผีปีศาจเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากการนับถือที่ฝังอยู่ในสันดานมานานแล้ว และสถานที่อันเป็นเทวสถานหรือภูตผีอยู่ ก็จะถือว่ามันศักดิ์สิทธิ์ พากันหวาดเสียวไม่กล้าจะถ่ายถอนหรือกำจัดออกไป
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้แนะนำทั้งวิธีการจัดการเกี่ยวกับการถอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิธีการแนะนำโดยอุบายต่าง ๆ เมื่อท่านแนะวิธีแล้ว ท่านจะใช้ให้ไปทดลองปฏิบัติงานดูถึงผลงานที่ท่านเหล่านั้นไปปฏิบัติงาน
ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้อธิบายว่าอันที่จริงการนับถืองมงายนี้เกิดจากการไม่เข้าใจถ่องแท้ในพระพุทธศาสนา หรือขาดการศึกษาอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนานั้นเอง ยิ่งชาวชนบทห่างไกลความเจริญแล้ว ก็ยิ่งมีแต่เชื่อความงมงายกับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นล่ำเป็นสันจึงเป็นสิ่งที่แก้ยากมากทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงว่าชาวชนบทจะพากันหลงงมงายหรอก แม้แต่ชาวเมืองหลวงอย่างในกรุงเทพฯ ก็ตาม ยังพากันหลงงมงายในสิ่งเหล่านั้นมาก เช่น เจ้าพ่อนั้นเจ้าพ่อนี้ บางแห่งก็พากันสร้างเป็นเทวสถานแล้วก็ไปบูชาถือเอาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปก็มีมากมาย
ในเรื่องเหล่านั้นพระเถระบางองค์ถือว่าไม่สำคัญ แต่ท่านได้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกทีเดียว เพราะการจะเข้าถึงซึ่งความเป็นพระอริยะในขั้นแรกคือพระโสดาบัน ก็จะต้องแก้ไขถึงความเชื่อถือในเรื่องความงมงายเหล่านี้ให้หมดไป เพราะท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านต้องการสอนคนให้พ้นทุกข์จริงๆ สอนคนให้ เป็นอริยะกันจริงๆ ซึ่งบางคนพากันบำเพ็ญภาวนา ได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์ของตนว่ามีธรรมปฏิบัติชั้นสูงเกิดขึ้นในใจแล้ว แต่เขานั้นยังมีความหลงงมงายในการนับถือเหล่านั้น ใช้ไม่ได้เป็นอันขาด
ชั้นสูงในที่นี้ท่านหมายเอาถึงอริยสัจจ์ เพราะวิกิจฉาความลังเสสงสัยต้องไม่มีแก่ใจของบุคคลผู้มุ่งหน้าปฏิบัติเพื่อความเป็นอริยะ
ในปีนี้ท่านได้แนะนำแก่พระภิกษุแทบจะถือได้ว่าล้วนแต่หัวหน้าทั้งนั้น จึงเท่ากับท่านได้แนะแนวสำคัญให้แก่บรรดาศิษย์โดยแท้ จึงปรากฏว่า หลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ธุดงค์ไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว มอบศิษย์ทั้งหลายให้แก่ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งศิษย์เหล่านี้เป็นศิษย์ชั้นหัวกะทิทั้งนั้น จึงเป็นกำลังให้ท่านอาจารย์สิงห์ฯ ในการที่จะปราบพวกนับถือผิดมีภูตผีได้เป็นอย่างดี นับแต่ท่านได้พาคณะออกจากจังหวัดอุบล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ นั้นแล้ว ก็เริ่มแก้ไขสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ โดยการเข้าไปอยู่ที่นั้น แนะนำประชาชนให้ทราบถึงข้อเท็จจริง จนเป็นที่เชื่อมั่นแล้ว พากันละจากการนับถือภูตผีกันมากมายทีเดียว ในจังหวัดทั้งหลายมี อุบล-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม-นครราชสีมา ตามที่ท่านคณาจารย์เหล่านี้ผ่านไปแล้ว จะปรากฏได้ถูกแนะนำให้เลิกจากการนับถือที่งมงายลงมากมาย นั้นเป็นสมัยตื่นตัว และพากันได้ทราบความจริงอย่างมากมาย ซึ่งชาวชนบทจะไม่เคยได้รับธรรมคำสั่งสอนเช่นนี้มาก่อนเลย
พ.ศ.๒๔๖๖
เสนาสนะป่า บ้านหนองบัวลำภู อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี
ในพรรษานี้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาที่เสนาสนะป่า บ้านหนองบัวลำภู อ.หนองบัวลำภู จ อุดรธานี นับเป็นปีที่ ๘ แห่งการแนะนำการปฏิบัติธรรม ซึ่งบังเกิดผลอย่างดียิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากท่านมีญาณสามารถรู้อุปนิสัยของบุคคล ท่านจึงเลือกสอนบุคคลที่ควรแก่การสอน บุคคลใดไม่มีนิสัยที่จะพึงปฏิบัติให้เกิดผล ท่านก็ไม่สอนให้เสียเวลา โดยเฉพาะท่านก็ใช้เวลาสอนพระภิกษุสามเณรเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะท่านมีอุดมคติในใจของท่านอยู่ว่า พระภิกษุสามเณรถ้าหากสอนให้ได้ผลดีแล้ว พระภิกษุสามเณรนั้นแม้องค์เดียวก็สามารถสอนฆราวาสได้นับเป็นจำนวนร้อยจำนวนพัน
เหตุนั้นท่านจึงพยายามอบรมและแนะนำพระภิกษุสามเณรจริง ๆ และก็บังเกิดผลจริง ๆ ผ่านมา ๘ ปี ได้ผลอย่างอัศจรรย์ยิ่ง เพราะได้เพิ่มผู้รู้ผู้ฉลาดในการปฏิบัติอย่างหนาแน่นก่อนจะเข้าพรรษานี้ ท่านอาจารย์กู่ พระอาจารย์หลวงตาพิจารย์ ท่านอาจารย์กว่า สุมโน เป็นสามเณร และท่านอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี กับท่านอาจารย์ภูมี ฐิตธมฺโม พระอาจารย์หลวงตาชา พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระครูปลัดอ่อนตา ที่อยู่วัดบ้านเดื่อ
ในและนอกพรรษาท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้อยู่ ณ ที่นี้เป็นเวลานาน ได้ทำการอบรมในข้อปฏิบัติเพื่อให้ซึ้งยิ่งขึ้น เพราะการปฏิบัติจิตใจเมื่อปฏิบัติไปจนเป็นจริงขึ้นมาแล้วจึงจะได้ศึกษาความจริง นั้นหมายความว่าต้องเป็นขึ้นมาในตัวของแต่ละบุคคลการแนะนำโดยการอธิบายล่วงหน้า คือการบอกแนวทางนั้น ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านก็อธิบายเพื่อความมั่นใจ และที่แท้คือการพูดด้วยความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประการสำคัญ อย่างนี้เรียกว่าภูมิจิต ซึ่งเป็นคำที่ท่านพร่ำเสมอว่า ภูมิจิต ภูมิจิตของใครดำเนินไปได้แค่ไหน นี้เป็นเรื่องที่จะต้องได้ถามกันอยู่ตลอดเวลา
เรื่องการสอบสวนถึงภูมิจิตนี้ เมื่อใครพระเณรรูปใดเข้ามาศึกษายังใหม่ พวกเราก็ไต่ถามกันเองและแนะนำกันเองไป เพราะมาตอนหลัง ๆ นี้ ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านสอนเฉพาะภูมิจิตชั้นสูงแล้ว ฉะนั้นในเบื้องต้นใครมีความรู้พอสมควรก็แนะนำกันในฐานะเป็นพี่เลี้ยง การกระทำเช่นนี้มิได้ถือว่าเป็นการเสียเกียรติของผู้ที่เริ่มเข้ามาปฏิบัติใหม่ เป็นการแบ่งภาระจากท่านอาจารย์มั่นฯ เพราะการศึกษาขั้นต้นนั้น ผู้ที่ได้เคยศึกษากับท่านอาจารย์มั่น ฯ มาก่อนแล้ว ก็ย่อมให้คำแนะนำได้อย่างเดียวกับท่านอาจารย์มั่น ฯ เช่นเดียวกัน ยิ่งครั้งหลังสุดเมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ อายุ ๗๐ กว่าปีขึ้นไปแล้ว ท่านไม่สอนเลยทีเดียวในเบื้องต้น เมื่อผู้ใดพระเณรองค์ใดเข้ามาฝึกใหม่ ท่านจะให้พระเก่าที่ได้รับการศึกษาแล้วแนะนำให้
แม้เมื่อครั้งท่านเจ้าคุณอริยเวที (มหาเขียน) ท่านพระครู.... (พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๘ ทั้ง ๒ องค์ ยังต้องรับการฝึกหัดแนะนำจากท่านวิริยังค์ สิรินฺธโร เสียก่อน เพราะท่านวิริยังค์แม้ขณะนั้นพรรษาพระเพียง ๒ - ๓ พรรษาเท่านั้น แต่ได้ปฏิบัติมานาน เชี่ยวชาญการแนะนำทางจิต ซึ่งสามารถสอนให้ปฏิบัติเบื้องต้นได้ ทั้ง ๒ องค์ คือพระมหาเขียนและพระมหาบัว ก็ต้องศึกษากับท่านวิริยังค์เสียก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ลู่ทางในอันที่จะศึกษาชั้นสูงต่อไปกับท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นการแบ่งเบาภาระการสอนของท่านอาจารย์มั่น ฯ
แม้ตัวเราเอง ขณะที่อยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ต้องรับภาระนี้ตลอดมาเช่นกัน เพราะเหตุที่มีศิษย์ต่างได้รับภาระของครูบาอาจารย์ได้เช่นนี้จึงทำให้การสอนและดำเนินการได้ผลกว้างขวางขึ้นมาก เนื่องด้วยเหตุที่ว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านมีชื่อเสียงกิตติศัพท์ในการปฏิบัติธรรม และเชื่อกันในขณะนั้นว่าถ้าผู้ใดอยู่ปฏิบัติกับท่านแล้วต้องได้รับผลอันเป็นความเยือกเย็น หรือความสว่างบริสุทธิ์แน่นอน จึงทำให้พระภิกษุสามเณรผู้มีความหวังผลในการปฏิบัติธรรม ได้หลั่งไหลไปทำการศึกษากับท่านอาจารย์มั่น ฯ มากขึ้นยิ่ง วาระสุดท้ายก็ยิ่งมากขึ้น ตามลำดับ.
ขณะที่พักปฏิบัติธรรมร่วมอยู่กับท่านนั้น ท่านได้พาบำเพ็ญเองจะมีการประมาทไม่ได้ ต้องพยายามอย่างเต็มความสามารถของแต่ละบุคคล. ถ้าผู้ใดประมาทหรือไม่พยายามเพื่อการปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ท่านจะต้องทราบในญาณของท่านทันที ท่านก็จะตักเตือนในขั้นแรก เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป แต่ถ้าไม่เชื่อ ท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป ถ้าไม่เชื่อ ท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนี้ถ้าไม่เชื่อท่านก็ไล่ออก ไม่ให้อยู่ ต่อไป ฉะนั้นถ้าหากองค์ใดสามารถอยู่กับท่านได้เป็นเวลานานพอสมควร ก็จะต้องได้ผลสมความตั้งใจแน่นอน เพราะนโยบายและอุบายการฝึกหัดของท่านนั้นมีเพียบพร้อม พร้อมที่จะแนะนำให้แก่ศิษย์ทุก ๆ องค์ที่มีนิสัยเป็นประการใด ท่านก็จะแสดงธรรม หรืออบรมตามที่มีนิสัยวาสนามาอย่างไร จึงทำให้ได้ผลอย่างมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ในข้อนี้ผู้ที่เคยไปอยู่ศึกษาปฏิบัติมากับท่านแล้วจะทราบได้ดีด้วยตนเอง
การปฏิบัติอันเป็นวัตรที่ท่านอาจารย์มั่นฯ พาศิษย์ของท่านปฏิบัตินั้นออกจะแปลกกว่าบรรดาพระปฏิบัติหรือพระอื่น ๆ ในสมัยนั้นมาก เช่นการฉันหนเดียว การฉันในบาตร เฉพาะการฉันในบาตรนี้ เวลาไปในบ้านหรือเขานิมนต์ให้ไปฉันในบ้านต้องเอาบาตรไปด้วย เขาจัดสำรับคาวหวานอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ท่านก็เอาเข้าใส่บาตรหมด ด้วยเหตุที่ท่านได้นำมาปฏิบัติเช่นนี้ ศิษย์ผู้หวังดีและใคร่ในธรรมกับได้ผลการปฏิบัติมาแล้ว ก็ต้องรักษาข้อปฏิบัติเหล่านี้
ท่านพระครูปลัดอ่อนตา ท่านมีความเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นอย่างยิ่ง และสนใจต่อข้อปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่นฯ ยิ่งนัก แต่เนื่องด้วยท่านพระครูรูปนี้ท่านมีนิสัยสนใจมานานแล้ว เมื่อมาได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเข้า ยิ่งทำให้ท่านได้มีความเลื่อมใสต่อข้อปฏิบัติภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไปอีกตามการปฏิบัติดังที่ได้ปฏิบัติตามแนวของพระอาจารย์มั่นฯ นั้น
แต่แนวการปฏิบัตินี้มิใช่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านตั้งขึ้นเอง ซึ่งเป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติจริงเช่นนั้นย่อมเป็นการขัดข้องต่อบุคคลบางคนเป็นธรรมดา เพราะบางคนหาว่ารุ่มร่าม หาว่าอวดเคร่งในท่ามกลางชุมนุมชน หาว่าไม่รู้กาลเทศะ หาว่าคร่ำครึ หาว่าเป็นคนล้าสมัย พากันว่ากันไปต่าง ๆ นานา ท่านพระครูจึงได้นำข้อครหาเหล่านี้เข้ากราบเรียนต่อท่านอาจารย์มั่นฯ ว่า
พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัยทุกประการ ย่อมเป็นการขัดข้องเขา หากว่าเราปฏิบัติเคร่งครัดเกินไป ไม่รู้จักกาลเทศะ คร่ำครึไม่ทันกาลทันสมัย
ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้ตอบว่า
พวกเราผู้ปฏิบัติพระธรรมวินัยนั้น จะถือเอาชาวบ้านนักบวชผู้นอกรีตเป็นศาสดา หรือจะถือเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของพวกเรา ถ้าจะถือเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของตน ก็ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระองค์เจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วทุกประการ หรือถ้าต้องการเอาผู้อื่นนั้นนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ก็จงปฏิบัติตามผู้นั้นไป
ครั้นท่านพระครูปลัดอ่อนตาได้ฟังท่านอาจารย์พูดแนะอุบายเท่านี้ ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ได้ดำเนินตามท่านอาจารย์มั่นๆ และก็การปฏิบัติตามท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็คือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัดและตรงแน่ว
เมื่อท่านพระครูปลัดอ่อนตาได้อยู่อบรมกับท่านอาจารย์มั่นฯ พอสมควรแล้ว ท่านได้ลาพระอาจารย์มั่นฯ เดินธุดงค์ไปตามสถานที่ที่อันสงัดวิเวก ตามชนบทหมู่บ้านอันอยู่ชายป่าและภูเขา จนได้รับความเย็นอกเย็นใจเป็นไปกับด้วยความเพียรตามสมควรแล้ว ท่านก็กลับไปทางภูมิลำเนาเดิม แต่ไม่ได้เข้าไปพักที่วัดเดิมของท่าน ได้เลยไปพักอยู่ที่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งใกล้กับบ้านโนนทัน (ต่อมาได้เป็นวัดชื่อวัดโยธานิมิต จนถึงปัจจุบันนี้) และใกล้กับกรมทหารด้วย
สมัยนั้นกรมทหารพึ่งจะยกมาตั้งอยู่ใหม่ ทั้งยังไม่มีวัดอื่นที่ใกล้เคียงนั้นด้วย ผู้บังคับการทหารพร้อมด้วยชาวบ้านจึงได้นิมนต์ให้ท่านพักอยู่ในสถานที่นั้น แล้วช่วยกันจัดการทุก ๆ อย่างจนเป็นวัดขึ้นโดยสมบูรณ์ เพื่อให้ถูกกับทหารสร้างจึงให้นามว่า โยธานิมิต
ต่อมาไม่นานท่านพระครูปลัดอ่อนตาพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหมดมีความเห็นพร้อมกันว่า เราก็ได้ปฏิบัติข้อวัตรธรรม.ทุกอย่างตามรอยของท่านอาจารย์มั่นฯ จนได้รับผลอย่างพอใจพวกเราแล้ว ยังขาดสิ่งสำคัญคือยังไม่ได้เป็นพระธรรมยุตเหมือนท่าน เพื่อให้เป็นการสมบูรณ์ในการเลื่อมใสในตัวท่านและข้อปฏิบัติของท่าน เราควรทำทัฬหิกรรมเสียใหม่ เมื่อพร้อมใจกันแล้วก็ได้นิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มาเป็นอุปัชฌายะ เมื่อสำเร็จแล้วท่านพระครูปลัดอ่อนตาก็พาคณะไปอยู่ที่วัดโยธานิมิตนั้นตามเดิม
ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ก็ให้ท่านอาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโน ผู้ทรงคุณวุฒิ อายุพรรษามากเป็นลูกศิษย์ต้นของท่านอาจารย์มั่นฯ ให้ไปอยู่ด้วยเพื่อเป็นการให้นิสัย แต่ท่านพระครูปลัดอ่อนตาท่านก็คงแก่เรียนมาแล้วและเป็นผู้รักในการปฏิบัติตามแนวของท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างดีแล้ว ก็เป็นอันรับผิดชอบในตัวเองได้
ในกาลต่อมาไม่ช้านัก ท่านอาจารย์สุวรรณก็จาริกไปหาวิเวกส่วนตัว และท่านพระครูปลัดอ่อนตาก็อยู่ในวัดนั้นทำประโยชน์ในด้านการปฏิบัติและแนะนำพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาสืบต่อไป
พ.ศ. ๒๔๖๗
เสนาสนะป่าบ้านค้อ รอบสอง
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พักจำพรรษาที่บ้านค้อ อำเภอผือ อุดรธานี เป็นรอบที่สอง แต่ย้ายสถานที่ใหม่ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดแล้ว การจำพรรษานี้นั้นก็เช่นเดียวกับพรรษาก่อน ๆ เนื่องด้วยมีพระภิกษุสามเณรสนใจในตัวของท่านมากขึ้น จึงได้หลั่งไหลมาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่านมากขึ้นเป็นลำดับ และท่านก็ได้แนะนำข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ให้ตามที่ได้แสดงไว้แล้วโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะว่าเป็นข้อปฏิบัติที่พิสูจน์ได้แน่ชัดแล้วว่าเป็นทางพ้นทุกข์ได้จริง และได้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งใจจริงเป็นแต่ว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านคอยประคับประคอง และเป็นผู้นำเพื่อให้เกิดผลอย่างจริงจังแก่ผู้หวังดี ดังนั้นเมื่อผู้ได้เข้าไปศึกษาปฏิบัติกับท่านแล้วจึงไม่มีการผิดหวังได้ผลแทบร้อยเปอร์เซ็นทีเดียว
พอออกพรรษาท่านก็จะพาออกธุดงค์ แสวงหาที่สงัดวิเวกแยกกันออกเป็นหมู่เล็ก ๆ เพื่อมิให้เป็นปลิโพธในหมู่มาก ปีนี้ท่านได้เดินธุดงค์ไปทางบ้านนาหมี บ้านนายูง และบ้านผาแดง-แก้งไก่ ท่านได้พาคณะเข้าไปพักอยู่ที่ป่าในหุบเขาแห่งหนึ่ง และมีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้ ๆ นั้น เป็นที่อยู่กลางดงลึกมาก เดินเป็นวัน ๆ เต็ม ๆ จึงจะถึง ไกลจากคมนาคมมากทีเดียว
ที่หมู่ภูเขานั้นมีภูเขาลูกหนึ่งมีลักษณะเหมือนตึกหลาย ๆ ชั้น ซึ่งไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้นเท่าไรนัก ในภูเขาลูกนั้นมีผีตีนเดียวอยู่ตัวหนึ่ง ผีตัวนั้นมันได้เข้าไปอาละวาดพวกชาวบ้านอยู่บ่อย ๆ คือมันทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง ถึงให้ตายบ้าง บางครั้งเอาไฟไปเผาบ้านของเขาบ้าง ขว้างค้อน ปาไม้ใส่คนใส่สัตว์เลี้ยงบ้าง เวลามันจะเข้าไปประทุษร้ายคนในบ้านนั้น ได้แสดงกิริยาอาการไม่ผิดอะไรกับคนธรรมดา ต่างแต่ไม่เห็นตัวมันเท่านั้น เสียงมันเดินได้ยิน รอยเท้าก็เห็น แต่ใหญ่และยาวกว่ารอยเท้าของคนธรรมดา เศษบุหรี่ของมันก็ได้เห็น ท่อนไม้ที่มันเอาขว้างไม่หมดก็เห็นทิ้งไว้เป็นกองๆ เมื่อชาวบ้านพร้อมกันเข้าไล่ มันก็วิ่งหนีไป พอสงบคนหน่อยมันก็เข้ามาทำการอาละวาดต่อไปอีก บางคืนพวกชาวบ้านไม่ได้นอนเพราะมันอาละวาดไม่หนี แม้การไปนอนค้างคืนในป่า บางคนเพื่อเฝ้าไร่เฝ้านา หรือด้วยกิจอย่างอื่นก็ดี ย่อมไม่ได้รับความผาสุกเลยเลย ถูกแต่เจ้าผีตัวนี้มันรบกวนอยู่เสมอ
ครั้งท่านอาจารย์มั่นฯ ไปพักอยู่ที่นั้น พวกชาวบ้านได้เข้าไปร้องทุกข์ต่อท่าน ขอให้ท่านได้เมตตาแก่เขามาก ๆ เมื่อพระคุณท่านจะมีวิธีใดพอจะเปลื้องทุกข์นี้ออกได้ เขามีความยินดีที่จะปฏิบัติตามทุกอย่าง เมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ทราบถึงความทุกข์เดือดร้อนของชาวบ้านอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ได้พยายามเจริญเมตตาฌานอย่างมาก พร้อมทั้งแนะนำให้พระที่ติดตามมาช่วยกันเจริญเมตตาฌาน และได้แนะนำชาวบ้านโดยธรรมเบื้องต้นคือ ให้ชาวบ้านมาปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์เป็นอุบาสกอุบาสิกาและให้รักษาศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ทั้งสอนให้ไหว้พระสวดมนต์ บำเพ็ญกัมมัฏฐานภาวนาเจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำทุกวัน
นับแต่นั้นมา เมื่อท่านได้พักอยู่ที่นั้น ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านนั้นก็ได้สงบระงับไป เมื่อท่านได้ออกไปจากสถานที่นั้นแล้ว ภัยพิบัติเหล่านั้นก็สงบอยู่เย็นเป็นสุขกันตลอด ๑๐ ปี ต่อมาคนเก่าที่สำคัญก็ตายไปบ้าง ทั้งไม่เคยมีผีตัวนั้นมาอาละวาดบ้าง ทั้งไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงบ้าง เลยพากันละเลยข้อวัตรปฏิบัติ ไหว้พระสวดมนต์เจริญเมตตาภาวนา ที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้แนะนำสั่งสอนไว้ ภายหลังปรากฏว่าผีตัวนั้นได้กลับเข้าไปทำการอาละวาดพวกชาวบ้านนั้นอีก ในครั้งนี้ถึงกับได้พากันอพยพครอบครัวหนีไปหมด เพราะฝืนอยู่ต่อไปไม่ได้เสียแล้ว จึงต้องได้ทอดทิ้งให้มันเป็นป่าตามสภาพเดิมของมันต่อไป
ท่านอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ ท่านองค์นี้ถือว่าเป็นศิษย์รุ่นแรกพร้อมกับท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ปีนี้ท่านได้พยายามติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้ทราบความตื้นลึกหนาบางของข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นภายนอก และการดำเนินจิตอันเป็นภายใน การดำเนินจิตนอกจากจะหาอุบายเพื่อทำลายกิเลส เพื่อความพ้นทุกข์แล้ว ยังมีการทำให้เป็นอย่างอื่น ๆ อีกมากมาย แม้แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ เองก็ได้เคยทำมาให้เป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์แล้ว เช่นเมื่อท่านอาพาธ ท่านใช้ระงับอาพาธของท่านเองด้วยกำลังจิต และระงับอาพาธให้แก่บุคคลอื่นด้วยกำลังจิต
ในกาลครั้งนั้นท่านอาจารย์สุวรรณท่านเป็นไข้มาเลเรียเรื้อรัง จนป้างหย่อน (ม้ามย้อย คือม้ามโต) อันเป็นผลมาจากไข้มาเลเรียนั้นเอง โรคนี้เองที่ทำความรำคาญให้แก่ท่านตลอดเวลา ซึ่งทำให้จับไข้วันเว้นวัน และทำให้กำลังทรุดลงทรุดลง ท่านจึงได้เข้าปรึกษาการรักษาโรคนี้กับท่านอาจารย์มั่นฯ
ท่านอาจารย์จึงได้แนะนำอุบายให้คือ
เมื่อบำเพ็ญจิตให้เกิดกระแส แต่ก่อนที่เราบำเพ็ญมาในเบื้องต้นนั้นเราทำจิตให้เกิดกำลังแล้ว จิตก็จะเกิดกระแส ๆ จิตนี้มีกำลังมากขึ้นจากการอบรม เราได้ใช้กระแสจิตนี้พิจารณากายทุกส่วนจนเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาแล้วอบรมให้มากก็เป็นผล คือจิตดำเนินเข้าสู่อริยสัจจ์ เมื่อเราจะนำมาเป็นประโยชน์แก่การรักษาโรคของตัวของเรา เราก็พึงใช้กระแสจิตนี้เพ่งเข้าที่เกิดโรค เราเป็นโรคอะไรที่ไหน ต้องพิจารณาให้เห็นสมุฏฐานของมันเสียก่อน ว่าตำแหน่งที่เกิดโรคอยู่ตรงไหน เมื่อทราบชัดแล้วก็ใช้กระแสจิตเพ่งเข้าไป การเพ่งเข้าไปในที่นี้ก็เหมือนกับเราพิจารณากายเหมือนกัน ต่างแต่การกำหนดแก้โรคนี้ต้องกำหนดลงจุดเดียว ณ ที่สมุฏฐานของโรคนั้น
ท่านอาจารย์สุวรรณได้อุบายนี้แล้ว ก็ได้ไปดำเนินจิตอยู่อย่างนั้นองค์เดียวที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง กำหนดลงครั้งแรกได้เห็นสมุฏฐานการเกิดของโรคคือ ม้าม ท่านได้กำหนดลงจุดเดียวด้วยอำนาจแห่งกระแสจิต อันเป็นแสงคมกล้า เพียงสามวันเท่านั้นก็ปรากฏชัดขึ้นในจิต ครั้นแล้วก็หายจากม้ามหย่อนนั้นฉับพลัน ท่านคลำดูอยู่ทุกวัน แต่กาลก่อนม้ามนี้ได้ยานลงมาประมาณฝ่ามือหนึ่ง บัดนี้ได้หดเข้าอยู่เท่าเดิม ตั้งแต่นั้นมาไข้ป่ามาเลเรียก็หยุดจับ ร่างแข็งแรงเป็นปรกติ อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านได้เอาไปเล่าถวายท่านอาจารย์มั่น ฯ ๆ ก็รับรอง
ครั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พักวิเวกอยู่ที่ผาแดง-แก้งไก่ พอสมควรแล้วก็ได้ออกเดินทางไปทางอำเภอท่าบ่อ ได้เข้าไปพักอยู่ที่ราวป่าใกล้กับป่าช้าของอำเภอท่าบ่อนั้น (ปัจจุบันเป็นวัดอรัญวาสี) ณ ที่นี้เองนับเป็นครั้งสำคัญยิ่งครั้งหนึ่งที่บรรดาท่านผู้ที่มีบุญมีวาสนามาศึกษาฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านหลายองค์คือ ท่านอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร ท่านอาจารย์อ่อน ญาณลิริ ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านอาจารย์กว่า สุมโน ท่านเหล่านี้ได้ตั้งใจปฏิบัติตามโอวาทของท่านอาจารย์มั่น ฯ อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ท่านอาจารย์มั่น ฯ จะแนะนำเช่นใด ท่านทุกองค์ต้องทำตามให้จนได้ จนปรากฏว่าทุกองค์ได้ผลทางใจอย่างยวดยิ่ง เลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างถึงขีดสุด แล้วก็ได้ขอให้ท่านจัดการที่จะทำการบวชใหม่ เพราะทุกองค์ได้เป็นพระมหานิกายมาก่อน ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มาเป็นอุปัชฌาย์ ทัฬหิกรรมให้จนเป็นที่เรียบร้อยทุกประการ
ท่านอาจารย์ทุกองค์นี้ภายหลังได้ทำประโยชน์แก่หมู่ชนอย่างใหญ่หลวงทุก ๆ องค์ โดยที่ท่านได้แนะนำผู้เห็นพระภิกษุสามเณร และญาติโยมให้ได้รับธรรมอันลึกซึ้งมากมายทีเดียวและท่านเหล่านี้ทุกองค์ได้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานองค์ละหลายๆ สำนัก ซึ่งก็ปรากฏเป็นสำนักปฏิบัติธรรมอยู่จนบัดนี้มีมากมายหลายแห่งทั่วทุกภาคในประเทศไทย


ตอนที่ ๕
กองทัพธรรม

พ.ศ. ๒๔๖๘
เสนาสนะป่า อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
ในปีนี้ท่านอาจารย์มั่น ฯ พักอยู่ที่เสนาสนะป่า (วัดอรัญวาสี ปัจจุบัน) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์เสาร์พักจำพรรษาที่วัดราช ใกล้บ้านน้ำโขง (ปัจจุบันชื่อวัดพระงาม) ท่านอาจารย์สิงห์-มหาปิ่นจำพรรษาบ้านหนองปลาไหล สถานที่ท่านอาจารย์เสาร์พักอยู่นั้นมีพระพุทธรูปเก่าสมัยเวียงจันทร์ชำรุดไปบ้าง ท่านพร้อมกับท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้เป็นผู้บูรณะให้ปกติดังเดิม เมื่อทำเรียบร้อยแล้วประชาชนได้ไปเห็นก็พากันกล่าวชมว่างาม ภายหลังจึงเรียกชื่อวัดนั้นว่า วัดพระงาม ต่อมาจนถึงทุกวันนี้
อนึ่งเมื่อท่านพักอยู่ในท้องถิ่นนั้น ก็ได้แนะนำธรรมปฏิบัติ จนเกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระพุทธศาสนา และก็ปรากฏว่าประชาชนแถบนั้นได้เป็นผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมจนถึงทุกวันนี้
ครั้นออกพรรษาแล้ว ได้พาคณะธุดงค์วิเวกไปทางบ้านหนองปลาไหลและไปถึงบ้านอากาศ (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ก็มารอพบท่านอยู่ที่นี่เพื่อศึกษาธรรมบางประการ ท่านอาจารย์เทสก์ เทสรํสี กับพระอีก ๔ รูป ก็ได้ธุดงค์ตามท่านต่อไปจนถึงบ้านสามผง ดงพเนาว์ พักอยู่ที่ป่าช้าแห่งหนึ่ง
ณ สถานที่วิเวกแห่งนี้ได้กลับกลายเป็นสถานที่สำคัญ คือได้เกิดมีพระอาจารย์ผู้มีบุญวาสนาบารมีได้เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติ เช่น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และคณะของท่าน เพราะท่านอาจารย์เกิ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ผู้คนในละแวกนั้นนับถือมาก เป็นอาจารย์ใหญ่ เมื่อได้ยินข่าวท่านอาจารย์มั่น ฯ มาพักอยู่ที่ป่าและทราบกิตติศัพท์มานานแล้ว จึงใคร่ที่จะทดลองไต่ถามอรรถปัญหาต่าง ๆ ท่านอาจารย์เกิ่งพร้อมคณะจึงได้ไปพบท่านที่ป่าแห่งนั้น
เมื่อได้ ไต่ถามอรรถปัญหาธรรมต่าง ๆ ท่านอาจารย์เกิ่ง และคณะก็เกิดความอัศจรรย์ ในการโต้ตอบอรรถปัญหาของท่านอาจารย์มั่น ฯ เพราะแต่ละคำที่ได้รับคำตอบตรงใจจริงๆ ตอนหนึ่งท่านอาจารย์เกิ่งได้ถามว่า
ท่านปฏิบัติจิตกัมมัฏฐานเพื่ออะไร
ได้รับคำตอบว่า เพื่อความบริสุทธิ์
ท่านอาจารย์เกิ่งถามว่า ความบริสุทธิ์เกิดจากอะไร
ได้รับคำตอบว่า เกิดจาก อริยสัจจธรรม
ท่านอาจารย์เกิ่ง ถามว่า สัจจธรรมอยู่ที่ไหน
ได้รับคำตอบว่า อยู่ที่ตัวของคนทุกคน
ถามว่า อยู่ในตัวของทุกๆ คน ทำไมทุกคนจึงไม่บริสุทธิ์
ตอบว่า เพราะเขาไม่รู้วิธีการ
ถามว่า ทำไมจึงจะต้องมีวิธีการ
ตอบว่า เหมือนกับทรัพยากรพวกแร่ธาตุต่างๆ อยู่ใต้ดิน คนไม่มีวิธีการ ก็เอาแร่ธาตุทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ไม่ได้ แร่ธาตุจะมีประโยชน์ต่อมนุษย์ ก็ต่อเมื่อมนุษย์มีวิธีการนำขุด นำเอามาใช้ให้ถูกต้องตามวิธีการ แม้อริยสัจจธรรมก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่ในตัวเราเอง ก็จะต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง จึงจะบังเกิดเป็นอริยสัจจได้
เท่านั้นเองท่านอุปัชฌาย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ก็เลื่อมใส และเข้ามาขอปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ จนเกิดความเย็นใจเป็นอย่างยิ่ง ได้ขอมอบตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ฯ พร้อมใจกันกับศิษย์เพราะได้ปฏิบัติจิตกันทั้งศิษย์อาจารย์ ยอมสละบวชทำทัฬหิกรรมใหม่ เป็นพระธรรมยุตทั้งวัด.
ในครั้งนั้น จึงทำให้ชาวบ้านชาวเมืองได้เลื่องลือกันว่า. พระอาจารย์มั่น ฯ เป็นผู้วิเศษสำคัญ เพราะได้ทรมานพระอาจารย์เกิ่งได้ เนื่องจากชาวบ้านชาวเมืองเลื่อมใสพระอาจารย์เกิ่งมาก ในปีนี้จึงเป็นปีสำคัญมากปีหนึ่ง เพราะหลังจากท่านอาจารย์เกิ่ง ได้มาเป็นศิษย์แล้ว ยังมีท่านยาคูสีลา ที่เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่แถบนี้เหมือนกัน เป็นเพื่อนกันกับอาจารย์เกิ่ง เมื่อทราบว่าเพื่อนสละวัดเช่นนั้นก็เฉลียวใจ จึงได้ไปพบ หลังจากพบแล้ว ท่านอาจารย์เกิ่งก็นำท่านยาคูสีลาไปมอบตัวกับพระอาจารย์มั่นฯ ได้ฟังและได้ปฏิบัติตาม ก็เกิดความเย็นใจเหลือเกิน ท่านยาคูสีลาก็ได้สละวัดและศิษย์จำนวนมากมาบวชเป็นพระธรรมยุตทั้งสิ้น.
ระยะนี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้กระฉ่อนไปว่า หากใครอยากพ้นทุกข์ ต้องการความบริสุทธิ์ต้องการของจริงในพระพุทธศาสนาแก้ว จงได้พยายามติดตามและปฏิบัติกับท่าน จะได้รับผลอย่างแท้จริง

พ.ศ. ๒๔๖๙
เสนาสนะป่าบ้านสามผง
กิ่งอำเภอศรีสงคราม ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ท่านอาจารย์มั่นฯ และพระภิกษุสามเณรหลายรูป จำพรรษาที่เสนาสนะป่า บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ท่านอาจารย์สิงห์กับท่านอาจารย์มหาปิ่นจำพรรษากันที่บ้านอากาศ ท่านอาจารย์กู่ ธมฺทินโน จำพรรษาที่บ้านโนนแดง อาจารย์อุ่น ธมฺมธโร จำพรรษาที่บ้านข่า ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร ธุดงค์ออกจากวัดพระงาม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วก็ไปเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปที่ภูฟ้า ภูหลวง แล้วก็กลับมาจังหวัดอุดรธานี จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่า บ้านดงยาง อำเภอหนองหาน
หลังจากออกพรรษาแล้วในปีนี้ พระอาจารย์มั่นฯ พระอาจารย์เสาร์ฯ ก็ได้เรียกบรรดาพระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ทุกองค์ ให้มาประชุมพร้อมกันที่บ้านโนนแดง ในการประชุมในครั้งนี้ ท่านได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติเกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน
เมื่อเสร็จจากการประชุมในครั้งนี้ ทุกองค์ต่างก็แยกย้ายกันออกไปธุดงค์หาวิเวกตามสถานที่จังหวัดต่างๆ โดยมิให้มีการนัดแนะว่าจะไปพบกัน ณ สถานที่ใด แต่ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบทุก ๆ องค์ก็เผอิญไปพบกันเข้าอีก ที่จังหวัดสกลนคร ในขณะนั้นนางนุ่ม ชุวานนท์ ผู้ที่เคยมีความเลื่อมใสในท่านอาจารย์ทั้งสอง (พระอาจารย์มั่น ฯ และพระอาจารย์เสาร์ ฯ ) มานานแล้ว และมารดาของนางนุ่ม ได้ถึงแก่กรรมลง กำลังจะจัดการฌาปนกิจ ก็พอดีได้ทราบข่าวท่านอาจารย์ทั้งสอง พร้อมด้วยสานุศิษย์เป็นอันมาก กำลังร่วมกันเดินทางมุ่งหน้าเข้าเขตสกลนคร จึงได้เดินทางไปขอนิมนต์ให้มาพักอยู่ที่เสนาสนะป่า (ซึ่งปัจจุบันนี้ได้กลายเป็น วัดป่าสุทธาวาสแล้ว) เมื่อพระอาจารย์พร้อมด้วยสานุศิษย์นั้นพักอยู่ เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาไม่เฉพาะแต่นางนุ่มเท่านั้น แต่เพื่อฉลองศรัทธาของชาวเมืองสกลนครทั้งมวล ซึ่งชาวเมืองสกลนครทั้งหลายได้เห็นพระปฏิบัติมาอยู่รวมกันมากมายเช่นนั้น ก็ทำให้เกิดศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ได้พากันไปศึกษาธรรมปฏิบัติจนได้รับการช่ำชอง และเป็นนิสัยปัจจัยมาจนทุกวันนี้
ขณะนั้นพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ ถึงแก่กรรม เจ้าภาพก็ได้อาราธนาพระอาจารย์ทั้งสองพร้อมด้วยสานุศิษย์ เพื่อบำเพ็ญกุศล ท่านอาจารย์ทั้งสองก็ให้อุปการะเป็นอย่างดี เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ จึงได้อนุมัติให้พระไปฉันในบ้านได้ ในงานฌาปนกิจศพบิดาของพระพินิจ เป็นครั้งแรกตั้งแต่นั้นมา เพราะเบื้องต้นพระคณะกัมมัฏฐานได้รักษาธุดงค์วัตรอย่างเข้มงวดกวดขันจริงๆ ไม่มีการอนุโลมให้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในบ้าน
เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองและสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ไปคนละทิศละทางตามอัธยาศัย ส่วนท่านอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ซึ่งท่านองค์นี้เป็นนักปฏิบัติมาเก่าแก่ แต่การปฏิบัติของท่านยังไม่ถูกทางจริง ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้แนะนำโดยให้เจริญวิปัสสนาจนได้รับผลเป็นที่พอใจ และอุปัชฌาย์พิมพ์ก็ได้ยกย่องท่านอาจารย์มั่น ๆ ว่า
เป็นผู้มีความชำนาญในการปฏิบัติอย่างยิ่ง
ต่อจากนั้นท่านก็ลาพระอุปัชฌาย์พิมพ์ ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมาย ท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน
พ.ศ. ๒๔๗๐
เสนาสนะป่า บ้านหนองขอน อำเภอบุ่ง
(อำนาจเจริญ) จังหวัดอุบลราชธานี
ในพรรษานี้ท่านได้พักอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนา พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม จำพรรษาที่บ้านหัวสะพาน บริเวณใกล้เคียงกัน
เมื่อเราได้อยู่ศึกษาธรรมมะปฏิบัติกับท่าน ได้รับผลเห็นที่พอใจ และก็ได้ออกไปบำเพ็ญสมณะธรรมโดยตนเองในสถานที่ต่างๆ ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ กำลังเดินทางไปจังหวัดอุบลฯ เราจึงได้พยายามธุดงค์ติดตามท่านไป ในระหว่างทางเราได้ไปพบพระลี (อาจารย์ลี ธมฺมธโร ) ณ ที่บ้านหนองสองห้อง อำเภอม่วงสามสิบ ท่านก็เป็นพระมหานิกายเหมือนกัน เราได้อธิบายธรรมปฏิบัติที่ได้ศึกษามาจากท่านอาจารย์มั่น ฯ แล้วก็พาปฏิบัติจนเกิดความอัศจรรย์ในการปฏิบัตินั้นแล้ว พระลีมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ธุดงค์ร่วมกันกับเรา เพื่อจะได้ไปพบท่านอาจารย์มั่น ฯ
(เราในที่นี้หมายถึง พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อาจารย์องค์แรกของผู้เขียน)
ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบล เรากับพระลีก็ได้ติดตามไปพบท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพา พอดีขณะนั้นท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู) ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ได้พักอยู่ที่วัดบูรพาร่วมกับท่านอาจารย์มั่น ฯ และท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านก็พิจารณาเห็นว่า เรากับพระลีควรจะได้บวชเสียใหม่ เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วน ท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระก็ได้เป็นอุปัชฌาย์ บวชให้เรากับพระลีเป็นพระธรรมยุต
คณะสานุศิษย์เก่า ๆ ทั้งหลาย อันมีอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, อาจารย์อ่อน ญาณสิริ, อาจารย์ฝั้น อาจาโร, อาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์อาจารย์หลุย อาจารย์กว่า สุมโน, อาจารย์คูณ, อาจารย์สีลา, อาจารย์ดี ( พรรณานิคม ) อาจารย์บุญมา (วัดป่าบ้านโนนทัน อุดรธานี ในปัจจุบันนี้ ) อาจารย์ทอง อโสโก อาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า) อาจารย์หล้า หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลฯ ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาศิษย์ทั้งหมด มีท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคย ๆ ปฏิบัติกันมา
ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนาก็ได้ปรารภว่า
จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ ให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้ปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้ ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูก ๆ
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัย ในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย
อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ซึ่งก็เป็นธรรมดาตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่าง ๆ ซึ่งทำให้โอกาลและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้วก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ปรารภในใจของท่านในตอนหนึ่ง ระหว่างที่ท่านพำนักอยู่ ณ ที่อุบลนั้น
ครั้นท่านปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านจึงได้เรียกศิษย์ทั้งหลาย มีท่านอาจารย์สิงห์เป็นต้นมาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจแต่ท่านอาจารย์สิงห์และท่านอาจารย์มหาปิ่น เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป
เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่มารดาของท่านจนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลามารดาของท่าน และได้มอบให้ นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปฐากรักษาทุกประการ แม้มารดาท่านก็ได้กล่าวในขณะนั้นว่า
ลูกเอ๋ย อย่าได้ห่วงแม่เลย ลูกไม่มีหนี้สินในแม่แล้ว ลูกได้อุตส่าห์พากเพียรเรียนธรรมวินัย ก็ได้มาสงเคราะห์ให้แม่นี้ได้รู้จักหนทางแห่งข้อปฏิบัติแล้ว แม่ก็จะดำเนินข้อปฏิบัติของตนไปตามหนทางที่ได้รู้แล้วนั้น จนตราบเท่าชีวิตของแม่ ก็ขอให้ลูกจงประพฤติพรหมจรรย์ไปโดยสวัสดีเทอญ
เมื่อได้รับคำจากมารดาของท่านแล้วเช่นนั้น ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านก็ได้ทำสัมมาคารวะให้มารดาได้อโหสิกรรมในโทษเพราะความประมาทพลาดพลั้ง และล่วงเกินต่อมารดาตั้งแต่กำเนิดเกิดมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไป
พ.ศ.๒๔๗๑ - ๒๔๗๒
ตอนพระอาจารย์มั่นฯ เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
การอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ผู้เขียนมีความรู้สึกอย่างหนึ่งคือ วันและคืนนี้ช่างหมดไปเร็วเหลือเกิน ระยะเวลาที่ผ่านไป ๒ ปี ตั้ง ๗๓๐ วัน ดูเหมือนว่า วันสองวันเท่านั้น นี่เป็นเพราะอะไร ? เป็นการตั้งคำถามขึ้นในตัวเอง ก็ได้ความว่า ทุก ๆ เวลานั้นได้ใช้มันเป็นประโยชน์ทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนต้องการทราบอะไรต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติทางจิต ท่านจะแก้ไขให้อย่างจะแจ้งทุกครั้งไปจนเป็นที่พอใจ
ผู้เขียนมีความสนใจอย่างมากที่ท่านได้ไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ถึง ๑๒ ปี เป็นเหตุอันใด ท่านจึงใช้เวลาอยู่ที่เชียงใหม่นานมาก ผู้เขียนจึงหาโอกาสถามถึงเหตุต่าง ๆ แต่แม้ผู้เขียนไม่ได้ถาม ท่านก็ได้เล่าเรื่องต่างๆ ระหว่างอยู่ที่เชียงใหม่ให้ฟังเสมอ นับว่าเป็นความรู้ที่ได้รับหลายประการ ท่านได้พูดถึงสถานที่ บุคคล ตลอดถึงอากาศต่าง ๆ ก็นับว่าน่าศึกษาอยู่มากทีเดียว ผู้เขียนจึงจะได้นำมาเล่าต่อ เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจในเรื่องของพระอาจารย์มั่นฯ จะทราบความเป็นอยู่ที่น่าศึกษาอย่างยิ่งของท่านที่เชียงใหม่ แต่การเล่านี้ก็จะไม่ใคร่ติดต่อกันนัก เพราะท่านเองก็ไม่พูดติดต่อกัน เพียงแต่ท่านเห็นว่าผู้เขียนสนใจการอยู่เชียงใหม่ของท่าน ท่านก็เล่าให้ฟังเป็นตอน ๆ ไปครั้งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อความละเอียดและแน่นอน ผู้เขียนก็อาศัยถามพระเถระบางท่านที่ท่านได้อยู่ใกล้ชิดที่เชียงใหม่
ความจริงประวัติทุกตอนของพระอาจารย์มั่นฯ นั้นน่าศึกษาทุกตอน แต่ต้องพิจารณาหาความจริงและฟังในอุบายต่างๆ เพราะว่าพระอาจารย์มั่นฯ ท่านพูดอะไรออกมา ก็มักจะแทรกคำเตือนใจแก่พระภิกษุสามเณรแทบทุกครั้ง
ท่านเล่าต่อไปว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านจำพรรษาที่วัดสระปทุม ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้ไปจัดการดำเนินงานปรับปรุงวัดเจดีย์หลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตวัดแรก เมื่อการปรับปรุงเข้ารูปเป็นที่มั่นคงพอสมควรแล้ว ท่านได้พยายามที่จะหาพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ ให้มาเป็นสมภาร ทั้งนี้ตามความประสงค์ต้องการที่จะวางรากฐานคณะธรรมยุตขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะพระทางภาคนี้ ก่อนนั้นการฉันอาหารในเวลาวิกาลเขาไม่ถือว่าเป็นการผิดวินัย รู้สึกว่าวินัยจะหละหลวมมากในแถบนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้พระเถระผู้มั่นคงรอบคอบน่านับถือมาอยู่ เพื่อให้เป็นประโยชน์จริงๆ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์จึงปรารภว่าควรจะเป็นท่านมั่นฯ เพราะเป็นผู้เจริญทางการปฏิบัติกัมมัฏฐาน
เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๑ - ลุมาปี พ.ศ.๒๔๗๒ จึงได้นิมนต์ เรา (หมายถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ) ไป ซึ่งขณะนั้นเราก็พักอยู่ที่วัดสระปทุมกับท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู) ให้ไปที่วัดบรมนิวาส เมื่อเราเข้าไปพบ ท่านเจ้าคุณก็บอกว่า ให้เธอไปอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระครูฐานาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่พระครูธรรมธร และตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมหมดทุกอย่าง
พระอาจารย์มั่น ฯ ท่านเล่าว่า ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ขาหักเนื่องมาจากขึ้นธรรมาสน์จะเทศน์ ขาไปกระทบกับลูกกรง หากเราจะทัดทานก็ดูเป็นการขัดผู้ใหญ่ซึ่งกำลังป่วยอยู่ และท่านก็อุตส่าห์ไปขอฐานาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้ด้วย นัยว่าครั้งแรก สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจะไม่ทรงอนุมัติ แต่ทรงเห็นว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ขาหักกำลังป่วย หากไม่อนุมัติจะขัดใจคนป่วย จึงทรงอนุมัติมา
เมื่อเราได้รับอาราธนาเชิงบังคับเช่นนั้นก็ขัดไม่ได้ จึงเดินทางไปที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒
พระอาจารย์มั่นฯท่านเล่าว่า วัดเจดีย์หลวงเป็นวัดร้างมาแต่เดิม มาสถาปนาเป็นวัดธรรมยุตขึ้นสมัยท่านเจ้าคุณอุบาลีนี้เอง เป็นแหล่งที่มีความสงบพอสมควรไม่พลุกพล่าน มีที่สงบพอที่จะบำเพ็ญสมณธรรมได้พอสมควรขณะที่อยู่นั้นก็ได้แนะนำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาบำเพ็ญกัมมัฏฐาน
ท่านเล่าว่า
แม้เราจะพยายามแนะนำเท่าไรก็ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์เท่าที่ควร ไม่มีใครเอาจริงเอาจัง เป็นอย่างไรหนอจึงเป็นเช่นนั้น แม้เราจะได้แสดงธรรม และทั้งทำเป็นตัวอย่างก็ไม่เห็นใครคิดว่าจะเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงพิจารณาว่าควรไหมที่จะเอาเกลือมาแลกพิมเสน วันและคืนที่ล่วงไป จะเป็นการเสียประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งตนเองและผู้อื่น
เมื่อคิดถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่มีความหวังดี โดยต้องการจะให้วัดเจดีย์หลวงเจริญทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ อันความหวังดีของท่านนั้นก็ดี อยู่ที่ท่านยังไม่รู้ความจริงอีกหลายๆ ประการซึ่งเราเองก็เคารพท่านอยู่ ส่วนการเคารพก็เคารพ แต่ส่วนความจริงก็ต้องมีส่วนหนึ่ง ศาสนาเป็นสิ่งให้คุณประโยชน์ แต่ถ้าเราทำไม่ถูกจังหวะกาลเทศะ.มันอาจจะทำให้เสียกาลเวลาที่ล่วงไป โดยจะพึงได้ประโยชน์น้อยไป ความจริงท่านพระเถระทั้งหลาย ท่านชอบจะทำในสิ่งที่ท่านเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นจะเป็นโทษแก่คนอื่นเพราะมองแง่เดียว ครั้นเมื่อผู้น้อยไม่ทำตามก็หาว่าดื้อรั้นชอบตำหนิ นี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ควรจะคำนึงไว้ให้มาก หากว่าจะมีการติดต่อ อยู่ร่วมใกล้ชิดในสังคมนั้น
ท่านอาจารย์มั่นฯได้เล่าให้ผู้เขียนฟังต่อไปว่า
เมื่อเราได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว กับการคิดถึงตัวว่าจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนต่อไป หากว่าได้เป็นสมภารและอยู่นานไป ความเป็นห่วงทั้งการงานญาติโยมมากขึ้น เรามาคิดว่าการเป็นเช่นนั้นก็ได้ประโยชน์อยู่หรอก แต่มันน้อยนักสำหรับนักปฏิบัติ เพราะถือเป็นอาวาสปลิโพธิ ทั้งจะเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่ศิษย์ของเราอีกจำนวนมาก ซึ่งธรรมดาก็ชอบอยากจะเป็นสมภารกันอยู่แล้ว เมื่อมีคนนับถือมาก ลาภสักการก็มากตามขึ้นด้วย
ท่านได้ยกพุทธภาษิตว่า สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ สักการะฆ่าบรุษให้ตาย เพราะมัวเมาในลาภ ในยศ แล้วการปฏิบัติก็ค่อยๆ จางลงๆ ทุกที ในที่สุดก็เกิดการฆาตกรรมตัวเอง คือเอาแต่สบาย ไม่มีการบำเพ็ญกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้น มีแต่จะหาชื่อเสียง อยากให้คนนับถือมากยิ่งขึ้นโดยวิธีการต่างๆ นี้คือฆาตกรรมตัวเอง.
ก็น่าฟัง ผู้เขียนนั่งฟังท่านเล่าเพลินไปเลย ผู้เขียนได้เคยพูดไว้ว่า ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านพูดอะไรแล้วมีคติแฝงไว้อยู่เสมอ คราวนี้ก็เช่นกัน สอนผู้เขียนเสียอย่างลึกซึ้งทีเดียว แล้วท่านก็บรรยายต่อไปว่า
เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว ท่านก็พูดว่า พัดยศ ประกาศนียบัตร พวกเจ้าจงพากันอยู่วัดเจดีย์หลวงนี้เถิด ส่วนพระมั่นฯ จะไปแล้ว เท่านั้นเองท่านก็ลาจากความเป็นเจ้าอาวาส และพระครู โดยไม่มีหนังสือลา เป็นการลาโดยธรรมชาติ ซึ่งมีสิ่งหนึ่งภายในให้เป็นไปตามกาลเวลา อันเป็นสิ่งที่จะพึงมีแก่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ซึ่งไม่มีอะไรเป็นเบื้องหน้าเบื้องหลัง.หรือความเคลือบแคลง มิได้เป็นกโลบาย อย่างบางท่านปากว่าตาขยิบ ฉันไม่อยากเป็นเจ้าอาวาส แต่ใจของฉันนั้นอยากจะเป็นแทบจะระเบิด
เมื่อท่านจัดบริขารของการไปธุดงค์ เป็นต้นว่ากลดมุ้ง บาตร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่จะพึงใช้ สิ่งเหล่านี้ท่านบอกว่าก็ใช้อยู่เป็นประจำ แม้จะมาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงก็ยังปฏิบัติทุกอย่างเช่นกับอยู่ในป่าดงและธุดงค์ การฝึกตนนั้นเราก็ต้องทำอยู่เป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาลเวลาและสถานที่ โอกาสให้เมื่อไหร่ก็ต้องทำ ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท การที่นักปฏิบัติธรรม ผู้รอกาลเวลาสถานที่ แม้โอกาสให้แล้วแต่ก็มัวแต่รอ รอว่าแก่ก่อน อายุมากก่อน รอว่าเข้าป่าก่อน อยู่ในดงในเขาก่อนจึงจะทำ รอเข้าพรรษาก่อน ออกพรรษาไม่ทำ มัวแต่เลือกกาล เลือกสถานที่ ก็เลยเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ
การเดินเข้าไปหาที่วิเวก ออกจากวัดเจดีย์หลวงครั้งนั้น ท่านเล่าว่า ถนนรถยนต์ไม่มี เป็นป่าดงที่มืดครึ้มโดยความประสงค์เราต้องการที่จะไปให้ไกลที่สุด จึงได้มุ่งตรงไปทางอำเภอพร้าว เราก็เดินไปค้างแรมไปตามทาง เมื่อเห็นว่าเป็นที่สงบสงัดดีก็พักอยู่นาน เพื่อปรารภความเพียร เมื่อเห็นว่าจะเป็นการคุ้นเคยกับญาติโยมมากเข้าก็ออกเดินทางต่อไป
เดินต่อไป ในที่สุดก็เดินธุดงค์ถึงถ้ำเชียงดาว ปีนี้เป็นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ในขณะนั้นถ้ำเชียงดาวยังไม่มีการปรุงแต่งอะไรเลย ชาวบ้านแถว ๆ นั้นก็ไม่มี จะมีก็เฉพาะพวกเจาะน้ำมันยาง เอาน้ำมันนั้นมาทำขี้ไต้ ก็เพียงไม่กี่ครอบครัว นับเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างดียิ่ง
ฟังท่านเล่าในสมัยนั้น กับมาเปรียบเทียบสมัยนี้ซึ่งเป็นแหล่งทัศนาจร เป็นที่ท่องเที่ยวพลุกพล่านไปด้วยผู้คน ทั้งอาคารร้านค้าประกอบเป็นอาชีพ และพยายามปรุงแต่งสถานที่ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติมาเป็นสิ่งวิจิตรด้วยน้ำมือมนุษย์อย่างนี้ทำผู้เขียนรำพึงรำพันในใจว่า อ๋อ...นี่ก็ซากของนักปฏิบัติที่ตายแล้ว ผู้เขียนหมายความว่า ไม่มีการปฏิบัติอยู่ในที่นี้อีกแล้ว ถึงการปฏิบัติก็มิใช่เป็นที่สัปปายะแล้ว หากจะมานั่งปฏิบัติ หรือนั่งสมาธิในถ้ำนี้ ก็คงจะไม่พ้นคำว่า โอ้อวดอยากดัง เพราะจะต้องมานั่งโชว์ให้คนนับพันนับหมื่นดูกัน ผู้เขียนจึงพอใจที่จะพูดว่า นี่คือ ซากของนักปฏิบัติธรรม
ครั้งที่พระอาจารย์มั่น ฯ อยู่บำเพ็ญสมณธรรมอยู่นั้น ต้นไม้ ป่า สัตว์ร้าย ย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นอรัญญิก สถานที่น่าสะพรึงกลัวแก่ผู้ยังหนาไปด้วยกิเลส แต่เป็นที่น่าอยู่แก่ผู้บำเพ็ญตบะพรหมจรรย์ เพราะยิ่งป่าใหญ่ยิ่งครึ้ม ยิ่งวังเวง ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง
อาจารย์มั่นฯ เล่าว่า
ครั้งแรก ๆ เราก็พักอยู่ตอนตีนเขาและบำเพ็ญสมณธรรม ต่อไปก็ขยับอยู่ที่ปากถ้ำ ตรงปากถ้ำนั้นมีก้อนหินใหญ่ ท่านใช้ก้อนหินนั้นเป็นที่นั่งสมาธิ มีความรู้สึกว่าอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งไม่ใช่โลกนี้ ไม่ว่าจะเดินหรือนั่ง ข้อนี้ทำเอาผู้เขียนสงสัยขึ้น ได้ถามท่านว่า
ที่ว่าเหมือนอยู่ในโลกหนึ่งไม่ใช่โลกนี้นั้น ท่านอาจารย์หมายความว่าอย่างไร ?”
ท่านตอบว่า ขณะที่เราเร่งความเพียร ความยึดถือต่าง ๆ นี้มันจะหดตัวเข้าทุกที เพราะความยึดถือตัวนี้เองจึงเหมือนหนึ่งไม่ใช่โลกนี้ เพราะโลกนี้นั้นเป็นอยู่ด้วยความเข้าใจกันต่าง ๆ นานา นั้นมาจากความยึดถือทั้งสิ้น โลกนี้จึงอยู่ด้วยอุปทานคือ ความยึดถือ เรายิ่งอยู่ในป่าลึกไม่ใคร่จะมองเห็นคน และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นานา ทั้งได้บำเพ็ญกัมมัฏฐาน เพ่งจิตจดจ่ออยู่เฉพาะจิต ความเป็นเหมือนหนึ่งไม่ใช่โลกนี้ก็จะมากยิ่งขึ้น
ต่อจากนั้นท่านอาจารย์มั่นฯท่านเล่าว่า
เราก็ค่อย ๆ เขยิบเข้าไปในนั่งในถ้ำลึกเข้าไป จนมืดมิดและเย็นมาก หายใจก็รู้สึกอึดอัด เมื่อท่านเข้าไปนั่งในถ้ำลึกนั้น ท่านได้พยายามที่กำหนดจิต ปรากฏว่ามันก็ทำให้มืดไปกับถ้ำด้วย ทำให้จิตรวมได้ง่าย แต่สงบดีมากและสงบง่ายมาก แต่เมื่อสงบแล้วจะพิจารณาอะไรก็ไม่ค่อยจะออก ท่านได้พยายามอยู่หลายเวลา และก็ได้พิจารณาได้ความว่า การทำความสงบในเบื้องต้นนั้น หากว่าใช้สถานที่มิดชิด จะเป็นประโยชน์ได้ผลเร็ว ยิ่งเป็นถ้ำมิดชิดก็ยิ่งดี แต่ถ้ำมิดชิดนี้จะอยู่นานไม่ดี เอาแต่เพียงได้ประโยชน์แล้วก็รีบเปลี่ยนสถานที่เสีย เพราะจะทำให้เคยตัว หรืออีกอย่างหนึ่งก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้นว่าโรคเหน็บชา หรือมาเลเรีย
เมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านพูดมาถึงตอนนี้ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงตัวเองว่า เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นสามเณรเดินธุดงค์ไปกับพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ไปหาถ้ำที่จะอยู่ทำความเพียรกันนั้น ยิ่งเห็นทึบเท่าไหร่ก็ยิ่งชอบมาก เมื่อครั้นไปพบถ้ำเขาภูคา บ้านเขาภูคา สถานีหัวหวาย อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ผู้เขียนพยายามแสวงหาที่มืด เข้าหาช่องถ้ำที่ทึบที่สุดเท่าที่จะทึบได้ เพราะจะทำให้จิตสงบเร็ว ในเมื่อผู้เขียนกำลังฝึกหัดใหม่ ๆ และก็ได้ผลเพราะทำให้สบายมาก แต่ว่าเมื่ออยู่เป็นเวลานาน ประมาณสามเดือน รู้สึกว่าจะเกินไปเสียแล้ว ทำเอาผู้เขียนเป็นสมาธิโมหะขนาดหนัก เพราะเมื่อนั่งสมาธิแล้วเป็นเหมือนหลับไปเลย บางครั้งสัปหงกถึงกับตกศาลา ดูรู้สึกว่าง่ายสำหรับการที่จะทำให้จิตสงบนั้น แต่ยากที่จะกำหนดรู้ให้คงอยู่ได้ตามความประสงค์ จึงเป็นประโยชน์และมีโทษเหมือนกัน จนในที่สุดผู้เขียนต้องล้มป่วย แต่ใจดี ป่วยก็ไม่กลัว ถึงเราไม่กลัวแต่มาเลเรียก็ไม่เข้าใครออกใคร ผู้เขียนถึงกับเป็นมาเลเรียขึ้นสมองอย่างหนัก จนถึงตาย (คงจะแปลกใจจากผู้อ่าน) ใช่ ผู้เขียนเคยตายมาแล้ว เพราะตอนนั้นไข้หนัก จนจิตออกจากร่าง
ชีพจรถอน ทุกคนรวมทั้งอาจารย์กงมา และบิดาของผู้เขียน ต่างก็พูดพร้อมกันว่า ตายแล้ว ตัวเย็นชีพจรถอน แต่ตอนนั้นผู้เขียนก็รู้สึกอยู่อย่างเดียวคือ รู้ แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน มารู้สึกเอาเมื่อเขาพยายามเอาอิฐเผาไฟนาบเข้าที่เท้า จนมีความรู้สึกขึ้น ทุก ๆ คนรวมทั้งท่านอาจารย์และบิดา ก็ร้องขึ้นพร้อมกันว่า ฟื้นแล้ว ปรากฏว่าผู้เขียนได้ตายไปร่วมชั่วโมง
นั่นนะชิ ผู้เขียนเกือบตายเสียจริง ๆ ไปแล้ว แต่ยังกลับฟื้นคืนชีพมาพบกับพระอาจารย์มั่นฯ พระเถระผู้ทรงคุณวุฒิในทางปฏิบัติกัมมัฏฐาน กับได้ไปอยู่กับท่านและยังจำข้อความคำพูดอันพอจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มาเขียนให้ได้อ่านเข้าใจถึงเหตุผลบางประการ ซึ่งก็นับว่าเป็นบุญของผู้เขียนอยู่
พระอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เล่าว่า
เมื่อเข้าไปอยู่ลึกอย่างนั้น การพิจารณาก็ขยายออกยากมาก แต่ท่านเป็นนักผจญภัยและนักสู้ที่แท้จริง ไม่ยอมแพ้แก่ธรรมชาติอย่างง่ายๆ ท่านได้พยายามอยู่ในถ้ำลึกคืนหนึ่ง กำหนดจิตอย่างหนักเพื่อให้เกิดพลังของการพิจารณา ท่านว่าไม่ยอมให้มันมิดไปเฉย ๆ กำหนดความรู้และใช้กำลังพิจารณาควบคู่กันไป เมื่อปล่อยให้มันมิดแต่ตามกำหนดรู้ แล้วก็ขยายการมิดให้ออกมาพิจารณา
ท่านพูดว่า
ได้กำหนดเป็นอนุโลม และปฏิโลม อนุโลม คือปล่อยให้มันไป ปฏิโลมคือไม่ยอมให้มิด กำหนดพิจารณา พิจารณาอะไร พิจารณาถึงสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นดับไป อาศัยการพิจารณาอยู่อย่างนี้ ด้วยความมีสติกำหนดไม่ปล่อย กำลังของปัญญาก็รวมจุดเกิดเป็นพลังใหญ่ ใช้เวลาประมาณ ๒.๐๐ น. กลางคืน (ตี ๒) ปรากฏขึ้นในใจของท่านว่า ถ้ำเชียงดาวได้แยกออกเป็นสองซีก สว่างไปหมดที่แยกออกนั้น แยกออกจริง ๆ การหายใจที่เคยอึดอัดหายหมด ความเป็นเช่นนั้นได้ปรากฏอยู่ตลอดคืน ท่านเล่าว่าทุกอย่างเหมือนไม่ได้อยู่ในถ้ำ ทำให้รู้สึกถึงอดีตอะไรมากอย่างทีเดียว พร้อมทั้งเข้าใจวิธีการแก้ไขในขณะที่เกิดความหลงอยู่ในสมถะ ท่านเคยตำหนิผู้ที่หลงอยู่ในสมถะมากมายหลายองค์ เพราะว่าการหลงอยู่ในสมถะก็เท่ากับสมาธิหัวตอ ท่านพูดอยู่เสมอๆ ว่าสมาธิหัวตอนั้นเป็นอย่างไร คือมันไม่งอกเงยอะไรขึ้นมา เป็นอย่างไรก็แค่นั้นเอง ข้อนี้ท่านหมายความว่า ผู้มีสมถะแล้วให้มีวิปัสสนาด้วยจึงจะเป็นการถูกต้อง
เป็นอันว่า ถ้ำเชียงดาว ท่านก็มาได้รับประโยชน์พอสมควร และได้ทั้งนำมาเล่าสู่ลูกศิษย์ เช่น ผู้เขียนและอื่น ๆ อีกมาก เพื่อจะได้เป็นคติตัวอย่างอันเป็นสิ่งที่มีค่าเหลือเกิน ค่าของท่านผู้บริสุทธิ์นี้ แม้จะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ควรจะได้น้อมรับนำเป็นตัวอย่าง ผู้เขียนเองก็ไม่ใคร่อยากจะเขียนเท่าไร เพราะเราก็รู้ ๆ กันอยู่ในตัวของเราเองแล้ว ท่านพูดให้ฟัง เล่าให้ฟังก็รู้อยู่ทั้งนั้น เลื่อมใสเราก็เลื่อมใส เชื่อเราก็เชื่อ เป็นประโยชน์เราก็ได้รับ แล้วเรื่องอะไรจะมาเขียนให้เสียเวลาอีกเล่า ? แต่เหตุผลที่จะต้องเขียนนั้นมีอยู่ เพราะได้รับความรบเร้าเตือนใจจากบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งคำพูดและจดหมาย ต้องเขียนตอบไปให้มากมายและตอบไปกับปากก็มาก และอีกประการหนึ่งผู้เขียนก็เคารพท่านจริง ๆ องค์อื่นก็คงจะเป็นเหมือนผู้เขียนอีกหลายท่าน ด้วยเหตุผล ๒ ประการนี้แหละทำให้ต้องย้อนกลับมาเขียนเรื่องของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อีกครั้ง และด้วยความจำใจจริง ๆ จึงทำให้การเขียนต้องบรรจงและระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะกลัวว่าจะผิดพลาดจากความเป็นจริง
พ.ศ. ๒๔๗๓
ตอนพระอาจารย์มั่น ฯ จำพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่
ที่ดอยจอมแตง อ.แม่ริม
อันที่จริงดอยจอมแตงนี้เป็นทาง ๆ เดียวกันกับทางไปถ้ำเชียงดาว แต่ถ้าเดินทางจากเชียงใหม่ปัจจุบันจะถึงแม่ริมก่อน การเดินทางของท่านอาจารย์มั่น ฯ ดังได้กล่าวแล้ว คือจุดประสงค์ของการธุดงค์ของท่านนั้น โดยความมุ่งหมายต้องการที่จะหาความสงบและวิเวก ไม่ต้องการให้ใครเขารู้ว่าตัวของท่านมีความสำคัญอย่างไร แม้ท่านจะถูกตั้งเป็นพระครูฐานาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านก็ไม่นำเอาไปธุดงค์ด้วย ฉะนั้นเมื่อท่านเห็นว่าอยู่ถ้ำเชียงดาวหลายเวลาแล้ว ก็จึงเดินทางวกลงมาเรื่อย ๆ จนถึงดอยจอมแตง อ.แม่ริม.
ท่านเล่าว่า พรรษานี้จำพรรษาอยู่บนภูเขา อากาศชุ่มชื้น ฝนตกมาก หนาวจัด พวกชาวบ้านได้หาฟืนมาไว้สำหรับให้ท่านก่อไฟผิง ยกเป็นกุฎีมุงด้วยใบตองตึง ทำรั้วด้วยไม้รวกยาว ๆ พอเป็นที่ป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ ตามธรรมเนียมของพวกชาวเขา แม้ท่านจะบอกเขาว่ารั้วไม่ต้องทำก็ได้ แต่เขาก็ไม่ยอม ได้ช่วยกันทำถวายท่าน และจะมีคนมาคอยดูแลก่อไฟรับใช้ท่านต่าง ๆ ท่านบอกว่าไม่ต้องมาดอก เขาก็ไม่ฟัง มาคอยดูแลช่วยอยู่นั่นเอง
ท่านเล่าว่า ในพรรษานี้ก็เป็นพรรษาที่มีความรู้สึกว่าปลอดโปร่ง และได้ความละเอียดทางใจมาก เพราะเหตุว่าอยู่องค์เดียว ไม่ต้องสอนใคร พูดกับพวกชาวเขาก็ไม่รู้เรื่องกัน เหมือนกันกับอยู่วิเวกอย่างดีที่สุด จึงทำให้หวนระลึกถึงคำพูดของท่านพระสารีบุตรว่า กายวิเวกเป็นเหตุให้บังเกิดจิตวิเวก จิตวิเวกเป็นเหตุให้บังเกิดอุปธิวิเวก ข้อนี้เป็นความจริงแท้ และสิ่งเหล่านี้จะพึงเข้าใจได้ในตัวของตัวเอง ในเมื่อบุคคลนั้นกระทำขึ้น การพูดเป็นสิ่งง่าย การกระทำเป็นคนละเรื่องกัน เพราะเมื่อมาประสบกับวิเวกอย่างจริงจังเช่นนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องมีอะไรภายในวิเศษบังเกิดขึ้น
ท่านได้เน้นว่า.วิเวกนี้มันเกิดความชินชาได้เหมือนกัน เพราะเหตุแห่งการอยู่นาน แม้ว่าสถานที่จะวิเวกสักเพียงใด เมื่ออยู่หลายเวลาเข้า ก็เกิดความเข้าใจว่าเป็นที่ของเรา และเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับใจ ได้แก่ความเคยชิน นี้ก็ควรจะต้องเข้าใจตัวเองและอย่าไปเข้ากับตัวเองจนเสียคน โดยความเข้าใจว่าเราก็อยู่บนภูเขา ป่าดง ถ้ำ แต่ว่าอยู่เสียจนเคยชินหรือชินชาเสียแล้ว มันก็ไม่ผิดอะไรกับอยู่ในบ้านในเมือง จงพากันเข้าใจว่า ถ้ำ ป่า ภูเขา นั้นก็เป็นเพียงสถานที่อยู่และเป็นที่วิเวกได้จริง แต่อย่าไปอยู่นานเกินควร
ผู้เขียนรู้สึกว่าได้ความรู้เป็นพิเศษขึ้นมาก ในข้อนี้ทำให้เกิดความเข้าใจว่าการอยู่ในที่วิเวกแม้จะเป็นป่าเขา ก็ยังทำให้เกิดความชะล่าใจได้เหมือนกัน จึงต้องควรระวัง. มิใช่ว่าจะถือเอาการอยู่ป่าเขาเป็นสรณะตลอดไป การอยู่ป่าเขาก็ดี เมื่อตั้งใจแน่วแน่เพื่อพระนิพพาน มิใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่น
ท่านอาจารย์มั่น ๆ ได้พูดกึงการอยู่ในสถานที่แห่งนี้ว่าเป็นที่อยู่วิเวกจริง และต้นไม้ป่าก็ทึบมาก มีบริเวณภูเขาไม่ใหญ่โตอะไรนัก ชาวบ้านเหล่านี้ก็มีศรัทธาดีอยู่ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นชาวเขา พวกเขามีพิธีการทางศาสนาพุทธนี้เหมือนกัน ท่านเล่าว่าวันออกพรรษาเขาจะทำบุญพิเศษ เช่นการทำขนมแบบง่ายๆ มาถวายกันมาก ที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ การถวายเข็ม (เข็มเย็บผ้า) เขาจะทำเป็นธงยาว เอาไม้ไผ่ทำเป็นคันเหมือนคันธงกฐินของเรา แต่เขาเอาผ้าบาง ๆ มาทำธงยาวเกือบพื้นดิน แล้วเขาก็เอาเข็มมากลัดติดกับผ้าตั้งแต่โคนธงถึงปลายธงแล้วให้พระมารับธงนั้น ถือว่าได้บุญมาก
ส่วนที่เขาอยู่กันนั้นเป็นบ้านพักชั่วคราว ไม่ถาวร ใช้ใบตองตึงมุงหลังคากันเป็นส่วนมาก สำหรับการปกครองของเขานั้น เขามีหัวหน้าซึ่งจะไม่ใช่ทางรัฐบาลแต่งตั้ง เขาตั้งกันขึ้นเอง แล้วก็เชื่อฟังกันดีมาก เมื่อหัวหน้าบอกอย่างไรเป็นต้องทำตามกัน
มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีคน ๆ หนึ่งทำผิด คือไปขโมยของเขามา แล้วเจ้าทุกข์ก็จับตัวได้พามาหาผู้เป็นหัวหน้า เมื่อหัวหน้าถามว่า เจ้าขโมยของเขาจริงหรือเปล่า ขโมยก็บอกว่าเปล่า ผมไม่ได้ขโมย ที่จับตัวมานี่ผิดแล้วไม่ใช่ผม เมื่อหัวหน้าพยายามถามเท่าไรก็ไม่รับ เจ้าทุกข์ก็ยืนยันว่าใช่แน่ หัวหน้าพร้อมทั้งชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง จึงทำพิธีโดยการบวงสรวงเทวดา ผีป่าต่าง ๆ แล้ว ก็เอาตะกั่วมาเคี่ยวให้ละลายอยู่ในเบ้า แล้วเขาก็จับมือขโมยกดลงไปที่เบ้าหลอมตะกั่วนั้น แต่ให้ห่างไม่ให้ติด กะประมาณ ๑ นิ้ว ถ้าเป็นขโมยจริงๆ ตะกั่วที่หลอมละลายนั้นจะพุ่งขึ้นมารับนิ้วมือผู้ทุจริต ถ้าเห็นผู้สุจริตตะกั่วจะไม่พุ่งขึ้นมา
ขณะนั้นเขาก็จับมือขโมยกดลงใกล้เข้า พอได้จังหวะเท่านั้นเองตะกั่วได้พุ่งขึ้นจับมือขโมยทันที เท่านั้นเองเขาก็รู้ว่าเจ้านี่เป็นขโมยตัวจริง แล้วก็ลงโทษกันเอง โดยการเฆี่ยนบ้าง การล่ามโซ่ไว้ ๕ วันบ้าง ๑๐ วันบ้าง แต่พวกเขาก็ยอมกันโดยดี โดยมิได้มีการขัดขืนแต่อย่างใด
ส่วนอาหารนั้นก็เป็นไปตามอย่างชาวป่าทั้งหลายเขาทำกันไปตามมีตามได้ และทำกันอย่างง่าย ๆ ไม่ใคร่จะสะอาดกันเท่าไร แต่เป็นสิ่งธรรมดาอย่างหนึ่งสำหรับการไปธุดงค์ ไม่ถือเอารสชาติ ความอร่อยชอบใจเป็นเกณฑ์ ถือเอาความเพียงอยู่ได้เพื่อเพียงมีชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้นเป็นพอ
ความจริงของการถือสันโดษเอาตามมีตามได้เป็นสัญลักษณ์ของบรรพชิตอยู่แล้ว การที่จะขนเสบียงไปธุดงค์นั้นผิดวิสัย เพราะเมื่อจะธุดงค์แล้วก็ควรจะให้มีอาหารเพียงประทังชีวิต และเป็นการดีมากเมื่อมีอาหารธรรมชาติไม่มีการบำรุงจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแรงมาก ก็จะทำให้การทำความเพียรลำบากขึ้น เช่นฉันเนื้อไข่มาก ๆ ก็จะทำให้จิตใจฟุ้งมากกว่าการฉันผักมาก จำพวกดอกเลา เห็ด ผักบุ้ง ผักแต้ว เพกา เหล่านี้ แม้จะมีปลาบ้าง แต่เป็นผักเสียส่วนมากก็จะทำให้การทำจิตดีขึ้น เมื่อธุดงค์ไปอยู่ถิ่นทุรกันดาร ก็จะฉันอาหารผักส่วนมาก จึงเป็นเหตุให้ได้ประโยชน์หลายทาง คือทางหนึ่งได้รับกายวิเวก ทางหนึ่งได้อาหารธรรมชาติไม่บำรุงมากนัก จึงทำให้เกิดผลมากในการบำเพ็ญสมณธรรม
ผู้เขียนได้ฟังท่านเล่าแล้วจับใจมาก เรื่องของอาหารนี้ พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฐิติกา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร คือถ้าไม่มีอาหารก็ต้องตายไม่ว่ามนุษย์-สัตว์ เพราะเรื่องอาหารนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องแก้ปัญหากันอย่างมโหฬาร ถึงกับมีการคุมกำเนิด ป้องกันการเกิด ชลอการเกิด มันเป็นเรื่องใหญ่แท้ ครั้นมาคิด คิดถึงพระธุดงค์แล้ว ท่านได้ชลอการเกิดและจำกัดอาหารทั้งไม่นำเอาเรื่องอาหารมาเป็นเรื่องใหญ่ จึงเป็นการเสียสละของท่านผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นประโยชน์ทั้งทางโลก และทางธรรม เป็นประโยชน์แก่คนและผู้อื่น
ปัจจุบันการเดินธุดงค์จะเป็นเหมือนครั้งท่านอาจารย์มั่น ฯ เล่าให้ผู้เขียนฟังหรือเปล่า อาจจะเป็นเหมือนหรืออาจจะไม่เหมือนก็ได้ เพราะปรากฏว่าบางแห่งไปธุดงค์กันเป็นร้อยๆ อันเป็นภาระให้ชาวบ้านหรือตัวท่านลำบาก ต้องจัดอาหารกันใหญ่ ไม่ได้ทั้งกายวิเวก ฯไม่ได้ทั้งการจำกัดอาหาร ผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากการธุดงค์จะเป็นดังฤๅ ?
จึงเป็นเรื่องที่เราจะรู้จักความจริงของการธุดงค์ ว่าเป็นอย่างไรเอาไว้บ้างก็จะดีกว่าที่เราจะเอาเรื่องของธุดงค์เป็นเรื่องโฆษณา หรือเห็นเรื่องอะไรที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง เพราะธุดงค์เป็นการแสวงหาวิโมกขธรรมนั้นดีจริง ๆ และได้ผลจริง หากการธุดงค์นั้นได้เป็นไปเพื่อกายวิเวกและจำกัดอาหาร เขียนเพลินไปเสียแล้ว ฟังท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเล่าต่อไปดีกว่า
ปีนี้เป็นปีที่มีความพิเศษ เพราะว่าได้ออกจากสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นปลิโพธินั้น แม้จะไม่ทำให้จิตหวั่นไหว แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความละเอียด ท่านพูดถึงฌานต่าง ๆ และสมาธิว่า ส่วนนี้มันเป็นส่วนหนึ่งแห่งสังขาร เพราะฌานนี้และสมาธิเป็นสิ่งไม่เที่ยง มีการเสื่อม ถ้าหากการเจริญไม่เป็นไปตามกาล บุคคลบางคนเข้าใจว่า ผู้มีสมาธิดี หรือได้ฌานชั้นสูง จะต้องเป็นผู้อยู่ในลักษณะสงบหรือมั่นคงไม่หวั่นไหวตลอดไป เป็นการเข้าใจผิด เมื่อบุคคลยังเป็นไปเพียงแต่ฌาน-สมาธิ ย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และเสื่อมได้
ท่านเล่าว่า
ปีนี้ได้พิจารณาย้อนหลังถึงการอยู่ในวัดเจดีย์หลวง และกรุงเทพ ฯ จึงมาพิจารณาได้ทราบความถึงเจตนาของนักปฏิบัติบางท่านที่ยังไม่เข้าใจความจริง และทั้งยังไม่ได้ดำเนินวิปัสสนา อันเป็นทางให้บังเกิดกิเลสไว้ จึงทำให้เกิดความผันแปรต่าง ๆ ของนักปฏิบัติ จนถึงออกนอกลู่นอกทาง โดยตัวเองไม่รู้ตัวเลย
เพราะว่าผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ เป็นหลักการที่น่าเคารพนับถือ และจะถือได้ว่าเป็นบุคคลที่เสียสละอย่างสูง จึงทำให้บุคคลโดยทั่วไปเข้าใจว่า ท่านผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานหรืออยู่ป่าบำเพ็ญสมณธรรม ท่านเป็นผู้วิเศษ ซึ่งมีสิ่งอันเป็นพิเศษอยู่ นี้แหละคือความเห็นความเข้าใจและเชื่อถือในหมู่บุคคลชาวพุทธเป็นส่วนมาก เพราะชาวพุทธโดยทั่วไปเมื่อเห็นผู้ใดความจงรักภักดี เสียสละให้แก่พระพุทธศาสนาแล้ว เป็นต้องสนับสนุนเคารพนับถือ นี้เป็นความจริงข้อหนึ่ง
ท่านเล่าว่า ท่านได้วิตกกังวลขึ้นในขณะที่อยู่ในสถานที่นี้ถึงการปฏิบัติกัมมัฏฐาน บำเพ็ญสมณธรรมของพระภิกษุ-สามเณร ต่อไปในกาลข้างหน้าว่า จะทำอย่างไร จะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อมีผู้คนนิยมการปฏิบัติมากขึ้น ก็จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะพระภิกษุสามเณรเท่านั้น ยังจะต้องแผ่กว้างออกไปถึงฆราวาส ผู้เป็นอุบาสก อุบาสิกาต่อไปอีก ความกว้างขวางออกไปนั้นก็เป็นการดีอยู่ เพราะจะได้เป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญขึ้นส่วนหนึ่ง แต่จะต้องทราบความจริงว่า ความกว้างออกไปของการปฏิบัติจิตใจนั้นมีข้อเสียหายมิใช่น้อยเลย เป็นต้นว่ามีการคิดคาดคะเนเดาเอาว่าความเป็นเช่นนั้นของเราถูก ของคนอื่นไม่ถูก ความเป็นเช่นนี้เป็นพระอรหันต์ หรืออริยบุคคล ความเป็นเช่นนี้คือญาณ คือฌาน บางหมู่บางพวกตั้งก๊กขึ้นสอนกัมมัฏฐานกันไปตามอารมณ์ นี่แหละเป็นภัยอยู่มาก เป็นทางให้เกิดความเสื่อมได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านเล่าว่า ก็เป็นการดี ที่อนาคตไม่นานจะมีการแข่งขันกันในด้านการสอนกัมมัฏฐาน การปฏิบัติกัมมัฏฐาน
ท่านเล่าตอนหนึ่งว่า ในสถานที่แห่งนี้ ชาวบ้านเขาไม่ได้มารบกวน เขาเข้าใจว่า เราก็เป็นพระตุ๊เจ้าองค์หนึ่ง เวลาแห่งการพิจารณาธรรมต่าง ๆ จึงเป็นโอกาสดีมาก ตอนเช้าเขานำอาหารมาส่ง รับพรแล้วก็กลับ ตอนเย็น บางทีเขาก็มาดูบ้าง คนสองคนเพื่อดอยดูแลว่าเราจะต้องการอะไรบ้าง เมื่อเห็นว่าไม่ต้องการอะไร วันต่อ ๆ มาเขาก็ไม่มา เป็นอันว่าได้อยู่จำพรรษาอย่างสงบวิเวกในปีนี้
ตอนที่ ๖

พ.ศ. ๒๔๗๔
ตอนพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ จำพรรษาที่จังหวัด
เชียงใหม่ ที่บ้านโป่ง อ.สันป่าตอง
หลังจากที่ท่านได้พักผ่อนในอรัญราวป่า ที่จอมทองในพรรษานั้นแล้ว เมื่อออกพรรษาท่านได้เดินธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความสงบต่อไป
ท่านเล่าต่อไปว่า เชียงใหม่นี้เป็นป่าดงกว้างขวาง ภูเขามากมาย สิงห์สาราสัตว์เป็นต้นว่า เสือ ช้าง งูก็มาก หากแต่สัตว์เหล่านั้นไม่เคยทำอันตรายแก่พระภิกษุสามเณรที่สัญจรไปมาเลย
ครั้งหนึ่งท่านพักอยู่ในราวป่า เขตของอำเภอสันป่าตอง ฝนก็ได้ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน แถวๆ นี้หมู่บ้านที่ไม่ใช่ชาวเขา พากันทำไร่กันอยู่ประมาณสิบกว่าหลังคาเรือน ท่านอาศัยหมู่บ้านนี้บิณฑบาต และที่ท่านอยู่มีคลองขวางกั้นอยู่ จะไปบ้านต้องข้ามคลองไป คลองนี้ไม่กว้างนัก ชาวบ้านเขานำขอนไม้มาวางเป็นสะพานไม้ เมื่อฝนตกหนักคราวนี้ น้ำป่าแรงได้พัดไม้สะพานไป เมื่อน้ำไม่ลด ท่านก็ข้ามน้ำไปบิณฑบาตไม่ได้ โยมก็มาหาท่านไม่ได้ ก็จำเป็นจะต้องอดอาหาร ส่วนทางชาวบ้านร้อนใจมาก กลัวท่านจะอด จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะข้าม ชาวบ้านเขาพยายามอยู่นานก็สามารถข้ามน้ำนำอาหารมาถวายได้.
ฝนที่ตกติดต่อกันมาหลายวันนั้นก็ยังไม่มีที่ท่าจะหยุดลงได้ ก็ยิ่งทำความลำบากแก่ชาวบ้านที่จะมาถวายอาหารบิณฑบาต และแก่ท่านที่จะออกบิณฑบาต แม้ท่านบอกว่าอาตมาจะอดได้ ๓-๔ วันไม่เป็นไรหรอกโยม ชาวบ้านก็กลัวจะบาปจะยอมให้อดไม่ได้ จึงเป็นการต่อสู้กับภัยธรรมชาติครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง
เมื่อฝนตกกรำมาหลายเวลา ยังไม่มีทางว่าจะผ่อนคลายลงนั้น ท่านก็ได้รำพึงและพูดเปรย ๆ ออกว่า
พญานาคเอ๋ย พวกเธอจะเล่นน้ำกันไปถึงไหน จนน้ำนองไปหมดแล้วพระก็ลำบาก ชาวบ้านก็ลำบาก หยุดเล่นกันเสียทีเถิด
ฝนก็เริ่มหยุดเป็นปรกติน้ำก็เริ่มลดลง ชาวบ้านก็มาถวายอาหารตามปรกติ ต่อมาวันหนึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นได้มาช่วยปรนนิบัติท่านโดยการหาฟืนมา และก่อกองไฟถวายตลอดถึงต้มน้ำร้อน วันนั้นมีงูตัวหนึ่งเป็นงูทับทานปล้องเหลืองปล้องดำ ขนาดยาวถึง ๒ วาเห็นจะได้ มาขดอยู่ในกองฟืน ความจริงตามป่าเขาในย่านนี้ก็เป็นดงงูอยู่แล้วพวกงูจำนวนมากอาศัยอยู่ เพราะเป็นหินก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ ต้นไม้ใหญ่เล็กระเกะระกะ เหมาะแก่การอยู่ของพวกสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้
แต่งูตัวนี้มาขดอยู่ที่กองฟืน งูตัวนี้ประหลาดกว่างูอื่นๆ คือมันไม่ยอมจะไปไหน ถึงมันไปชั่วครู่แต่มันก็ต้องกลับมาขดอยู่ที่เก่า โยมปรนนิบัติท่านอยู่ก็กลัว เพราะตัวมันใหญ่ โยมจึงหาไม้ยาวมาอันหนึ่ง โดยมีความตั้งใจกะไล่มันหนี ท่านรู้เข้าก็ออกมาจากที่พัก มาพูดกับโยมว่า อย่าไล่มันเลย มันจะมาอยู่เป็นเพื่อนเรา ลองให้มันอยู่ ดูหรือว่ามันจะอยู่นานเท่าไร โยมบอกว่างูตัวนี้อันตรายมาก กัดแล้วตายเลย เผลอ ๆ เดี๋ยวใครมาถูกมันเข้าโดนกัดจะลำบาก ท่านตอบว่า งูตัวนี้ไม่ทำอะไรใครดอก
มันเป็นสิ่งประหลาดกว่างูตัวอื่น ๆ ตัวนี้มันเชื่องมาก เวลามันเลื้อยออกมาตอนต้มน้ำเสร็จแล้ว คล้ายกับมันอยากจะทำการปฏิบัติอะไรสักอย่าง เลื้อยไปเลื้อยมารอบ ๆ บริเวณ หางของมันจะแกว่งเป็นบริเวณกว้างมันจะออกทำอย่างนี้วันละ ๒ ครั้งแล้วก็เข้าไปขดอยู่ที่เดิม มันอยู่กับท่านจนท่านจากมันไป มันก็หายไปเหมือนกัน ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ได้เล่าให้ฟังว่า งูตัวนี้ท่าจะเป็นงูเจ้าหรืองูเทวดาอะไรก็ไม่ทราบ มันจึงมีความรู้สึกเกือบจะเป็นคน
เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนระลึกไปถึงเมื่อครั้งผู้เขียนเป็นสามเณร อยู่จังหวัดจันทบุรี ครั้งเมื่อผู้เขียนธุดงค์ไปตามภูเขาสระบาป เข้าไปพักอยู่ที่บ้านกงษีไร่ ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๑ พบกับลูกศิษย์คนหนึ่ง ชื่อหมอสมร นามสกุล ภักดี มาขอฝึกการทำสมาธิกับผู้เขียน และเป็นผู้ทำจริง ๆ จนถึงกับเกิดสมาธิที่กล้าแข็งขึ้น มีจิตสงบ ทั้งภรรยาของเขาด้วย บำเพ็ญจนไม่รับประทานอาหารตอนบ่าย รับประทานหนเดียวเหมือนกับพระธุดงค์ เมื่อหมอสมรนี้ได้สนิทสนมคุ้นเคยกับผู้เขียนจนเป็นกันเองขึ้นแล้ว เขาก็พูดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ว่า ผมนี้เป็นญาติกับงู ผู้เขียนก็ไม่ใคร่จะสนใจนัก นึกว่าคงเป็นเรื่องนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อเขาได้พูดหลายครั้ง ประกอบกับมีพยานหลายคน ผู้เขียนชักจะสนใจขึ้นจึงขอทราบความจริงของการที่เขาเป็นญาติของงูได้อย่างไร ?
หมอสมรจึงเริ่มเล่าว่า เมื่อนานมาแล้วชั่วอายุคนหนึ่ง มีครอบครัวเรือนหนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ครอบครัวนี้หลังจากแต่งงานแล้ว ตั้งครรภ์ขึ้น ตอนคลอดลูกออกมาคนแรกปรากฏว่าเป็นงู เกิดความตกใจกันขึ้น ด้วยความกลัว คิดว่าจะเอาใส่ขวดดองเสีย แต่นางมารดาก็มีจิตสามัญสำนึกแห่งการรักบุตรของตนอยู่ จึงห้ามการที่ฆ่าบุตรแม้จะเป็นสัตว์เดียรฉาน ต่อมามารดาคนนี้คลอดบุตรอีก ๗ คน ชาย ๕ หญิง ๒ คน คนสุดท้องเป็นหญิง
ครั้นเจริญวัยใหญ่โตกันขึ้นต่างก็มีครอบครัวไปกันหมด และก็ได้ตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นหมู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ส่วนงูผู้เป็นพี่ใหญ่นั้น เมื่อโตขึ้นก็เกิดความระแวงแก่คนโดยทั่วไป อาจจะเกิดอันตรายแม้นแต่ญาติพี่น้องก็ตาม ที่หมอสมรได้เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเขาจะออกมาเลื้อยเล่นตามลานบ้านแล้วจะมีงูอื่น ๆ มาเป็นพวกด้วย เลยเกิดเป็นบ้านงูขึ้น จึงยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่บุคคลทั่วไปมากขึ้น หมอสมรเล่าว่า งูตัวนี้มีสีขาวปนดำมีหงอนด้วยเชื่องมาก แม่พูดออย่างไรจะทำตามทุกอย่าง เช่น อย่างบอกให้อยู่เฉย ๆ เขาก็นอนตามความแนะนำ บอกให้ลงไปเล่นข้างล่างก็ลงไป บอกให้อย่ามาใกล้ ก็ไม่มาบอกให้มาใกล้ ก็มา ผู้เขียนถามว่าเอาอะไรเป็นอาหารแก่งู หมอสมรว่าไก่และเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่ฆ่ามาแล้วและหมอได้พูดต่อไปว่า แม่ของงูนี้ไม่กลัวงูเลย บางครั้งจะจับคลำเล่น เหมือนกับว่ามันไม่ใช่อสรพิษอย่างนั้นแหละ จึงรวมความว่า แม่งูรู้จักภาษางู และงูก็รู้จักภาษาคน เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมีได้ แต่ก็มีมาแล้ว กระทั่งบัดนี้ก็ยังมีญาติของงูเหลืออยู่ แม้จะเป็นสิ่งเหลือเชื่อ แต่หลักฐานยังบ่งชัดว่าน่าจะเป็นไปได้
ครั้นต่อมาผู้คนในละแวกนั้นเกิดไม่ไว้ใจในงูซึ่งเป็นสัตว์มีพิษมากขึ้น ขอร้องให้นั้นไปปล่อยเสียที่อื่นผู้เป็นแม่ก็จนใจ อยู่มาวันหนึ่งแม่จึงเรียกงูนั้นมาแล้วพูดว่า
ขณะนี้ชาวบ้านเขากลัวกันมาก เพราะว่าเจ้าก็ใหญ่ขึ้นทุกวัน แม่จำเป็นต้องขอร้องให้เจ้าจงหาทางไปอยู่เสียที่ ๆ เป็นวิสัยของเจ้าเถิด
งูก็เป็นผู้ว่าง่ายอยู่แล้ว เมื่อแม่ขอร้องก็จึงไปหาน้อง ๆ ทุกคนแล้วก็มาปะหงกหัว ลาแม่บังเกิดเกล้า เลื้อยลงมาจากบ้านอย่างเชื่องช้า พร้อมกับร้องไห้น้ำตาไหลพราก และเปล่งเสียงวีด ๆ ประมาณ ๕-๖ ครั้ง แล้วก็เลื้อยหายลงไปสู่ทะเล
ต่อมาเขาจะมาเยี่ยมแม่ของเขาทุก ๆ ๗ วัน และต่อไปเขาจะมาเยี่ยมแม่ของเขาทุก ๆ เดือน จนถึงบีหนึ่งเขาจะมาเยี่ยมแม่ของเขาครั้ง ในการมาเยี่ยมแต่ละครั้งนั้นจะมีพวกติดตามมามาก มีงูหลายชนิดเหมือนกับคอยอารักขา เวลามาเยี่ยมนั้นเขาจะอยู่ประมาณครึ่งวันจึงจะกลับ ครั้งสุดท้ายแม่ป่วยไม่สบาย เขารู้ได้อย่างไรไม่ทราบ เพราะแม่ป่วย
ครั้งนี้จะต้องตายแน่ เขาพาพวกเขามาอยู่กับแม่ของเขา จนแม่เขาถึงแก่กรรม และเขาก็มีการแจกสมบัติขณะแจกสมบัตินั้น งูก็ยังอยู่ ฟังเขาพูดกันจนรู้เรื่อง คำพูดคำหนึ่งนั้นที่งูสนใจ คือ เราจะแบ่งสมบัติออกเป็น ๗ ส่วน งูผู้เป็นพี่ก็มีส่วนด้วย ขณะนั้นเอง งูได้ทำกิริยาอย่างหนึ่งโดยเอาหางชี้ไปที่น้องคนสุดท้าย เป็นอันทราบว่างูมีความประสงค์จะมอบสมบัติส่วนตัวให้แก่น้องคนสุดท้อง เป็นอันว่าเสร็จสิ้นกันไป แล้วงูนั้นก็ลาน้อง ๆ จากไป นับตั้งแต่นั้นจนบัดนี้ก็ไม่ปรากฏว่างูนั้นหวนกลับมาอีก
ผู้เขียนพูดมายืดยาว เพื่อให้เป็นการแก้อารมณ์ท่านผู้อ่านที่ต้องเคร่งเครียดอยู่กับประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระไปบ้าง.ต่อไปก็จะได้เริ่มเขียนการจำพรรษาของท่านอีกต่อไป
ปีนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านโป่ง อำเภอสันป่าตอง บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่เล็กมาก มีอาชีพทำพืชไร่ล้มลุก ปลูกเผือก-มัน-งา พืชไร่ต่าง ๆ นำเอาเข้าไปขายในอำเภอ ความเป็นอยู่ของเขาไม่มีอะไรมาก เพียงแต่มีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ แต่เขาก็อยู่กันอย่างสบาย.ที่นี่ไม่ใช่ภูเขา เป็นที่ราบ แต่เป็นป่าไม้ใหญ่ มีพวกไม้ยางและไม้สักมาก เป็นป่าระหง ไม่ใช่ป่าทึบ ท่านพูดว่า เราต้องการหาที่โปร่ง ๆ จำพรรษาสำหรับปีนี้ เพื่อจะได้พิจารณาถึงการอยู่ป่า ที่จะอยู่ได้นานๆ เพราะป่าบางป่าชุ่มเกินไป ป่าบางป่าทึบเกินไป อยู่ลำบากมาก อาจเกิดโรคภัยต่าง ๆ ได้ ทั้งเป็นการบั่นทอนกำลังของร่างกาย แต่ว่าป่าทึบนั้นก็ดีแต่เฉพาะที่ไม่ใช่หน้าฝน ถึงอย่างนั้นจะอยู่นาน ๆ ก็ต้องมีการถากถางเบิกป่าออกไปบ้าง ก็เป็นภาระไม่ค่อยจะจำเป็นนัก
การอยู่ที่บ้านโป่งนี้เป็นป่าต้นไม้ใหญ่ก็จริง แต่ไม้ใหญ่นี้ขึ้นสูงมาก ต้นไม้อยู่ข้างๆ ก็ไม่มีโอกาสจะโตขึ้นได้ เพราะร่มต้นไม้ใหญ่บัง ถึงแม้จะมีการถากถางก็ไม่ต้องทำอะไรมาก บางแห่งไม่ต้องถากถางเลยก็ใช้เป็นสถานที่อยู่ได้ และท่านได้เลือกเอาสถานที่ห่างจากบ้านพอสมควรอันเป็นแหล่งที่จะเที่ยวภิกขาจารได้ และบ้านโป่งนี้ก็เป็นป่าไม้ใหญ่โต ผู้คนก็ไม่พลุกพล่าน และก็ไม่เป็นที่รบกวนแก่การบำเพ็ญสมณธรรม พวกชาวบ้านเหล่านี้เขาเห็นตุ๊เจ้ามาก็ดีใจเหลือหลาย เพราะนานปีจึงมีตุ๊เจ้ามาโปรดอย่างนี้ แต่เขาก็ไม่ทราบว่าตุ๊เจ้ามั่นฯ ท่านเป็นใคร อย่างไร ? เขาก็เข้าใจแต่เพียงว่าตุ๊เจ้าองค์หนึ่งเท่านั้น เพราะชาวบ้านเป็นชาวพุทธ เมื่อถึงเวลาเทศกาลเขาจะเดินไปทำบุญที่วัดตั้งหลายชั่วโมงเขาก็ยังอุตส่าห์ไปกัน เมื่อตุ๊เจ้ามาให้ทำบุญอยู่ใกล้ ๆ และจำพรรษาอยู่ในที่นี้ ก็ทำให้เขาดีใจเหลือหลาย จึงได้ช่วยท่านทำเสนาสนะพอที่จะอยู่จำพรรษาได้
ความจริงพรรษานี้ ท่านก็ได้พยายาม เพื่อตรวจถึงความจริงของพระพุทธศาสนา จนเห็นว่ามีมิจฉาทิฏฐิปะปนอยู่มาก ที่ว่าเช่นนั้นเพราะท่านเห็นชาวบ้านพากันนับถึงภูตผีปีศาจ และนับถืออะไรต่อมิอะไรอื่นอีกเหลือคณานับ เช่น ตรงไหนมีต้นไม้ครึ้ม ๆ เขาก็ไปบูชากัน เห็นหินก้อนใหญ่ ๆ ก็ไปบูชากัน ถึงปีเช่นวันเพ็ญเดือนสิบสอง เขาก็จะมีการเลี้ยงผีแล้วก็เซ่นสรวงบูชาทำกันอย่างเอิกเกริก เหมือนกับไม่ใช่ชาวพุทธ แต่เขาก็เป็นพุทธ
ท่านว่า เรื่องอย่างนี้ก็แก้ยาก เพราะคนยังมีจิตใจต่ำ ยังไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ซาบซึ้งจริง ๆ แต่หากว่าเขาได้พัฒนาจิตขึ้นมาก สภาพจิตของเขาก็อาจจะดีขึ้น จนถึงกับเลิกเชื่อถือภูตผีปีศาจก็เป็นได้
พ.ศ.๒๔๗๕
ตอนพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ จ.เชียงใหม่
จำพรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง
ท่านได้เคยพูดเสมอว่า
กาลญฺญูต ปุริสญฺญุตา รู้จักกาล รู้จักบริษัท
ผู้จะปฏิบัติอันจะเป็นพระภิกษุสามเณร หรือเป็นคฤหัสถ์นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องรู้จักสังคม เพราะเราอยู่ในโลก ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก แม้แต่พระพุทธศาสนาก็ต้องเกี่ยวกับโลก คือ อาณาจักร การเป็นเช่นนี้จึงจะต้องทำตัวให้เข้ากับเขาได้จึงจะเป็นไปตามหลักฐานที่ถูกต้อง ปละแม้แต่พระพุทธองค์ก็ต้องนำมาบำเพ็ญ ญาตตฺถจริยา โลกตฺถจริยา คือทำประโยชน์แก่ญาติและแก่โลก บุคคลหรือนักปฏิบัติที่คร่ำเคร่งอยู่ในการปฏิบัติธรรม เขาจะต้องเป็นผู้ กาลญฺญุตา รู้จักกาล ปุริสญฺญุตา รู้จักบริษัท มิฉะนั้นการปฏิบัติอาจจะเสียผล ดังที่ปรากฏว่ากาลที่ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร บริษัทนี้ทำอะไรไม่ควรทำอะไร. ควรพูดอะไร ไม่ควรพูดอะไร หากไม่ใช้ปัญญาจะบังเกิดผลเสียหาย จนถึงการทำลายการปฏิบัติของตนเสียก็ได้
เช่นพระภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๗ อยู่บนภูเขาที่ข้างสถานีมวกเหล็ก.พอรถไฟขบวนหนึ่ง มีผู้โดยสารมากผ่าน ท่านจะขึ้นไปนั่งสมาธิบนก้อนหินสูงเด่น (แต่พอรถไฟผ่านจะนั่งหรือเปล่าไม่ทราบ) ทั้งนี้ เพื่ออวดว่าเราเป็นนักปฏิบัติ นี้คือไม่รู้จักกาล เพราะการกระทำเช่นนั้นแม้จะเป็นการปฏิบัติ แต่เป็นการกระทำเพื่อโอ้อวดมากกว่า
หรือคำพูดตลอดถึงการเขียนหนังสือ จะพูดถึงการปฏิบัติก็อย่าพึงพูดอวดตัวหรืออวดพวกของตัวว่าดีวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็ต้องรู้จักบริษัท เพราะที่พูดออกไปนั้นเขียนออกไปนั้น ผู้คนเขาจะต้องรู้ต่อกันไปอีกมาก แม้ว่าจะพูดของจริง เป็นความดีความวิเศษก็ไม่ควร แต่จะพูดในบริษัทของเรากันเอง เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสกล้าหาญในการที่จะนำเอาเป็นตัวอย่าง นี้ก็ควรจะพูด เพราะจะได้ประโยชน์
ท่านได้ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเมื่อพระโมคคัลลานเถระกับพระลักขณเถระไปทำความเพียรอยู่บนเขาคิฌกูฏ เมื่อขณะที่ลงจากเขา พระโมคคัลลานเถระได้เห็นเปรตตนหนึ่ง ด้วยทิพจักษุ คือไฟได้ไหม้ เปลวไฟได้ตั้งขึ้นแต่หางลามขึ้นไปถึงศีรษะตั้งขึ้นทั้งสองข้างไปรวมตรงกลางตัว ได้รับความทรมานแสนสาหัส พระเถระเห็นดังนั้นแล้วจึงยิ้มขึ้น อันพระลักขณเถระถามเหตุแห่งการยิ้ม ตอบว่า ที่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ ท่านจงถามเราในสำนักพระศาสดาเถิด ท่านทั้งสองเที่ยวไปบิณฑบาตในนครราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระศาสดา
อันพระลักขณเถระนั้นได้ถามเหตุของการยิ้มแห่งพระเถระ ต่อพระพักตร์ของพระศาสดาแล้ว พระโมคคัลลานะจึงตอบว่า
ผู้มีอายุ ผมได้เห็นเปรตตนหนึ่งในที่นั้น.อัตตภาพของมันเป็นอย่างนี้ จึงได้ทำการยิ้มให้ปรากฏ เพราะอัตตภาพอย่างนี้ เราไม่เคยเห็นเลย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นการย้ำความจริงแก่พระโมคคัลลานเถระว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกของเราเป็นผู้มีจักษุหนอ ทรงรับรองถ้อยคำของพระเถระแล้ว.จึงตรัสว่า เปรตตนนั้นเราได้เห็นมันแล้วนับแต่เราได้ตรัสรู้ ณ โพธิสถานเหมือนกัน.แต่เราไม่พูด เพราะคิดว่า เมื่อหมู่ชนใดไม่พึงเชื่อคำของเรา ความไม่เชื่อของชนหมู่นั้น ไม่มีประโยชน์อะไรมีแต่จะให้โทษแก่เขาเท่านั้น บัดนี้เราได้พระโมคคัลลานะเป็นพยานแล้ว จึงจะได้พยากรณ์ว่า เปรตนั้นได้ทำกรรมอะไรมา
ที่ตรงนี้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ย้ำพูดถึงว่า การที่เรามีความรู้อะไรต่าง ๆ อันเป็นภายในแห่งสมาธิ สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นความจริงก็ไม่ควรพูดออกมาหรือเขียนออกมาให้คนอื่นเข้าใจผิด เพราะผู้อื่นนั้นยังไม่รู้ หรือถึงรู้ก็ไม่เข้าใจ ซึ่งอาจจะเป็นบาปแก่ผู้ฟังถ้ามีการเข้าใจอย่างผิด ๆ ถูก ๆ เพราะความไม่เชื่อ นับประสาอะไรกับเราผู้เป็นสาวกรุ่นนี้เล่า ? แม้แต่พระบรมศาสดา พระองค์มิได้ทรงพยากรณ์ในเรื่องเปรตเหล่านั้นในขณะที่ทรงเห็นด้วยพระองค์เอง ได้ทรงพยากรณ์ก็ต่อเมื่อมีพระมหาโมคคัลลานเถระมาเป็นพยานในการรู้เห็นของพระองค์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ว่า ผู้ที่มีแต่เฉพาะตานอก คือเพียงตาเนื้อ แต่ไม่มีตาทิพยจักษุ คือตาภายในนั้น เขาก็รู้เอาแต่เพียงคาดคะเนเท่านั้น เขาจะชื่อว่ารู้จริงหาได้ไม่ ดูตัวอย่าง ฌาน ก็แล้วกันเขาเรียนทั้งรูปฌาน อรูปฌาน แต่เขาก็ไม่รู้ว่า ฌานนั้นเป็นอย่างไร นี่แหละ พึงเข้าใจเสียเถิดว่า จะเป็นบาปแก่เขาเปล่า ๆ แม้แต่เขาเหล่านั้นจะมีความรู้เรียนจบพระไตรปิฎก แต่ตาในไม่มีก็ไม่เข้าใจความจริง เมื่อเพียงแต่เดาเอาก็ไปกันใหญ่ เหมือนเขาเล่าว่า อีกาเช็ดปาก พอลือกันไปหน่อยก็ค่อย ๆ ยาวไป ก็กลายเป็นอีกา ๗ ปาก แตกตื่นกันใหญ่
เรื่องของเปรตนั้น ท่านกล่าวต่อไปว่า เปรตตนนี้เมื่อยังเป็นคน ได้เกิดในศาสนาพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า สุมังคละได้สร้างพระวิหารถวายโดยเสียสละทรัพย์จำนวนมาก เศรษฐีนี้จะต้องไปที่วิหารนั้นทุก ๆ วัน ในวันหนึ่งตอนเช้า ท่านเศรษฐีได้ไปที่วิหารดังเช่นเคยทุก ๆ วัน ในระหว่างทางได้เหลือบไปเห็นโจรคนหนึ่งนอนอยู่ใกล้ ๆ ประตูพระนคร มีตัวสกปรกทั้งตัวแล้วยังเอาผ้ากาสาวะคลุมตัวด้วย เศรษฐีจึงพูดเปรย ๆ ขึ้นว่า หมอคนนี้เป็นคนเปรอะเปื้อนสกปรก เป็นนักเลงเที่ยวกลางคืนไม่เอาการเอางาน ดีแต่นอน
โจรได้ฟังก็โกรธคิดว่า เราจะต้องทำให้เศรษฐีนี้เจ็บใจ ผูกอาฆาตแล้วทำการเผานา ตัดเท้าโค เผาเรือนของเศรษฐี แต่เศรษฐีก็ไม่โกรธเคือง โจรจึงคิดว่าเราจะทำให้เศรษฐีเคืองให้ได้ รู้ว่าพระคันธกุฎี อันเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้อง|เป็นที่รักของเศรษฐี จึงได้ไปเผาพระคันธกุฎีวอดหมด แทนที่เศรษฐีจะเสียใจ กลับดีใจหัวเราะ เพราะจะได้ทำพระคันธกุฎีเสียใหม่ให้สบาย. สวยกว่าเก่า ส่วนโจรผู้ซึ่งได้ทำกรรมหนัก ถึงกับเผาพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าเมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไปบังเกิดในมหาอเวจีนรกสิ้นกาลนาน บัดนี้มาเกิดเป็น อชครเปรต ถูกไฟไหม้อยู่ที่ภูเขาคิฌกูฏด้วยผลแห่งกรรมที่ยังเหลือ
ในปี พ.. ๒๔๗๕ นี้ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระก็ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงในเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง โดยมีความประสงค์จะได้ดำเนินการพระศาสนา ให้เป็นประโยชน์แก่บริษัททั้งหลาย และก็ได้ผลตามที่ท่านเล่าว่า มีพุทธบริษัทมาเรียนกัมมัฏฐานกันมาก ทั้งพระภิกษุ สามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ต่างก็พากันตื่นตัวขึ้น แล้วท่านก็ได้แนะนำการปฏิบัติในทางจิตใจให้ นับว่าเป็นประโยชน์ เพราะการปฏิบัติธรรมในขณะนั้น โดยทั่วไปยังพากันสนใจน้อยมาก ต่อเมื่อเขาปฏิบัติจนเกิดผลคือ ความสงบทางใจแล้วและได้เล่าต่อ ๆ กันไป ก็ทำให้เกิดความกระตือรือร้นขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีบุคคลใคร่เพื่อให้ได้ความสุขอันเป็นภายใน แต่การปฏิบัตินั้นต้องอาศัยผู้แนะนำที่ถูกต้องก็จะทำให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป เมื่องจากการแนะนำในด้านการปฏิบัติจิตใจขณะนั้น ยังไม่แพร่หลาย จึงทำให้บุคคลผู้มาปฏิบัติอยู่ในวงจำกัด
พ.ศ. ๒๔๗๖
ตอนพระอาจารย์มั่น ฯ จำพรรษาที่อรัญญปัพพตา
บ้านห้วยทราย อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย
ครั้นเมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ด้วยความประสงค์ที่จะให้พระภิกษุสามเณรได้สนใจในการปฏิบัติ โดยการที่ท่านแนะนำพร่ำสอน กับทั้งความเพียรซึ่งท่านได้กระทำเป็นตัวอย่าง ผลที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก ทั้งนี้หมายความถึงธรรมที่เกิดขึ้นภายใน
ท่านเล่าว่าเมื่อออกพรรษาไปในปีที่แล้วก็เดินธุดงค์จากวัดเจดีย์หลวง เพื่อไปแสวงหาความสงบต่อไป ซึ่งตั้งใจว่าจะกลับมาแนะนำสั่งสอนประชาชนในเมืองเป็นครั้งคราว เพื่อให้ประชาชนชาวเมืองได้รับความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามสมควร ท่านจึงมุ่งหน้าไปอำเภอสันทราย อำเภอนี้ไม่ไกลจากหัวเมืองเชียงใหม่เท่าใดนัก แต่ก็ลำบากมิใช่น้อยเพราะไม่มีถนนรถยนต์ ใช้การเดินเท้าตลอดตามที่ต่าง ๆ ก็มีหมู่บ้านเล็ก ๆ เป็นแห่งๆ ไป ท่านเล่าต่อไปว่า พยายามหลีกเลี่ยงหมู่บ้านใหญ่ ๆ เพราะกลัวคนจะมารบกวน จึงพยายามหาที่สงบ เมื่อเห็นว่าสถานที่สงบดีก็พักอยู่นาน แต่เมืองเชียงใหม่นี้มาเลเรียชุมนัก มักเล่นงานเอาท่านหลายครั้ง ทั้งยาก็หายาก ใช้ยาสมุนไพรแก้ไขกันไปตามเรื่อง บางครั้งก็ต้องใช้กำลังใจกำจัดมันก็หายไปได้
ท่านได้เล่าต่อไปอีกว่า การเปลี่ยนบรรยากาศ จากในป่าเข้ามาอยู่ในเมืองนั้นเป็นสิ่งควรทำ เพราะจะเป็นการทดลองกำลังใจของคนที่ฝึกฝนมาแล้ว เพราะหากว่าอยู่ป่าจำเจไป ถ้าหากว่าไม่มีสติพอ อาจจะกระทำให้เห็นว่าโลกนี้แคบไป หรือจะอยู่แต่ในความสงบอันจะเป็นไปตามโมหะ เพราะการอยู่ในป่านั้นไม่เกี่ยวข้องในความเป็นอยู่ในหมู่คนส่วนใหญ่ การอยู่ป่าจึงมีส่วนดีและส่วนเสียอยู่เหมือนกัน. เพราะหากว่าเกิดเป็นทิฏฐิชนิดหนึ่งแล้วจะแก้ยาก คือถือว่าการอยู่ป่านั้นวิเศษกว่า ถือว่าเรานั้นวิเศษแล้ว ผู้ที่ไม่ได้อยู่ป่าถือว่าบุคคลผู้นั้นอยู่กลางกิเลส จึงถือเอาตัวเป็นใหญ่ แล้วทำทิฏฐินี้ให้ฝังอยู่ในใจ ตำหนิติโทษผู้อื่น อย่างนี้เป็นผลเสียเป็นอย่างยิ่ง.
ท่านเล่าต่อไปว่า ในครั้งพุทธกาล พวกฤๅษีจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ท่านจะอยู่เป็นเวลาประมาณ ๔ เดือนในป่าหิมพานต์นั้น ๘ เดือนท่านจะมาอยู่กับหมู่ชน จากคัมภีร์พระธรรมบทขุททกนิกาย ท่านอ้างว่ามีพระฤๅษีจำนวนหนึ่งประมาณ ๕๐๐ คน มีโฆษกเศรษฐีเป็นที่คุ้นเคยในตระกูลนั้น สี่เดือนฤๅษีทั้ง ๕๐๐ จะอยู่ในป่าหิมพานต์ ๘ เดือน ฤๅษีทั้ง ๕๐๐. จะมาหาเศรษฐี และเพื่อจะได้ลิ้มรสอาหารนานาชนิด เพราะอยู่ในหิมพานต์ประเทศนั้นได้ลิ้มแต่รสผลไม้
ในวันหนึ่ง ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ได้มาพักอยู่ใต้โคนต้นไทรต้นใหญ่ มีร่มเงาสาขามหึมา ครั้นนั่งพักกันสักครู่แล้ว ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ก็มีความสงสัยว่าต้นไม้ใหญ่อาจจะมีเทวดาสิงอยู่ จึงได้พูดว่า
หากว่าเทวดามีอยู่จริง บัดนี้พวกเราต้องการน้ำฉันเพราะกำลังกระหาย
เทวดาที่สิงอยู่ในต้นไทรนั้นก็เนรมิตน้ำให้ฉัน
ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ องค์ก็พูดว่า เราต้องการอาหาร
เทวดานั้นก็เนรมิตอาหารถวายให้ฉันกันจนอิ่ม
ฤๅษีพากันพูดว่า.”พวกเราต้องการเห็นตัวเทวดา
เทวดาก็ปรากฏตัวให้เห็นกันจนทั่วถึง
ฤๅษีจึงถามเทวดาว่า ท่านทำบุญอะไรมา ?”
เทวดาก็ไม่อยากจะบอกความจริง เพราะทำบุญมาน้อยมาก แต่ฤๅษีได้อ้อนวอนโดยนานาประการ เทวดาจึงบอกบุพพกรรมตนเองว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในชาติก่อนนั้น กระผมได้เกิดเป็นคนใช้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ที่เป็นพุทธอุปฐาก ครั้งนั้นผมเป็นคนใช้ใหม่ ๆ ไม่ทราบถึงว่าวันพระหนึ่งๆ พวกคนใช้ทั้งหมดจะต้องสมาทานศีล ๘ วันนั้นเป็นวันพระ ผมได้ไปทำงานตัดไม้ในบ้าน ผมกลับมาแล้ว มีความสงสัยมาก ว่าทำไมไม่มีใครรับประทานอาหารมื้อเย็นแม้แต่คนเดียว เขาได้จัดอาหารไว้ให้ผม ผมจึงสงสัยมาก ได้ถามว่าเขาทำไมไม่รับประทานอาหารในเวลาเย็นกันเลย
ได้รับคำตอบว่า วันนี้เป็นวันพระ ทุกคนในที่นี้ต้องสมาทานศีลอุโบสถ แม้แต่เด็กกินนม วันนี้ก็ต้องกินน้ำผึ้งแทน
ผมจึงได้เกิดความละอายแก่ใจ แล้วมีศรัทธาขึ้นมาทันที จึงได้เข้าไปถามท่านเศรษฐีว่า ผมจะขอสมาทานศีลอุโบสถบ้างจะได้ไหม
อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็บอกว่าได้ แต่ได้เพียงกึ่งพระอุโบสถศีล เพราะวันนั้นเย็นแล้ว
ผมคิดว่าแม้กึ่งอุโบสถก็ยังดี ผมจึงสมาทานอุโบสถทันที ครั้นเมื่อผมได้สมาทานอุโบสถแล้ว ค่าที่ผมไม่เคยอดข้าวเย็นมาก่อน ผมก็เกิดปวดท้องเป็นลมอย่างรุนแรง ในเมื่อเวลาล่วงไปใกล้รุ่ง ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า เพื่อนๆ ผมเขาบอกให้ผมรับประทานอาหารเสียเถอะ แต่ผมก็ไม่ยอม จนต้องถึงกับเอาผ้าขาวม้ามารัดท้องเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวด ในที่สุดผมก็ไม่สามารถที่จะทนอยู่ต่อไปได้ จึงทำกาลกริยาตายในคืนนั้นเอง ด้วยอานิสงส์กึ่งอุโบสถ ผมจึงมาเกิดเป็นเทวดาอยู่ในที่นี้
อันพวกฤๅษีถามแล้วว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วหรือ ?
อุบัติขึ้นแล้วขณะนี้ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
ฤๅษีเหล่านั้นมีความดีใจเป็นอย่างยิ่งรีบเดินทางไปพบเศรษฐีผู้ชื่อว่าโฆษกะที่เป็นโยมอุปฐาก เพราะทุก ๆ ปีหน้าแล้งก็จะมาพักอยู่กับเศรษฐีนี้เพื่อจะได้ลิ้มรสอาหารนอกจากผลไม้ แต่การมาคราวนี้ของฤๅษี ๕๐๐ เป็นไปอย่างรีบด่วน เมื่อได้พบเศรษฐีแล้ว ก็รีบบอกเศรษฐีว่า
บัดนี้ พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ท่านเศรษฐีจะไปนมัสการท่านหรือไม่ พวกเราจะไปเดี๋ยวนี้
เศรษฐีก็บังเกิดศรัทธาจากความบอกเล่าของฤๅษีจึงบอกว่า พวกท่านหมู่ฤๅษี จงไปก่อนเถิด ผมจะตามไปทีหลัง
ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ก็รีบเดินทางไปพบพระพุทธเจ้า ได้เข้าไปนมัสการ ณ วัดพระเชตวัน นครสาวัตถี เมื่อเข้าไปเฝ้าแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ยังพวกฤๅษีเหล่านั้นให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยพลัน
เรื่องนี้หลังจากท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังโดยย่อแล้ว ท่านก็ได้อธิบายเป็นข้อๆ ว่า
๑. การที่ประชาชนหรือฆราวาสที่รักษาอุโบสถนั้น นับว่าเป็นกุศลแก่เขามาก เพียงกึ่งอุโบสถก็ทำให้ได้บุญมิใช่น้อย เพราะเหตุนั้นควรจะแนะนำโยมรักษาอุโบสถให้มากก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
๒. การที่ฤๅษีบำเพ็ญฌานจนสำเร็จอภิญญาแล้ว ได้มาฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านบอกว่า เพราะความพอเพียงแห่งพลานุภาพของจิต ซึ่งฤๅษีเหล่านั้นได้บำเพ็ญ เพียงแต่ยังไม่ได้อุบายที่ถูกต้องเท่านั้น เพราะฌานของฤๅษีเท่ากับสมถกรรมฐาน แต่ยังไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นการกำจัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อได้ฟังธรรมแสดงในทางวิปัสสนาจึงไม่เป็นของยาก
๓. การลงมาจากภูเขาหิมพานต์ประเทศตามตำนานบอกว่าเพื่อลิ้มรสอาหารที่เผ็ดมัน และอาหารรสเลิศต่าง ๆ แต่เราเข้าใจว่า เป็นการทดสอบในเรื่องของจิตใจมากกว่า เพราะการอยู่ในป่านั้นสงบทั้งภายนอก คือหาสีแสงของผู้คนหญิงชายความกระตุ้นของอายตนะภายนอกไม่มี ก็เหมือนกับสงบอยู่ หรือเหมือนหมดกิเลสแล้ว และยิ่งได้บำเพ็ญสมาธิก็ยิ่งเหมือนกับว่าสลัดแล้วซึ่งกิเลสจริง ๆ แต่นั้นเป็นเพียงการระงับยับยั้งกิเลสไว้ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งพอมากระทบสีแสงฉาบสวยตระการตา ผู้คนหญิงชายอันเป็นกามกิเลสตลอดจนสิ่งต่าง ๆ อันเป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจให้กำเริบขึ้น ก็เกิดความหวั่นไหวคลอนแคลน ถึงจะไม่หวั่นไหวมากเพราะกำลังจิตยังดีอยู่ก็ตาม แต่ในเมื่อมันหวั่นไหวแล้วความเร่าร้อนที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในขันธสันดานย่อมเกิดขึ้น อุปมาประดุจดังไฟสุมแกลบนั่นทีเดียว
พวกฤๅษีทั้ง ๕๐๐ องค์เหล่านี้ได้มาพิจารณาตัวตนของตัวเองโดยที่มิได้ถือทิฏฐิมานะว่า เรานี้มีฤทธิ์ถึงกับเหาะเหินเดินอากาศได้ อีกทั้งมีคนร่ำรวยและมียศถาบรรดาศักดิ์มาเลื่อมใส ละทิฏฐิมานะอันจะเป็นเครื่องกางกั้นความจริงเสีย โดยพิจารณาถึงความจริงว่า เรายังมีความหวั่นไหวในใจที่ถูกกระทบกระเทือนอยู่
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ท้าวความต่อไปว่า บุคคลผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานทั้งหลายควรสำเหนียกข้อนี้ให้มาก เพราะถือเอาทิฏฐิมานะเป็นเกณฑ์ แล้วจะเสียผล เนื่องจากการเข้าใจตัวเองผิด ๆ โดยการที่ตนเองมักจะตีความเข้าตัวเองอยู่เสมอ เมื่อความดีเกิดขึ้นประมาณ ๑๐๐ ก็ตีความเอาว่าเรานี้ได้ ๑,๐๐๐ แต่การตีความเช่นนี้มันก็ไม่เสียหายอะไร และก็ไม่เป็นบาปด้วย เช่นเราทำสมาธิได้รูปฌานมา เข้าใจว่าเราได้อรูปฌาน หรือกำลังพิจารณาความเกิดดับเป็นอุบายของสมถะข้างต้น เข้าใจว่าตัวถึงวิปัสสนาที่แท้จริง เหล่านี้คือการเข้าใจตัวเองผิด ไม่เป็นบาปแต่ก็ทำให้เกิดการเนิ่นช้าเสียเวลา ควรจะยอมรับความจริงเสีย อย่ายกตัวเองให้มากไป เช่นมี ๑๐๐ เข้าใจว่ามี ๑,๐๐๐ เป็นอย่างนี้จะเสียเวลาเปล่า บำเพ็ญความเพียรที่เขาได้ผลอย่างจริงจังนั้น เพราะยอมรับความจริงโดยไม่หลีกเลี่ยง และมีความมุ่งหวังความพ้นทุกข์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้อธิบายธรรมต่างๆ นี้แล้ว ก็เล่าไปถึงการเดินธุดงค์ครั้งนี้โดยความประสงค์จะไปให้ไกล จึงตัดทางไปทางจังหวัดเชียงราย ที่ได้ข้ามขุนเขาไปอย่างทุรกันดารที่สุด แล้วในสมัยนั้นไม่ต้องพูดถึงรถยนต์ แม้แต่ถนนรถยนต์ก็ไม่มี แต่นั่นเป็นความพอใจ เพราะต้องการวิเวก ซึ่งเป็นการเหมาะสมสำหรับสมณะ และการไปครั้งนี้ ใคร่เพื่อที่จะไปให้ใกล้แดนประเทศพม่าให้มากที่สุด เพราะท่านเคยธุดงค์ไปประเทศพม่ามาครั้งหนึ่งแล้ว ท่านจึงรู้จักทางที่จะไป และสถานที่ที่จะทำความเพียรอันเป็นแหล่งวิเวกบางแห่งนั้น ท่านเล่าว่าท่านยังชอบใจในภูมิประเทศหลายแห่งสมควรแก่การอยู่เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ก็บ้านห้วยทราย ในเขตท้องที่อำเภอเวียงป่าเป้านี่ก็เป็นย่านที่พอเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้อยู่จำพรรษา.
ท่านได้พูดว่า การอยู่ป่าเขา เมื่อจะอยู่นานได้นั้น ต้องตรวจดูภูมิประเทศเกี่ยวกับอากาศอย่าให้อับเกินไป คืออย่าให้เป็นป่าทึบเพราะจะทำให้เกิดความวิปริตแก่ร่างกาย และถ้าเป็นภูเขาก็อย่าให้สูงเกินไป จะทำให้เกิดไม่สบายเกี่ยวกับอากาศและการโคจร หากประสงค์จะทำความเพียรให้ได้ผล ก็ควรจะหาชาวบ้านที่เป็นสัปปายะ ไม่รบกวนจนเป็นเหตุให้ต้องเสียเวลาการทำความเพียร คือชาวบ้านไม่แตกตื่นกัน เพราะชาวเขาชาวบ้านในป่าลึกเขาไม่ใคร่แตกตื่นเหมือนชาวเมือง ก็จะทำให้ไม่ต้องมีการกังวลมาก ท่านว่า คนตื่นนี้มันยิ่งกว่าวัวควายตื่น พอรู้ว่าพระหลวงพ่อขลังมาอยู่บนภูเขาจะแตกตื่นไปพบกันใหญ่ หลวงพ่อบางองค์กิเลสยังเยอะ หลงไปกับความแตกตื่น อุตส่าห์ตัดถนนรถยนต์ให้คนเขาไปหาเพื่อให้ความสะดวกแก่คน เลยแตกตื่นกันใหญ่ ท่านว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก
เมื่อท่านเห็นว่าที่บ้านห้วยทรายนี้ เหมาะแก่การทำความเพียร อันจะเป็นผลทางใจอย่างนี้แล้ว ท่านก็ได้รับความอนุเคราะห์จากชาวบ้าน โดยยกกระต๊อบถวายพอจะอยู่ได้ไม่ผิดพระวินัย แล้วท่านจึงปรารภความเพียรอย่างเต็มที่
ภายในพรรษานี้ ท่านได้เล่าให้กับผู้เขียนฟังว่า เราได้พิจารณาดูแล้วว่าต่อไปการทำกัมมัฏฐานของพระภิกษุสามเณรนั้นจะรุ่งโรจน์ แต่จะไปรุ่งโรจน์ในเมือง และการธุดงค์ของพระภิกษุสามเณรนั้นจะเป็นบางลงไป เพราะจะไปหาป่าเขาวิเวกยากยิ่งขึ้น ประกอบกับความไม่เข้าใจของการธุดงค์ ที่จะทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง มีแต่จะธุดงค์พอเห็นเหมาะก็สร้างวัดกัน เพื่อจะให้เป็นแหล่งบำเพ็ญสมณธรรมตามประเพณีไปเท่านั้น เพราะแต่ละแห่งญาติโยมเขาต้องการพระที่จะอยู่กับเขา สั่งสอนเขาให้ได้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติ จึงทำให้เกิดเป็นวัดป่ากันมากขึ้น
ส่วนในเมืองทั่ว ๆ ไปญาติโยมก็จะสนใจการปฏิบัติธรรมมาก และจะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยบ้าง แต่ก็ยังดี จะได้เป็นกำลังของการปฏิบัติ ท่านว่าผู้ใหญ่โต พ่อค้าวาณิชชาวเมืองจะพากันสนใจกัมมัฏฐานมากขึ้นในอนาคต
ผู้เขียนฟังแล้วยิ่งไตร่ตรองดู ก็ยิ่งเห็นจริงขึ้นตามลำดับเมื่อมามองดูในยุคปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๗๗
๑๒ ปีในการอยู่เชียงใหม่ของพระอาจารยมั่น ภูริทัตตเถระ
จำพรรษาที่ปางเมี่ยง แม่ปั๋ง อ. พร้าว
นับเป็นการเดินธุดงค์ที่มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยในการเดินท่องเที่ยวอย่างโดดเดี่ยวในท่ามกลางขุนเขาลำเนาไพรป่าไม้ดงดิบ อันเป็นดงแห่งสัตว์ร้ายนานาชนิด ซึ่งมันจะสามารถทำลายชีวิตทุกเมื่อทุกขณะ ในเมื่อพระอาจารย์มั่นฯ ท่านได้วกวนท่องเที่ยวอยู่โดยการบำเพ็ญธุดงค์กัมมัฏฐาน แต่ความลำบากเหน็ดเหนื่อยในการบำเพ็ญเช่นนี้ก็หาได้เป็นอุปสรรคอะไรเลยสำหรับท่าน ยิ่งทำให้ท่านให้รับผลแห่งความบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ผู้เขียนได้สอบถามชาวบ้านในหมู่บ้านของอำเภอพร้าว ที่ท่านอาจารย์เคยพักอยู่ และชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นสวนลำไย และมีหมู่บ้านหนาแน่นมาก แต่ครั้งที่ท่านมาพักนั้น ครั้งนั้นยังเป็นดงดิบ มีสัตว์จำพวกเสือ หมี หมูป่าเข้ามากินวัวควายทำร้ายผู้คน หรือไม่ก็เข้ามาทำลายวัตถุสิ่งของผลาผลต่าง ๆ อยู่เสมอ
ชาวบ้านเล่าว่า ท่านได้แนะนำให้พวกเขาแสดงตัวเป็นพุทธมามกะ (ผู้รับเอาพระรัตนเป็นที่พึ่ง-ผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย) และสอนให้พวกเขาเข้าใจในเหตุผลแห่งความเป็นจริง โดยไม่ให้มีความเชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล เพราะเหตุผลเป็นความจริงในพระพุทธศาสนา โดยท่านได้สอนเน้นถึงว่า คุณธรรมนั้นมีความสำคัญยิ่งนัก เช่นที่เราพากันกราบไหว้พระพุทธปฏิมากรนี้ มิใช่ว่าเราไหว้หรือนอบน้อมต่ออิฐ-ปูน-ทองเหลือง-ทองแดง-ทองคำ-หรือไม้-ดิน เพราะนั่นเป็นแต่เพียงวัตถุก่อสร้างธรรมดาอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อเราจะกราบไหว้พระพุทธรูป เราต้องกราบไหว้คุณธรรม คือมาระลึกถึงว่า พระพุทธเจ้าพระองค์ท่านตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ไกลจากกิเลสเครื่องยั่วยวน ซึ่งถ้าไม่ไกลจากกิเลสแล้วเราก็ไม่ไหว้ เราไหว้เฉพาะท่านที่ห่างไกลจากกิเลสเท่านั้น อย่างนี้ชื่อว่า ไหว้พระองค์ท่านด้วยคุณธรรม จึงจะไม่ชื่อว่า ไหว้อิฐ-ปูน- ฯลฯ
การไหว้พระธรรมซึ่งเป็นคุณธรรมที่มีอยู่ในพระพุทธองค์ก็เช่นกัน โดยกล่าวคำเป็นต้นว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธมฺมํ นมสฺสามิ-พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนมัสการกราบไหว้พระธรรมนั้น เพราะถ้าพระธรรม (คำสอน) ที่กล่าวแล้วไม่ดีและเมื่อพิจารณาเห็นประจักษ์แล้วว่าไม่มีเหตุผล เราก็ไม่ไหว้ไม่นอบน้อม ดังนั้นเราจึงไหว้แต่พระธรรมที่กล่าวดี มิฉะนั้นแล้วเราก็จะกราบถูกเพียงแต่ใบลาน คือใบไม้ เพราะไปเข้าใจว่า ใบไม้คือธรรมนี้ชื่อว่าไม่ถูกต้อง เราจะต้องกราบให้ถูกให้ตรงต่อคำสอน คือพระธรรมของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง
สำหรับพระสงฆ์อันเป็นสาวกผู้สืบพระศาสนาคือหลักธรรมของ พระพุทธเจ้าก็มีนัยเช่นเดียวกัน การที่เราให้ความเคารพกราบไหว้สักการะก็โดยมาระลึกถึงว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีการเป็นอยู่อย่างสงบ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ พร้อมกันนี้ท่านยังดำรงภาวะเป็นเนื้อนาบุญอันเอกอุของชาวโลก ดังนั้นเมื่อเราจะกราบไหว้เราก็กล่าวคำว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ นมามิ-พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ชื่อว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้านอบน้อมกราบไหว้พระสงฆ์นั้น ถ้าพระสงฆ์มีการปฏิบัติไม่ดีเราก็ไม่กราบ เรากราบผู้ที่ท่านปฏิบัติดี อย่างนี้ชื่อว่า กราบถูก มิฉะนั้นจะเป็นว่าเรากราบคนหรือธาตุ ๔ เท่านั้น ดังนั้นขณะที่เรากราบโดยกล่าวคำระลึกดังที่กล่าวมาแล้วและมีพระสงฆ์อยู่ต่อเฉพาะหน้าเรา อาจจะไม่ถูกเรากราบ ถ้าพระสงฆ์รูปนั้นปฏิบัติไม่ดี เมื่อทำได้ดังกล่าวชื่อว่าเรากราบได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด
สรุปแล้วกราบไหว้ใด ๆ ก็ตามถ้าเรากราบโดยยึดเอาคุณธรรมเป็นที่คงเป็นหลักแล้ว เราจะไม่มีการกราบผิดเลยเพราะการกราบไหว้โดยท้าวความถึงคุณธรรมนั้นจึงจะชื่อว่าเป็นเหตุผล หรือสมกับเหตุผลนั้นก็คือ กราบได้ไม่ผิดจึงจะได้รับความสงบร่มเย็นเป็นบุญ ฯ
ผู้เขียนรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจมาก ที่ได้ฟังโยมเขาอธิบายถึงคำสั่งสอนของท่านอาจารย์มั่น ฯ ที่เขาได้พากันจดจำเอาไว้และได้นำมาเล่าให้ฟังได้อีกจึงทำให้ได้ ความจริงมาอีกข้อหนึ่งว่า ท่านอาจารย์ท่านได้สอนคนบ้านนอกที่กลการศึกษาให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงซึ่งบางทีอาจจะดีกว่าผู้ที่ศึกษาแล้วอยู่ในเมืองหลวงเสียอีก....
โยมคนนั้นได้เล่าถึงท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านสอนต่อไปว่า ศาสนา คือตัวของเราและอยู่ที่ตัวของเราเพราะเหตุไร ? ก็เพราะว่า ตัวตนของคนเรานี้เป็นที่ตั้งของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมก็ทรงแสดงถึง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ปฏิบัติก็ให้ปฏิบัติที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และที่ใจ ไม่เห็นให้ปฏิบัติที่อื่น ๆ
นอกจากที่ดังกล่าว บางคนก็ว่า ศาสนาอยู่ในคัมภีร์ใบลาน
โยมคนนั้นได้เล่าให้ฟังว่า ไม่ใช่อยู่ในคัมภีร์ใบลาน ก็ในใบลานหรือในกระดาษหนังสือทั้งหลาย ก็คนเรานั่นแหละไปจารึกไว้หรือไปเขียนไว้และทำมันขึ้นมา ซึ่งถ้าคนไม่ไปเขียนหรือไปทำมันขึ้นมา มันจะเป็นหรือมีขึ้นมาได้อย่างไร
บางคนว่าศาสนาอยู่ในวัดวาอารามหรือพระสงฆ์
โยมคนนั้นก็ได้รับอรรถาธิบายจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ว่า วัดนั้นใครเล่าไปสร้างไห้มันเกิดขึ้น ก็คนนั้นแหละ พระสงฆ์ใครเล่าไปบวช ก็คนนั่นแหละบวชขึ้นมา ก็เป็นอัน ศาสนาอยู่ที่ตัวของเรา. ..
การที่เราจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติศาสนา จึงเป็นสิ่งที่ตัวเราจะต้องมีความรับผิดชอบ ถ้าไม่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คือการละบาป บำเพ็ญบุญ เราจะต้องไปทำชั่วซึ่งผิดศีลธรรมก็ต้องถูกลงโทษให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบคือละความชั่วประพฤติความดี ผลที่เกิดขึ้นก็คือความสุขสงบ และความหลุดพ้นจากทุกข์ในที่สุด นี้ก็คือการปฏิบัติพระพุทธศาสนาแล้วก็มีผล คือการปฏิบัติโดยการยกตัวของตนขึ้นจากหล่มหลุมแห่งวังวนวัฏสงสารเป็นต้น. . 
ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกจับใจและมาเข้าใจว่า คนที่อยู่ในตำบลนอก ๆ ห่างไกล ก็ยังมีความรู้ซึ้งในพระพุทธศาสนาได้ก็นับว่ายังดีมาก แต่ก็เกิดขึ้นจากท่านผู้รู้ที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวโดยเข้าไปสอนให้รู้ธรรมได้   
ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า
สำหรับอำเภอพร้าวนี้มีภูมิทำเลเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางใจ และเป็นสถานที่แปลกประหลาดอยู่ เพราะมีภูเขาเรียงรายอยู่ทั่ว ๆ ไป ที่แปลกคือ ภูเขาวงล้อมเป็นเหมือนกำแพงเมือง มองดูแต่ไกลสูงตระหง่านง้ำตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ แลตอนใดที่เขาไม่จรดถึงกันก็ปรากฏเป็นช่องเขาขาด ดูประดุจหนึ่งประตูของกำแพงเมือง บริเวณเหล่านี้เราจะเลือกเอาเป็นสถานที่สำหรับทำความเพียรได้สบายมาก เพราะบริเวณนี้แวดวงด้วยขุนเขาและป่าละเมาะโปร่งสบาย ทุ่งนาก็มีเป็นแห่ง ๆ สลับกับลำธารห้วยระแหงซึ่งมีอยู่โดยทั่ว ๆ ไป พร้อมกันนี้หมู่บ้านก็ตั้งเรียงรายอยู่กันเป็นหย่อม ๆ มากบ้างน้อยบ้าง พอได้อาศัยเป็นโคจรคามบิณฑบาตตามสมควร...
ท่านจึงปรารภในใจว่า สมควรจะได้อยู่พักเพื่อการบำเพ็ญให้นานสักหน่อย ประกอบกับลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ที่ได้รับคำสั่งสอนและปฏิบัติตามมรรคาที่ท่านได้แนะนำพร่ำสอนแล้วก็ได้รับผลพอสมควร แต่ก็ยังมีข้อสงสัย หรือไม่ก็ผลที่ตนได้รับนั้นยังไม่เป็นที่พอใจ ซึ่งก็ได้พากันพยายามติดตามหาท่านอยู่ตลอดมา ส่วนมากก็อยู่ทางภาคอีสาน และเมื่อท่านได้มาอยู่ทางภาคเหนือ จึงพยายามเดินทางมาหาท่านเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้ จึงปรากฏว่าได้มีพระภิกษุสามเณรทางภาคอีสานเป็นจำนวนไม่น้อย ได้พากันเดินทางมาพบท่านที่เชียงใหม่ และเมื่อได้ข่าวว่าท่านอยู่ที่อำเภอพร้าว จึงได้ไปหาที่นั่น แล้วก็มีมากขึ้นตามลำดับ เพราะแต่ก่อนท่านพยายามไม่อยู่ที่ไหนนาน ผู้ติดตามไม่ใคร่จะพบ เมื่อท่านอยู่อำเภอนี้นานเข้า ทำให้มีการเล่าลือว่าท่านอยู่แห่งนี้นาน พระภิกษุสามเณรผู้ได้รับความเย็นใจจากท่านก็ได้โอกาสรีบติดตามเพื่อจะได้พบ และต้องการฟังธรรมเทศนาของท่าน
ท่านเล่าว่า ในระยะนี้เราต้องการที่จะพบกับลูกศิษย์ลูกหาเหมือนกัน เพราะจะได้ปรับความเข้าใจในเรื่องปฏิบัติทางใจให้มีความละเอียด และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องปรับปรุง เพราะการปฏิบัติจิตใจ จะต้องศึกษาให้รอบคอบ เนื่องจากว่าเป็นนามธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องมีประสบการณ์ในตนเอง คือการกระทำที่เกิดขึ้นในใจนั้นมีหลายอย่างที่จะต้องใช้ปัญญาวิจารณ์ หาเหตุผลเพื่อให้การดำเนินไปในทางที่ถูกต้องจริง ๆ เปรียบเทียบเท่ากับพระไตรปิฎกในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในปีนี้มีพระอาจารย์ที่เคยเป็นศิษย์ของท่าน ในขณะเมื่อท่านได้แนะนำสั่งสอนอยู่ในภาคอีสานจำนวนมาก ได้เริ่มคิดถึงท่านที่ได้จากมาอยู่ทางภาคเหนือหลายปีแล้ว จึงต่างก็ได้คิดจะติดตาม เพราะขณะที่ได้อยู่กับท่านนั้นได้รับผลทางใจมากเหลือเกินจนมีความมหัศจรรย์มาก มีอุปมาเหมือนเปิดของที่ปิด หงายของที่คว่ำ....
ซึ่งในขณะนั้นการปฏิบัติทางด้านจิตใจยังงมงายกันมาก หากท่านอาจารย์มั่นฯได้มาปรับปรุงแนะนำปฏิบัติเข้าทาง จึงทำให้เกิดความจริงขึ้นจนเป็นที่เชื่อมั่นในตนอย่างหนักแน่นเข้า ข่าวความดีของการปฏิบัติทางด้านจิตใจหรือการปฏิบัติกัมมัฏฐานได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หวังดีอยากพ้นทุกข์ ได้น้อมตัวเข้ามาเป็นศิษย์เพื่อการอยู่ปฏิบัติกับท่านจำนวนมากขึ้น ทั้งพระธรรมยุตและพระมหานิกาย เพราะการปฏิบัติทั้งทางด้านพระธรรมวินัยและการปฏิบัติธุดงค์ ตลอดถึงกิจวัตรต่าง ๆ ได้แนะนำและพาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและเหมาะสม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีหมู่ใดคณะใดกระทำได้ เพราะผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่นฯ นั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการตื่นตัวในเรื่องของการปฏิบัติทางใจมากขึ้น แม้จะอยู่ในวงของภิกษุแต่ก็มั่งคั่งและแผ่ออกถึงญาติโยมในปัจจุบัน ในระยะเพียงไม่กี่ปี ความขยายตัวของคณะปฏิบัติก็กว้างขวางออกไปอย่างมากพอสมควรทีเดียว นับเป็นประโยชน์ทั้งแก่ภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา
ในระยะแรกนี้ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้พาคณะศิษย์เที่ยวธุดงค์ เพื่อวิเวกวกเวียนอยู่เฉพาะภาคอีสานในถ้ำภูเขา ป่าใหญ่ เพราะการธุดงค์นั้นมีความมุ่งหมายที่จะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติทางใจจริงๆ ในกรณีนี้ท่านเองมีความชำนาญลู่ทางการไปมามาก ท่านจึงแนะนำแก่ศิษย์ได้ถูกต้อง ควรจะไปอยู่ถ้ำโน้นถ้ำนี้ เขาโน้นเขานี้ หรือป่าโน้นป่านี้เป็นต้น เมื่อได้ธุดงค์ไปทำความเพียรในที่ต่าง ๆ ปฏิบัติได้ผลอย่างไร ทุก ๆ องค์ก็นำไปศึกษากับท่านต่อไป และทุกครั้งที่มีการศึกษานั้นก็จะรับความกระจ่างแจ้งอย่างดียิ่ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลเกิดขึ้นทำให้ได้รับความก้าวหน้าของการดำเนินได้เป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งยังไม่เคยมียุคใดในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่จะบังเกิดผลแห่งการปฏิบัติด้านจิตใจที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับครั้งที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้กระทำขึ้น ที่กล้ากล่าวเช่นนี้เพราะเป็นความจริงซึ่งผลปรากฏจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ดำเนินจิตเป็นลูกศิษย์ของท่านนั้น นับมาแต่ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์แหวน สุจิณฺโน พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์ขาว อนาลโย พระอาจารย์ชอบ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปณฺโณ รุ่นสุดท้ายก็ผู้เขียน และพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ยังมีอีกนับได้กว่า ๘๐๐ องค์ ที่เป็นศิษย์ของท่าน ทั้งยังมีชีวิตอยู่และทั้งมรณภาพไปแล้ว ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้ทำกิจพระศาสนา ได้รับผลประโยชน์อย่างยิ่งทั้งตัวของท่านและผู้อื่น
ผู้เขียนจึงกล้าพูดว่า ไม่มียุคใดที่การปฏิบัติจิตใจได้ถูกฟื้นฟูขึ้นเท่ากับยุคนี้ แต่ก่อนพระอาจารย์มั่น ฯ เริ่มปฏิบัตินั้นก็ยังไม่เห็นมีการปฏิบัติกันเท่าไร และดูยังลึกลับอยู่มาก หลังจากศิษย์ของท่านได้รับความจริงในด้านนี้ แล้วนำเผยแพร่ทั่วประเทศไทย ความตื่นตัวเรื่องการปฏิบัติจึงมีขึ้น เนื่องจากว่าอุบาสกอุบาสิกาได้รับ ผลคือความเยือกเย็นสบาย เห็นความบริสุทธิ์แท้จริงจากศิษย์ของอาจารย์มั่น ฯ มากขึ้นตามลำดับ เพื่อนำมาปฏิบัติทางด้านจิตใจกันขึ้นมาก ถ้าหากไม่รีบหาวิธีปฏิบัติแล้วญาติโยมอุบาสกอุบาสิกา ก็จะต้องหันมาศึกษาการปฏิบัติกับพระที่เป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่น ฯ เสียหมด จะทำให้ประโยชน์บางประการของคนอื่นต้องเสียหมดไป จึงปรากฏมีการตื่นตัวของสำนักวิปัสสนามากมายเกิดขึ้น ถูกบ้างผิดบ้างไปตามเรื่องของศาสนาแต่ละคณะ
ผู้เขียนก็ได้รับประสบการณ์จากศิษย์พระอาจารย์มั่น ฯ เช่นเดียวกัน เพราะขณะนั้นผู้เขียนอายุเพียง ๑๓ ปีเท่านั้น และขณะนั้น พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็มาได้ความดีของการปฏิบัติจิต อย่างน่าพิศวง จนถึงกับบวชปฏิบัติกับศิษย์พระอาจารย์มั่น ฯ จนได้ติดตามปฏิบัติถึงกับได้ไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ฯ แต่ก่อนนี้ผู้เขียนยังไม่เห็นมีการปฏิบัติวิปัสสนาเลย ผู้เขียนเองยังถูกชาวบ้านเขาตำหนิว่า การปฏิบัติวิปัสสนานั้นเดี๋ยวจะบ้า แล้วเขาพูดว่าไม่มีประโยชน์ บางพวกก็พูดว่า มรรคผลไม่มีแล้ว ดู ๆ มันมืดมนเหลือเกิน ในครั้งนั้นผู้เขียนยังว่าไม่มียุคใดในกรุงรัตนโกสินทร์ที่จะเหมือนกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ได้ฟื้นฟูการปฏิบัติวิปัสสนาเจริญถึงขั้น





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น